กระแสคนรักสุขภาพและสุขอนามัยซึ่งเป็นผลพวงจากโควิด-19 อาหารประเภท
‘เนื้อสัตว์ทางเลือก’ จึงกลายเป็นเทรนด์ที่มาแรง
โดยไม่ใช่แค่เพียงตลาดสหรัฐฯ หรือยุโรป เท่านั้นแต่เป็นเทรนด์ที่กำลังเกิดขึ้นทั่วโลกรวมถึงประเทศจีน
ในปี 2018 อุตสาหกรรมเนื้อสัตว์ทำจากพืชในประเทศจีนเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่าตลาด
6.12 พันล้านหยวน
(ประมาณ 9.1 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ)
เพิ่มสูงขึ้น 14.25% จากปี 2017
ในขณะที่ในสหรัฐฯ มีมูลค่าตลาด 6.84 ร้อยล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มสูงขึ้น 23% (YoY) ดังนั้นจะเห็นว่าแม้ว่าสหรัฐฯ จะเริ่มต้นพัฒนาสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ทำจากพืชก่อนประเทศจีน และรวมถึงตลาดมีอัตราการเติบโตสูงกว่า แต่หากเทียบในแง่ของมูลค่าตลาดแล้วจะเห็นว่าตลาดจีนมีมูลค่าตลาดสูงกว่า และยังมีโอกาสในการขยายตลาดอยู่อีกมหาศาล ขณะที่ปัจจัยที่สนับสนุนการเติบโตของตลาดเนื้อสัตว์ทำจากพืชในประเทศจีน นับเป็นประเด็นที่น่าศึกษาประกอบด้วย
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ผู้บริโภคจีนมีรายได้ส่วนบุคคลสุทธิเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ตลาดอาหารในจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือ
รายได้ส่วนบุคคลสุทธิ
(Disposable Personal income, DPI) หรือรายได้ที่ครัวเรือนได้รับหลังหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
สามารถนำไปใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการได้จริงของชาวจีนเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 2019 สำนักงานสถิติแห่งชาติจีนประกาศว่า
รายได้ส่วนบุคคลสุทธิของประเทศจีนอยู่ที่ 30,733 หยวน
เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.9 จากปีที่ผ่านมา ทำให้ผู้บริโภคชาวจีนมีการกำลังซื้อสูงขึ้น
จึงให้ความสำคัญกับความปลอดภัย รูปแบบ และคุณภาพของสินค้ามากขึ้น
รวมถึงให้ความสำคัญกับการบริโภคเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตมากยิ่งขึ้น
ปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศจีน
ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติจีนระบุว่า ผลผลิตปศุสัตว์ของประเทศจีนในปี
2019 อยู่ที่
76.49 ล้านตัน
แบ่งเป็นเนื้อหมู 42.55 ล้านตัน
เนื้อวัว 6.67 ล้านตัน
เนื้อแกะ 4.88 ล้านตัน
และสัตว์ปีก 22.39 ล้านตัน
โดยผู้บริโภคจีนนิยมบริโภคเนื้อหมูเป็นหลัก และหากเทียบในแง่ของปริมาณการบริโภคเนื้อหมูต่อคนต่อปีทั่วโลก
จะพบว่าในปี 2018 ผู้บริโภคจีนมีสถิติการบริโภคเนื้อหมูเฉลี่ยมากเป็นอันดับสองของโลก
โดยมีปริมาณ 40 กิโลกรัม/คน/ปี
ในขณะที่ผู้บริโภคยุโรปบริโภคเนื้อหมูเฉลี่ย 40.9 กิโลกรัม/คน/ปี และสหรัฐฯ 29.8 กิโลกรัม/คน/ปี
ภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนบริโภคเนื้อสัตว์น้อยลง
ผลการศึกษาขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2014 ระบุว่าผู้ป่วยเบาหวาน
1 ใน 3 ของโลก อยู่ในประเทศจีน
โดยประชากรชาวจีนมีสัดส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงถึง 12% หรือกว่า 114 ล้านคน
