‘จิ้งหรีดไทย’ โปรตีนทางเลือกที่ตลาดโลกต้องการ

SME Go Inter
31/07/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 28143 คน
‘จิ้งหรีดไทย’ โปรตีนทางเลือกที่ตลาดโลกต้องการ
banner

 “จิ้งหรีด” กลายเป็นแหล่งโปรตีนมาแรงแห่งยุค และได้รับการสนับสนุนส่งเสริมจากภาครัฐอย่างจริงจังต่อเนื่อง นับตั้งแต่ได้รับการผลักดันให้เลี้ยงส่งออกไปตลาดอียู จีน และแคนาดา โดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ปักธงนำร่องเริ่มต้นไว้ที่จังหวัดกาฬสินธุ์และมหาสารคาม จนจิ้งหรีดไทยสามารถตีตลาดดังกล่าวได้ในรูปแบบผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดทั้งแช่แข็ง แปรรูปต้มบรรจุกระป๋องหรืออบบดเป็นโปรตีนผงผสมอาหาร 

โดยในปี 2561 มีการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดทั่วประเทศกว่า 20,000 ฟาร์ม มีกำลังการผลิตกว่า 700 ตัน/ปี รวมมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท/ปี ปัจจุบันรัฐบาลยังได้มีการส่งเสริมให้ขยายพื้นที่เพาะเลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ได้มาตรฐานในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภายใต้ “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ” เพิ่มเติมเพื่อผลักดันจิ้งหรีดไทยสู่ตลาดโลกอีกด้วย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

ผลักดันจิ้งหรีดไทย สู่ตลาดโลก

ล่าสุด กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เตรียมผลักดัน "จิ้งหรีดไทย" สู่ตลาดโปรตีนแห่งใหม่ในอนาคต หวังขยายฐานส่งออกสู่ตลาดโลก เร่งส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดให้แก่เกษตรกรเพื่อสร้างรายได้ มอบหมายหน่วยงานในสังกัด ส่งเสริมและยกระดับมาตรฐานฟาร์มเลี้ยงจิ้งหรีด พัฒนาและปรับปรุงพันธุ์ สร้างความเชื่อมั่นในผลผลิตให้ผู้บริโภค หลังพบว่าทั่วโลกนิยมบริโภคอย่างแพร่หลาย ทำให้ตลาดส่งออกไทยขยายตัวรวดเร็วมีการเติบโตถึงร้อยละ 23 ต่อปี

โดยเฉพาะในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และจีน จากการที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ส่งเสริมให้คนทั่วโลกหันมาบริโภคจิ้งหรีด ได้มีส่วนช่วยดันให้ตลาดส่งออกจิ้งหรีดไทยโตขึ้นด้วย ซึ่งครั้งนี้กระทรวงเกษตรได้ตั้งเป้าหมายขยายพื้นที่การผลิตไปในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือใต้ ในชื่อ “โครงการเกษตรฐานชีวภาพแมลงเศรษฐกิจใหม่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ”

โดยมีตลาดอียูเป็นตลาดส่งออกหลักสำคัญ ซึ่งการส่งออกจิ้งหรีดจากไทยไปอียูนั้นยังคงเป็นไปตามระเบียบอาหารใหม่ ภายใต้ข้อกำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร มกษ.8202-2560 หรือการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มจิ้งหรีดเป็นมาตรฐานทั่วไปลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2560 โดยมีกรมปศุสัตว์เป็นหน่วยงานรับผิดชอบในการตรวจรับรองตาม มกษ. เพื่อรองรับการยกระดับฟาร์มจิ้งหรีดให้ได้มาตรฐานระดับสากล

 

ทำไมต้องเป็น “จิ้งหรีด” ที่ภาครัฐเร่งส่งเสริมอย่างจริงจัง

จิ้งหรีด (Cricket) มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Acheta testacea Walker เป็นแมลงที่การนำมาเพาะเลี้ยงเชิงการค้าเพื่อการส่งออกมาตั้งแต่ปี 2555 นิยมเพาะเลี้ยงกันมากในเขตภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแพร่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน ตาก ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดหนองบัวลำภู เลย ขอนแก่น กาฬสินธุ์ อุดรธานี ร้อยเอ็ด ภาคตะวันออก ได้แก่ จังหวัดสระแก้ว จันทบุรี จังหวัดที่เลี้ยงมากที่สุด คือ จังหวัดเลย

ส่วนพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงกันมากได้แก่ พันธุ์ทองคำ พันธุ์ทองแดง และพันธุ์สะดิ้ง จัดเป็นธุรกิจการลงทุนที่ใช้พื้นที่น้อย จัดการง่าย ขายได้ราคาดี มีต้นทุนต่อหน่วยเฉลี่ยที่ 41 บาท/กิโลกรัม ใช้เวลาเลี้ยงเพียง 45 -50 วันต่อรุ่น ใน 1 ปี จึงสามารถเลี้ยงได้ถึง 6 รุ่น ราคาขายเฉลี่ยขายหน้าฟาร์มได้ที่กิโลกรัมละ  80 บาท สร้างรายได้สุทธิหรือผลกำไรได้ 163,464 บาท/ปี จิ้งหรีดจึงกลายแมลงเศรษฐกิจที่มาแรงภายใต้การสนับสนุนของรัฐบาลและตลาดส่งออกให้การตอบรับดี

