ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19
รอบที่ 2 ทำให้เมียนมามียอดสะสมผู้ติดเชื้อมากกว่าแสนคนแล้ว แต่ อองซาน ซูจี
ผู้นำรัฐบาลเมียนมา เชื่อว่าจะสามารถเอาชนะโรคโควิดไปได้ควบคู่กับการเดินหน้าผลักดันโครงการอภิมหาโปรเจกต์ต่างๆ
ให้บรรลุผลสำเร็จให้ได้ตามแผนงานที่วางไว้ภายในปี 2564 โดย 1 ในนั้นคือการสร้าง
"สนามบินนานาชาติ" นอกกรุงย่างกุ้งที่ใหญ่ที่สุด คิดมูลค่ากว่า 1.1
พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.31 หมื่นล้านบาท ซึ่งความหวังอันเปี่ยมล้น เมื่อเนรมิตแล้วเสร็จจะกลายเป็นสนามบินที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค
และเชื่อมโยงเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงใต้เมือง "ทวาย"
นับตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมา คลายล็อกกฎระเบียบต่างๆ เพื่อเอื้อกลุ่มนักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนด้วย ซึ่งปรากฏว่าสามารถกระตุ้นนักลงทุนจากทั่วโลกหอบเงินมาขุดทองหากำไรในเมียนมาเป็นจำนวนมาก เช่น บรรดานายธนาคาร, ทนายความ และนักลงทุนต่างๆ นับเป็นนิมิตรหมายที่ดีและมีแนวโน้มสดใส เป็นไปตามที่วางไว้ในช่วงปีแรกการดำรงตำแหน่งประมุขแห่งรัฐในรัฐบาลเมียนมาของ "ซูจี" มีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสูงถึง 9.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 2.83 แสนล้านบาท ก่อนที่งบประมาณการเงินปีล่าสุด ณ วันที่ 30 กันยายน 2563 จะลดลงมาอยู่ที่ 5.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.65 แสนล้านบาท ซึ่งการลดลงที่เกิดขึ้นเป็นผลกระทบจากวิกฤติโควิดที่พังทลายเศรษฐกิจทั่วโลก
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
อย่างไรก็ตาม หัวหน้าทีมนักวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจเมียนมาแห่ง
Control Risks ออกมายืนยันต่อนักลงทุนทั่วโลกว่า
เมียนมาไม่สามารถก้าวออกจากทศวรรษแห่งการโดดเดี่ยวได้
เว้นแต่เปลี่ยนแปลงตัวเองให้เป็น "จุดหมายปลายทางแห่งการลงทุน"
ให้ได้โดยเร็วที่สุด สอดคล้องถ้อยแถงการณ์ของ "ซูจี" เมื่อวันที่ 26
ตุลาคม 2563 ว่า เมียนมามีการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) เพิ่มขึ้น 98% ของเป้าหมาย
ถึงแม้ว่าประเทศกำลังอยู่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคโควิดก็ตาม
เมียนมาสะพานเชื่อม 2 ภูมิภาคยักษ์ใหญ่อินเดีย-จีน
ปัญหาใหญ่ที่หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำเมียนมา
ซึ่งเป็นหนึ่งในกลุ่ม Think Tank ของ Parami
Roundtable Group สะท้อนมุนมองว่า
ระยะแรกของการปฏิรูปเศรษฐกิจต้องใช้เวลาอีกนาน เนื่องจากเมียนมาขาดการสนับสนุนธุรกิจขนาดเล็ก
ความสามารถในการผลิตต่ำ การจำกัดความร่วมมือระหว่างรัฐบาล
และคุณภาพสินค้าเกษตรที่ย่ำแย่ แต่ในปัญหาดังกล่าวมีข้อดีสอดแทรกอยู่
นั้นก็คือ เมียนมาเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง
2 ภูมิภาคยักษ์ใหญ่อย่างอินเดียและจีน ทำให้เมียนมามีศักยภาพที่จะพัฒนาให้เข้าสู่ Supply Chain ของโลกได้ในห้วงเวลาที่สหรัฐฯ ยังไม่ยุติสงครามการค้ากับจีนอยู่ในขณะนี้
ทำให้จีนต้องหันหน้าทำการค้ากับชาติอาเซียนอย่างจริงจัง จึงกลายเป็นประเทศคู่ค้าที่สำคัญที่สุดของเมียนมา
