ผู้บริหาร 3 วัย ทำอย่างไร? ให้ไร้ช่องว่างระหว่าง GEN เปลี่ยนความต่างเป็นความสำเร็จใน ‘ธุรกิจครอบครัว’

Family Business
15/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 6622 คน
ผู้บริหาร 3 วัย ทำอย่างไร? ให้ไร้ช่องว่างระหว่าง GEN เปลี่ยนความต่างเป็นความสำเร็จใน ‘ธุรกิจครอบครัว’
banner
ภาพสะท้อนในมุมของการบริหารธุรกิจครอบครัว ที่สมาชิกในครอบครัวถูกสืบทอดจากรุ่นสู่รุ่น หรือ ธุรกิจกงสี เดิมทีเป็น “ธุรกิจกองกลาง” ของสมาชิกทุกคนที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน กล่าวคือสมาชิกทุกคนจะมีส่วนร่วมในการผลิตการค้าการขาย กฎ-กติกา ข้อตกลงสำคัญคือรายได้จากการทำธุรกิจต้องเก็บรวมไว้ในกงสีหรือกองกลาง ห้ามมีนอกมีในหรือเก็บรายได้ไว้ส่วนตัว ซึ่งความต่างของระบบกงสี คือ สมาชิกในครอบครัวสามารถนำค่าใช้จ่ายทั้งส่วนรวมและส่วนตัวของแต่ละคนเบิกใช้จากเงินกองกลางได้ 

ตามปกติของครอบครัวใหญ่มักจะมี คุณปู่ หรือคุณตา เป็นเถ้าแก่คอยดูแล ส่วนลูกหลานทุกคนถือเป็นสมาชิกในกงสี ถ้าวันหนึ่งรุ่นบุกเบิกเสียชีวิตไป การสืบทอดจะเป็นสิทธิของลูกคนโตที่รับหน้าที่เป็นเถ้าแก่ใหญ่ดูแลธุรกิจต่อ และจากนั้นจะการส่งต่อธุรกิจกงสีสืบเนื่องไปแบบรุ่นต่อรุ่น



ช่องว่างของผู้บริหาร 3 วัย 

ประเด็นของปัญหาที่จะพูดถึงในบทความนี้ คือรูปแบบกงสีที่กล่าวไปข้างต้น หลายท่านอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่ปมหนึ่งที่หลายๆ ครอบครัวพบเจอ คือ แนวคิดการทำธุรกิจช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่าง Generation โดยเฉพาะผู้บริหาร 3 รุ่น 3 ช่วงวัย ซึ่งมักจะมาจากช่องว่างที่ข้ามได้ยากอย่างช่วงวัย บวกกับปัจจัยเรื่องของสภาพแวดล้อมที่ส่งผลต่อพฤติกรรมของบุคคลในยุคหรือช่วงเวลานั้น ๆ ดังตัวอย่างนี้ 

“คุณปู่ หรือ คุณตา” (อายุระหว่าง 75-80 ปี) ตัวแทนจากยุคบูมเมอร์ ที่มักจะมีลักษณะการดำเนินชีวิตแบบทุ่มเททั้งชีวิตให้กับงาน อดทน อดออม ประหยัด เพราะต้องการสร้างรากฐานให้มั่นคงไปถึงยุคลูกหลาน
 
รุ่นพ่อ (อายุ 50 ปีขึ้นไป)  มีช่วงชีวิตในยุคที่สงบสุข มั่งคั่ง สุขสบาย เริ่มมีการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล มักจะเป็นคนรุ่นเก่า รับข้อมูลจากอากงแล้วนำมาต่อยอดจนมีประสบการณ์ด้านการค้าเป็นอย่างดี มักจะมีแนวคิดอนุรักษ์นิยม ไม่ชอบความเสี่ยง เมื่อประสบความสำเร็จในระดับสูงจึงไม่ยอมที่จะเปลี่ยนแปลงอะไรมาก เพราะรู้สึกว่าธุรกิจของตัวเองอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย (Comfort Zone) และดีอยู่แล้วในรูปแบบที่สร้างมา  

ลูกชาย หรือ ลูกสาวคนโต (อายุ 30 ปีขึ้นไป)  มักจะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เกิดในยุคออนไลน์เฟื่องฟู ก้าวสู่โลกดิจิทัลที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกมาก ได้รับโอกาสเรียนหนังสือระดับปริญญาทั้งในเมืองไทยหรือประเทศ จึงทำให้เกิดแนวคิดอยากเปลี่ยนแปลง อยากให้ธุรกิจมีการพัฒนาหรือใช้เทคโนโลยีมากขึ้น มักถูกวางตัวให้อยู่ในตำแหน่งระดับสูง แต่ไม่ค่อยได้รับความเห็นชอบจากเตี่ย ซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจสูงสุดในโครงสร้างการบริหารธุรกิจครอบครัว 