ภาพลักษณ์ในการเลี้ยงจิ้งหรีดในขณะนี้ จึงไม่ใช่เลี้ยงไว้เพื่อบริโภคในประเทศเพียงอย่างเดียว หรือเป็นอาชีพเสริมที่เลี้ยงไว้ตามพื้นที่ว่างข้างบ้านเหมือนในอดีตอีกต่อไป เพราะสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศให้ได้ถึงปีละ 1,000 ล้านบาท ในตลาดส่งออกอย่างสหภาพยุโรป (อียู) จีน สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น

โดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติหรือเอฟเอโอ (FAO) ประกาศว่าแมลงเป็นแหล่งอาหารโปรตีนชนิดใหม่ และสหภาพยุโรปได้จัดแมลงเป็นอาหารใหม่ (Novel Food) มีการวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ชาวเมริกันที่รายงานไว้ว่า การทานจิ้งหรีดช่วยให้แบคทีเรียที่มีประโยชน์ในลำไส้เพิ่มจำนวนขึ้น จึงลดการอักเสบในร่างกาย และไม่ก่อให้เกิดอันตราย แม้จะทานเข้าไปมากก็ตาม 

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน ของสหรัฐฯ ที่ตีพิมพ์เผยแพร่รายไว้ในวารสาร Scientific Reports ว่าจิ้งหรีดเป็นแหล่งอาหารที่มีประโยชน์ต่อมนุษย์มากกว่าที่เคยคาดคิด มีทั้งโปรตีนและกากใย (Fiber) ที่ดีต่อร่างกาย

ปัจจุบันมีประชากรโลกกว่า 2,000 ล้านคนบริโภคแมลงเป็นประจำ ซึ่งชาวตะวันตกต่างได้ให้ความสนใจในการรับประทานแมลงเป็นอาหารกันมากขึ้น เนื่องจากเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำฟาร์มปศุสัตว์ และไม่ส่งผลเสียต่อร่างกายเหมือนการทานเนื้อสัตว์อื่น

จิ้งหรีดจึงเป็นแหล่งโปรตีนทางเลือกที่ตลาดต่างประเทศให้การตอบรับดี นี่จึงเป็นโอกาสอันดีที่ประเทศไทยจะได้ส่งจิ้งหรีดไทยไปตีในตลาดโลก ท่ามกลางปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประชากรโลก และโรคระบาดในสัตว์ เช่น สุกร วัว ไก่ ที่อาจติดต่อสู่คนได้

นอกจากนี้จิ้งหรีดยังเป็นแมลงเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่มีศักยภาพและมีโอกาสในการส่งออกสูง โดยเฉพาะตลาดสหภาพยุโรปหรืออียู (EU) ซึ่งมีผู้ประกอบการหลายรายสนใจนำเข้าผลิตภัณฑ์จิ้งหรีดจากไทยค่อนข้างมาก ทั้งในรูปจิ้งหรีดแช่แข็ง ต้มบรรจุกระป๋อง และจิ้งหรีดอบบดเป็นโปรตีนผง เพื่อใช้เป็นส่วนผสมอาหารที่มีความต้องการเพิ่มสูงขึ้น แต่เนื่องจากการบังคับใช้กฎระเบียบว่าด้วยอาหารใหม่หรือ Novel Food ของ EU ซึ่งเริ่มมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมสินค้าที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก

โดยสินค้าเกษตรและอาหารหลายรายการ รวมทั้งจิ้งหรีดและผลิตภัณฑ์ ต้องดำเนินการยื่นขอขึ้นทะเบียนตามข้อกำหนดภายใต้กฎหมาย สถานะอาหารใหม่ (Novel Food) และจัดทำเอกสารข้อมูลทางวิชาการประกอบการยื่นขอ (Scientific Dossier) โดยสามารถยื่นคำขอในสถานะอาหารที่มีการบริโภคมานาน (Traditional Food) หรือสถานะอาหารใหม่ (Novel Food) เพื่อให้สำนักงานความปลอดภัยอาหารแห่งสหภาพยุโรป (EFSA) พิจารณาความปลอดภัยหรือหลักฐานการบริโภคก่อนอนุญาตเปิดตลาดนำเข้าอย่างเป็นทางการที่ มกอช.

