ไขบทเรียนจากธุรกิจครอบครัวที่ล้มเหลว เพื่อยืนหยัดสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน

Family Business
14/07/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4137 คน
ไขบทเรียนจากธุรกิจครอบครัวที่ล้มเหลว เพื่อยืนหยัดสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน
banner
การเรียนรู้จาก ‘ความล้มเหลว’ ที่เกิดขึ้นกับธุรกิจครอบครัว (Family Business) ถือเป็นอีกหนึ่งบทเรียนที่ล้ำค่าแก่ทุกครอบครัวที่ต้องการมีธุรกิจที่ยั่งยืน โดยเหตุผลที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวไปไม่ถึงฝั่งฝัน  ก็มีปัญหาที่แตกต่างกันออกไป ยิ่งภายใต้การแข่งขันที่สูง รวมไปถึงต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากของผู้คน สังคม วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ไม่หยุดนิ่ง

สำหรับคำว่า ‘ความล้มเหลว’ ไม่ได้หมายถึงการที่ธุรกิจต้องปิดตัวลงเพียงอย่างเดียว แต่ในที่นี้หมายถึงการที่ธุรกิจนั้นๆ ไม่ได้ถือหุ้นโดยคนในครอบครัวอีกต่อไป หรือสมาชิกในครอบครัวมีการปรับเปลี่ยนบทบาทจากถือหุ้นรายใหญ่ ได้กลายเป็นผู้ถือหุ้นส่วนน้อย และไม่มีอำนาจควบคุมในธุรกิจที่ก่อตั้งขึ้นมาจากครอบครัวตัวเองอีกต่อไป

ดังนั้น Bangkok Bank SME จึงอยากชวนผู้อ่านมาเรียนรู้จากความล้มเหลว หรืออะไรคือสาเหตุสำคัญที่ทำให้ธุรกิจหลุดมือไปจากครอบครัว เพื่อเป็นบทเรียนสำคัญให้ธุรกิจครอบครัว (Family Business) สามารถยืนหยัดและเป็นความภาคภูมิใจของคนในตระกูลสืบไป    



เจาะลึก 4 กรณีศึกษาความล้มเหลวของธุรกิจครอบครัว

1. กระจายธุรกิจจนสูญเสียการบริหาร
สำหรับธุรกิจครอบครัว (Family Business)  การล้มเหลว ไม่ได้หมายถึงธุรกิจต้องปิดตัวลงเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการสูญเสียอำนาจการบริหารธุรกิจไปให้กับคนนอกตระกูล

กรณีศึกษา เบียร์ดำ Guinness ธุรกิจครอบครัวที่เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้า ซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี โดยเหตุผลสำคัญในการสูญเสียอำนาจคือ กลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจ ที่ส่งผลลดสัดส่วนการถือหุ้นของครอบครัวลงไป

กลยุทธ์การเติบโตของบริษัทเบียร์ Guinness ต้นฉบับเบียร์ดำที่มีจุดกำเนิดในช่วงทศวรรษ 1970 คือการควบรวมกิจการ (Mergers and Acquisitions: M&A) ซึ่งเป็นกลยุทธ์นี้ส่งผลลดสัดส่วนการถือครองหุ้นของสมาชิกครอบครัวลง ในขณะที่เพิ่มสัดส่วนการถือครองหุ้นของคนนอกครอบครัวมากขึ้น และทำให้จำนวนคนนอกครอบครัวทั้งในตำแหน่งผู้บริหาร และกรรมการเพิ่มขึ้นโดยอัตโนมัติ  



และด้วยกลยุทธ์ M&A สัดส่วนหุ้น Guinness ที่ครอบครัวถือก็ทยอยลดลงตามลำดับ จนกระทั่งถึงปี 1980 สัดส่วนการถือหุ้นของสมาชิกครอบครัวนั้นก็เหลือเพียงแค่ 20% และเมื่อถึงปี 1997 ซึ่งเป็นปีที่ Guinness ได้ควบรวมกิจการอีกครั้งกับ Grand Metropolitan และแปลงสภาพกลายเป็นบริษัท Diageo Plc. ผู้ผลิตและจำหน่ายแอลกอฮอล์ข้ามชาติขนาดใหญ่ของโลก

ในขณะเดียวกัน ครอบครัว Guinness ก็เป็นเพียงแค่ผู้ถือหุ้นรายย่อยในอาณาจักรธุรกิจ Diageo โดยไม่มีอำนาจควบคุมบริหาร Guinness อีกต่อไป

