Smart Farming จุดเปลี่ยนประเทศไทย

SME in Focus
06/12/2019
รับชมแล้วทั้งหมด 12357 คน
Smart Farming จุดเปลี่ยนประเทศไทย
banner

โลกปัจจุบันให้ความสำคัญในการทำเกษตรอัจฉริยะ หรือ Smart Farming กล่าวคือ คาดการณ์ว่าในอีก 30 ปีข้างหน้าประชากรโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง  9.7 พันล้านคนโดยประมาณ และทุกคนต้องกิน ทำให้ความต้องการอาหารของโลกจะเพิ่มขึ้นถึง 60 % ในทางกลับกันพื้นที่การทำเกษตรจะลดลง เนื่องจากการขยายตัวของเมืองและประชากร และความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งทุกอย่างมีผลกระทบต่อการผลิตอาหาร

ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นผู้ผลิตอาหาร มีประชากรในประเทศกว่า 38.9 ล้านคน อยู่ในกลุ่มสินค้าเกษตร การพัฒนาด้านการเกษตรที่ผสานเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ หรือการทำ Smart Farming เพื่อเพิ่ม Productivity พัฒนาคุณภาพและสร้างมูลค่าเพิ่มของสินค้า คือความท้าทายที่ภาคเกษตรไทยต้องก้าวข้ามไปให้ได้ เพื่อสามารถตอบโจทย์การเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารของโลกอย่างแท้จริง

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


เทรนด์โลกกับแนวโน้มด้าน Smart Farming

ผลสำรวจจากสถาบันวิจัย BIS Research ซึ่งเป็นผู้ให้บริการข้อมูลเชิงลึกสำหรับเทคโนโลยีใหม่ๆ ได้เปิดเผยรายงานฉบับใหม่ “Global Smart Farming Market” มายืนยันด้วยว่า มีการคาดการณ์แนวโน้มตลาดการเกษตรอัจฉริยะจะขยายตัวได้ถึง 23.14 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี ค.ศ. 2022 สะท้อนสัญญาณที่สดใสด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปี (CAGR) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 19.3%

พร้อมทั้งคาดการณ์ว่าอีกไม่กี่ปีจากนี้ การเกษตรอัจฉริยะจะสร้างผลกระทบมหาศาลให้กับเศรษฐกิจการเกษตร ปิดช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และขนาดเล็ก ปรากฏการณ์นี้จะขยายวงทั้งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศกำลังพัฒนา

ขณะที่ภาพรวมทั่วโลก อเมริกาเหนือถือเป็นผู้นำตลาดเกษตรอัจฉริยะระดับโลก และมีอัตราความต้องการทางการตลาดสูงมาก ขณะที่เม็กซิโกเป็นประเทศที่ได้รับการคาดหมายว่าจะเป็นตลาดการเกษตรโลกที่เติบโตที่สุดในช่วง 5 ปีจากนี้ ส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกรั้งตำแหน่งตลาดที่มีอัตราเติบโตเร็วที่สุดในช่วงปี ค.ศ. 2017 – 2022 ด้วยปัจจัย เช่น ขนาดประชากรเมืองเพิ่มขึ้น สัดส่วนการใช้อินเทอร์เน็ตในการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรที่เพิ่มมากขึ้น และการส่งเสริมการลงทุนจากรัฐบาล

ทั้งยังมีปัจจัยเสริมที่สำคัญ คือที่การได้แรงหนุนจาก 2 ประเทศใหญ่ในภูมิภาคอย่าง จีน และอินเดีย ที่เร่งสปีดตัวเองเพื่อต้องการขยับเป็นผู้นำด้านเกษตรอัจฉริยะในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าของโลกด้วย

 

Smart Farming ถึงเวลาปฏิวัติเขียว (อีกครั้ง)

