สถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19
ในแคนาดารุนแรงติดอันดับท็อป 20 ของโลก โดยมีจำนวนผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 1 แสนคน ด้วยเหตุนี้ประชาชนแคนาดาจึงต้องลดการเดินทางออกจากบ้าน
และหันมาใช้บริการซื้อสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซมากขึ้น
นาย Michael LeBlanc ที่ปรึกษาธุรกิจค้าปลีกจากหน่วยงาน Retails Council of Canada ให้ข้อมูลว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซในแคนาดาขยายตัว 8-10% สอดคล้องกับข้อมูลของของหน่วยงาน Statistic Canada ที่พบว่าในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ชาวแคนาดาเพิ่มการจับจ่ายผ่านออนไลน์มากถึง 92,000 ล้านบาท เฉพาะในเดือนพฤษภาคม 2563 แค่เดือนเดียว ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 เนื่องจากผู้บริโภคหลีกเลี่ยงการจะออกไปจับจ่ายใช้สอยด้วยตัวเอง เพราะไม่ต้องการสัมผัสสินค้า
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
อย่างไรก็ตาม อีกด้านหนึ่ง รศ.ซาร่าห์
วิลเนอร์ นักวิชาการด้านการตลาดจาก Wilfrid Laurier
University's Lazaridis School of Business and Economics มองว่าหลังจากผ่านพ้นช่วงโควิด
19 จะถือเป็นช่วงที่ธุรกิจค้าปลีกมีความท้าทายมาก
จากภาวะที่ลูกค้าหันไปใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal)
ด้วยเหตุนี้การแข่งขันในสมรภูมิค้าปลีกของแคนาดาจึงถือว่ารุนแรงไม่น้อย
ทั้งผู้ค้าที่เป็นธุรกิจค้าปลีกโมเดิร์นเทรดอย่าง Walmart หรือธุรกิจค้าออนไลน์อย่าง Amazon ที่ต่างกำหนดมาตรการต่างๆ
เพื่อดึงดูดลูกค้าออกมาแข่งขันกันอย่างดุเดือด
กระทั่งล่าสุดเกิดกรณีพิพาทระหว่างผู้ประกอบการที่ซัพพลายสินค้าให้กับ
Amazon
โดยสำนักงานแข่งขันทางการค้าแคนาดา (Canada Competition
Bureau) ได้ออกประกาศเปิดไต่สวน บริษัท Amazon Canada เมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ว่ามีพฤติกรรมใช้อำนาจเหนือตลาดในการกำหนดเงื่อนไขทางการค้าที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่
(ข้อมูล สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ นครโทรอนโต ประเทศแคนาดา)
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่มีซัพพลายเออร์บริษัทต่างๆ
ร้องเรียนต่อสำนักงานแข่งขันฯ ว่า Amazon ใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรมต่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ที่รวมถึงการแข่งขัน การตั้งราคาสินค้า
หรือรูปแบบการบีบให้ซัพพลายเออร์ต้องทำตามนโยบายของอเมซอน เช่น
เจ้าของสินค้าที่จะนำสินค้ามาจำหน่ายบนแพลตฟอร์มนี้จะตั้งราคาสินค้าบนแพลตฟอร์มนี้สูงกว่าราคาที่ตั้งไว้ในเว็บไซต์เจ้าของสินค้า
เพื่อจะเอื้อให้ลูกค้าหันไปสั่งซื้อสินค้าจากเว็บไซต์ของเจ้าของสินค้าโดยตรง
หรือพฤติกรรมการบีบให้ผู้ขายสินค้าบนเว็บไซต์จะต้องใช้คลังสินค้า
(Warehouse)
และระบบโลจิสติกส์ของ Amazon
หรือการบีบให้ซัพพลายเออร์ต้องจ่ายค่าโฆษณาบนแพลตฟอร์มของห้าง Amazon ซึ่งด้วยอำนาจเหนือตลาดทำให้เจ้าของสินค้าต้องพึ่งการใช้ Amazon เป็นช่องทางจำหน่ายก็จำเป็นต้องทำตาม
ขณะที่ทางฝั่ง Amazon
ออกมาประกาศว่าจะให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการเปิดข้อมูล
ให้ความร่วมมือในการไต่สวนครั้งนี้ ทั้งยังอ้างว่าแพลตฟอร์มอเมซอนนั้นได้ช่วยเหลือและขับเคลื่อนธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
ให้สามารถขยายเข้าถึงผู้บริโภคในตลาดออนไลน์ได้
ทั้งนี้กรณีนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปออกมาว่าเป็นอย่างไร
แต่หากผลการพิจารณาตัดสินออกมาว่าทาง Amazon มีความผิดในเรื่องการใช้อำนาจเหนือตลาดในการบิดเบือนตลาดหรือคู่แข่ง
"Abuse of Dominace" ตามกฎหมายแคนาดา
ซึ่งจะมีโทษปรับ 10 ล้านเหรียญแคนาดา หรือ 230 ล้านบาท ในครั้งแรก
และหากมีคดีความอีกในครั้งต่อไปจะถูกปรับเพิ่มครั้งละ 15 ล้านเหรียญแคนาดา หรือ
345 ล้านบาท
ไม่เพียงเฉพาะเคสนี้
กลุ่มซัพพลายเออร์ในแคนาดายังได้รวมกลุ่มกันร้องขอความช่วยเหลือจากสำนักงานแข่งขันทางการค้าถึงพฤติกรรมของห้างค้าปลีกสมัยใหม่
ชื่อดังอย่าง Walmart ซึ่งได้แจ้งไปยังซัพพลายเออร์กว่า
3,000 รายทั่วประเทศว่าจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมใหม่ โดยคิดอัตรา 1.25%-6.25%
ของราคาต้นทุน เพื่อนำไปใช้เป็นค่าสนับสนุนต้นทุน Modernization Cost และ Infrastructure Development Fee หรือค่าใช้จ่ายที่ใช้อัพเกรด
การตกแต่งสาขา ซึ่งเป็นผลจากการระบาดของโควิด 19
ส่งผลทำให้ผู้ประกอบการค้าปลีกในรูปแบบเดิมได้รับผลกระทบ
แต่ละห้างจึงมีค่าใช้จ่ายแฝงเพิ่มขึ้น เช่น ค่าจ้างต่อชั่วโมง ค่าอุปกรณ์ป้องกัน
เช่น หน้ากากอนามัย ชุด PPE สำหรับพนักงาน
ค่าทำความสะอาดที่ต้องทำบ่อยขึ้น ขณะที่จำนวนลูกค้ายังไม่กลับมาใช้บริการตามปกติ
ผลประกอบการของห้างลดลง จึงนำมาสู่การเรียกร้องค่าจ่ายต่างๆ เพิ่มขึ้นนั่นเอง
ตัวอย่างเคสเหล่านี้ ถือว่าเป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยที่ต้องการขายผ่านช่องทางค้าปลีกออนไลน์ ต้องศึกษาอย่างจริงจัง เพราะจากพฤติกรรมที่ไม่เป็นธรรมอาจจะส่งผลกระทบต่อรายได้และผลกำไรของผู้ประกอบการก็เป็นได้
สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<