‘อีโคอินโนเวชัน’ พลิกวงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าด้วยแนวคิด ESG สร้างสมดุลที่ดีตอบแทนสิ่งแวดล้อม

ESG
01/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 5753 คน
‘อีโคอินโนเวชัน’ พลิกวงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าด้วยแนวคิด ESG สร้างสมดุลที่ดีตอบแทนสิ่งแวดล้อม
banner
อุตสาหกรรมสิ่งทอเป็นอุตสาหกรรมที่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในหลายด้านตลอดสายการผลิตตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ ไปจนถึงกระบวนการผลิตและการกำจัดของเสียจากกระบวนการผลิต โดยส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมในเรื่องปัญหามลพิษทางน้ำและทางอากาศ และการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงการจัดการของเสียจากการผลิต 



โดยอุตสาหกรรมเสื้อผ้ามีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ราว 8 - 10% ของอัตราการปล่อยคาร์บอนทั่วโลก และปล่อยน้ำเสียเกือบ 20% ของปริมาณน้ำเสียทั่วโลก รวมถึงสารเคมีมากมาย โดยรวมแล้วอุตสาหกรรมการผลิตเสื้อผ้าใช้พลังงานมากกว่าอุตสาหกรรมการบินและการขนส่งทางเรือรวมกันและเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้ทรัพยากรน้ำมากเป็นอันดับ 2 รองจากอุตสาหกรรมน้ำมัน ขณะที่งานวิจัยของ Adidas ก็ระบุด้วยว่า ธุรกิจสิ่งทอรวมกันทั่วโลกใช้น้ำทุก 2 ปี เท่ากับทะเลเมดิเตอร์เรเนียนเลยทีเดียว ยิ่งปัจจุบัน Fashion ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วแบบมาไวไปเร็ว ยิ่งเป็นตัวเร่งให้คนซื้อเสื้อผ้าเพิ่มมากขึ้น ทำให้ทรัพยากรน้ำถูกใช้มากขึ้น ขณะที่มลพิษในกระบวนการผลิตก็เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัวเช่นกัน

ในขณะที่อุตสาหกรรมเสื้อผ้าแฟชั่นทั่วโลกเติบโตขึ้นในอัตราเฉลี่ย 5.5% ต่อปี ซึ่งปัจจุบันมีมูลค่าเกือบ 2.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างในช่วงปี 2019 ปีเดียวมีการผลิตเสื้อผ้าและรองเท้าถึงหลักพันล้านชิ้น เนื่องจากในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา กลุ่มชนชั้นกลางเติบโตขึ้นมาก และได้เพิ่มการบริโภคเสื้อผ้าเป็น 2 เท่า
 
ด้วยเหตุนี้ทำให้ในแต่ละปีต้องนำเสื้อผ้าเก่าเหล่านี้จะถูกนำมาฝังกลบขยะมากกว่า 10 ล้านตัน ซึ่งมีการนำไปรีไซเคิลไม่ถึง 10% เท่านั้น ซึ่งปัญหาดังกล่าวสามารถแก้ได้ด้วย ‘แฟชั่นหมุนเวียน’ ด้วยแนวคิดของ Circular Economy เช่น การใช้ซ้ำวัตถุดิบเดิม การนำเอาวัสดุรีไซเคิลมาทำเป็นเสื้อผ้าใหม่ การให้เช่าและขายต่อเสื้อผ้า เป็นต้น นับว่าเป็นอีกทางเลือกของการบริโภคในยุคทุนนิยมสมัยใหม่ ที่เราสามารถเอาสินค้าเดิมมาหมุนเวียนใช้ซ้ำและแลกเปลี่ยนกันได้

