วิกฤตคือโอกาส! เปิดอู่ ดัดแปลง ‘รถน้ำมัน’ เป็น ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ สร้างรายได้ยุคน้ำมันแพง

SME Startup
28/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 14996 คน
วิกฤตคือโอกาส! เปิดอู่ ดัดแปลง ‘รถน้ำมัน’ เป็น ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ สร้างรายได้ยุคน้ำมันแพง
banner
ทุกวิกฤติมีโอกาส ผู้ประกอบการ SME อู่ซ่อมรถปรับตัวเปิดอู่รับดัดแปลง รถเก่าเป็นรถไฟฟ้า ในยุคที่น้ำมันแพงขึ้นทุกวันจนคนใช้รถแทบสู้ไม่ไหว หลายคนอยากเปลี่ยนมาใช้รถไฟฟ้าเพื่อประหยัดค่าน้ำมัน แต่ราคาก็ยังเกินเอื้อม ผู้ประกอบการอู่ซ่อมรถหลายรายจึงเริ่มเรียนรู้และปรับตัว เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส โดยรับดัดแปลงรถเก่าให้เป็นรถไฟฟ้า ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 7 เท่า



รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คืออะไร

รถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง คือ รถยนต์ที่ถูกดัดแปลงจากรถเก่าที่เป็นเครื่องยนต์สันดาปให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ด้วยการยกเครื่องยนต์เก่าออก แล้วใส่ระบบมอเตอร์ไฟฟ้าเข้าไปแทนที่

ธุรกิจ ดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า กำลังมาแรง 

การนำรถที่เราใช้อยู่มาดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้า ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในยุคน้ำมันแพง ของผู้บริโภคที่มีทุนน้อยแต่อยากประหยัดค่าน้ำมัน โดยการนำรถเก่าที่ใช้น้ำมันไปดัดแปลงเป็นรถไฟฟ้า ทำให้กระแสการเปลี่ยนรถเก่ามาเป็นรถยนต์ไฟฟ้าในบ้านเราขณะนี้มีเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ นอกจากรถยนต์แล้ว รถจักรยานยนต์ก็มาเป็นเครื่องยนต์ไฟฟ้าได้เช่นกัน ส่วนมากจะเป็นผู้ประกอบการอู่รถรายย่อย แม้ผู้บริโภคจะเสียค่าปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นไฟฟ้า 

เจ้าของอู่รับดัดแปลงรถเก่าเป็นรถไฟฟ้า บอกว่า ในแต่ละวันจะมีการโทรศัพท์เข้ามาเพื่อติดต่อสอบถามการดัดแปลงรถให้เป็นรถไฟฟ้าวันละไม่ต่ำกว่า 20 ราย มีรถทั้งรถจักรยานยนต์ และรถยนต์ ที่รอเข้ามาทำการดัดแปลงอีกจำนวนมาก 
     


คุ้มมั๊ย? ถ้าแปลงรถน้ำมันเป็นรถไฟฟ้า ค่าใช้จ่ายเท่าไร?

สำหรับค่าใช้จ่ายในการดัดแปลงรถจักรยานยนต์ให้เป็นรถไฟฟ้า จะเริ่มต้นที่ประมาณ 20,000 - 60,000 บาท ส่วนรถยนต์เริ่มต้นที่ 150,000 – 450,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดของรถและความจุแบตเตอร์รี่

อย่างเช่น  จักรยานยนต์ 125 ซีซี หลังเปลี่ยนแบตเตอรี่และมอเตอร์แล้ว วิ่งได้ไกลสุด 120 กิโลเมตรต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ซึ่งใช้เวลา 4 ชั่วโมง คิดเป็นค่าไฟฟ้าราว 20 บาท ประหยัดกว่าน้ำมันที่ต้องเติมเกือบ 200 บาท การดัดแปลงจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันให้เป็นระบบไฟฟ้าเริ่มตั้งแต่ 2 หมื่นจนถึง 5 หมื่นบาท แล้วแต่ขนาดแบตเตอรี่ สามารถนำไปจดทะเบียนรถไฟฟ้าได้

ส่วนเจ้าของอู่รถเชียงใหม่ ที่ดัดแปลงรถโดยสาร ‘สี่ล้อแดง’ เป็นรถไฟฟ้า ซึ่งเป็นรถขนส่งสาธารณะในตัวเมืองเชียงใหม่ บอกว่า ในยุคน้ำมันแพงแบบนี้ หลายคนต้องหยุดวิ่งรถจอดรถทิ้งไว้หลายร้อยคัน เพราะสู้ค่าน้ำมันที่แพงไม่ไหว เขาจึงนำรถมาดัดแปลงเป็นรถโดยสารสี่ล้อแดงพลังงานไฟฟ้า โดยใช้งบราว 3 แสนบาท วิ่งได้ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไกลสุด 150 กิโลเมตรต่อ 1 ชาร์จ หรือ 4 ชั่วโมง จ่ายค่าไฟเพียง 50 บาท ทดลองวิ่งมาหลายครั้ง ได้ผลเป็นที่น่าพอใจซึ่งขณะนี้การท่องเที่ยวเริ่มฟื้นคืนกลับมาคึกคักอีกครั้ง จะคืนทุนภายใน 2 ปีได้อย่างแน่นอน

