ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption

Family Business
08/03/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 5358 คน
ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption
banner

ธุรกิจครอบครัวที่บริหารด้วยค่านิยมแบบดั้งเดิม มักจะมีมุมมองว่าลูกผู้ชาย เหมาะสมที่จะก้าวขึ้นมารับช่วงกิจการในตำแหน่งหัวหน้า ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบหลักในการหารายได้ เพราะลูกชายจะสืบทอดนามสกุลและมรดก ขณะที่ลูกผู้หญิง เมื่อแต่งงานแล้วต้องไปอยู่กับครอบครัวสามี ทำให้ความเกี่ยวข้องกับธุรกิจครอบครัวลดลง



แต่ปัจจุบัน สังคมไทยให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมทางเพศอย่างแพร่หลาย ธุรกิจครอบครัวหลายแห่งเริ่มเปิดใจให้ลูกผู้หญิงมีบทบาทในการบริหารธุรกิจมากขึ้น เช่น การมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งระดับกรรมการบริหาร หรือผู้บริหารระดับสูง



เนื่องในวันสตรีสากล (International Women's Day) ที่ตรงกับวันที่ 8 มีนาคม ของทุกปี ถือเป็นวันเฉลิมฉลองความสำเร็จของผู้หญิง และรณรงค์เพื่อสิทธิสตรีที่เท่าเทียมกัน โดยประเด็นสำคัญของวันสตรีสากลในปี 2567 คือ "การสร้างความเท่าเทียมทางเพศเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน" บทความนี้ Bangkok Bank SME ขอยกตัวอย่าง 3 ผู้บริหารหญิงเก่ง ที่ใช้ทักษะผู้นำผสานความยืดหยุ่น อ่อนโยนแต่แข็งแกร่ง จนสามารถนำ ‘ธุรกิจครอบครัว’ ผ่านพ้นวิกฤติได้ทุกยุคสมัยและประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ดังนี้

‘คุณภาวิณี อ้างสันติกุล’ ทายาทรุ่น 3 ผู้รับไม้ต่อ ‘อากง’

เริ่มธุรกิจจากศูนย์ สู่ความสำเร็จในตลาดน้ำหอมที่ยั่งยืนกว่า 60 ปี


คุณภาวิณี อ้างสันติกุล ผู้จัดการฝ่ายผลิตและตรวจสอบคุณภาพสินค้า บริษัท แมรี่แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด


เส้นทางธุรกิจน้ำหอมแบรนด์ BONSOIR ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ในนาม บริษัท แมรี่แมนูแฟ็คเจอริ่ง จำกัด โรงงานผลิต และจำหน่ายน้ำหอมสำหรับคน (Body) และน้ำหอมสำหรับบ้าน (Home) จำหน่ายตลาดทั้งในประเทศ และต่างประเทศ รวมถึงการรับจ้างผลิต (OEM) สินค้าเครื่องสำอาง น้ำหอมตามความต้องการของลูกค้า เป็นอีกหนึ่งบทพิสูจน์ความสามารถของทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 อย่างคุณภาวิณี อ้างสันติกุล ผู้จัดการฝ่ายผลิตและตรวจสอบคุณภาพสินค้า


โดยเธอเผยว่า ธุรกิจเครื่องสำอางและน้ำหอมก่อตั้งขึ้นตั้งแต่รุ่นอากง (ปู่) ในประเทศจีนทางบ้านอากงมีฐานะยากจนมาก แม่จึงพาเดินทางมาเมืองไทย ตั้งแต่อายุ 4 ขวบ เพื่อมาสร้างครอบครัว อากงได้เล่าเรียนที่เมืองไทย และช่วยแม่ทำงาน ด้วยความอดทน ขยัน จนสามารถเรียนจบได้ และเริ่มทำงานเป็นเสมียน (พนักงานบัญชี) ในบริษัทขายหัวน้ำหอมแห่งหนึ่ง และค่อย ๆ สร้างเนื้อสร้างตัว เก็บหอมรอมริบจนสามารถออกมาทำธุรกิจของตัวเองได้