จะเห็นได้ว่า การทำให้ธุรกิจเติบโตถือเป็นเป้าหมายสำคัญของธุรกิจ ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ครอบครัวต้องเรียนรู้เอาไว้คือ สมดุลระหว่างการเติบโต และอำนาจการบริหาร เพื่อให้ธุรกิจยังเป็นของครอบครัวต่อไป

2. วางทายาทในการสืบทอดธุรกิจที่ไม่ชัดเจน
กรณีศึกษาธุรกิจครอบครัวภัตตาคารชื่อดัง Yung Kee ในฮ่องกง ที่วางทายาทในการสืบทอดธุรกิจที่ไม่ชัดเจน แม้ว่าผู้ก่อตั้งจะวางแผนส่งมอบหุ้นของธุรกิจครอบครัวให้กับลูกทั้ง 4 คน โดยกำหนดสัดส่วนหุ้นที่ทายาทธุรกิจแต่ละคนจะได้รับคือ ลูกชายคนโตสองคนได้หุ้นคนละ 35% เท่ากัน ในขณะที่หุ้นส่วนที่เหลืออีก 30% ถูกกระจายให้กับลูกคนเล็ก 2 คนและภรรยาเท่าๆ กัน คนละ 10% ทั้งนี้ เพราะความถนัดและความชอบในการทำธุรกิจนั้นไม่สามารถส่งผ่านได้ทาง DNA และไม่ใช่ทายาททุกคนจะเกิดมาเป็นผู้บริหารธุรกิจ

ดังนั้น โครงสร้างการถือหุ้นดังกล่าวจึงสะท้อนถึงความเชื่อและความหวังของผู้ก่อตั้ง ที่ต้องการให้ลูกชายคนโตทั้งสองสืบทอดกิจการครอบครัวร่วมกัน

แต่ดูเหมือนพี่น้องทั้งสองคนจะไม่ได้มีความเข้าอกเข้าใจ รวมไปถึงแนวคิดที่เข้ากันไม่ได้ เมื่อลูกชายคนเล็กของครอบครัวได้โอนหุ้น 10% ที่ตนถืออยู่ให้กับพี่ชายคนรองก่อนที่จะเสียชีวิต ดังนั้นอำนาจในการบริหารก็ย่อมเปลี่ยนไป จนนำมาซึ่งความขัดแย้งในเรื่องหุ้นที่ไม่สมดุลระหว่างพี่ชายทั้งสองได้ขยายตัวไปสู่ความขัดแย้งในเรื่องการบริหารธุรกิจภัตตาคารครอบครัว จนบานปลายถึงขั้นพี่ชายคนโตยื่นคำร้องต่อศาลขอให้บริษัทโฮลดิ้งของ Yung Kee เลิกกิจการ


ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ในการวางแผนเตรียมทายาทเพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัวให้ชัดเจน จึงนับว่าเป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้กิจการของครอบครัวนั้นสามารถยืนหยัดต่อไปอีกหลายเจเนอเรชัน

ซึ่งสามารถอ่านบทความเรื่องการวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัว ให้ประสบความสำเร็จ ได้ที่ : เคล็ด(ไม่)ลับ ส่งไม้สืบทอดธุรกิจครอบครัว วางแผนอย่างไร? ให้ประสบความสำเร็จ

3. ความคิดเห็นไม่ตรงกัน อาจนำไปสู่ความขัดแย้ง
ความขัดแย้งที่มีความรุนแรง คือตัวการสำคัญสามารถนำไปสู่การล่มสลายของธุรกิจครอบครัว (Family Business) ได้ ซึ่งสาเหตุก็มาจากหลายปัจจัย ทั้งเรื่องเงิน รวมไปถึงจากความคิดที่เห็นต่างจนไม่สามารถตัดสินใจร่วมกันได้ จนทำให้เกิดความขัดแย้งที่บานปลาย
  
กรณีศึกษาธุรกิจครอบครัว Gucci บทเรียนแบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่ไม่เหลือแล้วซึ่งความเป็นครอบครัวจากปัญหาเรื่องผลประโยชน์ที่คนในตระกูลมองว่าไม่เป็นธรรม ทั้งปัญหาทางการเงิน จากธรรมาภิบาลที่ไม่ดี จนเกิดวิบากกรรมในการยักยอก ปลอมลายเซ็น ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนนำมาซึ่งความขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ของพี่น้องในตระกูลในวันที่พ่อไม่อยู่

จากความขัดแย้งที่รุนแรงที่สะสมมา ทำให้ Maurizio ทายาทรุ่นที่ 3 ของตระกูลขายหุ้น Gucci ที่เหลืออยู่ทั้งหมดให้กับ Investcorp จากบาห์เรนในปี 1993 จึงนับว่าสิ้นสุดความเป็นเจ้าของ อาณาจักรธุรกิจ Gucci ของครอบครัว

