ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นปากเหว

SME in Focus
16/08/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 2946 คน
ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นปากเหว
banner

เศรษฐกิจไทยยังคงอ่อนกำลังจากหลายปัจจัย จบไตรมาส 2/2563 ไปด้วยสภาวะหดตัวสูง ภายใต้ภาพรวมด้านการส่งออกและการผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัว ตรงกันข้ามกับการใช้จ่ายในภาครัฐที่มีการขยายตัวทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายจากการลงทุน ส่วนภาคการท่องเที่ยวยังคงหดตัวสูงต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลมาจากมาตรการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศที่ยังคงเข้มงวด ทำให้เสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศมีความเปราะบาง อัตราเงินเฟื้อติดลบซึ่งเป็นการส่งสัญญาณภาวะเงินฝืด ขณะที่ในส่วนของตลาดแรงงาน ยังคงจำนวนผู้ว่างงานยังเพิ่มสูงขึ้น

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปจนถึงไตรมาส 4

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ทำการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2563 จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง 2,241 คนทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมแทบทุกรายการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินการผ่อนคลายให้ธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินการได้ในระยะที่ 1 ถึง 5 ในเดือนช่วงเดือนพฤษภาคม-เดือนกรกฎาคม

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นต่างๆ อาทิ เศรษฐกิจโดยรวมเดือนกรกฏาคท เท่ากับ 42.6 สูงขึ้นจากเดือนมิถุนายน 41.4 โอกาสในการหางาน เท่ากับ 48.4 สูงขึ้นจาก 47.6 และรายได้ในอนาคต เท่ากับ 59.3 สูงขึ้นจาก 58.6 จากการปรับตัวดีขึ้นของดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคทุกรายการในเดือนนี้ ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภค (Consumer Confidence Index: CCI) ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 โดยปรับตัวดีขึ้นจากระดับ 49.2 เป็น 50.1

ดังนั้นคาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายไปจนถึงอย่างน้อยช่วงไตรมาสที่ 4 ของปี 2453 จนกว่าสถานการณ์โควิดจะคลายตัวลงและมีการเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและธุรกิจอย่างกว้างขวาง พร้อมกับรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เป็นรูปธรรมชัดเจนในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังโควิด เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ถึงแม้ว่าดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคจะมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงขยับขึ้นมาไม่มาก จนแทบไม่เห็นความแตกต่างทางสถิติ

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคยังอยู่ในช่วงระดับต่ำสุดเป็นประวัติศาสตร์นับแต่ทำการสำรวจ 21 ปี 10 เดือน นับตั้งแต่เดือนตุลาคม 2541 เป็นต้นมา ถือเป็นสถานการณ์ที่ต่ำว่าวิกฤตต้มยำกุ้ง

“ดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน แสดงให้เห็นว่า เศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดมาแล้วในไตรมาสที่ 2 แต่ก็ไม่ได้ดีกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด 19 และสถานการณ์ที่จะกลับมาเป็นปกติยังห่างไกลแม้ว่าจะดีขึ้นก็ตาม คาดว่าผู้บริโภคยังคงชะลอการใช้จ่ายออกไปจนถึงไตรมาสที่ 4 เนื่องจากมีความกังวลว่าตัวเองจะมีรายได้เพิ่มขึ้นหรือไม่และไม่มั่นใจเศรษฐกิจจะฟื้นจริงหรือไม่”

อย่างไรก็ตามถึงแม้เศรษฐกิจไทยจะผ่านจุดต่ำสุดมาได้ แต่ก็ยังคงน่าเป็นห่วง ซึ่งมีผลมาจากความเชื่อมั่นของผู้บริโภคยังคงทรงตัว จากการชะลอการใช้จ่ายเงิน ปัญหาค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น จึงเป็นผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง ผู้บริโภคไม่มีเงินมากพอจะใช้จ่ายซื้อสิ่งของต่างๆ ไปจนถึงซื้อบ้านหรือรถยนต์ อันจะเป็นผลกระทบแบบลูกโซ่ไปสู่ระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ส่วนหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยหยุดชะงักไปจนถึงหดตัวลดลงในอัตราที่สูงก็คือ รายได้ในภาคการท่องเที่ยวที่หายไป จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 นับจากปลายเดือนมีนาคม-เดือนมิถุนายน ที่หายไปแล้วกว่า 600,000 ล้านบาท โดยกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รายงานว่า การปิดประเทศจากโรคโควิด 19 ในช่วงปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางเข้าออกได้ ดังนั้นเมื่อเปรียบเทียบกับช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ประเทศไทยขาดรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติไปประมาณ 620,000 ล้านบาท คิดเป็นรายได้ที่หายไป 65.15%

 

การส่งออกขยายตัวได้น้อย – ชะลอตัวต่อเนื่อง

ด้านการส่งออกมีแนวโน้มชะลอตัวในครึ่งปีหลัง ซึ่งการส่งออกช่วงเดือนมกราคม-พฤษภาคมของปี 2563 มีมูลค่า 97,899 ล้านดอลลาร์ ลดลง 3.71% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ในขณะที่หลายฝ่ายประเมินว่าการส่งออกในช่วงครึ่งปีหลังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยว่า แนวโน้มสถานการณ์การส่งออกของไทยในช่วงครึ่งปีหลัง ต้องดูปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องจากการส่งออกเดือนพฤษภาคม ซึ่งสถิติที่ออกมาค่อนข้างชัดเจนถึงผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์ของหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตลาดหลักส่งออกของไทยติดลบทุกประเทศ ยกเว้นตลาดจีนที่ยังขยายตัวได้