เริ่มจากการเป็นผู้นำเข้าเครื่องสำอางและน้ำหอมจากประเทศฝรั่งเศส มาจำหน่ายในประเทศไทย จัดจำหน่ายสินค้าโดยใช้รถหน่วยออกวิ่งขาย หรือโฆษณาสินค้าในลักษณะฉายหนังกลางแปลง เมื่อสะสมความรู้และประสบการณ์จนเกิดความเชี่ยวชาญ อากงจึงได้เริ่มผลิตน้ำหอมของตนเอง


จุดเปลี่ยน สู่การสร้างแบรนด์น้ำหอมสัญชาติไทยคุณภาพดี


ประมาณปี 2513 บริษัทผู้ผลิตน้ำหอมในประเทศฝรั่งเศสได้เลิกกิจการ และบริษัทที่เป็นเอเยนต์หรือตัวแทนในประเทศไทยไม่ได้ต่อสัญญาขายสินค้าให้เรา ตอนนั้นเลยเปลี่ยนจากการนำเข้าสินค้าแบรนด์ต่างประเทศมาเป็นการผลิตเครื่องสำอางแบรนด์ของเราเอง



มุมมองที่เฉียบคม ของคุณภาวิณี ที่เล็งเห็นว่าตลาดน้ำหอมจากยุคแรก ๆ อากงเน้นผลิตสินค้าราคาแพง เจาะตลาดน้ำหอมเกรดพรีเมียมมีจุดแข็งที่เป็นแบรนด์ผู้ผลิตจากฝรั่งเศส แต่เมื่อมาถึงจุดที่เราต้องการขยายตลาดไปยังกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ ต้องปรับตัวจากการเป็นผู้นำเข้าน้ำหอมแบรนด์เนม มาเป็นผู้ผลิตสินค้าแบรนด์ตัวเองในราคาย่อมเยา เน้นเข้าถึงกลุ่มคนทั่วไปมากขึ้น (Mass Market)

ซึ่ง BONSOIR (บองซัวร์) ได้ถือกำเนิดมาตั้งแต่ยุคนั้น การสร้างแบรนด์ จึงเป็นการต่อยอดจากองค์ความรู้ในการทำธุรกิจมาปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพ โดยมีทั้งสินค้าที่ผลิตจำหน่ายเอง ได้แก่ น้ำหอม ครีมใส่ผม และสินค้าที่จ้างผลิต (OEM) เช่น สินค้ากลุ่มแป้งน้ำ เป็นต้น

ทั้งหมดนี้ สะท้อนว่าคุณภาวิณี คือผู้บริหารหญิงที่นำความรู้ด้านการประกอบธุรกิจในส่วนต่าง ๆ จากครอบครัวทั้งคำสอน คำแนะนำที่เป็นประโยชน์จากอากงที่ใส่ใจดูแลอย่างใกล้ชิด ซึ่งท่านจะเน้นย้ำเสมอถึงความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า มาเป็นแนวทางที่ยึดถือปฏิบัติ และใช้ความรู้ทางการตลาดสมัยใหม่เข้ามาผนวกนำพาแบรนด์ของครอบครัวประสบความสำเร็จจนทุกวันนี้


อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่

https://www.bangkokbanksme.com/en/sme-bonsoir-family-business


‘คุณศุภรัตน์ ชูชัยศรี’ ทายาทธุรกิจ แห่ง ‘ศรีวัฒนา’

ความสำเร็จที่เริ่มต้นจากโรงงานกรอบรูปเล็ก ๆ สู่ผู้ผลิต-ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้แถวหน้าของไทย



คุณศุภรัตน์ ชูชัยศรี (คุณพิ้งค์) ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์ จำกัด


ผู้ผลิต-ส่งออกผลิตภัณฑ์ไม้แถวหน้า ที่เริ่มต้นจากร้านกรอบรูปเล็ก ๆ


คุณศุภรัตน์ เล่าว่า คุณพ่อและคุณแม่ของเธอ เริ่มต้นธุรกิจจากติดลบ เนื่องจากกู้เงินมาทำร้านขายกรอบรูป ช่วงแรกจ้างพนักงานแค่ 2-3 คน ทั้งยังต้องเรียนรู้การทำธุรกิจทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นผลิตเอง หาลูกค้าเอง โดยคุณพ่อ ขับรถตระเวนนำกรอบรูปไปเสนอขายตามร้านค้าในจังหวัดต่าง ๆ ขึ้นเหนือลงใต้ จนค่อย ๆ ขยับขยายกิจการ จนมีพนักงานเพิ่มขึ้นถึง 800 คน