จากข้อเท็จจริง คือรายได้ของสินค้าเกษตรกลับสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวม(GDP)ของประเทศได้ไม่ถึง 10 % เนื่องจากสินค้าเกษตรส่วนใหญ่ เน้นการส่งออกวัตถุดิบเป็นหลัก ซึ่งราคาผันผวนตามกลไกของตลาดโลกและการแข่งขัน ทำให้ที่ผ่านมาภาคเกษตรประสบปัญหาผลผลิตราคาตกต่ำ ขณะที่เกษตรกรในประเทศขายผลิตในรูปแบบวัตถุดิบให้พ่อค้าคนกลางซึ่งเป็นผู้กำหนดราคา ทั้งไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด ราคาสินค้าขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลาย บางช่วงดีมานด์ตลาดมีมาก ราคาสินค้าปรับตัวขึ้นสูง เกษตรกรก็จะเพิ่มการผลิตจนเกิดภาวะสินค้าล้นตลาด จนสินค้าชนิดนั้นราคาตกต่ำเป็นวังวนที่ไม่จบสิ้น

ด้วยเหตุนี้จึงถึงเวลาที่เกษตรกรต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่การทำเกษตรรูปแบบใหม่นั่นคือ การพัฒนาคุณภาพสินค้าเกษตรภายใต้การทำเกษตรอัจฉริยะ หรือเกษตร 4.0 นโยบายที่ภาครัฐสนับสนุนให้ภาคการเกษตร นำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มผลผลิต พัฒนาภาคการเกษตรให้ยั่งยืนในอนาคต โดยเปลี่ยนจากการเกษตรแบบดั้งเดิม (Traditional Farming) สู่การเกษตรสมัยใหม่ ที่เน้นการบริหารจัดการผสมผสานเทคโนโลยี สิ่งสำคัญเกษตรกรที่สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างเข้าใจ และเข้าถึงจะสามารถหลุดพ้นจากกับดักความยากจนได้ นี่จึงเป็นโอกาสของเกษตรกร และโอกาสของประเทศไทย

หากย้อนอดีตการเปลี่ยนแปลงภาคการเกษตรของโลกครั้งยิ่งใหญ่เมื่อปี ค.ศ.1944 ที่เรียกว่า “การปฏิวัติเขียว” (The Green Revolution) ที่เกิดขึ้นในประเทศสหรัฐอเมริกา คือเป็นการนำวิชาวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดมาใช้กับการเกษตร

ทั้งนี้ Smart Farming เกษตรอัจฉริยะ เป็นการทำเกษตรสมัยใหม่ในยุคดิจิทัลด้วยการใช้เทคโนโลยี Automation อาทิ หุ่นยนต์ เครื่องจักร โดรน AI ฯลฯ และการวิเคราะห์ข้อมูลที่มีความแม่นยำสูงเข้ามาช่วยในการทำงาน ปัจจุบันเข้ายุคโลกแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านนวัตกรรม และเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนตลอดเวลา ภาคการเกษตรถึงเวลาที่ต้อง “เปลี่ยน” ซึ่งรัฐบาลไทยพยายามยกระดับการพัฒนาเกษตรกรรมใน 4 ด้านได้แก่

1. การลดต้นทุนในกระบวนการผลิต

2. การเพิ่มคุณภาพมาตรฐานการผลิตและมาตรฐานสินค้า

3. การลดความเสี่ยงในภาคเกษตร ซึ่งเกิดจากการระบาดของศัตรูพืชและจากภัยธรรมชาติ

4. การจัดการและส่งผ่านความรู้ โดยนำเทคโนโลยีสารสนเทศจากการวิจัยไปประยุกต์ สู่การพัฒนาในทางปฏิบัติและให้ความสำคัญต่อการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศของเกษตรกร

ดังนั้นจะเห็นได้ว่า ภายใต้คำจำกัดความคำว่า Smart Farming แปลความหมายได้ว่า ต่อไปคนปลูกพืชผัก ทำไร่ทำนา ทำสวน ทำปศุสัตว์ ประมง จะไม่ใช่เป็นเกษตรกรแบบเดิมๆ อีกต่อไป หากแต่เป็น “ผู้ประกอบการเกษตร” หรือนักธุรกิจเกษตร ซึ่งก็คือ Smart Farmer นั่นเอง

Smart Farm อาจไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ที่ดินมากมาย แต่ที่ดินเพียงเล็กน้อยก็สามารถทำให้ได้ผลผลิตสูงและรายได้สูง ด้วยการจัดการเองตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ คือเตรียมพื้นที่อย่างเหมาะสม ลงมือเพาะปลูก ดูแล เก็บเกี่ยว แปรรูป สร้างแบรนด์สินค้า และหาตลาดเอง โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ ซึ่งเมื่อตนทุนต่ำ ผลิตผลมีคุณภาพ ก็จะขายได้ราคา และมีผลกำไรเพิ่มขึ้น