ด้านการเพาะเลี้ยงจิ้งหรีดเพื่อการส่งออก จะต้องมีการจัดการการเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน มกษ.8202-2560 และมาตรฐานอื่นๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพผลผลิตจนได้รับการรับรองการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืช (GAP), การปฏิบัติที่ดีในการผลิตอาหาร (GMP) มีมาตรฐานการผลิตอาหาร (HACCP), มาตรฐานฟาร์มเครื่องหมาย อย. และมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) เพื่อรองรับการจัดการด้านการตลาดในประเทศและการส่งออกไปต่างประเทศได้ด้วย

ส่งเสริมเลี้ยงจิ้งหรีดแปลงใหญ่ ผลักดันการส่งออก

ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าในอนาคตโลกจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร จากปัญหาจำนวนประชากรที่กำลังเพิ่มขึ้น องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) จึงแนะนำให้แมลงเป็นอาหารโปรตีนสำรองในอนาคต หรือที่เรียกว่า Novel Food เนื่องจากมีราคาถูก เพาะเลี้ยงง่าย ลดการใช้ทรัพยากร และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แมลงจึงกลายเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่กำลังจะเข้ามาทดแทนเนื้อสัตว์ ข้อมูลวิจัยของกองโภชนาการ กรมอนามัย ระบุว่า คุณค่าทางโภชนาการของแมลงกินได้ในขนาดน้ำหนัก 100 กรัม จะมีปริมาณโปรตีนเทียบเท่าเนื้อหมู เนื้อไก่ ปลาทูนึ่ง และไข่ไก่ในขนาดน้ำหนักเท่ากัน ดังนั้นแมลงจึงสามารถนำมาใช้เป็นแหล่งอาหารได้ในพื้นที่ที่ขาดแคลนอาหารจำพวกโปรตีน ทั้งยังเป็นโปรตีนที่ปลอดภัย เพราะไม่ปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ และปลอดสารพิษต่างๆ ใช้อาหารและพื้นที่เลี้ยงน้อยกว่าการเลี้ยงปศุสัตว์ทั่วไป และยังปล่อยก๊าซมีเทนซึ่งเป็นสาเหตุทำให้เกิดภาวะโลกร้อนน้อยกว่าการเลี้ยงวัวถึง 80 เท่า

นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร ได้ให้ข้อมูลด้านการส่งเสริมการเลี้ยงจิ้งหรีดในประเทศไทยว่า ปัจจุบันประเทศไทยถือเป็นตลาดหลักในการส่งออกแมลงไปขายทั่วโลก เพราะนอกจากมีแมลงกินได้หลายชนิดแล้ว ยังมีสภาพอากาศร้อนชื้นเหมาะสำหรับการเพาะเลี้ยงแมลงด้วย กรมส่งเสริมการเกษตรจึงเข้าไปส่งเสริมให้เกษตรกรรวมตัวกันเป็นกลุ่มแปลงใหญ่ผู้เลี้ยงแมลง โดยเฉพาะจิ้งหรีด ปัจจุบันมีแปลงใหญ่จิ้งหรีดทั้งหมดจำนวน 11 แปลง เกษตรกรสมาชิก 469 ราย พื้นที่รวมประมาณ 848.5 ไร่ ใน 10 จังหวัด ได้แก่ ได้แก่ จังหวัดกาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ พิจิตร พิษณุโลก มหาสารคาม ลพบุรี สระแก้ว และจังหวัดสุโขทัย โดยมีกำลังการผลิตรวมกว่า 1.1 พันตันต่อปี

นอกจากนี้ยังมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการพัฒนาให้ได้สายพันธุ์จิ้งหรีดที่แข็งแรง ร่วมกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ รวมทั้งยังพัฒนาวิธีการเก็บรักษาให้สามารถเก็บได้นานขึ้นด้วยกระบวนการอบแห้งหรือแช่แข็ง และยังมีการแปรรูปให้เป็นผลิตภัณฑ์อีกหลายชนิด เช่น จิ้งหรีดอบกรอบ ทอดกรอบ โปรตีนจิ้งหรีด ผงจิ้งหรีด ข้าวเกรียบจิ้งหรีด น้ำพริกจิ้งหรีด จิ้งหรีดปรุงรส รวมทั้งสินค้าที่เป็นผลพลอยได้จากการเลี้ยงอย่างปุ๋ยมูลจิ้งหรีด

และด้วยการยึดหลักการรวมกลุ่มกันบริหารจัดการ ทำให้กลุ่มแปลงใหญ่จิ้งหรีดมีผลผลิตหมุนเวียนสามารถจำหน่ายได้ตลอดทั้งปี ในส่วนด้านการตลาดนอกจากจะมีพ่อค้ามารับซื้อถึงหน้าฟาร์มแล้ว กลุ่มเกษตรกรแปลงใหญ่ยังส่งขายตลาดในท้องถิ่น ตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ ขายผ่านช่องทางออนไลน์ และส่งออกไปขายในตลาดต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น และฝรั่งเศสอีกด้วย.

 

แหล่งอ้างอิง :

agriman.doae.go.th/home/news/year%202015/040_cricket.pdf  

https://warning.acfs.go.th/th/articles-and-research/view/?page=30  


สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<< 


ขนมที่มีส่วนผสมของ ‘จิ้งหรีด’ โดนใจผู้บริโภคญี่ปุ่น

‘เลี้ยงจิ้งหรีด’ ส่งออกตลาดยุโรปอนาคตสดใส


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
6344 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2034 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5074 | 23/10/2022
‘จิ้งหรีดไทย’ โปรตีนทางเลือกที่ตลาดโลกต้องการ