แต่การมีพนักงานจำนวนมากขนาดนี้ ทำให้ธุรกิจกรอบรูปของครอบครัว ต้องเผชิญกับปัญหาด้านต้นทุนครั้งใหญ่ เมื่อมีการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำภายในประเทศ ส่งผลให้บริษัท จำเป็นต้องลดจำนวนพนักงานลง และนำเข้าเครื่องจักรมาช่วยในการผลิต เพื่อทดแทนแรงงาน ซึ่งเป็นการค่อย ๆ ปรับเปลี่ยน จากเครื่องจักรไม่กี่เครื่อง ปัจจุบัน บริษัท ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์ จำกัด มีเครื่องจักรรวมกว่า 100 เครื่อง และสามารถลดจำนวนพนักงานได้เหลือราว 200 คน


เมื่อช่วงเปลี่ยนผ่านกิจการ โดยลูกสาวเข้ามาช่วยงาน เธอเริ่มเห็นโอกาสว่า ในโรงงานมีเครื่องจักรจำนวนมาก น่าจะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ได้เยอะกว่านี้ เพราะจุดเด่นของกรอบรูปบริษัท ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์ จำกัด คือจะไม่เหมือนแบรนด์อื่นในตลาด โดยสามารถเพิ่มรูปแบบให้มีความเว้า มีมิติ และยังทำอะไรได้หลากหลายเนื่องจากเครื่องจักรที่มีอยู่ส่วนใหญ่นำเข้าจากอิตาลี เยอรมนี และญี่ปุ่น ทำให้มีศักยภาพในการผลิตสูง



ด้วยเหตุนี้ เธอจึงเสนอไอเดียกับคุณพ่อคุณแม่ โดยใช้ความสร้างสรรค์ร่วมกับต้นทุนทางด้านเครื่องจักรที่มีต่อยอดผลิตภัณฑ์ทำเฟอร์นิเจอร์ไม้ เริ่มจากชิ้นเล็ก ๆ ก่อน เช่น ถาดไม้ เก้าอี้ตัวเล็ก โต๊ะข้างเตียง ฯลฯ เมื่อเฟอร์นิเจอร์ชิ้นเล็กไปได้ดี จึงเริ่มผลิตชิ้นที่ใหญ่ขึ้น โดยนอกจากนำเสนอไอเดียกับผู้ส่งมอบธุรกิจแล้วอีกหนึ่งความสำเร็จที่ทำให้รับช่วงต่ออย่างราบรื่น


ในฐานะทายาทรุ่น 2 ที่เข้ามารับช่วงต่องานบริหารอย่างราบรื่น โดยไม่ทำให้เกิดรอยต่อระหว่างทีมงานในองค์กรนั้น ไม่ง่ายเลย ก่อนอื่นต้องทุ่มเท ศึกษาข้อมูลธุรกิจอย่างละเอียดรอบคอบก่อน ต้องรู้ ตั้งแต่ว่ากิจการเริ่มมาจากอะไรและดำเนินธุรกิจประสบความสำเร็จหรือไม่ ประสบความสำเร็จในด้านใดบ้างอย่างไร


นอกจากนี้ ต้องเข้าใจทัศนคติ เป้าหมาย จุดเด่นของธุรกิจ และ แก่นในการทำธุรกิจของคุณพ่อคุณแม่อย่างลึกซึ้ง เนื่องจากจะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจแทบทุกอย่างสำหรับการทำงานร่วมกับทุกฝ่าย เมื่อเราเข้าใจเป้าหมายต้องสื่อสารกับทีมงานในองค์กร ว่าเราคือหนึ่งในทีมที่มาช่วยให้ฝ่าฟันอุปสรรคไปด้วยกัน ใช้เวลารับฟังความคิดเห็นต่าง ๆ ของทีมงานและแสดงวิสัยทัศน์ของเราเพื่อสอบถามความคิดเห็นเพื่อให้ทีมงานได้ร่วมเสนอแนะและพูดคุยทำความเข้าใจกันตั้งแต่แรก เพื่อหล่อหลอมความคิดของทั้งตัวเองและทีมงานเข้าด้วยกัน เมื่อเป้าหมายของ ทำให้ทุกคนร่วมมือกันพิชิตอุปสรรคต่าง ๆ เพื่อไปสู่ความสำเร็จได้