IoT พระเองแห่งการพัฒนา Smart Farming

การเกษตรกรรมที่นำเทคโนโลยีมาช่วยในการจัดการการเกษตรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะระบบการประมวลผลข้อมูล และจัดเก็บข้อมูลทางอากาศจากโดรนและดาวเทียม โดยการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตแห่งสรรพสิ่ง (IoT) คือการเชื่อมโยงของอุปกรณ์อัจฉริยะทั้งหลายผ่านอินเทอร์เน็ตที่อาทิ แอปพลิเคชัน แว่นตากูเกิลกลาส ที่สามารถเชื่อมต่อข้อมูล ทั้งความเร็ว ระยะทาง สถานที่ และสถิติได้

รวมถึงการมีคุณสมบัติในการตรวจวัด เข้ามาใช้เพื่อควบคุมอุณหภูมิ ความชื้นในดิน ความชื้นในอากาศ แสง และปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องในการเพาะปลูก โดยจะเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันในการแสดงผล การตั้งค่า เก็บข้อมูล และวิเคราะห์ผล เพื่อให้เกษตรกรสามารถทำการเกษตรได้อย่างแม่นยำ

พื้นฐานของ IoT นั้น จะเป็นการใช้โครงข่ายอินเทอร์เน็ตในการเชื่อมโยงอุปกรณ์ต่างๆ อาทิเช่น อุปกรณ์ตรวจวัด ส่วนควบคุมหลัก และหน่วยประมวลผล เพื่อให้อุปกรณ์ตรวจวัดสามารถตรวจวัด และส่งผลข้อมูลผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตมายังอุปกรณ์ควบคุมและหน่วยประมวลผล เพื่อรายงานผล จัดเก็บข้อมูล และนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์ เพื่อกำหนดแนวทางดำเนินการ วางแผนงาน และการดูแลฟาร์มให้เป็นไปตามความต้องการ

ดังนั้นแล้วในพื้นที่ฟาร์ม จำเป็นจะต้องมีการวางโครงข่ายพื้นฐานการสื่อสารที่เหมาะสม โดยปัจจุบันเทคโนโลยีทั้ง 3G และ 4G มีบทบาทอย่างมากในการทำให้แนวคิดของ IoT เป็นจริงมากขึ้น ที่สามารถนำข้อมูลที่ได้รับจากการเกษตรในการเพาะปลูกครั้งที่ผ่านมา หรือจากการเพาะปลูกในพื้นที่ใกล้เคียง มาวิเคราะห์ เพื่อหาวิธีการเพาะปลูกที่เหมาะสมที่สุดกับพื้นที่

นอกจากนี้ เป็นการใช้ IoT ในการตรวจสอบ ตรวจวัด และติดตามความเปลี่ยนแปลงของตัวแปรต่างๆ เช่น ความชื้น แสงสว่าง และอุณหภูมิ การควบคุมการทำงานของระบบอัตโนมัติต่างๆ ในช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น การให้น้ำ ให้ปุ๋ย และให้แสงสว่างที่เหมาะสมเป็นต้น รวมถึงการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย

ตัวอย่างเช่น การใช้รถแทรกเตอร์ขนาดเล็กแบบไม่มีคนขับ ก็จะช่วยลดความเสียหายและเพิ่มผลผลิตได้อีกทางหนึ่ง และยังจะช่วยลดความเสียหายจากการกดทับและเพิ่มผลผลิตต่อไร่ เนื่องจากที่ผ่านมาการใช้รถแทรกเตอร์ขนาดใหญ่ก่อให้เกิดการบดอัดดิน ซึ่งทำให้ความสามารถในการกักเก็บน้ำ ธาตุอากาศ และดินลดลง ซึ่งส่งผลต่อการเติบโตของพืช ตลอดจนช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของภาคเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสภาวะที่คนหนุ่มสาวทั่วโลกทำงานในภาคการเกษตรน้อยลงด้วย