แม้ผู้บริโภคจะเสียค่าใช้จ่ายในการปรับเปลี่ยนเครื่องยนต์เป็นไฟฟ้าไม่น้อย แต่ผู้บริโภคก็มองว่า ราคาน้ำมันขณะนี้ เมื่อเทียบต่อกิโลเมตรแพงกว่าค่าไฟมาก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบรถยนต์ไฟฟ้าถูกกว่ารถน้ำมันหรือไม่พบว่า  ปัจจุบันรถยนต์ที่ใช้น้ำมันจะวิ่งได้เฉลี่ยประมาณ 15 กิโลเมตรต่อลิตร หากราคาน้ำมันลิตรละ 39 บาท ค่าใช้จ่ายต่อกิโลเมตรของรถน้ำมันจะอยู่ราวๆ  เกือบ 4 บาท

ยิ่งน้ำมันแพงเท่าไหร่ ยิ่งทำให้มีลูกค้าเข้ามาสอบถามและใช้บริการมากเท่านั้น โดยเจ้าของกิจการเผยว่า มีลูกค้านำรถจักรยานยนต์และรถยนต์มาให้เขาเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าแล้วเกือบ 50 คันแล้ว เพราะสามารถช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากถึง 7 เท่าเลยทีเดียว



แปลงรถบรรทุกดีเซล เป็น รถบรรทุกไฟฟ้า

อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ จำกัด ผู้ผลิตและประกอบยานยนต์ รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถเพื่อการขนส่งรายใหญ่ของประเทศ เปลี่ยนรถยนต์สันดาปสู่ระบบไฟฟ้า โดยเปลี่ยนจากเครื่องยนต์ดีเซล เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 350 กิโลวัตต์ มาคู่กับแบตเตอรี่ขนาด 280 กิโลวัตต์-ชั่วโมง สามารถวิ่งได้ระยะทางมากกว่า 200 กิโลเมตร  ต่อการชาร์จเต็ม 1 ครั้ง โดยระยะทางที่แจ้งนี้ เกิดจากทดสอบขณะที่รถบรรทุกน้ำหนัก 25 ตัน และ ขับขี่บนถนนปกติ 

ทั้งนี้สามารถทำความเร็วได้ที่ 100 กิโลเมตร ต่อ ชั่วโมง การชาร์จไฟเต็ม 1 ครั้ง ใช้เวลาชาร์จประมาณ 112 นาที  สำหรับอายุแบตเตอรี่ ประมาณ 8 ปี หรือ ประมาณ 3,000cycles 

สำหรับรถบรรทุก ราคาค่าดัดแปลงพร้อมเครื่องยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ ที่ความจุ 200 kW ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ซึ่งถูกกว่าถึง 3 เท่าเมื่อเทียบกับราคารถบรรทุกไฟฟ้าใหม่ ที่ราคาสูงถึง 5.99 ล้าน ส่วนรถปิกอัพ ราคาประมาณ 7 แสนบาท รวมแบตเตอรี่  ขณะที่รถปิกอัพไฟฟ้าใหม่ ราคาอยู่ที่ 1.55 ล้านบาท

ผู้ประกอบการรายนี้ มองว่า หากประชาชนสามารถนำรถเก่าซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีอยู่แล้ว มาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ น่าจะเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี ไม่ต้องสร้างภาระทางการเงินก้อนใหญ่ แม้การดัดแปลงรถยนต์จากระบบสันดาปใช้น้ำมันในการขับเคลื่อนมาเป็นระบบไฟฟ้าอาจยังมีภาระทางการเงินอยู่บ้าง แต่ถ้าเทียบกับการซื้อรถใหม่ถือว่าถูกกว่ามาก ขณะเดียวกันยังช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ช่วยเหลือผู้ประกอบการต่างๆ ในซัพพลายเชนได้มีเวลาปรับตัว เปลี่ยนผ่านจากรถยนต์ใช้น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้าและที่สำคัญช่วยลดมลพิษได้อย่างมหาศาลเพื่อก้าวสู่สังคมไร้คาร์บอนต่



ความคืบหน้าและแนวโน้มการพัฒนาของโครงการรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลงในประเทศไทย

ซีอีโอ บริษัท พนัส แอสเซมบลีย์ ผู้ผลิตและประกอบรถบรรทุก รถพ่วง รถกึ่งพ่วง รถเพื่อการขนส่งรายใหญ่ของประเทศ ผู้หันมาเปลี่ยนรถยนต์บรรทุกสันดาปสู่ระบบไฟฟ้า กล่าวถึงอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง หรือ EV Conversion ไว้อย่างน่าสนใจว่า เป็นนวัตกรรมเชื่อมต่อโลกยานยนต์ยุคเก่า กับ ยุคใหม่ เป็นโอกาสใหม่ของประเทศไทยในการสร้างอุตสาหกรรมนี้ขึ้นมา เพื่อ Transfer รถยนต์น้ำมันไปสู่รถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นอุตสาหกรรมที่บริหารจัดการโดยคนไทยอย่างแท้จริง 

ในอดีตที่ผ่านมา แม้เราจะเป็นฐานการผลิตรถยนต์รายใหญ่ของภูมิภาค แต่ผู้เล่นในอุตสาหกรรมรถยนต์ส่วนใหญ่เป็นต่างชาติเกือบทั้งหมด ถ้าไทยใช้โอกาสนี้ทำ EV Conversion จะถือเป็นตัวกลางที่จะทำให้เกิดผู้ประกอบการ SME หรือแม้แต่ผู้ผลิตที่เป็นคนไทย รวมถึงอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ อู่ซ่อมรถ ที่กระจายอยู่ในเทียร์ 2 เทียร์ 3 จะได้รับโอกาสนี้อย่างมาก

ถ้าเราเร่งทำให้อุตสาหกรรมนี้เกิด ผู้ประกอบการ SME ที่อยู่ในระบบซัพพลายเชนก็มีเวลาปรับตัว ไม่ต้องปิดกิจการเพราะไม่สามารถปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้ในทันที EV Conversion จะทำให้เขามีโอกาสเรียนรู้ มีเวลาปรับตัวเพื่อเข้าสู่ระบบรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต



อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมนี้จะเกิดขึ้นได้รัฐบาลเป็นส่วนสำคัญอันดับต้นๆ การสนับสนุนของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการ Incentive ทำให้ราคาดัดแปลงรถต่ำลง เหมือนกรณีการสนับสนุนลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้า 7 หมื่นถึง 1.5 แสนบาท ถ้า EV Conversion ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐเหมือนการลดภาษีซื้อรถไฟฟ้าคันใหม่ จะเกิด Impact กับอุตสาหกรรม EV Conversion มหาศาล การช่วยเหลือลดค่าใช้จ่ายต่างๆ ให้กับผู้ประกอบการในระบบ อาทิ อู่รถยนต์ ผู้ผลิตชิ้นส่วน อุปกรณ์ เทคโนโลยี รวมถึงการสนับสนุนสิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนสำหรับธุรกิจ SME 

คุณพนัส สะท้อนมุมมองด้วยว่า ถึงแม้ EV Conversion จะมีอายุของอุตสาหกรรมประมาณ 5-10 ปี เพราะเป็นเพียงอุตสาหกรรมเปลี่ยนผ่านจากการใช้รถยนต์แบบเติมน้ำมันไปสู่การใช้รถยนต์ไฟฟ้า เมื่อถึงวันที่การดัดแปลงรถยนต์ถึงจุดอิ่มตัว คนรุ่นใหม่ในอนาคตหันไปซื้อรถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่แทนการดัดแปลง แต่อุตสาหกรรมยังคงเดินต่อได้ด้วยการต่อยอด องค์ความรู้ไปยังต่างประเทศที่ยังมีรถเก่าอยู่อีกมากมายมหาศาล ซึ่งจะยืดอายุอุตสาหกรรมนี้ต่อไปได้อีก 10 -15 ปี



หลักเกณฑ์ การขอจดทะเบียนรถไฟฟ้าดัดแปลง

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้าหรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไฟฟ้า

รถที่เคยจดทะเบียนไว้แล้ว และมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไฟฟ้า ให้เจ้าของรถยื่นเอกสารหลักฐานดังต่อไปนี้ประกอบคําขอการดำเนินการทางทะเบียนและภาษีรถด้วย โดยมีเงื่อนไขการพิจารณา ดังนี้