เรื่องของการสื่อสาร ถือเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำให้บุคลากรในองค์กร ยอมทำสิ่งที่ต่างจากเดิมเช่น การพัฒนาระบบด้านต่าง ๆ หรือการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้ กลยุทธ์ในการสื่อสารคือ ต้องพูดถึงผลประโยชน์และผลกระทบที่ดีที่จะเกิดขึ้น (และผลกระทบที่ไม่ดีถ้าไม่ปรับเปลี่ยน ) หลังจากเราได้มีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เราจะไม่นำสิ่งใหม่ 100% เข้ามาให้พนักงานทำทันที แต่จะให้ทีมงานใช้เวลาเพียง 20% ของวันในการเริ่มเรียนรู้และใช้งานสิ่งใหม่ ๆ ส่วนอีก 80% คือการทำงานรูทีนที่คุ้นชินและถนัด เพื่อให้ทีมไม่รู้สึกว่าไม่ต้องเปลี่ยนวิธีการทำงานมากเกินไป สิ่งนี้ทำให้พนักงานไม่รู้สึกว่าเราไปก้าวก่ายหรือปรับเปลี่ยนชีวิตเขามากเกินไป ทำให้มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในทุก ๆ วัน



ปัจจุบัน ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์ สามารถผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ได้แทบทุกประเภท และยังได้รางวัลการันตีคุณภาพจากสถาบันทั้งในไทย และต่างประเทศอีกด้วย


สร้างความได้เปรียบ ด้วย OEM ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


นอกจากไอเดียธุรกิจ คุณศุภรัตน์ ยังมุ่งมั่นเรื่องการผลิตที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม โดยผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นที่ออกจากโรงงานของ ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์ มั่นใจได้ว่า เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไม้ที่ใช้ในการผลิตเกือบทั้งหมด มาจากสวนป่าปลูก 50% เป็นไม้ในประเทศไทย และอีก 50% เป็นไม้นำเข้าจากซัพพลายเออร์ในสหรัฐอเมริกา ผ่านมาตรฐานการรับรองจาก Forest Stewardship Council (FSC) ซึ่งเป็นองค์กรพิทักษ์ป่าไม้ระดับนานาชาติ โดยทุก ๆ ต้นไม้ 1 ต้นที่ถูกตัดมาใช้ จะมีการปลูกต้นไม้ทดแทน 5 ต้นเป็นอย่างน้อย อีกทั้งยังมีการจำกัดค่าฟอร์มัลดีไฮด์ในไม้ เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ความใส่ใจเหล่านี้ ทำให้จับใจลูกค้ารายใหญ่ในกลุ่มห้างร้านได้อยู่หมัดทั้งในไทย และต่างประเทศ อาทิ The TJX Companies ในสหรัฐฯ, The White Company ในอังกฤษ, Country Road Group ในออสเตรเลีย และแบรนด์ดังอีกหลายเจ้า รวมถึงยังเป็นการใส่ใจบุคคลากรในองค์กรทำให้สานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างไร้รอยต่อ


คุณศุภรัตน์ ทิ้งท้ายว่า ในฐานะผู้บริหารหญิง มองว่าไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชายก็มีความสามารถที่เป็นเลิศในทางที่แตกต่างกันไป ผู้หญิงกับผู้ชายอาจจะมีพื้นฐาน ประสบการณ์ในชีวิตต่างกัน หากนำความรู้ ประสบการณ์มาแบ่งปัน ยอมรับซึ่งกันและกัน จะยิ่งทำให้เกิดการทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพ ถ้าธุรกิจครอบครัวสามารถดึงจุดเด่นของทั้งสองเพศมาร่วมมือร่วมแรงกันได้ ยิ่งนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จได้ดียิ่งกว่า


อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-1focus-sriwattana-thailands-leading-manufacturer-exporter-of-wooden-products


‘คุณพรพิมล แก้วศรีงาม’ ทายาทธุรกิจ ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’

ปั้นร้านขนมเล็ก ๆ สู่ธุรกิจร้านของฝากเอกลักษณ์เมืองสุพรรณ



คุณพรพิมล แก้วศรีงาม กรรมการผู้จัดการ บริษัทเอกชัย สาลี่สุพรรณ จำกัด


คุณพรพิมล ทายาทรุ่น 2 ที่รับช่วงต่อธุรกิจจากครอบครัว จุดเริ่มต้นของอาชีพขายขนม เนื่องจากครอบครัวมีรายได้ค่อนข้างน้อย อีกทั้งพ่อแม่ต้องเลี้ยงลูก 3 คน เดิมทีคุณพ่อทำกิจการร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาด 1 คูหาอยู่ในตลาดทรัพย์สิน จังหวัดสุพรรณบุรี จนเมื่อปี 2511


คุณแม่เริ่มทำขนมขาย และได้พัฒนาสูตรขนมสาลี่ มีเอกลักษณ์ทั้งรสชาติและความนุ่มเนียนของเนื้อขนม กลายมาเป็นร้านต้นตำรับ ใช้ชื่อร้านว่า ‘เอกชัยสาลี่สุพรรณ’ ซึ่งเป็นชื่อของคุณพ่อ จนได้รับเครื่องหมายรับประกันคุณภาพความอร่อย “เชลล์ชวนชิม” จาก ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ เมื่อปี 2523 และกลายเป็นแบรนด์ที่เรารู้จักกันดีจนถึงปัจจุบัน


หากย้อนไปเมื่อปี 2537 การใช้เงินลงทุนถึง 30 ล้านบาท เป็นเรื่องที่ตัดสินใจยาก แต่เพราะคุณพ่อมีประสบการณ์การทำธุรกิจจากร้านขายเครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้มีพื้นความรู้ด้านการค้าขาย เช่น การบริหารจัดการอย่างไรให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจ รวมถึงความกล้า และมั่นใจในการลงทุน ขณะที่คุณแม่ชอบทำขนม และเรียนรู้เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อยู่เสมอ ท่านทั้ง 2 จึงตัดสินใจเลือกทำธุรกิจนี้ เริ่มจากร้านขนมเล็ก ๆ กลายเป็นของฝากชื่อดังที่ใครมาต้องแวะซื้อ พร้อมยกระดับมาตรฐานการผลิตเป็นโรงงานผลิตขนาดใหญ่ และเปิดร้านศูนย์รวมของฝากอยู่ริมถนนสายบางบัวทอง-สุพรรณบุรี ในปัจจุบัน



เมื่อธุรกิจ ขนมหวาน เผชิญความท้าทายจากพฤติกรรมรักสุขภาพ


คุณพรพิมล กล่าวว่า คน ถือเป็นต้นทุนหลักในการทำธุรกิจของ SME มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจ ปัจจุบันเรามีพนักงาน 100 กว่าคน อาจเป็นสัดส่วนการลงทุนที่สูง แต่จะเกิดความคุ้มค่าหากเราได้ทีมงานที่แข็งแกร่ง

ร้านของฝากในปัจจุบันคู่แข่งมีจำนวนมาก การทำธุรกิจจนอยู่มาเป็นเวลานานต้องอาศัยประสบการณ์และการเรียนรู้ พัฒนาอย่างต่อเนื่อง และไม่หยุดอยู่กับที่ การจัดการด้านการผลิต เราใช้ระบบ Overall Equipment Effectiveness (OEE) มีการเก็บ Input – Output เช่น หากทำขนม 100 ชิ้น มีส่วนที่ต้องทิ้ง 20 ชิ้น ต้องหาวิธีการเพื่อลดของเสียลง และเพิ่มการควบคุมต้นทุนให้ดีขึ้น