ซึ่งประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับ PwC บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก ที่ระบุว่า ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ทั่วโลก มีความเชื่อว่ากลยุทธ์ที่สอดรับกับยุคดิจิทัลจะนำพากิจการสู่ความสำเร็จ แต่ช่องว่างระหว่างวัยโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเห็นที่แตกต่างกันในการลงทุนด้านเทคโนโลยี ยังเป็นปัญหาใหญ่ของผู้บริหารทั้งสองรุ่น ส่งผลให้เกิดความล่าช้าในการประยุกต์ใช้ดิจิทัลและนวัตกรรมที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการเจริญเติบโตขององค์กร 

ขณะที่ทายาทผู้นำรุ่นใหม่ของไทยก็ประสบปัญหาในการเปลี่ยนถ่ายธุรกิจสู่ดิจิทัลเช่นกัน หลังเห็นต่างกับผู้นำรุ่นพ่อ-แม่ โดยแนวโน้มส่วนใหญ่ผันตัวไปเป็นผู้ประกอบการธุรกิจของตนเองมากขึ้น ซึ่งช่องว่างระหว่างวัย และการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรยังคงเป็นปัญหาที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ต้องเผชิญอยู่ในปัจจุบัน 



ความท้าทาย เมื่อได้เวลาเปลี่ยนผ่านผู้นำ

อีกหนึ่งรายงานซึ่งเป็นผลสำรวจเรื่อง Global NextGen Survey 2022  ของ PWC ยังพบด้วยว่าการบรรลุการเติบโตของธุรกิจ เป็นภารกิจเร่งด่วนสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ (เน็กซ์เจน) หลังจากนี้ไป 63% โดยจัดให้การเติบโตของธุรกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 เป็นภารกิจสำคัญอันดับแรกที่ให้ความสนใจ ตามมาด้วยการขยายธุรกิจไปสู่ภาคส่วนหรือตลาดใหม่ (50%) เป็นภารกิจสำคัญอันดับที่สอง

สถานการณ์โลกในปัจจุบัน ทำให้การประคับประคองธุรกิจครอบครัวให้อยู่รอดจากรุ่นสู่รุ่นเป็นเรื่องที่ท้าทายมาก ปัจจุบันผู้นำรุ่นใหม่ ไม่ได้มองเรื่องความอยู่รอดเพียงอย่างเดียว แต่ยังต้องการขับเคลื่อนกิจการด้วยพลังความคิด ความสามารถด้านดิจิทัล และทักษะใหม่ ๆ ที่พวกเขามี โดยคำนึงถึงการสร้างสมดุลทั้งในมิติทางการเงิน สังคม และสิ่งแวดล้อม

 โดยผลสำรวจ ระบุชัดเจนว่า 35% ของผู้นำรุ่นใหม่ไทย มีความมั่นใจในความสามารถด้านดิจิทัลของตน ซึ่งสูงกว่าผู้นำรุ่นปัจจุบันที่ 28% ขณะที่ 33% เชื่อว่า ผู้นำรุ่นปัจจุบันยังคงไม่เข้าใจโอกาสและความเสี่ยงทางดิจิทัลที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจครอบครัว



บริหาร “ธุรกิจครอบครัว” ให้ลงตัวและลดความขัดแย้ง

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากเรื่องความเข้าใจที่ตรงกันของคน 3 วัย สิ่งที่หลาย ๆ ธุรกิจต้องเผชิญ คือความขัดแย้งของการทำงานร่วมกับคนในครอบครัวเดียวกัน เพราะความเกรงใจที่อาจจะมีน้อยกว่าคนที่อยู่นอกครอบครัว เมื่อแนวคิดไม่ตรงกันแต่ต้องทำธุรกิจร่วมกัน วิธีที่จะลดความขัดแย้งลงได้ และไม่กลายเป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนธุรกิจไปสู่ความสำเร็จ ทำได้ดังนี้ 

กำหนดบทบาทแต่ละคนให้ชัดเจน

เพราะการกำหนดบทบาท ตำแหน่ง และหน้าที่ในบริษัทให้แก่คนในครอบครัวอย่างชัดเจนเหมือนการทำธุรกิจในรูปแบบขององค์กรโดยทั่วไป จะทำให้คนในครอบครัวได้รู้ว่าตัวเองมีหน้าที่และความรับผิดชอบด้านไหน ตำแหน่งอะไร เมื่อแต่ละคนมี Job Description กำหนดสิ่งที่ต้องทำอย่างชัดเจน จะช่วยให้การก้าวก่ายในหน้าที่ระหว่างกันลดลง

