ท่ามกลางการระบาดครั้งใหญ่ของไวรัสโควิด
19 ได้นำมาซึ่งโอกาสของ ‘สมุนไพรไทย’ ซึ่งเป็นที่ทราบดีว่าสมุนไพรไทยบางชนิดมีฤทธิ์ยับยั้งการเติบโตของไวรัส
หรือมีประโยชน์ในการรักษา อาทิ ฟ้าทะลายโจร ที่เรียกว่าผลิตกันมาไม่พอขาย
จนถึงขั้นขาดตลาด และยังมีสมุนไพรไทยอีกหลายชนิดที่มีสรรพคุณในการรักษาโรค
ขณะเดี่ยวกัน เทรนด์การบริโภคของผู้คนรุ่นใหม่ ได้มองว่าสมุนไพรคือทางเลือกสำหรับการดูแลสุขภาพที่ปลอดภัย
ไม่มีอันตราย เพราะทุกอย่างล้วนมาจากธรรมชาติ
ดังนั้นในบทความนี้เราจะมากล่าวถึงโอกาสทางธุรกิจของสมุนไพรไทยกัน ว่าจะมีแนวโน้มเป็นอย่างไร อีกทั้งการแปรรูปสมุนไพรไทยแบบไหนที่จะสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้คนยุคใหม่
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
สมุนไพรแปรรูปได้ในรูปแบบไหนบ้าง ?
1. การนำสารสกัดเข้มข้นจากสมุนไพร
มาใช้ในการผลิตยาแผนโบราณ/แผนปัจจุบัน เครื่องสำอางและอาหารเสริม
2. การนำสมุนไพรออร์แกนิคมาแปรรูปให้ง่ายต่อการใช้งาน
เช่น น้ำมันหอมระเหย น้ำมันนวด ผงสกัดเย็น เป็นต้น
3. การนำสมุนไพรมาเป็นเครื่องดื่มบำรุงร่างกาย
4. การนำสมุนไพรมาเป็นส่วนผสมหลักในผลิตภัณฑ์ดูแลร่างกาย
เช่น ครีมทาผิว ยาสระผม ยาสีฟัน ฯลฯ
5. การนำสมุนไพรสูตรต่างๆ มาอบแห้ง
เพื่อจำหน่าย
ตลาดสมุนไพรเป็นที่ต้องการในอุตสาหกรรมยาเพิ่มขึ้น
จากข้อมูลกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ระบุว่า ‘สมุนไพร’ มีมูลค่าการส่งออกอยู่ในหลักแสนล้านบาท โดยสมุนไพรไทยในกลุ่มอาหารเสริมมีมูลค่าการใช้และส่งออกรวมกว่า 80,000 ล้านบาท ขณะที่กลุ่มสปา และผลิตภัณฑ์มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท และกลุ่มยาแผนโบราณตามภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยมีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ ได้มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าของอุตสาหกรรมยาจะเพิ่มขึ้นเป็น
2 เท่า ในส่วนมูลค่าตลาดสมุนไพรและสารสกัดจากธรรมชาติ
เนื่องด้วยปัจจุบันคนรุ่นใหม่นิยมใช้สมุนไพรเป็นทางเลือกในการดูแลสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ส่งผลให้ตลาดสมุนไพรที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตของอุตสาหกรรมยาเติบโตพุ่งสูงขึ้นเป็น
20,000
ล้านบาทในปี 2563 ขณะที่ปัจจุบันแนวโน้มดังกล่าวยังเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง
1. ผู้คนเริ่มหันกลับมาให้ความสนใจในเรื่องของสุขภาพกันมากยิ่งขึ้น
เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
2. ความเชื่อมั่นของผู้คน
ว่าสมุนไพรนั้น จะช่วยบำรุงร่างกายได้เป็นอย่างดี ไม่มีสารตกค้าง
เพราะเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมมาตั้งแต่โบราณ
3. ในปัจจุบันนี้เริ่มมีผลวิจัยออกมารองรับว่าสมุนไพรชนิดต่างๆ
นั้น มีสรรพคุณในการรักษา ยับยั้ง บำรุง ร่างกายได้เป็นอย่างดีไม่แพ้ยาปฏิชีวนะ
4. ราคาของสมุนไพรแปรรูปนั้นถูกมาก! เมื่อเปรียบเทียบกับอาหารเสริมหรือยาบำรุงร่างกายชนิดอื่นๆ
5. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรแปรรูปหลายๆ
เจ้า มีมาตรฐานรองรับว่าปลอดภัย ตรวจสอบแหล่งที่มาได้ ตรวจสอบย้อนกลับได้
ถูกต้องตามหลักสากลกำหนด
6. การซื้อหรือกลับมาให้ความสนใจสมุนไพรนั้น
ถือได้ว่าเป็นอีกหนึ่งแรงช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้เพิ่มขึ้นอีกทาง
เพราะสมุนไพรส่วนใหญ่แล้ว
ทางบริษัทแปรรูปสมุนไพรส่วนใหญ่จะไปรับซื้อมาจากเกษตรกรนั่นเอง
ตลาดต้องการวัตถุดิบที่เพียงพอและปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม
การเติบโตของตลาดสมุนไพรยังคงมีอุปสรรคในปัจจุบัน คือเรื่องของคุณภาพ มาตรฐานการรับรอง
และการยอมรับในวงกว้างซึ่งต้องนำงานวิจัยมาเข้าเพื่อพัฒนานวัตกรรมการแปรรูปสมุนไพรให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและตลาดต่างประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในเรื่องของมาตรฐาน ‘ความปลอดภัย’ ซึ่งผู้บริโภคให้ความสำคัญเหนือสิ่งใด
ด้วยเหตุนี้เกษตรกรผู้ผลิต
และแปรรูปในขั้นต้น จะต้องให้ความสำคัญในเรื่องของกระบวนการผลิตที่ปลอดสารเคมี
ซึ่งตลาดให้ความสำคัญมากต่อการทำเกษตรแบบอินทรีย์
ขณะเดียวกันปริมาณที่เพียงพอและต่อเนื่องก็เป็นอีกอุปสรรคของตลาดสมุนไพรไทยที่ต้องหาวิธีบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเหมาะสม
เพราะแม้ดีมานด์ในตลาดจะมีมาก
แต่หากผู้ผลิตยังไม่สามารถบริหารจัดการด้านการผลิตที่เหมาะสม
และตรงกับความต้องการของตลาด โอกาสในธุรกิจนี้ก็ยังจะไม่เกิดเป็นผลในเชิงรูปธรรมมากเท่าที่ควรจะเป็น
กระนั้น จากแนวโน้มก็เป็นโอกาสดีที่จะมีเกษตรกรส่วนหนึ่งหันมาปลูก หรือส่งเสริมการปลูกสมุนไพรเชิงพาณิชย์เพิ่มขึ้น ซึ่งจากกระแสโควิด 19 และการใส่ใจเรื่องสุขภาพมากขึ้น ทำให้นี่จะเป็นโอกาสของตลาดสมุนไพรไทย ที่เกษตรกร ผู้แปรรูปขั้นต้นสามารถนำมาสร้างรายได้ที่เพิ่มขึ้นได้