1.หนังสือรับรองของวิศวกร ซึ่งได้รับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมสาขาวิศวกรรมเครื่องกลและสาขาวิศวกรรมไฟฟ้าตามขอบเขตและความสามารถที่กฎหมายว่า ด้วยวิชาชีพวิศวกรรมกําหนด รับรองว่ารถมีความมั่นคงแข็งแรง มีความปลอดภัยในการใช้งานและรับรองความปลอดภัย ของระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถในส่วนที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) รายละเอียดการออกแบบหรือดัดแปลงพร้อมรายการคํานวณที่แสดงถึงคุณลักษณะของรถ การติดตั้งมอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่ที่ใช้ขับเคลื่อน รวมถึงระบบเบรก ระบบบังคับเลี้ยว การกระจายน้ำหนักรถ ระบบส่งกําลังและสมรรถนะของรถ

2) กําลังพิกัดมอเตอร์ไฟฟ้า

3) ขนาดแรงเคลื่อนและความจุของแบตเตอรี่

4) น้ำหนักรถไม่รวมแบตเตอรี่ น้ำหนักแบตเตอรี่ รถรวมแบตเตอรี่ น้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุก

5) ความเร็วสูงสุด

6) ระยะทางที่วิ่งได้ โดยแสดงการคํานวณความสัมพันธ์  กันระหว่างขนาดมอเตอร์ไฟฟ้า และความจุแบตเตอรี่ แปรนั้นมา เป็นความเร็วและระยะทางที่ทําได้

7) วงจรการควบคุมระบบไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนมอเตอร์  รวมถึงลักษณะและขนาดของสายไฟที่ใช้ในระบบขับเคลื่อนที่เหมาะสม ไฟฟ้า 

2. ผลทดสอบ ที่แสดงถึงความสามารถขับเคลื่อนรถในขณะที่มีน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกตามที่ผู้ผลิตกําหนดด้วยความเร็วสูงสุดตามที่กําหนดในประกาศกรมการขนส่งทางบก เรื่อง กําหนดกําลังของมอเตอร์ไฟฟ้าที่ใช้ขับเคลื่อนรถตามกฎหมาย ว่าด้วยรถยนต์ พ.ศ. 2560 ได้ต่อเนื่องเป็นระยะเวลา ไม่น้อยกว่า 30 นาที จากหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ได้แก่ส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ สถาบันการศึกษา หรือหน่วยงานที่กรมการขนส่งทางบกยอมรับ  น้ำหนัก เช่น สถาบันยานยนต์ เป็นต้น 

การแก้ไขเปลี่ยนแปลงจากเครื่องยนต์เป็นมอเตอร์ไฟฟ้า หรือแก้ไขเปลี่ยนแปลงมอเตอร์ไฟฟ้า ต้องมีการพิจารณาควบคู่กับระเบียบการตรวจสภาพและระเบียบการดัดแปลงรถด้วย


 
จดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้า เสียค่าใช้จ่ายเท่าไหร่ แตกต่างจากรถยนต์ทั่วไปอย่างไร

ค่าจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจะต่างจากรถยนต์ทั่วไป ในการดำเนินการจดทะเบียนกรณีรถเก๋ง กระบะ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ไฟฟ้า ต้องจัดเก็บค่าธรรมเนียมและภาษีประจำปีในอัตรา ดังนี้

ค่าธรรมเนียม ได้แก่ คำขอ 5 บาท, ค่าแผ่นป้ายทะเบียน แผ่นละ 100 บาท  2 แผ่นป้ายรวมเป็น 205 บาท และค่าใบคู่มือจดทะเบียนรถ 100 บาท และค่าตรวจสภาพ 50 บาท รวมทั้งหมด 355 บาท

อัตราชำระภาษี ค่าจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจะต่างจากรถยนต์ คือ รถยนต์ทั่วไปเป็นการจัดเก็บตามความจุกระบอกสูบรวมกันของเครื่องยนต์ของรถยนต์แต่ละคัน แต่รถยนต์ไฟฟ้า จะจัดเก็บภาษีตาม น้ำหนักรถ และลดกึ่งหนึ่งของอัตราที่กำหนด
 

 ที่มา
https://www.nationtv.tv/news/378868372
https://today.line.me/th/v2/article/ML6Y1qy
https://www.salika.co/2022/06/29/panus-assembly-ev-conversion/
https://www.chiangmainews.co.th/news/1973646/?fbclid=IwAR0Gynfb6PZ3Hc6nezPWlU0ARvG-y3TK_L0bS8KPaVC56hJQSR0x9JCIogI&_trms=5e1120a105455050.1661145987022
ที่มา กรมการขนส่งทางบก (ขบ.)
https://news.trueid.net/detail/14mqqov0a284
https://www.autospinn.com/2021/11/cp-foton-truck-ev-84882

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2274 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4456 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2247 | 22/12/2022
วิกฤตคือโอกาส! เปิดอู่ ดัดแปลง ‘รถน้ำมัน’ เป็น ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ สร้างรายได้ยุคน้ำมันแพง