3 ทายาท ที่ขับเคลื่อน ‘ธุรกิจครอบครัว’ แบบกงสี ให้ยั่งยืนด้วย ‘ธรรมนูญครอบครัว’

Family Business
23/04/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 40342 คน
3 ทายาท ที่ขับเคลื่อน ‘ธุรกิจครอบครัว’ แบบกงสี ให้ยั่งยืนด้วย ‘ธรรมนูญครอบครัว’
banner
ในโลกการทำธุรกิจของสมาชิกภายในครอบครัว ไม่ว่าความสัมพันธ์จะเป็นแบบใด การดำเนินงานของครอบครัวนั้นสามารถนำมาซึ่งผลประโยชน์ พร้อมกับความขัดแย้ง หย่าร้าง ถึงขั้นแตกหักได้ ถ้าหากไม่วางหลักการบริหาร ‘ครอบครัว’ ควบคู่ไปกับการดำเนิน ‘ธุรกิจ’ 

บทความนี้ เราขอนำเสนอเรื่องราวของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ในแง่ของข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิก กับการบริหารจัดการที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจให้ก้าวเดินไปข้างหน้า แต่การดำเนินธุรกิจครอบครัวนั้นมักจะพบปัญหาและความกดดันที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ควรมีวิธีการอย่างไรเพื่อลดปัญหา และหลีกเลี่ยงความขัดแย้งได้ 



รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว และผู้ก่อตั้ง Famz Co., Ltd. ได้กล่าวถึงการบริหารจัดการระบบในครอบครัวอย่างมืออาชีพว่า ในการบริหารธุรกิจครอบครัว สิ่งสำคัญที่แตกต่างจากธุรกิจอื่นคือ มีความสัมพันธ์กันแบบเครือญาติ ซึ่งจะมีในเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเป็นส่วนประกอบในการทำงาน จึงจำเป็นที่จะต้องมีระบบในการบริหารงานไม่ให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว

ซึ่งการบริหารงานให้เป็นระบบนั้น ข้อแรกจะเป็นในเรื่องของการทำธรรมนูญครอบครัว (Family Constitution) ซึ่งเป็นเรื่องของข้อตกลงในการทำงานของสมาชิกในครอบครัว อาทิเช่น สมาชิกรุ่นใหม่ที่จะเข้ามาทำงานในธุรกิจครอบครัว อาจจะต้องมีประสบการณ์การทำงานจากบริษัทอื่นมาก่อน แล้วจึงเข้ามาทำงาน หรือจะเป็นข้อตกลงในการสืบทอดธุรกิจครอบครัวว่าจะต้องกลับมาบริหารธุรกิจภายในครอบครัวตัวเองเมื่อถึงระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งการทำระบบธรรมนูญครอบครัว ถือเป็นหัวใจในการทำธุรกิจครอบครัวในรูปแบบหนึ่ง



การวางแผนเขียนธรรมนูญครอบครัวว่าแบ่งเป็น 2 รูปแบบ ประกอบด้วย

1. จัดทำขึ้นเองภายในครอบครัว

ทำเป็นบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างครอบครัว ซึ่งถือเป็น Emotional Binding โดยจัดทำกันขึ้นมาเอง แต่การยอมรับในธรรมนูญครอบครัวประเภทนี้อาจจะไม่ยั่งยืน เพราะไม่ได้มีผลบังคับใช้ทางกฎหมายแต่อย่างใด ดังนั้น อาจจะมีเพียงสมาชิกในครอบครัวรุ่นที่เป็นผู้จัดทำ และรุ่นที่ 2 รองจากรุ่นแรกที่ยอมรับและปฏิบัติตามกฎในครอบครัวนั้น หลังจากนั้นทายาทธุรกิจรุ่นต่อไปอาจจะไม่ยอมรับ และปฏิบัติตาม

2. ใช้ทีมกฎหมายเข้าช่วย

ให้ทางที่ปรึกษากฎหมายเข้ามาช่วยจัดทำธรรมนูญครอบครัว ซึ่งถือเป็น Legal Binding การจัดทำธรรมนูญครอบครัวในลักษณะนี้ ที่ปรึกษาทางกฎหมายจะมีบทบาทช่วยวางขอบเขตของธรรมนูญครอบครัว และมีสารบัญกลางในการทำข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว อีกทั้งรูปแบบนี้จะเป็นธรรมนูญครอบครัวที่ใช้ปฏิบัติสืบต่อกันให้กับทายาทธุรกิจรุ่นต่อไป จนกว่าจะมีการปรับเปลี่ยนเงื่อนไขต่าง ๆ ในภายหลัง


ตัวอย่างของธุรกิจครอบครัว ที่ดำเนินงานได้อย่างราบรื่นและยาวนาน และประสบความสำเร็จ มีหลายครอบครัวด้วยกัน ซึ่งเราขอยกตัวอย่าง 3 ทายาทธุรกิจ ที่มีรูปแบบการบริหารกิจการให้ยั่งยืน ด้วย การยึดหลัก ‘ธรรมนูญครอบครัว’ มาปรับใช้อย่างเห็นผล ดังต่อไปนี้ 