ด้วยเหตุนี้วงการอุตสาหกรรมสิ่งทอจึงพยายามนำนวัตกรรมสีเขียว ที่เป็น Eco-Innovation หรือ นวัตกรรมที่ช่วยแก้ไขและพัฒนาระบบนิเวศน์ ซึ่งเป็นสิ่งที่มากับ การพัฒนาความยั่งยืน (Sustainable Development) เข้ามาใช้ ซึ่งปัจจุบันเริ่มเห็นแบรนด์เสื้อผ้าระดับโลกหลายรายหันมาใช้วัตถุดิบที่มาจากการรีไซเคิลมากขึ้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย อย่างแบรนด์ยักษ์ใหญ่อย่าง ‘ZARA’ ประกาศว่าภายในปี 2025 จะหันมาใช้ผ้าฝ้าย และผ้าลินินแบบออร์แกนิก เพื่อลดสารพิษตกค้างในสิ่งแวดล้อม และเตรียมหันมาใช้ผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่ทำมาจาก ‘วัตถุดิบรีไซเคิล’ แทนการใช้วัตถุดิบที่ผลิตใหม่ รวมถึงแบรนด์ดังอย่าง Adidas และ H&M ก็ประกาศว่าจะหันมาใช้ ‘ผ้ารีไซเคิล’ เช่นกันด้วย



ตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ไทยที่ปรับตัวตามแนวคิด ESG ให้เข้ากับเทรนด์การทำธุรกิจที่ยั่งยืน

สำหรับในประเทศไทย บริษัท SC GRAND ‘แบรนด์ผ้ารีไซเคิล’ นับเป็นตัวอย่างของ SME ได้เป็นอย่างดี เป็นหนึ่งในโรงงานผลิตผ้ารีไซเคิลในไทย โดยการนำเสื้อผ้าเก่า และของเสียที่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ มารีไซเคิลเป็นผ้าใหม่หรือเรียกว่า ผ้ารีไซเคิลคอทตอนและผ้ารีไซเคิลโพลีเอสเตอร์ โดยทางโรงงานของ SC GRAND จะใช้ ‘ระบบการผลิตแบบหมุนเวียน (Circular Fashion)’ ระบบนี้จะเป็นกระบวนการผลิตผ้ารีไซเคิล จากวัตถุดิบที่มีอยู่แล้ว อย่างเช่น เศษผ้าที่เหลือจากการตัดเย็บ เสื้อผ้าเก่าที่ถูกทิ้งและของเสียจากอุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ซึ่งระบบนี้จะมีแค่ที่โรงงานของ SC GRAND เท่านั้น 





ขณะที่หนึ่งตัวอย่างที่ดีในการใช้นวัตกรรม 'DryDye' เป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดของโลก ที่ต่อยอดความสำเร็จโดยคนไทย โดยเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาย้อมผ้าแทนน้ำ เป็นการเปลี่ยนมลพิษให้กลายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม คือ บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ที่แตกไลน์มาจาก บริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด เป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่ทำ OEM ให้กับแบรนด์ระดับโลกต่างๆ อาทิ ADIDAS, NIKE, MIZUNO, DECATHLON, ODLO, PUMA รวมถึงชุดชั้นในวาโก้, ไทรอัมพ์, วิคตอเรีย ซีเคร็ท เป็นต้น ซึ่งทำมากว่า 30 ปี แต่สิ่งที่ทำให้แตกต่างคือ การให้ความสำคัญกับการลงทุนในเทคโนโลยีใหม่ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือ ต้องการให้ธุรกิจเติบโตด้วยนวัตกรรมและไอเดียใหม่ๆ ที่ไม่เน้นแค่ผลกำไร แต่ให้ความสำคัญกับ Core Value ในการพัฒนานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์กระบวนการผลิตที่จะสามารถช่วยลดการใช้ทรัพยากร และต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วย 