สิ่งสำคัญคือ การกำหนดบทบาทหน้าที่  ผู้นำครอบครัวควรพิจารณาให้เหมาะสมกับทักษะและความสามารถ มากกว่าการให้คนในครอบครัวเลือกตำแหน่งที่ต้องการกันเอง โดยใช้หลักการบริหารที่ดี นั่นคือใช้คนให้ถูกกับงาน (Put the right man on the right job)

นอกจากนั้นยังควรเปิดกว้างในการพิจารณาคนนอกที่มีความสามารถหรือทักษะในการนำพาบริษัทไปในทิศทางที่ดี เพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในการบริหารธุรกิจครอบครัวด้วย
 
ทำตัวเป็นพนักงานเมื่ออยู่ในที่ทำงาน

ควรมีเงื่อนไขที่ตกลงร่วมกันว่า เมื่ออยู่ในที่ทำงาน ทุกคนคือพนักงาน และเมื่ออยู่นอกเวลางาน ทุกคนคือครอบครัวเดียวกัน ที่มีความรักใคร่ กลมเกลียวกัน หากเกิดกรณีมีเรื่องที่ไม่พอใจกันในครอบครัว อย่านำมาระบายหรือแสดงออกในที่ทำงาน รวมถึงการพูดเรื่องงานพยายามให้จบที่ออฟฟิศเท่านั้น หรือหากเป็นเรื่องที่ต้องปรับความเข้าใจในเรื่องการทำงาน ควรพูดคุยกันให้เข้าใจก่อนที่เรื่องราวจะบานปลายและส่งผลเสียต่อธุรกิจและบรรยากาศการทำงาน
 


วางตัวทายาทรุ่นถัดไปให้โปร่งใสและชัดเจน

แน่นอนว่าธุรกิจครอบครัวที่สร้างมาด้วยน้ำพักน้ำแรงจนเติบโตและประสบความสำเร็จ ขั้นตอนสำคัญคือคัดเลือก วางตัวทายาทไว้รับช่วงต่อ ซึ่งสิ่งที่ควรพิจารณาคือผู้ที่มีศักยภาพการบริหารบริษัท มีวิสัยทัศน์ และความยืดหยุ่น พร้อมรับฟังและกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเพื่อพัฒนาและจัดทำกลยุทธ์ใหม่ ๆ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ตามยุคสมัย

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าจะเลือกใครให้มารับช่วงต่อ ควรมีการสอนงานและเปิดโอกาสให้ว่าที่ทายาทได้เรียนรู้การดำเนินงานด้านต่าง ๆ รวมถึงปรึกษาเพื่อหาทิศทางหรือแนวคิดใหม่ ๆ มาปรับเข้ากับองค์กร

ทั้งนี้ การส่งต่องานบริหารสำหรับคน 3 รุ่น ต้องทำความเข้าใจร่วมกันและไม่ยึดติดกับแนวคิดดั้งเดิมว่าเมื่อส่งต่อมารุ่นพ่อแม่ทำธุรกิจเติบโตได้ อาจไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นต่อไปต้องทำแบบเดิมไปเรื่อย ๆ โดยเฉพาะเมื่อมีการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ ส่งผลให้ธุรกิจเติบโตได้ดีกว่า เหตุผลเหล่านี้น่าจะมีน้ำหนักมากพอในการเปลี่ยนแปลง

สิ่งสำคัญคือความเข้าใจและใช้เวลาปรับจูนความคิดของคนแต่ละวัย ที่แม้จะใช้เครื่องมือในการบริหารต่างกันแต่ล้วนมีจุดหมายเดียวกัน นั่นคือ ความสำเร็จในการทำธุรกิจอย่างมั่นคงและยั่งยืน   


แหล่งอ้างอิง : 
https://www.pwc.com/th/en/press-room/press-release/2022/press-release-12-05-22-th.html
https://www.pwc.com/gx/en/services/family-business/nextgen-survey.html
https://thaipublica.org/2017/12/pwc-same-passion-different-paths/

อ่านบทความเพิ่มเติม :

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
4845 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4332 | 30/03/2024
ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ธุรกิจครอบครัวที่บริหารด้วยค่านิยมแบบดั้งเดิม มักจะมีมุมมองว่าลูกผู้ชาย เหมาะสมที่จะก้าวขึ้นมารับช่วงกิจการในตำแหน่งหัวหน้า ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการหารายได้…
pin
5335 | 08/03/2024
ผู้บริหาร 3 วัย ทำอย่างไร? ให้ไร้ช่องว่างระหว่าง GEN เปลี่ยนความต่างเป็นความสำเร็จใน ‘ธุรกิจครอบครัว’