สถานการณ์ปัจจุบัน คนหันมาใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทั้งปัจจัยเรื่องการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่กำลังเป็นที่พูดถึงอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ในฐานะแบรนด์ขนม เธอจึงเริ่มมองหาสิ่งที่ตอบโจทย์กลุ่ม Healthy เช่น ลดการใช้น้ำตาล โดยใช้สารทดแทนความหวาน หรือคิดเมนูอาหารที่ลดคาร์โบไฮเดรตแต่เพิ่มสารอาหารอื่นได้มากกว่า อาจจะเพิ่มการถนอมอาหารจากธรรมชาติมากขึ้น จากขนมอาจพัฒนาให้เป็นขนมที่รับประทานแล้วอิ่มท้องด้วย เช่น ซาลาเปา เป็นต้น


ผู้บริหารคนเก่ง สะท้อนแนวคิดว่า ธุรกิจ ไม่ใช่แค่ขายของให้ได้เงิน แต่เป็นการคำนึงถึงการสร้างความเชื่อมั่นในแบรนด์ ความไว้ใจระหว่างคนขายกับคนซื้อ คิดวิธีการให้ลูกค้าซื้อไปแล้วอยากกลับมาซื้อใหม่ รวมทั้งต้องพยายามต่อยอดสินค้าไปพร้อมกับความต้องการของลูกค้า เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าตามช่วงเวลาด้วย


อ่านเรื่องราวเพิ่มเติมได้ที่

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-6focus-ekachai-sali-suphan


ทั้งหมดนี้ คือตัวอย่างของผู้บริหารหญิงในธุรกิจครอบครัว ที่นำทักษะ ความละเอียดอ่อน ความคิดสร้างสรรค์ และมุมมองอันหลากหลาย มาปรับใช้และช่วยให้ธุรกิจจากรุ่นเก่า เข้าใจความต้องการของลูกค้าในยุคปัจจุบันได้ดีขึ้น



เมื่อโลกและยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้นำธุรกิจที่ดี อาจจะไม่ได้วัดความสามารถว่าผู้หญิงหรือผู้ชาย ใครเก่งกว่า แต่ธุรกิจครอบครัวที่ประสบความสำเร็จ คือครอบครัวธุรกิจที่มีวัฒนธรรมอันแข็งแกร่ง สามัคคี ซื่อสัตย์ รวมถึงสมาชิกในครอบครัวมีความไว้วางใจ และสร้างเป้าหมายร่วมกัน บนความเท่าเทียม นี่คือปัจจัยสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัว ประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน


ติดตามซีรีส์ Family Business และความรู้เรื่องการทำธุรกิจครอบครัวให้สำเร็จ ในบทความหน้า



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

เคล็ดลับเสริมแกร่งให้ธุรกิจครอบครัว ก้าวผ่านการทำงานแบบพี่น้อง ที่มีข้อจำกัดมากกว่าการบริหารธุรกิจธรรมดา

ความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดของธุรกิจครอบครัว (Family Business) คือ การส่งต่อธุรกิจครอบครัวให้แก่ผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวรุ่นต่อไป เนื่องจากผู้สืบทอดธุรกิจครอบครัวอาจจะเป็นทายาทธุรกิจที่เป็นพี่น้องร่วมสายเลือดเดียวกัน…
pin
158 | 27/04/2024
5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

5 อุปสรรคใหญ่ กับความท้าทายที่ธุรกิจครอบครัวต้องเรียนรู้ เพื่อ Transition สู่ยุค AI Disruption

นับตั้งแต่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี เข้ามามีบทบาทสำคัญต่อการบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) จนถึงปัจจุบัน ส่งผลให้ธุรกิจครอบครัวที่มีรูปแบบการดำเนินงานแตกต่างจากธุรกิจทั่วไป…
pin
5004 | 09/04/2024
อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

อะไรคือกุญแจสำคัญ? ของการบริหารธุรกิจครอบครัว ให้เติบโตอย่างยั่งยืนในยุคดิจิทัล

ธุรกิจครอบครัวยุคดิจิทัล ต้องเผชิญความท้าทายจาก Disruption อยู่ตลอดเวลา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เทรนด์ รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคจากสถานการณ์รอบตัว…
pin
4604 | 30/03/2024
ศึกษาแนวคิด 3 พลังหญิง นำทัพ ‘ธุรกิจครอบครัว’ Transition ธุรกิจทางรอดอย่างยั่งยืนในยุค Disruption