 

• ‘เครือแสงทองผ้าใบ’ เสริมแกร่งโครงสร้างองค์กรด้วยธรรมนูญครอบครัว

คุณฐานุพงศ์ วุฒิอารีย์ชัย กรรมการบริหาร บริษัท แสงทองผ้าใบ กันสาด จำกัด ในเครือแสงทองผ้าใบ เปิดเผยถึงเส้นทางแห่งความสำเร็จว่า บริษัทเกิดขึ้นจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) ซึ่งมีคุณพ่อและคุณแม่เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้ง โดยมีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ในการทำธุรกิจผ้าใบและกันสาด สำหรับกันแดดและกันฝน ตลอดจนอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องจนประสบความสำเร็จมาอย่างยาวนานกว่า 40 ปี

‘ในอดีตที่ผ่านมาธุรกิจทุกอย่างจะอยู่รวมในบริษัทเดียวกันหมด แต่เมื่อมีการเติบโตเรื่อย ๆ เราจึงได้จัดโครงสร้างธุรกิจใหม่โดยจดทะเบียนเป็นบริษัทแยกจากกันแต่อยู่ในภายใต้เครือแสงทองผ้าใบ เพื่อให้เข้าถึงง่ายและสามารถสร้างการจดจำต่อลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และเกิดความคล่องตัวในการบริหารงานมากขึ้น


คุณฐานุพงศ์ วุฒิอารีย์ชัย กรรมการบริหาร บริษัท แสงทองผ้าใบ กันสาด จำกัด

คุณฐานุพงศ์ เล่าถึงเรื่องนี้ว่า ในอดีตนั้นเมื่อทายาทธุรกิจ หรือลูกแต่ละคนเรียนจบแล้ว คุณพ่อและคุณแม่จะเปิดกิจการแล้วยกให้ลูกดูแล แต่เมื่อถึงคราวที่ทายาทธุรกิจต้องแต่งงานมีครอบครัวย่อมต้องมีสมาชิกเพิ่มขึ้น และมีปัญหาเรื่องการจัดสรรผลประโยชน์เพิ่มขึ้นตามมาด้วยเช่นเดียวกัน

ดังนั้น ตนเองซึ่งเป็นทายาทธุรกิจที่เรียนจบด้านการบริหารธุรกิจและมีความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างการทำธุรกิจอยู่แล้วจึงมีความเข้าใจในปัญหาเหล่านี้ ซึ่งเล็งเห็นว่าต้องมีการนำเสนอคุณพ่อและคุณแม่เรื่องการจัดทำธรรมนูญครอบครัว ซึ่งเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้ง อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยมีการจ้างที่ปรึกษาให้เข้ามาช่วยให้คำแนะนำ



ซึ่งส่งผลให้เกิดการวางแผนและจัดการเรื่องต่าง ๆ ระหว่างครอบครัว และธุรกิจครอบครัว (Family Business) ทั้งสิทธิและหน้าที่ของสมาชิกในครอบครัว หรือทายาทธุรกิจแต่ละคน รวมไปถึงนโยบายการเข้าทำงานของสมาชิกในธุรกิจครอบครัว ช่วยสร้างในการบริหารจัดการธุรกิจและทรัพย์สินให้มีความชัดเจน เป็นธรรม และมีการเปิดเผยอย่างโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทนหรือสวัสดิการ สำหรับคนที่ทำงานและไม่ได้เข้ามาทำงาน เช่น การจ่ายค่าเทอมลูก หรือการจ่ายค่าประกันชีวิตของสมาชิกในครอบครัว เป็นต้น




• ขอนแก่นแหอวน กับแนวคิด ‘ธรรมนูญครอบครัว’ เพื่อความสำเร็จอย่างยั่งยืน

ขอนแก่นแหอวน ถือเป็นต้นแบบการบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวที่ดีเยี่ยมมากว่า 45 ปี โดยมีการบริหารจัดการธุรกิจแบบ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ซึ่งเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว โดยสมาชิกที่เกี่ยวข้องจะมีส่วนร่วม มีสิทธิและเสียงในการสร้างข้อตกลงต่าง ๆ ขึ้นมา



สำหรับธรรมนูญครอบครัวของขอนแก่นแหอวน คุณบวร เสรีโยธิน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ขอนแก่นแหอวน จำกัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งธุรกิจแหอวนระดับโลกจากสามพี่น้องตระกูลเสรีโยธิน เล่าว่า เนื่องจากเป็นธุรกิจครอบครัวและมีหลายเจนเนอเรชั่น จึงจำเป็นต้องสร้างหลักเกณฑ์ที่เป็นธรรมให้กับทุกคนในครอบครัว เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน

“มีการประชุมกงสีทุกไตรมาส ไม่น้อยกว่า 2 ครั้งต่อปี ในขณะที่มีการประชุมสภาครอบครัว เราก็มีการสังสรรค์ร่วมกัน เพื่อให้แต่ละเจนเนอเรชั่นเรียนรู้ซึ่งกันและกันให้มากขึ้น เชื่อว่าถ้ามีความสามัคคีกันจะทำให้แข็งแกร่งและอยู่ได้อย่างยั่งยืน จึงพยายามปลูกฝังให้ตระหนักร่วมกัน”



ดังนั้น ขอนแก่นแหอวน นับว่าเป็นตระกูลที่สามารถสร้างกิจการครอบครัวให้เติบใหญ่และประสบความสำเร็จทางธุรกิจ โดยยังรักษาความเป็นครอบครัวที่มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน




• บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด แนวคิดทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 การทำธุรกิจครอบครัว ต้องใส่ใจ ‘ธรรมนูญครอบครัว’

คุณโสวัฒน์ เวศวิฑูรย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด ทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3  เผยถึงการเข้ามาสืบทอดธุรกิจครอบครัวในรุ่นที่ 3 คุณโสวัฒน์ มองเรื่องการเข้ามาสานต่อธุรกิจของครอบครัวในรุ่นที่ 3 ว่า การเป็นคนรุ่นใหม่ที่ต้องเข้ามาบริหารและทำงานกับผู้ใหญ่ที่อายุต่างกัน ถือเป็นความท้าทายอย่างหนึ่งสำหรับตน แต่ไม่ใช่เรื่องยากนัก เนื่องจากตนเติบโตมากับโรงงานจึงคุ้นเคยกับพนักงานที่อยู่กันมายาวนานเป็นอย่างดี 



“ความท้าทายในการบริหารธุรกิจยุคปัจจุบัน คือการ Combination คนรุ่นเก่าในองค์กรตั้งแต่สมัยเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ซึ่งคนรุ่นนี้จะมีประสบการณ์สูง รู้ขั้นตอนการทำงานเป็นอย่างดี และมีความภักดีต่อบริษัทมาก แต่อาจจะขาดเรื่องเทคโนโลยี ซึ่งคนรุ่นใหม่ไฟแรง เก่งเทคโนโลยี แต่ขาดความอดทน จึงต้องหาจุดสมดุลเพื่อให้เกิดความพอดีและสามารถเดินไปด้วยกันได้”



การทำธุรกิจครอบครัว ต้องใส่ใจ ‘ธรรมนูญครอบครัว’

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยูเนี่ยนราชบุรี (1992) จำกัด สะท้อนมุมมองเรื่องนี้ว่า ความท้าทายอีกข้อหนึ่งของการสืบทอดธุรกิจครอบครัว คือ ต้องแยกคำว่า ‘ครอบครัว’ กับ ‘ธุรกิจ’ ออกจากกันให้ชัดเจน เพราะสองคำนี้มีเป้าหมายที่แตกต่างกัน ซึ่งเป้าหมายของ ครอบครัว คือ การอยู่รวมกันในครอบครัว ด้วยความรัก ความอบอุ่น สามารถยืดหยุ่นกันได้ในหลายๆ เรื่อง ขณะที่เป้าหมายของการทำธุรกิจ คือ กำไร มีกติกาที่ชัดเจน เมื่อคนที่ทำงานในธุรกิจคือ ครอบครัว ถ้าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากคนในครอบครัว การตัดสินใจแก้ปัญหาจะยากมาก

ดังนั้นการส่งต่อธุรกิจต้องมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลในเรื่องนี้ ควรจัดสรรปันส่วนทุกอย่างไว้อย่างเรียบร้อย เพื่อป้องกันปัญหาที่จะเกิดในการส่งต่อกิจการไปสู่รุ่นลูกรุ่นหลานต่อไป เพื่อลดปัญหาความขัดแย้งกันในเรื่องการบริหารธุรกิจครอบครัว ธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นเรื่องสำคัญในการบริหารธุรกิจของครอบครัว

3 ทายาทธุรกิจ ที่เรานำเสนอในครั้งนี้ คือแบบอย่างของการใช้ ‘ธรรมนูญครอบครัว’ เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยบริหารจัดการธุรกิจครอบครัว ในด้านการสร้างความเป็นธรรมและมีความชัดเจนให้กับสมาชิกในครอบครัว เป็นการปูรากฐาน ทำข้อตกลงสำหรับการดำเนินธุรกิจร่วมกัน ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้ง และยังช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

ขอบคุณ GURU รับเชิญ : รองศาสตราจารย์ ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล คณบดี คณะวิทยพัฒน์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาธุรกิจครอบครัว และผู้ก่อตั้ง Famz Co., Ltd.

พบกันใหม่ กับสาระดี ๆ ของ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ในบทความหน้า 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
319 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
5063 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4720 | 30/03/2024
3 ทายาท ที่ขับเคลื่อน ‘ธุรกิจครอบครัว’ แบบกงสี ให้ยั่งยืนด้วย ‘ธรรมนูญครอบครัว’