รวมทั้งทำให้สินค้าส่งออกติดลบเกือบทุกรายการ มีเพียงสินค้าที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันและกลุ่มอาหาร ผัก ผลไม้ ที่เป็นบวก ซึ่งการส่งออกติดลบมาจากสถานการณ์โควิดส่งผลต่อความมั่นใจของรายได้ที่กระทบต่อกำลังซื้อ เพราะเมื่อผู้บริโภคตกงานก็ต้องใช้จ่ายอย่างประหยัด การส่งออกในช่วงครึ่งปีหลัง คาดว่าตลาดในกลุ่มเอเชียมีโอกาสกลับมาพลิกฟื้นได้เพราะเริ่มมีกำลังซื้อเพิ่ม นำโดยตลาดจีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น อาเซียนที่ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2563 ยังขยายตัวได้ 0.2% รวมถึงตลาดสหรัฐที่มีโอกาสขยายตัว จากสถิติการส่งออกในช่วงเดือนมกราคม–พฤษภาคม ของปีนี้ที่ยังคงขยายตัวได้ 0.3%

 

ร้านค้า เครือข่ายทยอยปิดสาขารักษาสภาพคล่อง

ถึงแม้จะมีการผ่อนปรนมาตรการให้ร้านค้า ร้านอาหาร ห้าง ร้าน เปิดบริการได้ตามปกติตั้งแต่ช่วงกลางเดือนพฤษภาคม ยอดขายของร้านค้าต่างๆ ก็ยังไม่กลับมาฟื้นตัวดังเดิม ซึ่งมีผลมาจากการจับจ่ายของผู้คนลดลงตามสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและกำลังซื้อลดลง ขณะที่ต้นทุนค่าเช่าพื้นที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ ไฟ และวัสดุอื่นๆ เป็นตัวแปรสำคัญยังคงที่ จึงพบว่าร้านค้าตามห้างร้านต่างทยอยปิดตัว 

โดยเฉพาะร้านค้าที่เป็นกลุ่มร้านอาหาร เสื้อแฟชั่น ร้านกาแฟ-เบเกอรี่ สินค้าความงาม กล้องและอุปกรณ์กล้อง เพื่อยุบสาขาลดต้นทุนในการดำเนินการ ผู้ประกอบการร้านอาหารรายเล็ก-รายกลางที่ไม่มีสายป่านยาว และไม่มีแพลตฟอร์มช่องทางขายเป็นของตัวเอง จึงค่อนข้างอยู่ยากและลำบากมากในช่วงนี้ เพราะแม้แต่แบรนด์ดังข้ามชาติ ยังชะลอการขยายสาขาและต้องพิจารณาปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรหรือมีต้นทุนในการจัดการดูแลสูงลงไป เพื่อรักษาสภาพคล่องให้ธุรกิจเดินต่อไปได้ภายใต้เศรษฐกิจไทยที่เป็นอยู่ในขณะนี้

ทั้งนี้คงต้องคอยจับตาดูต่อไปว่าหลังผ่านมาตรการการช่วยเหลือจากภาครัฐในระยะต่างๆ และการผ่อนปรนข้อกำหนดทั้งหมดไปแล้ว เศรษฐกิจไทยจะถีบตัวขึ้นได้อีกครั้งในเร็ววันหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าภาครัฐจะมีการลงทุนและการใช้จ่ายเงินกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างหนักอยู่เพียงฝ่ายเดียวในขณะนี้.


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


เตรียมรับมือ! สิ้นปีว่างงานอาจสูงถึง 3 ล้านคน

สังเวียนเลือกตั้งสหรัฐฯ กับทิศทางการค้า–การลงทุน


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

ยนต์ผลดี จากโรงงานผลิตเครื่องสีข้าว สู่ ‘โรงเรียนโรงสี’ และเป้าหมายการยกระดับอุตสาหกรรมข้าวให้เข้มแข็ง

โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ แห่งแรกของไทย โรงเรียน ‘โรงสีข้าว’ หรือ ศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวข้าว จัดตั้งโดย บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด…
pin
216 | 25/03/2024
3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

3 ผู้บริหารหญิงยุคใหม่ กับแนวคิดใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนธุรกิจรับเทรนด์อาหารเพื่อสุขภาพ

ไขเคล็ดลับและแนวคิดที่ผลักดันให้ผู้นำหญิงในโลกธุรกิจขึ้นมายืนแถวหน้า นักธุรกิจหญิงแกร่งที่ทรงพลังต่อการขับเคลื่อนธุรกิจ จนทำให้พวกเธอสามารถขึ้นมายืนแถวหน้าอย่างภาคภูมิ…
pin
387 | 22/03/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น…
pin
311 | 20/03/2024
ผู้บริโภคขาดกำลังซื้อ เศรษฐกิจไทยยังไม่พ้นปากเหว