โดยกระบวนการทำงานของเทคโนโลยี 'DryDye' จะใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มาย้อมแทนน้ำ ต่างจากขั้นตอนแบบเดิมที่การย้อมแบบใช้น้ำโดยปกติเสื้อ 1 ตัวใช้น้ำสูงถึง 25 ลิตร แต่ขั้นตอนของเทคโนโลยี ‘DryDye’ ทั้งหมดไม่มีการใช้น้ำแม้แต่หยดเดียว จึงไม่ต้องมีระบบบำบัดน้ำเสีย อีกทั้งคาร์บอนไดออกไซด์และผงย้อมจะสามารถนำกลับมารีไซเคิลได้กว่า 95% จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีถังเก็บกักก๊าซ CO2 ไม่ให้ปล่อยเป็นของเสียออกสู่ในชั้นบรรยากาศ ทำให้ก๊าซ CO2 สามารถนำกลับมาย้อมซ้ำได้ เมื่อต้องการใช้งานจะใช้แรงดันสูงมาเปลี่ยนก๊าซ CO2 ให้อยู่ในรูปแบบ Supercritical Fluid หลังใช้งานเสร็จก็จะกลายเป็นสถานะก๊าซเช่นเดิม 

ซึ่งการย้อมผ้าแบบดั้งเดิม จะต้องใช้น้ำ 50 - 150 ลิตรต่อผ้า 1 กิโลกรัม ทั้งยังใช้สารเคมีในการย้อมเพื่อให้สีติดลงในเนื้อผ้า ซึ่งทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน จึงเป็นเหตุให้ต้องการที่จะพัฒนาโซลูชั่นขึ้นมาเพื่อตอบโจทย์ปัญหานี้ กระทั่งได้พบกับนวัตกรรมการย้อมแบบไม่ใช้น้ำ ซึ่งก็คือ เทคโนโลยี DryDye ที่ตอบโจทย์การทำธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้




ในอนาคต DryDye ต้องการเน้นเรื่องของการเป็น Environmental Friendly Brand และพัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับผ้าในส่วนอื่นๆ เพื่อสร้าง Awareness ให้ผู้คนตระหนักถึงการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมได้ โดยเฉพาะกลุ่ม Gen Y และ Gen Z ที่ให้คำนึงถึงคุณค่าของสินค้าว่าสร้างผลกระทบต่อโลกหรือไม่มากกว่าจำนวนเงินที่จ่ายไป

กรรมการผู้จัดการ Yeh Group กล่าวว่า เราพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ของบริษัทมาตั้งแต่เริ่มต้นก่อตั้งธุรกิจ ด้วยแนวคิด ESG ที่ต้องการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งศักยภาพของเทคโนโลยี DryDye ที่สามารถย้อมสีผ้าได้กับผ้าทุกชนิด ทำให้ก้าวต่อไปจะมีการทดลองนำผ้าชนิดอื่นๆ อย่างเช่น ผ้าประเภท รีไซเคิล โพลีเอสเตอร์ ที่ช่วยลดขยะพลาสติก ซึ่งจะต้องรณรงค์ให้มีการใช้ผ้าประเภทนี้ให้มากขึ้น

นอกจากนี้ พยายามมองหาวัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติให้มากขึ้นด้วย เช่น ปัจจุบันพบว่ามีการคิดค้นพัฒนา ผ้าโพลีเอสเตอร์ ที่เกิดจากการสังเคราะห์จากพืชหรือเศษผักผลไม้ หากสามารถผลิตได้จริงก็สามารถนำมาผ่านกระบวนการย้อมสีด้วยเทคโนโลยี DryDye ได้ด้วยเช่นกัน

กรณีศึกษาของ SC GRAND และ DryDye จึงเป็นตัวอย่างของผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดีในการปรับตัวด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้เข้ากับเทรนด์การทำธุรกิจแบบยั่งยืนด้วยแนวคิด ESG เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่เริ่มหันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้น SME รายใดที่มีซัพพลายเชนเกี่ยวข้องกับธุรกิจนี้ ควรศึกษาเพื่อเตรียมพร้อมเพื่อจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที

ที่มา



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2561 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3814 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3451 | 18/03/2024
‘อีโคอินโนเวชัน’ พลิกวงการอุตสาหกรรมเสื้อผ้าด้วยแนวคิด ESG สร้างสมดุลที่ดีตอบแทนสิ่งแวดล้อม