โดยปี 2562 มีมูลค่าการค้ามากกว่า 12.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.84
แสนล้านบาท เกือบ 2 เท่าของไทยเลยทีเดียว
ชู 3
เขตเศรษฐกิจพิเศษดึงนักลงทุนต่างชาติ
ในอนาคตเศรษฐกิจจะกลับมาเฟื่องฟูคงต้องจับตามอง 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมา
ที่กระทรวงพาณิชย์เมียนมาประกาศเดินหน้าผลักดันโครงการเพื่อรองรับนักลงทุนทั่วโลก ประกอบด้วย
เขตเศรษฐกิจพิเศษติละวา (Thilawa SEZ), เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย
(Dawei SEZ) และเขตเศรษฐกิจพิเศษเจ้าผิวก์ (Kyaukphyu
SEZ) โดยเขตพิเศษดังกล่าวเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการสร้างงานและส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ
โดยเฉพาะที่ "ติละวา" แห่งเดียวได้อนุมัติไปแล้วทั้งสิ้น 121 บริษัทจาก
21 ประเทศทั่วโลก โดยเน้นไปที่อุตสาหกรรมการผลิต โครงสร้างพื้นฐาน การบริการ
และโลจิสติกส์
เจ้าผิวก์โอกาสไทยเชื่อมสู่จีนและอินเดีย
ปัจจุบันรัฐบาลเมียนมาได้หันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาและความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้านอาเซียนและภูมิภาคเอเชียมากขึ้น
ภายใต้นโยบาย Look East โดยคณะกรรมการการลงทุนแห่งเมียนมา
(Myanmar Investment Commission – MIC) และการจัด Roadshow
ของสหพันธ์สภาหอการค้าและอุตสาหกรรมของเมียนมา (Union of
Myanmar Federation of Chambers of Commerce and Industry – UMFCCI) ได้ไปโรดโชว์ที่จีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย เพื่อดึงดูดเม็ดเงินการลงทุนจากต่างประเทศและให้ความสำคัญกับการพัฒนารัฐยะไข่
ที่ยังคงขัดแย้งเรื่องชาติพันธุ์
โดยคำนึงว่าการสร้างสันติภาพและการพัฒนาจะต้องดำเนินการควบคู่กันไป
อย่างไรก็ตามโครงการ KPSEZ ถือเป็นโครงการเนื้อหอมที่ดึงดูดการมีส่วนร่วมจากชาติมหาอำนาจจีนและอินเดีย
แต่โครงการดังกล่าวก็ยังเปิดโอกาสให้นักลงทุนไทยเข้าไปค้นพบศักยภาพด้านการลงทุนที่มีอยู่อีกมาก
โดยเฉพาะการตั้งฐานการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์จากตำแหน่งที่ตั้งของ
KPSEZ ได้ ขณะเดียวกันเมียนมายังได้มอบสิทธิพิเศษสำหรับรองรับการลงทุนไทย
เช่น การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีนำเข้าเครื่องจักร การยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีเงินได้
การช่วยเหลือในการเช่าพื้นที่ตั้งโรงงาน เป็นต้น
แม้ว่า
การเติบโตทางเศรษฐกิจของเมียนมามีการคาดการณ์ไว้ว่า ปี 2563 จะโตเพียงแค่ 1.5%
เท่านั้น แต่ธนาคารโลกกลับมองว่า ในปี 2564 เมียนมามีโอกาสที่จะกลับมาเติบโตถึง 6%
เกือบเท่าปี 2562 ที่อยู่ที่ 6.3% โดยความเป็นไปได้นั้นขึ้นอยู่กับว่า
การแพร่ระบาดครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกจะอยู่ภายใต้การควบคุมและการค้าโลกกลับฟื้นคืนมาเมื่อไหร่
ปี 2564 เมียนมาถือเป็นอีกหนึ่งประเทศน่าจับตามองเป็นพิเศษ เพราะหากเมกะโปรเจกต์ต่างๆ เร่งพัฒนาและฟื้นตัวได้เร็ว ประเทศไทยจะมีทั้งโอกาสในการเข้าไปลงทุนแต่ก็จะเสียโอกาสเช่นกัน เนื่องจากนักลงทุนจากต่างประเทศอาจจะหนีไทยเข้าไปลงทุนในพื้นที่ 3 เขตเศรษฐกิจพิเศษของเมียนมาแทน