รู้ก่อนรุก! เข้าใจบริบท ‘ตลาดสหรัฐ’ ให้รอบด้าน

SME Go Inter
13/11/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 1950 คน
รู้ก่อนรุก! เข้าใจบริบท ‘ตลาดสหรัฐ’ ให้รอบด้าน
banner

ภายหลังผลการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ซึ่งทุกท่านคงทราบแล้วว่า “โจ ไบเดน” หัวหน้าพรรคเดโมแครต ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนที่ 46 ในการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 3 พ.ย. ที่ผ่านมา ด้วยผลโหวต 273 ต่อ 213 เอาชัยเหนือ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ว่า บรรยากาศความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ-จีน อาจมีท่าทีลดความตึงเครียดมากกว่าในสมัยของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาท่าทีที่แข็งกร้าวมาโดยตลอด

ขณะทีการค้าไทยและสหรัฐฯ ซึ่งจากกรณีที่ล่าสุดประธานาธิบดีสหรัฐฯ (สมัยโดนัลด์ ทรัมป์) ได้ประกาศตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) สำหรับสินค้าไทยคิดเป็นมูลค่าถึง 25,000 ล้านบาท หลังจากสหรัฐฯ ไม่สามารถเจรจาเพื่อส่งออกเนื้อหมูเข้าไปในตลาดประเทศไทยได้ ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2563 นี้เป็นต้นไป

โดยการตัดสิทธิ GSP สินค้าไทยมูลค่า 817 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 25,000 ล้านบาท โดยรายชื่อสินค้าไทยที่จะถูกตัดสิทธิ GSP มีรายการสินค้า เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องครัว อะลูมิเนียม หอย มะม่วง อาหารอบแห้ง รวมถึงสินค้าอิเลคทรอนิคส์บางชนิด ซึ่งการประกาศตัดสิทธิ GSP ครั้งล่าสุดนี้ มีขึ้นหลังจากไทยถูกตัดสิทธิ์ GSP เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา มีมูลค่าสินค้า 1,300 ล้านดอลลาร์หรือราว 40,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นการโดนตัด GSP รอบสองในช่วงปี 2563

อย่างไรก็ตาม ตลาดสหรัฐฯ ก็ยังคงเป็นตลาดขนาดใหญ่ โดยเป็นคู่ค้าอันดับ 4 ของประเทศไทย รองจากอาเซียน จีน และญี่ปุ่น และด้วยตลาดขนาดใหญ่ที่มีประชากรกว่า 300 ล้านคน ประกอบไปด้วยผู้บริโภคกลุ่มย่อยที่หลากหลาย ระบบการค้าที่เสรี คล่องตัวและเปิดกว้าง กฎระเบียบและกฎหมายที่ได้มาตรฐานสากลและเอื้ออำนวย

ที่สำคัญในยุคของ “โจ ไบเดน” บรรยากาศการค้า การลงทุน ที่นักวิเคราะห์คาดว่าจะมีท่าที ประนีประนอม มากกว่ายุคก่อนหน้านี้ จะทำให้สินค้าไทยสามารถรักษาส่วนแบ่งในตลาดสหรัฐฯ ได้ไม่ยาก แม้จะต้องเจอคู่แข่งที่มีต้นทุนต่ำกว่าก็ตาม รวมทั้งการเข้าไปลงทุนในตลาดนี้ก็มีโอกาสเช่นกัน

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

5 เรื่องต้องรู้ก่อนลุยตลาดสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถเลือกเข้าไปทำธุรกิจในสหรัฐฯ ได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการแต่งตั้งผู้แทนขาย การจัดตั้งตัวแทนจำหน่ายสินค้าอย่างเป็นทางการ การจัดตั้งสาขา หรือการจัดตั้งบริษัทย่อย ซึ่งรูปแบบบริษัทย่อยนี้เหมาะกับธุรกิจขนาดใหญ่ที่ต้องการมีฐานธุรกิจในสหรัฐฯ เพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนและลูกค้า และยังช่วยลดความเสี่ยงในการบริหารงานของบริษัทแม่ในต่างประเทศอีกด้วย

ดังนั้นก่อนจะเข้าถึงตลาดสหรัฐฯ ต้องเข้าใจสภาพแวดล้อมการทำธุรกิจให้รอบด้าน ต่อไปนี้คือ 5 ด้านที่ต้องทำความเข้าใจเบื้องต้น

