เครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนการบริหารธุรกิจครอบครัวมีอะไรบ้าง? เพื่อช่วยให้กิจการยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น

Family Business
31/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1607 คน
เครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนการบริหารธุรกิจครอบครัวมีอะไรบ้าง? เพื่อช่วยให้กิจการยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น
banner
ธุรกิจครอบครัว (FamilyBusiness) สามารถใช้เครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัวที่แตกต่างกันได้ เช่น การสร้างธรรมนูญครอบครัว สร้างการจัดการระบบกงสี หรือข้อกำหนดต่างๆ ที่ครอบครัวให้ด้วยตรงกัน เพื่อนำมาจัดการและแก้ไขปัญหาครอบครัว

Bangkok Bank SME จึงขอพาไปเสริมฐานธุรกิจครอบครัวให้มั่นคง ด้วยการรวบรวม เครื่องมือสำคัญที่ธุรกิจครอบครัวควรมี มาให้ได้ศึกษาและเลือกใช้ให้เหมาะสมกับผู้ประกอบการแต่ละคน

1. ธรรมนูญครอบครัว เครื่องมือสำคัญ ที่ธรุกิจควรจัดทำ

ธรรมนูญครอบครัว เป็นเครื่องมือที่ได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญในการช่วยบริหารจัดการธุรกิจครอบครัวในด้านการสร้างความชัดเจนให้กับสมาชิกในครอบครัว ซึ่งจะช่วยป้องกันปัญหาความขัดแย้ง อีกทั้งยังช่วยขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวให้ดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ 



โดยสามารถอ่านเรื่อง ‘ธรรมนูญครอบครัว’ ได้เพิ่มเติมที่ :

อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ธรรมนูญครอบครัวถือว่าเป็นเครื่องมือที่ช่วยสร้างความชัดเจนในการบริหารจัดการธุรกิจและทรัพย์สินชัดเจนและโปร่งใส ไม่ว่าจะเป็นค่าตอบแทน สวัสดิการ การเกษียณอายุ สำหรับคนที่ทำงานและไม่ได้เข้ามาทำงาน

อีกทั้งยังช่วยสร้างความสามัคคีในครอบครัวอีกด้วย และถือเป็นการช่วยกำหนดแนวทางการแก้ปัญหายามที่ความขัดแย้งที่ยังไม่เกิดขึ้น หรือกำลังเริ่มก่อตัวขึ้น ซึ่งความขัดแย้งถือเป็นเรื่องปกติในธุรกิจ แต่มักจะเป็นเรื่องที่มีความละเอียดอ่อนสำหรับคนในครอบครัว ซึ่งปัญหาเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันอาจก่อตัวกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ไม่สามารถหาทางออกได้ในอนาคต การสร้างธรรมนูญครอบครัวจึงเป็นการวางโครงสร้างในการรับมือกับปัญหาความขัดแย้งตั้งแต่เนิ่นๆ ในตอนที่สมาชิกนั้นมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน



ธรรมนูญครอบครัวที่ดี ควรประกอบด้วยอะไรบ้าง?

สำหรับข้อกำหนดในจัดตั้งธรรมนูญครอบครัว ควรระบุจำนวนสมาชิกทั้งหมดที่อยู่ภายใต้กฎในบ้านให้ชัดเจน จัดทำแผนผังครอบครัว รวมทั้งกำหนดผู้นำของครอบครัว แยกส่วนโครงสร้างของครอบครัวกับธุรกิจครอบครัวออกจากกันให้ชัดเจน

และที่สำคัญ ควรกำหนดกติกามารยาทในการอยู่ร่วมกันภายในครอบครัว เช่น การรวมตัวกันในวันปีใหม่ วันตรุษจีน อีกทั้งควรกำหนดข้อห้ามปฏิบัติ และบทลงโทษไว้ด้วย