เหตุผลสำคัญมาจากการที่จีนเป็นประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ (Emerging Economy) เศรษฐกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงไป
จากปัจจัยเรื่องปัญหาสุขภาพของประชาชนทำให้ใน 2016 รัฐบาลจีนได้ออกแนวทางการบริโภคอาหารแห่งชาติ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง
50% และเพื่อส่งเสริมแนวทางการบริโภคดังกล่าว สมาคมโภชนาการจีน
(Chinese Nutrition
Society : CNS) ได้ร่วมมือกับหน่วยงานสนับสนุนด้านสิ่งแวดล้อม
เพื่อจัดทำแคมเปญเผยแพร่ประโยชน์ของเนื้อสัตว์ทำจากพืชสู่สาธารณะ
นอกจากนี้จีนยังเผชิญปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม
โดยผู้บริโภคที่อาศัยในเมืองอย่าง เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง
เซินเจิ้น และกวางโจว ได้รับผลกระทบด้านปัญหาสิ่งแวดล้อมภายในเมืองมาอย่างยาวนาน
การวิจัยขององค์กรช่วยเหลือสัตว์ป่าแห่งชาติ (NGO Wild Rescue) ในเดือนมกราคม 2019 แสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ
56.1 ระบุว่ากำลังลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลง
และอีก 15.3% เต็มใจที่จะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ลงในอนาคต
โดยงานวิจัยยังพบว่าปริมาณการบริโภคเนื้อสัตว์ต่อหัวของเมืองใหญ่ในจีนนั้นต่ำกว่าปริมาณการบริโภคในเมืองรอง
แนวโน้มของสินค้าอาหารประเภทเนื้อสัตว์ทำจากพืชในตลาดจีน
หากพิจาณาจากวัตถุดิบและกระบวนการผลิตแล้ว
สินค้าประเภทเนื้อสัตว์ทางเลือกจะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือเนื้อสัตว์ทำจากพืช (Plant-based meant) และเนื้อสังเคราะห์
(Cultured Meat) โดยเนื้อสัตว์ทำจากพืชนั้นผลิตมาจากพืชชนิดต่างๆ
ที่นำมาปรุงแต่งจนได้ผลิตภัณฑ์ที่รสชาติและรสสัมผัสเสมือนเนื้อสัตว์จริงมากที่สุด
ส่วนเนื้อสังเคราะห์นั้นผลิตมาจากการเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ในห้องแล็บ เพื่อสร้างเนื้อเยื่อที่มีลักษณะคล้ายกล้ามเนื้อ
แต่ด้วยปัจจัยด้านต้นทุนและความสามารถในการผลิต ทำให้ปัจจุบันผลิตภัณฑ์อาหารเนื้อสัตว์ทำจากพืชนั้นเป็นสินค้าหลักในตลาดจีน
ทั้งจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำให้พฤติกรรมการบริโภคและการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคชาวจีนค่อยๆ
เปลี่ยนไป ความตระหนักในเรื่องสุขภาพที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความท้าทายและโอกาสทางการตลาดใหม่ๆ
ตามมามากมาย โอกาสทองที่เหมาะสมในช่วงนี้ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารทั่วโลก ต่างนำสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ทำจากพืชเข้ามาบุกตลาดจีน
และเพื่อสำรวจเสียงตอบรับจากผู้บริโภค บริษัทวิจัยทางการตลาดในจีนได้ทำการสำรวจแบบสอบถามออนไลน์จากผู้บริโภคทั่วประเทศจีนจำนวน 3,770 ตัวอย่าง
โดย Customer Insight ที่ได้จากผลสำรวจมีดังนี้
1. การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด 19 ทำให้ผู้บริโภคจีนตระหนักถึงปัญหาเพิ่มมากขึ้นทั้ง
5 ด้าน
ได้แก่ ด้าน ความปลอดภัยของอาหาร ด้านสุขภาพชีวิต ด้านความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้านความสะอาด สุขอนามัย