เรื่องราวของครอบครัว Gucci ที่เกิดจากความขัดแย้งที่รุนแรง ไม่ว่าจะเป็นการแย่งผลประโยชน์ภายในตระกูล ผสมกับความทะเยอทะยานจนเป็นแรงกระตุ้นอันนำไปสู่การสูญเสียอำนาจการบริหารที่เกิดจากความขัดแย้งที่รุนแรงที่บานปลาย รวมไปถึงการสูญเสียธุรกิจครอบครัวที่ต้นตระกูลได้อุตส่าห์ก่อร่างสร้างไว้ แม้จะยังคงเติบโตและกลายเป็นแบรนด์แฟชั่นชั้นนำที่คนทั่วโลกให้การยอมรับในปัจจุบัน แต่ว่ากลับไม่ได้เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของครอบครัว Gucci  อีกต่อไป 
 


4. ยึดติดกับวัฒนธรรมเดิม สู่การปรับตัวที่ช้าเกินไป
แม้ว่าหลายครอบครัวตั้งเป้าหมายให้ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน แต่หากธุรกิจปรับตัวไม่ทันโลกที่เปลี่ยนไป ความล้มเหลวย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ยิ่งในปัจจุบันที่สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ธุรกิจครอบครัวยิ่งต้องปรับตัวให้เร็วขึ้นอีก

กรณีศึกษาธุรกิจครอบครัวเบียร์ดำ Guinness กับจุดจบที่เกิดจากความสำเร็จที่นานเกินไป ซึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน 200 ปี ไม่ได้เป็นสมบัติของครอบครัว Guinness อีกต่อไป คือ ความสำเร็จยาวนาน ที่สร้างความเชื่อแบบผิดๆ โดยมีแนวคิดไม่ได้เลือกคนที่เหมาะสมที่สุดเข้ามาบริหารกิจการ แต่เชื่อมั่นในวัฒนธรรมลูกชายคนโต ว่าเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการส่งมอบกิจการครอบครัวให้กับคนรุ่นต่อไป

แม้จะพร้อมหรือไม่ก็ตาม บวกกับมีความเชื่อที่ว่าความสำเร็จไม่ต้องไขว่คว้า เดี๋ยวมันมาเอง จึงทำให้คนในตระกูลไม่สนใจในเรื่องธุรกิจมากเหมือนเช่นเคย เพราะเชื่อว่าสามารถเติบโตไปได้ด้วยตนเอง ทำให้แรงผลักดันในการทำธุรกิจที่ลดลง ไม่มีความไม่ใส่ใจ นำไปสู่การจ้างผู้บริหารคนนอก เพื่อเข้ามาบริหารกิจการของตระกูล

ดังนั้นการยึดติดกับวัฒนธรรมเดิมของครอบครัว การเปลี่ยนแปลงจึงเป็นไปอย่างเชื่องช้า และบางครั้ง การปรับตัวที่ช้าเกินไป ก็ส่งผลไม่ต่างจากการไม่ปรับตัวเลย 



เชื่อว่าทุกคนหรือทุกธุรกิจมีโอกาสเจอกับความล้มเหลว แต่ทำไมบางคนถึงสามารถก้าวผ่านไปได้ เพราะความผิดพลาดและความล้มเหลวนั้นคือทางผ่านไปสู่ความสำเร็จ 
ดังนั้นหากธุรกิจครอบครัว (Family Business) ใดที่อยากส่งมอบธุรกิจที่บรรพบุรุษได้สร้างขึ้นมาจากรุ่นสู่รุ่น จำเป็นจะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของการรักษาอำนาจควบคุมธุรกิจให้อยู่ในมือของครอบครัว รู้จักการบริหาร และความสัมพันธ์ระหว่างคนในตระกูลให้ดี ไม่ให้ส่งผลเสียต่อธุรกิจ และสุดท้ายคือ การพัฒนาธุรกิจให้ก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้บริษัทสามารถยืนหยัดและเป็นความภาคภูมิใจของคนในตระกูลสืบไป


แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์  อุรพีพัฒนพงศ์, คุณนวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia)

https://www.moneyandbanking.co.th/article/the-guru/the-guru-familybusinesssociety-moneyandbanking-mb-473-september-2021
https://moneyandbanking.co.th/article/the-guru/gucci-family-business-soap-opera-160365
https://moneyandbanking.co.th/article/the-guru/the-guru-family-business-society-mb-474-moneyandbanking-19102564

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
668 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
5087 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4849 | 30/03/2024
ไขบทเรียนจากธุรกิจครอบครัวที่ล้มเหลว เพื่อยืนหยัดสู่ความสำเร็จที่ยั่งยืน