1. ระบบกฎหมายของสหรัฐฯ

สหรัฐฯ มีระบบกฎหมายสำหรับการทำธุรกิจที่ยึดตามกฎหมายระดับรัฐ (state law) เป็นสำคัญ ตามด้วยกฎหมายระดับสหพันธรัฐ (federal law) นักลงทุนที่ต้องการเข้ามาลงทุนในสหรัฐฯ ควรศึกษาระบบกฎหมายของรัฐและกฎหมายท้องถิ่นที่ต้องการลงทุนเป็นอันดับแรก

รัฐที่นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเข้ามาลงทุนมากที่สุดรัฐหนึ่ง ได้แก่ รัฐเดลาแวร์ เนื่องจากมีระบบกฎหมายธุรกิจที่ทันสมัย ยืดหยุ่นและคาดการณ์ได้ และมีระบบศาลสำหรับคดีความด้านธุรกิจ ที่ตัดสินโดยผู้พิพากษา ต่างกับรัฐอื่นที่อาจมีคณะลูกขุนเข้าร่วมตัดสินด้วย  

2. สิทธิประโยชน์จากภาครัฐ

รัฐบาลสหรัฐฯ ทั้งในระดับรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น เสนอสิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดและอำนวยความสะดวกให้แก่นักลงทุนในหลายด้าน อาทิ ด้านการจัดหาแรงงาน การฝึกอบรม การวิจัยและพัฒนา การช่วยลดต้นทุน หรือการอำนวยความสะดวกในการหาสถานที่จัดตั้งธุรกิจ ผู้ประกอบการสามารถสอบถามรูปแบบของสิทธิประโยชน์ที่นักลงทุนจะได้รับจากหน่วยงานส่งเสริมการลงทุนในท้องที่ ซึ่งอาจมาในรูปแบบสิทธิพิเศษด้านภาษี การให้เงินอุดหนุน การให้เงินกู้ยืมแบบดอกเบี้ยต่ำ หรือการอำนวยความสะดวกในการขอใบอนุญาต

3. การบริหารทรัพยากรมนุษย์

การจ้างงานและการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในสหรัฐฯ แตกต่างจากประเทศไทยทั้งในด้านกฎระเบียบ วัฒนธรรม และสถานการณ์ตลาดแรงงาน ผู้ประกอบการต้องคิดคำนวณความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการจัดหาแรงงาน ทั้งการจ้างแรงงานภายในประเทศหรือการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ ในสมัยรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ปรับกฎระเบียบในการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศให้เข้มงวดขึ้นมาก

ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญและทำความเข้าใจก่อนการจ้างงาน อาทิ การให้สิทธิประโยชน์แก่ลูกจ้างสอดคล้องตามกฎหมายสหรัฐฯ รู้จักกฎหมายคนเข้าเมืองสำหรับแรงงานจากต่างประเทศ ตลอดจนกฎระเบียบเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวในสถานที่ทำงาน บนพื้นฐานของกฎหมาย Civil Rights Act ค.ศ. 1964 ซึ่งระบุว่าการเลือกปฏิบัติบนพื้นฐานของเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา ประเทศที่กำเนิด หรือเพศ ผิดกฎหมาย

4. การบริหารความเสี่ยง

การทำประกันภัยเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้เลือกทำธุรกิจในสหรัฐฯ ต้องพิจารณา เพราะช่วยลดความเสี่ยงในการบริหารงานและลดภาระความรับผิด (liability) ให้แก่เจ้าของกิจการประกันภัยภาคบังคับ (mandatory insurance) ในสหรัฐฯ ได้แก่ ประกันอุบัติภัย ประกันอุบัติเหตุ และประสุขภาพ โดยผู้ประกอบการสามารถเลือกทำประกันเพิ่มเติม อาทิ การประกันความรับผิดทั่วไป (general liability insurance – GL) ประกันความเสียหายอันเกิดจากความผิดพลาด (error and omission insurance – E&O) รวมไปถึงการทำสัญญากับคู่ค้าล่วงหน้าให้รัดกุม เพื่อหากระบวนการระงับข้อพิพาททางเลือกโดยไม่ต้องขึ้นศาล

5. กฎระเบียบเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง

การลงทุนจัดตั้งธุรกิจข้ามชาติควรศึกษากฎระเบียบในประเทศประเทศปลายทาง และกฎระเบียบระหว่างประเทศที่จำเป็นต่อการทำธุรกิจให้รอบคอบ อาทิ การอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) การขอรับความคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การขอใบอนุญาตการนำเข้า-ส่งออก หรือการจัดเก็บภาษีสำหรับการทำธุรกรรมการค้าระหว่างประเทศ (cross border tax)

ผู้ประกอบการจำเป็นต้องตระหนักถึงบทบาทขององค์กร หรือหน่วยงานที่กำกับดูแลและกฎระเบียบเฉพาะสาขาที่เกี่ยวข้อง เพื่ออุดช่องโหว่และวางแผนดำเนินธุรกิจในสหรัฐฯ ให้ราบรื่น อาทิ ในอุตสาหกรรมการแพทย์ ต้องรู้จักคณะกรรมาธิการกำกับและดูแลการลงทุนจากต่างประเทศของสหรัฐฯ (Committee on Foreign Investment in the United States – CFIUS)

ธุรกิจบางประเภทมีความอ่อนไหวต่อความมั่นคงของประเทศและเข้าข่ายการลงทุนที่ต้องได้รับการอนุมัติจาก CFIUS เพื่อพิจารณาและตรวจสอบการลงทุนจากต่างประเทศที่อาจมีความเสี่ยงหรือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ อาทิ การออกแบบ ผลิต ทดสอบ ประดิษฐ์ หรือพัฒนาเทคโนโลยีที่มีความสำคัญ การเข้าครอบครองกิจการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่มีความสำคัญ หรือการจัดเก็บ ข้อมูลส่วนบุคคลที่มีความอ่อนไหวเป็นพิเศษของบุคคลที่ถือสัญชาติสหรัฐฯ

องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (S. Food and Drug Administration – FDA) มีหน้าที่กำกับดูแล และควบคุมสินค้าด้านสาธารณสุขที่จะนำมาวางจำหน่ายในตลาดสหรัฐฯ ได้แก่ ยารักษาโรค วัคซีน อุปกรณ์การตรวจเลือด เครื่องมือแพทย์ อาหาร ผลิตภัณฑ์อาหารเสริม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์ยาสูบ ยาและอาหารสัตว์ อุปกรณ์ที่มีการปล่อยรังสี (เช่น เลเซอร์ มือถือ และเครื่องไมโครเวฟ) โดยสินค้าทุกตัวจะต้องผ่านการตรวจสอบจาก FDA ก่อนวางตลาด (premarket review) เพื่อให้แน่ใจว่าสินค้านั้นมีคุณภาพ และปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งมนุษย์และสัตว์

พรบ. Federal Food, Drug, and Cosmetic Act องค์การอาหารและยาสหรัฐฯ ใช้ พรบ. นี้กำกับดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร ยา และเครื่องสำอางอย่างเคร่งครัด อาทิ การทำการทดลองตามกระบวนการ การจัดตั้งโรงงานที่ได้มาตรฐาน การจัดทำฉลากแสดงสินค้าที่ถูกต้อง ผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่ว่าจะเป็นเจ้าของกิจการ โรงงานผู้ผลิตสินค้า ศูนย์กระจายสินค้า หรือผู้ควบคุมการทดลอง มีสิทธิได้รับโทษตามกฎหมายทั้งหมด หาก FDA พิสูจน์แล้วว่าผู้นั้นมีความผิดฐานละเมิดกฎหมายจริง

 

อ้างอิง : https://www.thaibicusa.com/2020/10/28/usmarketaccess/

           : ข้อมูลจากการสัมมนาเรื่อง U.S. Market Access งาน The MedTech Conference 2020



สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


ดัชนีอุตสาหกรรมขยับ อาหาร-ยามาแรง

ธุรกิจในสหรัฐฯ ใช้ TikTok เพิ่มยอดขายและสร้างแบรนด์


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
7733 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2483 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5708 | 23/10/2022
รู้ก่อนรุก! เข้าใจบริบท ‘ตลาดสหรัฐ’ ให้รอบด้าน