นอกจากนี้ ควรจัดสรรผลประโยชน์ สวัสดิการ ภายในครอบครัว ระบุการจัดสรรรายได้ ค่าใช้จ่ายพื้นฐานต่างๆ ที่ทางครอบครัวจะดูแลให้กับสมาชิกอย่างเท่าเทียมกันให้ชัดเจน เช่น ที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล ค่าเล่าเรียน เงินเลี้ยงดู ค่าจัดงานแต่งงาน และงานศพ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ธรรมนูญครอบครัวไม่ใช่กฎหมาย หากแต่เป็นกฎ กติกา ข้อตกลงร่วมกันในการบริหารธุรกิจและครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ ดังนั้น การใช้ธรรมนูญในแต่ครอบครัวจึงมีความแตกต่างกัน และการใช้ธรรมนูญครอบครัวเพียงอย่างเดียวไม่อาจแก้ปัญหาได้ทุกปัญหา แต่จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของกระบวนการแก้ปัญหาที่สมาชิกทุกคนหันหน้าเข้ามาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เพื่อทำให้ธุรกิจครอบครัวประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่งยืน
 


 2. ‘ระบบกงสี’ ที่ธุรกิจครอบครัวควรมี เครื่องมือสำคัญ ช่วยบริหารให้ยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น

อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการบริหารธุรกิจครอบครัว คือ “กงสี” หากคิดอยากจะขยายธุรกิจครอบครัว (FamilyBusiness) ให้เติบโตต่อไป เพราะไม่ว่าจะอย่างไรการเงินก็ควรมีระบบ ‘กงสี’ เพื่อป้องกันปัญหาการแก่งแย่งสมบัติ และการเอาเปรียบเรื่องเงินในอนาคต เนื่องจากเงินกงสีนั้นเป็นเงินกองกลาง ธุรกิจครอบครัวไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ก็ควรมีไว้

และกงสีของธุรกิจครอบครัวมักถูกใช้ทำในเรื่องต่างๆ มากมาย และแตกต่างกันไปในแต่ละครอบครัว แต่โดยส่วนมากแล้วจะถูกใช้ไปในเรื่องสวัสดิการครอบครัว เพื่อเป็นหลักประกันความอยู่ดีกินดีของสมาชิกตั้งแต่เกิดจนเสียชีวิต ไม่ว่าจะเป็น การแต่งงาน ตั้งครรภ์ ทำคลอด ค่าเล่าเรียนของลูกๆ ประกันชีวิต เงินเดือนหลังเกษียณ ค่าจัดการงานศพ และอื่นๆ อีกมากมาย ไม่เพียงเท่านี้ หลายครอบครัวยังแบ่งเงินบางส่วนจากกงสีมาบริจาคเป็นสาธารณกุศล ถือเป็นการสร้างประโยชน์ในด้านต่างๆ แก่สังคมอีกด้วย

นอกจากนี้ การจัดการกงสีถือเป็นสิ่งสำคัญที่ครอบครัวจำเป็นจะต้องพูดคุย เตรียมการให้ดี และจัดการให้เรียบร้อย และควรจัดทำในขณะที่ผู้นำธุรกิจในครอบครัวมีสติสัมปชัญญะครบถ้วน และควรทำในตอนที่สมาชิกในครอบครัวรักใคร่ มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพราะหากสมาชิกคนใดคนหนึ่งเกิดเป็นอะไรไป หรือหากเกิดความขัดแย้งระหว่างกันแล้ว การจัดการเรื่องกงสีจะยากยิ่งขึ้นไปอีก



5 วิธีการจัดการกงสีให้ยั่งยืนทำได้อย่างไร?

1. สร้างระเบียบให้ชัดเจน
เริ่มต้นจากการจัดทำบัญชีทรัพย์สินของครอบครัว เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง อสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่ใครกำลังถือครองบ้าง เพื่อป้องกันความชัดเจน ทำให้ครอบครัวรู้ว่าอะไรคือ ทรัพย์สินส่วนตัว อะไรคือ ทรัพย์สินส่วนรวม จากนั้นควรทำหนังสือยืนยันการถือครองทรัพย์สินแทนครอบครัว หากมีการให้สมาชิกรายใดถือครองทรัพย์สินแทนกงสี และข้อระเบียบนี้ ควรเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ กันลืมไว้อย่างชัดเจน เพื่อความสบายใจของทุกฝ่าย

2. กำหนดกติกาให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิกในครอบครัว
วิธีการสำคัญอีกอย่างคือ ควรกำหนดกติกาในการใช้เงินกงสี เพราะกงสีเป็นของส่วนกลาง การจะใช้เงินกงสีจึงเป็นเรื่องที่ต้องปรึกษาหารือกันให้ดี เพราะอาจจะนำพาซึ่งความขัดแย้งได้ ดังนั้น ควรจะเริ่มต้นจากการกำหนดนโยบายและกติกาการใช้เงินกงสีร่วมกัน โดยมีการคำนวณรายรับ - รายจ่ายของกงสี ว่าสมาชิกครอบครัว ควรได้รับเงินสนับสนุนหรือมีสิทธิ์ในการเบิกจ่ายเท่าไหร่ เพื่อเป็นการกำหนดกติกาที่ดีให้เป็นที่ยอมรับของสมาชิกในครอบครัว และเพื่อป้องกันความขัดแย้งภายหลังอีกด้วย

3. แต่งตั้งให้มี ผู้จัดการกงสี เพื่อความเป็นระเบียบแบบแผน
ควรมีการจัดตั้ง ผู้จัดการกงสี เพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบการเบิกจ่ายเงินจากกงสี โดยให้เป็นไปตามกติกาและระเบียบที่สมาชิกตกลงกันไว้ ซึ่งบางครอบครัวอาจมีการจัดตั้งสำงานครอบครัวขึ้นมาเป็นผู้ช่วยของผู้จัดการกงสี ก็จะช่วยลดภาระงานของผู้จัดการกงสีไปได้มาก และควรเบิกจ่ายในอัตราไม่เกินข้อตกลงที่ครอบครัวสร้างกติกาไว้

4. กำหนดรายรับ - รายจ่ายที่ชัดเจน นำพาสู่ความยั่งยืน
เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของกงสีครอบครัวสำคัญคือ ต้องการควบคุมไม่ให้มีการใช้เงินกงสีมากกว่าที่กงสีจะหามาได้ การกำหนดวงเงินฉุกเฉินเพื่ออัดฉีดเข้าไปในธุรกิจครอบครัวกรณีวิกฤต รวมถึงการจัดทำสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้น และพินัยกรรมที่เกี่ยวข้องกับหุ้นของบริษัทโฮลดิ้ง และหุ้นของธุรกิจครอบครัว (FamilyBusiness)

 5. จัดทำพินัยกรรมที่เกี่ยวกับหุ้น
อีกข้อสำคัญคือ ควรจัดการพินัยกรรมในส่วนที่เกี่ยวข้องกับหุ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อให้หุ้นยังคงอยู่ในมือของคนในตระกูล เช่น ให้สมาชิกครอบครัวที่ถือหุ้นเขียนพินัยกรรมยกหุ้นให้กับทายาทตามสายเลือด หรือญาติพี่น้องในตระกูล เป็นต้น ยกเว้น ครอบครัวคุยกันแล้วว่าไม่ซีเรียสที่จะให้คนนอกเข้ามาถือหุ้นของธุรกิจครอบครัว

ความสำคัญของการทำระบบกงสีในธุรกิจครอบครัว ถือเป็นอีกทางเลือกให้ผู้บริหารธุรกิจครอบครัวได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ ถึงว่าแม้อาจจะไม่ได้การันตีว่าทำแล้วจะไม่เกิดการแย่งสมบัติ 100% แต่อย่างน้อยก็มีส่วนช่วยป้องกันบ้าง เพราะหากเกิดปัญหาขึ้นมาจริงๆ ปัญหานั้นก็จะเบาบางลง แต่หากไม่ทำระบบกงสีไว้ตั้งแต่ต้นเลย ปัญหาการแย่งสมบัติก็จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต 100% อย่างแน่นอน
 


3. Holding Company ทางเลือกสำคัญในธุรกิจครอบครัว

การจัดตั้ง Holding Company อีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการเป็นทางเลือกธุรกิจครอบครัว ที่ถือเป็นกลยุทธ์ที่ธุรกิจครอบครัว (FamilyBusiness) มักที่จะใช้ในการวางแผนบริหารธุรกิจ รวมถึงทรัพย์สินส่วนรวมของสมาชิกครอบครัว และมีธุรกิจครอบครัวจำนวนมากใช้ Holding Company เพื่อถือหุ้นในกิจการลูกที่ทำธุรกิจ โดยแบ่งธุรกิจแต่ละหน่วยให้กับลูกหลานเพื่อไม่ให้ทำธุรกิจร่วมกันในที่เดียว วิธีนี้เป็นการป้องกันความขัดแย้งกันของคนในครอบครัว ซึ่งเมื่อบริษัทลูกมีผลกำไรก็ส่งเข้าโฮลดิ้ง เพื่อใช้เป็นที่รวบรวมเงินกองกลางของครอบครัว

