กำลังซื้อแผ่ว! ความเชื่อมั่น SMEs ปรับลดลง

SME in Focus
07/10/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 1795 คน
กำลังซื้อแผ่ว! ความเชื่อมั่น SMEs ปรับลดลง
banner

วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) กลไกและรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ หัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเติบโตแข็งแกร่ง เพราะมีการจ้างงานไปในหลากหลายอุตสาหกรรม นับตั้งแต่ธุรกิจการเกษตรไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมการผลิต ภาคการค้า ตลอดถึงธุรกิจบริการต่างๆ จากผู้ประกอบการทั่วประเทศมากกว่า 3 ล้านราย ซึ่งมีอัตราจ้างงานมากกว่า 13-15 ล้านราย โดยมีมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) อยู่ที่ประมาณ 1.45 ล้านล้านบาท คิดเป็น 34.7% เมื่อเทียบกับจีดีพีประเทศในไตรมาสแรกของปี 2563

แต่เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2562 จีดีพี SMEs ไทยหดตัว 3.3% จากไตรมาสก่อนหน้า และเป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2558 เนื่องจากได้รับผลจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ทำให้ทั้งไทยและทั่วโลกต้องล็อคดาวน์เมือง ส่งผลกระทบทั้งด้านส่งออกและการท่องเที่ยว ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยดังกล่าวมีอิทธิพลโดยตรงต่อเศรษฐกิจของ SMEs ไทย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ขณะที่รายงานล่าสุดของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ระบุถึง ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ SMEs เดือนสิงหาคม 2563 ปรับลดลงเล็กน้อยหลังจากปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ตั้งแต่การผ่อนปรนมาตรการของภาครัฐ โดยเป็นผลมาจากกำลังซื้อที่เริ่มลดลงและมีสัญญาณการแผ่วตัวลงของกำลังซื้อในอนาคต เนื่องจากหมดระยะเวลาของมาตรการเงินเยียวยาของภาครัฐ และความเปราะบางของภาวะการณ์จ้างงานในหลายธุรกิจ ทำให้ประชาชนระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น อย่างไรก็ตามค่าระดับดัชนียังสูงกว่าค่าฐานที่แสดงถึงภาพรวมธุรกิจ SMEs ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี แต่ลดลงจากเดือนก่อนหน้า

นายวีระพงศ์ มาลัย ผู้อำนวยการ สสว. ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนกรกฎาคม 2563 ที่ระดับ 51.6 มาอยู่ที่ระดับ 51.2 โดยถือเป็นการปรับตัวลดลงครั้งแรกหลังจากที่มีการปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดช่วงผ่อนปรนมาตรการของรัฐ สะท้อนสัญญาณการเริ่มชะลอตัวทางธุรกิจที่เป็นผลจากการลดลงของกำลังซื้อเป็นสำคัญ เนื่องจากประชาชนใช้เงินเยียวยาเพื่อจับจ่ายใช้สอยไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา และภาคธุรกิจมีการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนโดยเฉพาะการจ้างงาน ทำให้เกิดความเปราะบางของการจ้างงานในหลายธุรกิจ ซึ่งส่งผลต่อการใช้จ่ายที่ลดลงของประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น เพื่อเก็บเงินสำหรับการบริโภคในอนาคต เพราะความกังวลเกี่ยวกับรายได้ที่ยังมีความไม่แน่นอน

สาเหตุของดัชนีความเชื่อมั่นฯ ปรับลดลง เนื่องจากองค์ประกอบด้านคำสั่งซื้อ ปริมาณการผลิต การค้าและการบริการ กำไร และการจ้างงาน ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 54.5, 55.4, 53.0 และ 48.2 ตามลำดับ ส่วนองค์ประกอบด้านต้นทุน และการลงทุนปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ 45.0 และ 50.9 ตามลำดับ

โดยภาคการผลิต มีค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ในเดือนนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 51.3 ส่วนภาคการค้าและภาคการบริการ ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 51.0 และ 51.2 ตามลำดับ การปรับตัวลดลงมาจากการระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะสินค้าและบริการที่ไม่จำเป็น อาทิ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ไม้และเฟอร์นิเจอร์ วัสดุก่อสร้าง บริการรถเหมาเพื่อท่องเที่ยว โรงแรมและร้านอาหาร เป็นต้น

 

ดัชนีเชื่อมั่นฯ SMEs รายภูมิภาค

ด้านดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของ SMEs แต่ละภูมิภาคมีการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน โดยภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ปัจจุบันอยู่ที่ 48.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 48.0 จากการขยายตัวของธุรกิจกลุ่มบริการที่หลายสถานประกอบการกลับมาเปิดกิจการได้ตามปกติ โดยเฉพาะกิจกรรมทางด้านสันทนาการบันเทิงต่างๆ

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคใต้ ปัจจุบันอยู่ที่ 53.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 51.8 เป็นผลจากการกระตุ้นเศรษฐกิจการท่องเที่ยว และการจัดงานมหกรรมและงานแสดงสินค้าของภาครัฐและเอกชน อีกทั้งยังมีกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นของชาวสวนยาง ที่ได้รับอานิสงส์จากราคายางพาราที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตามการขยายตัวทางธุรกิจค่อนข้างจำกัด เนื่องจากขาดรายได้จากการท่องเที่ยวของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ยังไม่สามารถเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศได้

ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคกลาง ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 53.5 ลดลงเล็กน้อยจาก 53.6 โดยภาคการค้าขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าทางเกษตร การค้าปลีกสมัยใหม่ (modern trade) และการค้าปลีกแบบดั้งเดิม ส่วนภาคการบริการภาพรวมมีการปรับตัวลดลง โดยเฉพาะสาขาการขนส่งสินค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ภาคตะวันออก ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 49.8 ลดลงจาก 51.2 จากการชะลอตัวของกำลังซื้อและการเพิ่มขึ้นของต้นทุนสินค้าและวัตถุดิบในพื้นที่ ประกอบกับสาขาการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นตัว

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 50.8 ลดลงจาก 54.1 จากการชะลอตัวของการจองและการใช้บริการของกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และบริการด้านสุขภาพ/เสริมความงาม จากกำลังซื้อลดลงและยังเป็นช่วงหน้ามรสุม ไม่มีวันหยุดติดต่อเพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวของพื้นที่

ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปัจจุบันอยู่ที่ระดับ 52.6 ลดลงจาก 53.1 เพราะอุปสงค์ในพื้นที่หดตัวลงโดยเฉพาะภาคการผลิต ซึ่งเป็นผลจากกำลังซื้อที่ลดลงและการระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน อีกทั้งการจ้างงานค่อนข้างมีความเปราะบาง

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 56.3 ปรับลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 59.3 จากความกังวลเพิ่มขึ้นของกำลังซื้อที่ชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า และความเปราะบางของการจ้างงานในอนาคตที่จะส่งผลต่อรายได้ของประชาชน นอกจากนี้ยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนของการท่องเที่ยว

ส่วนปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อกิจการ SME ในเดือนนี้ 5 อันดับแรก ได้แก่

1. ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและอำนาจซื้อของประชาชน

2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค

3. มาตรการในด้านต่างๆ ของรัฐบาล

4. การแข่งขันในตลาด

5. ราคาต้นทุนสินค้า/ค่าแรงงาน (ที่เพิ่มสูงขึ้น) 


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
75 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
190 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
812 | 17/04/2024
กำลังซื้อแผ่ว! ความเชื่อมั่น SMEs ปรับลดลง