นวัตกรรม-เทคโนโลยีที่จำเป็นใน Smart farming

1. การควบคุมโรคและศัตรูพืช การทำเกษตรจะได้ผลผลิตที่มีคุณภาพสูงขึ้น ช่วยให้สามารถระบุอาการของโรคและเตือนเกษตรกรได้ทันทีเมื่อเกิดปัญหา ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาได้ทัน อีกทั้งยังช่วยแก้ปัญหาเฉพาะจุดได้ นับเป็นผลดีต่อเกษตรกร

2. การตรวจสอบสถานะน้ำและคุณภาพของดิน เมื่อ IoT เข้ามามีส่วนน่วมทำให้สามารถสร้างสรรค์เทคโนโลยีร่วมกับเซนเซอร์ต่างๆ เพื่อช่วยวัดอุณหภูมิ ความชื้นของดิน ตรวจสอบสารอาหาร รวมไปถึงสามารถมีผู้ช่วยส่วนตัวในการทำเกษตรได้ สิ่งเหล่านี้เป็นระบบที่เข้ามามีส่วนช่วยในการตัดสินใจให้กับเกษตรกร และทำให้การทำเกษตรมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

3. การสำรวจทางอากาศเพื่อหาความผิดปกติ หากมีที่ดินจำนวนมากคงเป็นเรื่องยากที่จะสามารถดูแลทุกพื้นที่อย่างทั่วถึง ทำให้เกิดเป็นอุปกรณ์การบินสังเกตการณ์รอบไร่ โดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้คนควบคุม บันทึกสิ่งต่างๆ ที่อยากรู้ในพื้นที่ไร่ของคุณ อีกทั้งยังได้ภาพถ่ายที่มีความละเอียดสูง และสามารถเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับภาพในอดีตได้

4. บรรจุภัณฑ์และการขนส่ง อีกปัจจัยที่มีความสำคัญ คือ ระยะเวลาในการขนส่งสินค้า ทำให้เกษตรกรและผู้ขนส่งพยายามจะดูแลและปกป้องสินค้า โดยการใช้ระบบควบคุม ดัดแปลงภูมิอากาศ ใช้สารเคมีป้องกันเชื้อรา และเครื่องบันทึกอุณหภูมิ แต่ระบบเหล่านี้ไม่สามารถลดการเน่าเสีย ลดการเกิดเชื้อโรค ควบคุมการสุก และปรับปรุงเรื่องความปลอดภัยของสินค้าระหว่างการขนส่งได้ ซึ่งในเวลานี้ Purfresh จากแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา แก้ปัญหาเหล่านี้ได้ รวมทั้งสามารถดูสินค้าแบบเรียลไทม์ได้

นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่กำลังเข้ามาช่วยด้านเกษตรปัจจุบันได้มีการพัฒนามากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพในกลุ่ม AgriTech ที่มีบทบาทอย่างมากต่อรูปแบบการทำเกษตรสมัยใหม่ เกษตรกรสามารถนั่งอยู่ในบ้านแล้วสามารถสั่งคำสั่งได้จากสมาร์ทโฟนอย่างเดียวก็เป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาภาคการเกษตรก้าวสู่ Smart Farming ในประเทศไทยอาจจะต้องใช้เวลาอีกระยะ เนื่องจากเกษตรกรไทยยังขาดองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยี และเงินลงทุน ที่สำคัญ หัวใจที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงไม่ยึดติดกับการทำแบบเดิมๆ เพราะอย่างที่เรียนในข้างต้น แม้เกษตรสมัยใหม่จะผสานเทคโนโลยี นวัตกรรมและองค์ความรู้ ยังต้องประกอบด้วยวิธีคิด การทำเกษตรแบบ ผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความมั่นคงทางรายได้ สร้างโอกาสให้กับการพัฒนาประเทศไปสู่รูปแบบเกษตรสมัยใหม่ และยังสร้างความมั่นคงในการเป็นประเทศผู้ผลิตอาหารเลี้ยงประชากรโลก

ทั้งหมดนี้คือเหตุผลว่าทำไม...ภาคเกษตรไทยต้องเป็น Smart Farming 

 

สตาร์ทอัพด้านเกษตร การแก้ปัญหาแบบมีส่วนร่วม

Young Smart Farm ปั้นเยาวชนเกษตร 4.0


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
75 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
189 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
812 | 17/04/2024
Smart Farming จุดเปลี่ยนประเทศไทย