วัตถุประสงค์ของ Holding Company

เพื่อรักษาผลประโยชน์ในทางภาษีอากร และปรับเปลี่ยนธุรกิจเพื่อขยายตัวจากธุรกิจเดิม พร้อมทั้งเป็นกลยุทธ์การป้องกันการครอบงำกิจการแบบไม่เป็นมิตร (Hostile Takeover)
หากจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อควบคุมการดำเนินกิจการให้อยู่ในกลุ่มบุคคลโดยเฉพาะ ป้องกันความเสี่ยงทางกฎหมายต่อทรัพย์สิน และความรับผิดชอบของสมาชิกในครอบครัว
 


6 ข้อดีการจัดโครงสร้างบริษัทธุรกิจครอบครัวโดยใช้ Holding Company

1. ช่วยให้การจัดสรรหุ้นในบริษัทธุรกิจครอบครัวให้แก่สมาชิกในครอบครัวเป็นไปได้โดยง่ายมากยิ่งขึ้น

2. ช่วยป้องกันปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับการถือครองทรัพย์สินของครอบครัว

3. ช่วยรักษาอำนาจควบคุมกิจการของบริษัทธุรกิจครอบครัวให้อยู่กับสมาชิกในครอบครัว

4. ช่วยส่งเสริมให้สมาชิกในครอบครัวมีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัทธุรกิจครอบครัวผ่านทางบริษัทโฮลดิ้ง

5. ช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและลดความเสี่ยงในการขยายธุรกิจของบริษัทครอบครัวในอนาคต

6. มีความเหมาะสมในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต เพื่อสิทธิประโยชน์ทางภาษีอากร

ข้อเสียของการจัดโครงสร้างบริษัทธุรกิจครอบครัวโดยมี Holding Company

1. มีค่าใช้จ่ายในการจัดตั้งและการบริหารจัดการบริษัทโฮลดิ้ง

2. บริษัทโฮลดิ้งอาจไม่สามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปใช้ประโยชน์ทางภาษีอากรได้อย่างเต็มที่

อย่างไรก็ตาม เครื่องมือที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ธุรกิจครอบครัว (FamilyBusiness) หลายคนก็เลือกใช้เครื่องมือเหล่านี้ จนสามารถประสบความสำเร็จ ยืนหยัดอย่างยั่งยืน ซึ่งบางธุรกิจครอบครัวก็ใช้เครื่องมือการกำกับดูแลครอบครัวมากกว่าหนึ่งอย่าง แต่บางครอบครัวก็ใช้เพียงอย่างเดียว ก็สามารถส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นได้ ดังนั้น เพื่อการเสริมฐานธุรกิจครอบครัวให้เข้มแข็ง ผู้ประกอบการและ SME ใดที่สนใจ ก็สามารถนำไปปรับใช้ได้


แหล่งอ้างอิง : แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์  อุรพีพัฒนพงศ์ , ดร.เอกชัย อภิศักดิ์กุล  คณบดีคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย, นวพล วิริยะกุลกิจ ผู้อำนวยการสถาบันธุรกิจครอบครัวแห่งเอเชีย (Family Business Asia)
https://www.moneyandbanking.co.th/article/the-guru/family-business-is-not-a-family-10-ways-to-manage-family-business-society-june-13062022
https://moneyandbanking.co.th/article/the-guru/syndicate-obvious-management-may-2022

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
4872 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4384 | 30/03/2024
ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

ธุรกิจครอบครัวที่บริหารด้วยค่านิยมแบบดั้งเดิม มักจะมีมุมมองว่าลูกผู้ชาย เหมาะสมที่จะก้าวขึ้นมารับช่วงกิจการในตำแหน่งหัวหน้า ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการหารายได้…
pin
5336 | 08/03/2024
เครื่องมือสำคัญขับเคลื่อนการบริหารธุรกิจครอบครัวมีอะไรบ้าง? เพื่อช่วยให้กิจการยั่งยืนจากรุ่นสู่รุ่น