และด้านการป้องกันดูแลตนเอง ซึ่งเป็นแรงจูงใจสำคัญในการเลือกซื้อและบริโภคอาหาร ประเภทเนื้อสัตว์ทำจากพืช
2. ผู้บริโภค 77% เคยได้ยินเกี่ยวกับสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ทำจากพืช
โดยเฉพาะผู้บริโภคในเมืองใหญ่มีสัดส่วนผู้บริโภคที่เคยซื้อและบริโภคสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ทำจากพืชสูงที่สุดอย่างมีนัยสำคัญ
3. เหตุผลหลักในการเลือกซื้อสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ทำจากพืชของผู้บริโภคจีน
ได้แก่ ไขมันต่ำ ไม่มี คอเลสเตอรอล, รสชาติอร่อยไม่เลี่ยน
ไม่มีฮอร์โมนตกค้าง มีคุณค่าทางโภชนาการสูงกว่า และช่วยให้รูปร่างดี
4. สินค้าที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคที่เคยซื้อและบริโภคเนื้อสัตว์ทำจากพืช
ได้แก่ ไส้กรอกรมควัน เนื้อหมูทำจากพืชแบรนด์ต่างๆ กุนเชียง เนื้อไก่ทำจากพืช พายเนื้อไก่ทำจากพืช
ขนมไหว้พระจันทร์ไส้เนื้อสัตว์ทำจากพืช นักเก็ตไก่ทำจากพืช สเต็กเนื้อทำจากพืช
5. ผู้บริโภคจีนมีแนวโน้มนิยมบริโภคแบรนด์ต่างประเทศมากกว่าแบรนด์จีน
เพราะผลิตภัณฑ์มีรูปลักษณ์และ รสสัมผัสเหมือนเนื้อสัตว์จริงมากกว่า
และบรรจุภัณฑ์สวยงาม แต่ผู้บริโภคส่วนที่ชื่นชอบแบรนด์จีนมากกว่า เพราะผลิตภัณฑ์มีรสชาติอร่อยถูกปาก
ราคาถูกกว่า และไม่ต้องกังวลใจเรื่องส่วนประกอบดัดแปลงพันธุกรรม
6. สาเหตุหลักที่ผู้บริโภคที่เคยได้ยินเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทำจากพืชแต่ยังไม่เคยซื้อบริโภค
เนื่องจากร้านค้าซุปเปอร์มาร์เก็ตใกล้บ้านไม่มีจำหน่าย, ไม่มั่นใจในวัตถุดิบและกระบวนการผลิต, เลือกทานเนื้อสัตว์จริงจากธรรมชาติ
และคนรอบตัวไม่มีใครเคยลอง/ไม่กล้าลองอาหารใหม่
ขณะที่สถานการณ์การแข่งขันของผู้เล่นในตลาดจีน ปัจจุบันจีนมีแบรนด์ผู้เล่นสำคัญในตลาดประมาณ
10 แบรนด์ ที่พัฒนาและวิจัยผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ทำจากพืช ออกวางจำหน่ายในตลาดทั้งจากผู้ผลิตจีนแผ่นดินใหญ่
ฮ่องกง และสหรัฐฯ
เห็นได้ชัดว่าบริษัทอาหารชั้นนำของโลกในหลายประเทศ
ต่างเริ่มวิจัยและผลิตสินค้าประเภทเนื้อสัตว์ทำจาก พืช
และตลาดผู้บริโภคทั่วโลกมีการขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วเท่านั้นที่ผู้บริโภคเลือกทานอาหารเพื่อสุขภาพ
หรืออาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้บริโภคในตลาดจีนเองก็กำลังเริ่มตอบรับกับสินค้ากลุ่มนี้เช่นกัน
โดยเฉพาะในช่วงหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ผู้บริโภคจีนมีแนวโน้มหันมาใส่ใจกับสุขภาพและสิ่งแวดล้อมรอบตัว
และหันมาเลือกทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่ดีในการนำสินค้าเนื้อสัตว์ทำจากพืชมาบุกตลาดจีน
ล่าสุดเมื่อเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมานี้ เชนร้านอาหารระดับโลกอย่าง
KFC และ Starbucks ต่างนำเมนูเนื้อสัตว์ทำจากพืชเข้าสู่ตลาดจีนพร้อมๆ
กัน ดังนั้นหากผู้ประกอบการไทยจะแสวงหาโอกาสในกลุ่มสินค้าเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืชนี้
ช่วงนี้ตลาดจีนน่าจะไปได้สวยแน่นอน
แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองกวางโจว