รู้จักกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ 'Thai ESG' ตัวช่วยภาคธุรกิจ ตอบโจทย์เทรนด์และกติกาโลกสายกรีน

ESG
26/12/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 3496 คน
รู้จักกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ 'Thai ESG' ตัวช่วยภาคธุรกิจ ตอบโจทย์เทรนด์และกติกาโลกสายกรีน
banner

ได้เวลาส่งท้ายปีเก่า! เข้าสู่ช่วงเทศกาลลดหย่อนภาษีของปีอีกแล้ว หลายคนคงกำลังมองหากองทุนเพื่อลดหย่อนภาษีประจำปี และเตรียมจัดสรรเงินลงทุนกัน แต่ก่อนจะเริ่มลงทุน Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับกองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ ที่ชื่อว่า ‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน’ หรือ Thailand ESG Fund: Thai ESG (TESG) ว่าคืออะไร มีเงื่อนไขอย่างไร ซื้อได้เท่าไหร่ ลดหย่อนได้เท่าไหร่ แล้วใครที่เหมาะกับการลงทุนใน Thai ESG ที่ว่านี้ เรารวบรวมข้อมูลดี ๆ มาไว้ในบทความนี้แล้ว ไปดูกัน


กองทุน Thai ESG คืออะไร?


Thai ESG หรือ Thailand ESG Fund คือ กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน ซึ่งจะลงทุนในหุ้นและตราสารหนี้ของบริษัทในไทยที่ดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG และกองทุนดังกล่าวยังถือเป็นกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ โดยการจัดตั้งกองทุนนั้นส่วนหนึ่งต้องการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวใน ตลาดหุ้นไทย และสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนทำธุรกิจโดยปรับเปลี่ยนตัวเองเป็นบริษัท ESG มากขึ้น ซึ่งมีสิทธิพิเศษให้ผู้ลงทุนสามารถนำจำนวนเงินลงทุนมาหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ซึ่งเหมือนกับการลงทุนใน RMF, SSF, SSFX หรือ LTF ที่ออกมาก่อนหน้านี้


กองทุน Thai ESG ลงทุนในอะไรบ้าง?


นโยบายการลงทุนของ Thai ESG กำหนดให้สามารถลงทุนในหุ้นไทยและตราสารหนี้ไทย ที่ให้ความสำคัญในเรื่องความยั่งยืน ตามหลัก ESG โดยการลงทุนอย่างยั่งยืน (Sustainable Investing) เป็นแนวคิดการลงทุนที่ไม่ได้คำนึงถึงผลกำไรของบริษัทเพียงอย่างเดียว แต่ยังคำนึงถึง 3 ด้านหลักสำคัญ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล หรือที่เรียกว่า ESG (Environmental, Social and Governance) ปัจจุบันแนวคิดการลงทุนนี้เป็นเป็นที่นิยมของผู้ลงทุนทั่วโลกและมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยธีมการลงทุน ESG เน้นลงทุนในธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จาก 3 ด้าน ได้แก่

1.ธุรกิจที่สร้างการเติบโตที่ดีในระยะยาว

2. ธุรกิจที่มีการผลักดันด้านนวัตกรรม

3.ธุรกิจที่เน้นความยั่งยืน


ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) ได้มีการจัดทำดัชนีหุ้นยั่งยืนที่เรียกว่า SET ESG Ratings สำหรับประเมินผลการดำเนินงานด้าน ESG ของบริษัทจดทะเบียนไทย ล่าสุดในปี 2023 มีบริษัทที่ผ่านการคัดเลือก 193 บริษัท มูลค่าตลาดรวม ณ 1 พ.ย.2566 รวม 13 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ของตลาด เมื่อเทียบกับมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดทั้งหมดของ SET และ mai (ณ 1 พฤศจิกายน 2566) แบ่งเป็น

บริษัทจดทะเบียนในระดับ AAA (คะแนนรวม 90-100) จำนวน 34

บริษัท ระดับ AA (คะแนนรวม 80-89) จำนวน 70

บริษัท ระดับ A (คะแนนรวม 65-79) จำนวน 64 บริษัท

ระดับ BBB (คะแนนรวม 50-64) จำนวน 25 บริษัท


ขณะที่ ESG Bond มีรูปแบบคล้ายกับตราสารหนี้ปกติทั่วไป ต่างกันที่วัตถุประสงค์ของการระดมทุนที่ต้องการนำเงินไปใช้เพื่อดำเนินโครงการต่าง ๆ ภายใต้แนวคิดการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยมุ่งตอบโจทย์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) สังคม (Social Bond) และความยั่งยืน (Sustainability Bond)


โดยกองทุนนี้จะมีเม็ดเงินเข้ามาไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งต้องย้ำว่า การเป็นบริษัท ESG ไม่จำเป็นต้องเป็นบริษัทขนาดใหญ่เพียงอย่างเดียว แต่บริษัท SME ก็สามารถเป็นบริษัท ESG ที่ดีได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบัน บริษัทในตลาดที่เกี่ยวกับ ESG มีอยู่ประมาณ 210 บริษัท จากทั้งหมด 800 บริษัทเชื่อว่า จะมีจำนวนมากพอสำหรับการลงทุน และเชื่อว่าถ้ามีกองทุนนี้ จะมีบริษัทที่ทำตัวเองให้เป็น ESG มากขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะตอบโจทย์เทรนด์และกติกาของโลกในการเป็นธุรกิจสีเขียว โดยกองทุนมีการลงทุนในหุ้นที่อยู่ในบัญชีรายชื่อ หุ้นยั่งยืน และตราสารหนี้ที่เกี่ยวกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน (Sustainability)



ยกตัวอย่างผู้ประกอบการที่ได้รับการคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน


บริษัทซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) องค์กรที่เข้าสู่วงการ Sustainability โดยได้รับคัดเลือกให้อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน หรือ Thailand Sustainability Investment (THSI) ประจำปี 2565 ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 จากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และปีนี้ เป็นปีที่ 3 ที่อยู่ในทำเนียบ ESG100 ของสถาบันไทยพัฒน์ ถือเป็นการตอกย้ำแนวทางดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของ บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน)


นอกเหนือจาก ESG ที่เป็นแนวคิดเรื่องการพัฒนาขององค์กรอย่างยั่งยืนคือ Environment Social และ Governance เรื่องของ Sustainability Development ยังต้องดูเรื่องความเสี่ยงด้วย ว่าเราสามารถปรับตัวได้มากแค่ไหน เพราะเรื่องสิ่งแวดล้อมถือเป็นการเพิ่มต้นทุนในบางอย่าง ในมุมลูกค้า ขึ้นอยู่กับนโยบายขององค์กรนั้น ๆ



คุณยุวดี เอี่ยมสนธิทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) สะท้อนมุมมองว่า สำหรับเรา มองว่าค่าใช้จ่ายเหล่านี้ คือการลงทุนเพื่อซื้อความพร้อมเตรียมไว้ให้ธุรกิจไปต่อได้เลย เมื่อเวลามาถึง โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ หันมาให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อม และสังคมมากขึ้น ซึ่งเรามีนโยบายความยั่งยืนอยู่แล้ว การขับเคลื่อน คือทำให้เป็นรูปเป็นร่าง เป็นนโยบายที่ต้องไปให้ถึง เอารวมเข้าไปในกระบวนการ มีตัวชี้วัด และทุกฝ่ายร่วมผลักดันไปด้วยกัน



เชื่อว่าถ้าเรามีโอกาสได้พูดคุยกับผู้ถือหุ้น หรือนักลงทุน เราสามารถทำความเข้าใจในวิสัยทัศน์ของบริษัทในเรื่องความยั่งยืนได้ ว่าเป็นการสร้าง Benefit ให้ธุรกิจอีกทางหนึ่ง แต่ถ้าคุณยังไม่เริ่มก่อนถูกบังคับใช้ ธุรกิจจะเกิด Business Disruption ทันที



สนใจอ่านเพิ่มเติมได้ที่ : https://www.bangkokbanksme.com/en/25764




กองทุน Thai ESG ลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่ มีเงื่อนไขอะไรบ้าง?


ทั้งนี้ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการจัดตั้งกองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน เพื่อส่งเสริมการออมและการลงทุนระยะยาวผ่านการลงทุนในธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืน และสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้ตั้งแต่ปี 2566 (ยื่นภาษีในปี 2567) โดยรายละเอียดและเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีของกองทุน Thai ESG มีดังนี้


สำหรับเงื่อนไข กองทุน Thai ESG มีระยะเวลาการลงทุนเป็นเวลา 8 ปีเต็มนับจากวันที่ซื้อ (นับแบบวันชนวัน ไม่ใช่นับแบบปีปฏิทิน) ซื้อปีไหน ลดหย่อนปีนั้น และไม่บังคับว่าต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี


โดยลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้ทั้งปี และลงทุนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท โดยไม่มีกำหนดเงินลงทุนขั้นต่ำ หักลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อราย ซึ่งจะเริ่มลงทุนได้ภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ เพื่อให้ประชาชนได้เช้ามาลงทุนทันใช้ทันในปีนี้ และสามารถหักภาษีได้เลยในรอบเดือนมี.ค.67


เช่น ถ้าซื้อ Thai ESG ในวันที่ 25 ธันวาคม 2023 วันที่ครบกำหนด 8 ปี คือวันที่ 25 ธันวาคม 2031 หมายความว่า เราจะขายกองทุนโดยไม่ผิดเงื่อนไขได้ในวันรุ่งขึ้น คือวันที่ 26 ธันวาคม 2031




โดยวงเงินลงทุนของ Thai ESG จะไม่ถูกนับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท


ดังนั้น หากผู้จ่ายภาษีลงทุนในกองทุนเพื่อการออมอื่น ๆ แบบเต็มสิทธิ 500,000 บาทแล้ว และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ก็สามารถเลือกลงทุนในกองทุน Thai ESG ได้ โดยจะสามารถประหยัดภาษีได้เพิ่มอีก 100,000 บาท โดย BBLAM ขอแนะนำ กองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ B-TOP-THAIESG กองทุนลดหย่อนภาษีรูปแบบใหม่ของ BBLAM ซึ่งกองทุนนี้ เหมาะสำหรับนักลงทุนที่เป็นผู้มีเงินได้และต้องการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม มีความสนใจและต้องการส่งเสริมธุรกิจที่ต้องการลดการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือ ESG รวมถึงต้องการความยืดหยุ่นในการลงทุน เนื่องจากการลงทุนในกองทุน Thai ESG นั้นไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี


จุดเด่นของกองทุน B-TOP-THAIESG


สำหรับ กองทุน B-TOP-THAIESG หรือ กองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน เป็นกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (Thai ESG) ที่รวม 10 ดาวเด่น ด้านความยั่งยืน ด้วย ESG ของไทย มุ่งหวังให้ผลประกอบการเคลื่อนไหวสูงกว่าดัชนีชี้วัด (Active Management)


โดยกองทุนเน้นการลงทุนในหุ้นของบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกจาก SET หรือองค์กรอื่นที่ ก.ล.ต. ยอมรับว่ามีความโดดเด่นด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) หรือด้านความยั่งยืน (ESG) ซึ่งจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) หรือ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai)


นโยบายหลักของ B-TOP-THAIESG คือการลงทุนในหุ้น ESG ของไทย 10 ตัว ในสัดส่วนไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน


ทั้งนี้ ในช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงการลงทุนในหุ้นของบริษัท 10 อันดับแรก จำนวนหลักทรัพย์ดังกล่าวจะไม่เกิน 12 บริษัท


นโยบายการลงทุน B-TOP-THAIESG ที่จะช่วยคว้าโอกาสในยุคสมัยแห่งความยั่งยืน

1. การวิเคราะห์แบบ ESG Integration

สิ่งที่เหนือกว่าของกองทุน B-TOP-THAIESG คือ การวิเคราะห์แบบ ESG Integration หรือการนำ ESG เข้ามาเป็นปัจจัยวิเคราะห์เพิ่มเติมจากปัจจัยทั่ว ๆ ไป กล่าวอย่างเจาะจงมากขึ้น B-TOP-THAIESG มีการวิเคราะห์หลักทรัพย์ 2 ด้าน คือ

- ปัจจัยพื้นฐาน (Fundamental Analysis) วิเคราะห์ปัจจัยมหภาค และปัจจัยพื้นฐานของบริษัท

- กรอบความยั่งยืน (Sustainability Framework) หรือการวิเคราะห์ปัจจัยด้าน ESG

กรอบความยั่งยืน จะมองไปยัง 3 เรื่องสำคัญตามหลัก ESG คือ

- ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์ความเปลี่ยนแปลงด้านนโยบายหรือกฎเกณฑ์ด้านสิ่งแวดล้อม ๆ

- สังคม มองถึงการดูแลพนักงาน ชุมชน และห่วงโซ่อุปทาน ไปจนถึงจริยธรรมและวัฒนธรรมองค์กร

- การกำกับดูแลที่ดี คำนึงถึงการกำกับดูแลกิจการ ความโปร่งใส พฤติกรรมองค์กร โครงสร้างการจัดการ และการจัดสรรเงินทุน


2. การร่วมมือกับบริษัท (Engagement Framework)

กองทุนจะเน้นการมีส่วนร่วมอย่างแข็งขันในบริษัทที่เข้าไปลงทุน เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในองค์กรให้สามารถลดความเสี่ยงด้านความไม่ยั่งยืนอันจะส่งผลต่อการดำเนินงานและความสามารถในการแข่งขันผ่านหลากหลายช่องทาง เช่น


- การประชุมตามปกติกับตัวแทนบริษัท (Routine Meeting) เช่น นักลงทุนสัมพันธ์ หรือทีมผู้บริหาร

- พิจารณาหารือกับคณะกรรมการบริษัท (Board Member Engagement) เพื่อยกระดับการติดตามและตรวจสอบเรื่องความยั่งยืน

- นโยบายการใช้สิทธิออกเสียง (Proxy Voting) ในวาระต่าง ๆ ที่สำคัญ

- การร่วมมือกับผู้ลงทุนอื่น (Collective Engagement) ตามความเหมาะสม

ที่มา: Presentation กองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน B-TOP-THAIESG

ข้อมูล ณ เดือนธันวาคม 2566


ลงทุนใน B-TOP-THAIESG สร้างผลลัพธ์เชิงบวก พร้อมลดหย่อนภาษี

การลงทุนใน B-TOP-THAIESG นอกจากช่วยสร้างผลตอบแทนระยะยาวและสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อโลกด้วยการลงทุนในบริษัทที่ดำเนินงานตามหลัก ESG แล้ว ยังให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีให้กับนักลงทุนอีกด้วย

กองทุน Thai ESG สามารถลงทุนได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมิน แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี ไม่นับรวมกับกองทุนอื่น ๆ ที่ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี เช่น RMF, SSF, PVD, กบข., ประกันบำนาญ และกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี ลงทุนปีไหนก็ได้รับสิทธิ์ปีนั้น (ตั้งแต่ปี 2566 ถึง 2575) แต่จะต้องถือครองให้ครบ 8 ปีขึ้นไป นับจากวันที่ซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก

ที่มา: Presentation กองทุนรวมบัวหลวงทศพลไทยเพื่อความยั่งยืน B-TOP-THAIESG




นักลงทุนที่สนใจกองทุน B-TOP-THAIESG สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือขอรับหนังสือชี้ชวนได้ที่ธนาคารกรุงเทพทุกสาขา และตัวแทนขายที่ได้รับการแต่งตั้ง หรือ BBLAM โทร. 02 - 674 6488 กด 8




กองทุน Thai ESG เหมาะกับใคร คนแบบไหนที่ควรซื้อ

- มีเป้าหมายการลงทุนให้เงินเติบโตในระยะยาว

- มองเห็นโอกาสเติบโตในหุ้นยั่งยืน และธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลัก ESG ในประเทศไทย

- ต้องการลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน แต่ไม่อยากซื้อ RMF เพราะใช้เวลานานกว่าจะขายได้ สำหรับคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปี และไม่อยากซื้อ SSF เพราะต้องใช้เวลาถือถึง 10 ปี

- ต้องการวงเงินลดหย่อนภาษีเพิ่มเติม ซึ่งที่มีอยู่เดิมยังไม่หนำใจ เนื่องจากเป็นคนที่ฐานภาษีสูง เช่น 20% ขึ้นไป หรือลดหย่อนภาษีจากการซื้อ SSF และ RMF จนเต็มสิทธิ์แล้ว




กรณีไหนควรซื้อ Thai ESG

1. มีรายได้สุทธิที่หักลบค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนอื่น ๆ แล้ว มากกว่า 150,000 บาท

2. ต้องการลดหย่อนภาษีด้วยการลงทุน เพราะไม่อยากจ่ายภาษีเป็นจำนวนมาก หรือโดยหักภาษี ณ ที่จ่ายไปแล้ว แต่อยากขอเงินภาษีคืน

3. เป็นคนที่ฐานภาษีสูง เช่น 20% 25% ขึ้นไป ยิ่งฐานภาษีสูงเท่าไหร่ การลดหย่อนภาษียิ่งคุ้มค่าขึ้นเท่านั้น เช่น คนฐานภาษี 20% การซื้อ TESG จำนวน 100,000 บาท จะช่วยประหยัดภาษีถึง 20,000 บาท แต่คนฐานภาษี 5% แม้จะซื้อ 100,000 บาทเท่ากัน จะนำไปลดภาษีได้เพียง 5,000 บาท

4. ยังลดหย่อนภาษีไม่พอ ต้องการวงเงินเพิ่ม ซึ่งการลงทุนใน SSF กับ RMF ให้สิทธิลดหย่อนภาษีรวมกันแค่ 500,000 บาท แต่หากใครที่ต้องการวงเงินมากกว่านั้น การซื้อ TESG จะให้วงเงินลดหย่อนเพิ่มอีก 100,000 บาท รวมสูงสุดเป็น 600,000 บาท

5. ต้องการลดหย่อนภาษี แต่ไม่อยากซื้อ RMF เพราะต้องซื้อต่อเนื่องทุกปี และต้องถือถึงอายุ 55 ปี ซึ่งใช้เวลานานกว่าจะขายได้ สำหรับคนที่อายุน้อยกว่า 45 ปี

6. ต้องการลดหย่อนภาษี แต่ไม่อยากซื้อ SSF เพราะมองว่าการถือลงทุนถึง 10 ปี ยังยาวนานเกินไปหน่อย

7. มีเป้าหมายการลงทุนระยะยาว สามารถถือกองทุน Thai ESG อย่างน้อย 8 ปีขึ้นไป

8. เชื่อมั่นในศักยภาพการเติบโตของหุ้นไทยยั่งยืน ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนที่ให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจตามหลัก ESG



ควรซื้อเท่าไหร่? ถึงจะคุ้มค่า และประหยัดภาษีที่สุด

สำหรับการลดหย่อนภาษีด้วยกองทุน Thai ESG ให้คุ้มค่าและประหยัดภาษีที่สุด หรือใครที่ปีนี้ลงทุนกับ SSF RMF ไปเยอะแล้ว ควรซื้อ Thai ESG เพิ่มอีกไหม? จะสรุปให้เห็นภาพแบบชัด ๆ เพื่อให้ทุกคนสามารถนำไปวางแผนภาษีปีนี้ได้อย่างเหมาะสมดังนี้


เงื่อนไข Thai ESG – SSF – RMF ซื้อได้เท่าไหร่

Thai ESG ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี และไม่เกิน 100,000 บาท

SSF ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี และไม่เกิน 200,000 บาท

RMF ลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 30% ของรายได้รวมทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท


รายได้เท่านี้ ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุดเท่าไหร่

หากคำนวณตามเงื่อนไขรายได้ เราจะสามารถซื้อกองทุน Thai ESG หรือ ‘กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน’ ในแต่ละช่วงรายได้ ดังนี้

เงินเดือน 15,000 บาท รายได้รวมทั้งปี 180,000 บาท ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุด 54,000 บาท

เงินเดือน 20,000 บาท รายได้รวมทั้งปี 240,000 บาท ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุด 72,000 บาท

เงินเดือน 25,000 บาท รายได้รวมทั้งปี 300,000 บาท ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุด 90,000 บาท

เงินเดือน 35,000 บาท รายได้รวมทั้งปี 420,000 บาท ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุด 100,000 บาท

เงินเดือน 50,000 บาท รายได้รวมทั้งปี 600,000 บาท ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุด 100,000 บาท

เงินเดือน 100,000 บาท รายได้รวมทั้งปี 1,200,000 บาท ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุด 100,000 บาท

เงินเดือน 500,000 บาท รายได้รวมทั้งปี 6,000,000 บาท ซื้อ Thai ESG ได้สูงสุด 100,000 บาท


ทั้งนี้ วงเงินลดหย่อนของ Thai ESG จะไม่นับรวมกับกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุอื่น ๆ ได้แก่ กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน, กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และประกันชีวิตแบบบำนาญ จะลงทุนรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท


ตัวเลขดังกล่าว เป็นจำนวนเงินสูงสุดที่เราสามารถลงทุนได้ แต่ถ้าอยากรู้ว่าควรซื้อกี่บาทถึงจะเหมาะสมและพอดีกับการวางแผนภาษี สิ่งที่ต้องทำก็คือการคำนวณเงินได้สุทธิเพื่อหาฐานภาษีตามขั้นบันได

โดยใช้สูตร เงินได้สุทธิ = รายได้ทั้งปี – ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน


ยกตัวอย่างเช่น พนักงานออฟฟิศ รายได้ต่อเดือน 50,000 บาท รวมเป็นรายได้ต่อปี 600,000 บาท

จากนั้นให้นำไปหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว 100,000 บาท (รายได้ประจำสามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 50% ไม่เกิน 100,000 บาท) และหักค่าลดหย่อนต่าง ๆ ที่มี ซึ่งพื้นฐานเลย เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ประกันสังคม 9,000 บาท เป็นต้น

คิดตามนี้ จะคิดออกมาเป็นเงินได้สุทธิ เท่ากับ 600,000 – 100,000 – 60,000 – 9,000 = 431,000 บาท

แล้วค่อยนำเงินได้สุทธิจำนวนนี้ไปคำนวณตามเงื่อนไขของ Thai ESG ที่ลงทุนได้สูงสุด 30% และไม่เกิน 100,000 บาท ซึ่งในกรณีนี้เราจะลงทุนได้เต็มที่จำนวน 100,000 บาท

อย่างไรก็ดี แม้การซื้อกองทุนลดหย่อนภาษีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จะช่วยเปลี่ยนภาษีที่ต้องจ่ายเป็นเงินออมได้มากเท่านั้น และยังตอบโจทย์เป้าหมายการเงินในระยะยาว แต่อย่าลืมพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ในชีวิตควบคู่กันไปด้วย อาทิ

1. สภาพคล่องทางการเงิน: ถ้าลงทุนแล้วจะทำให้เงินขาดมือ หรืออาจเกิดปัญหาทางการเงินตามมาหรือไม่ เพราะอย่าลืมว่า Thai ESG รวมทั้ง SSF RMF เป็นการลงทุนระยะยาวในการรอคอย

2. ผลตอบแทนและความเสี่ยงที่รับได้: ควรเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง ถ้ารู้ตัวว่ารับความเสี่ยงจาก Thai ESG ไม่ได้ การมองหาตัวช่วยลดหย่อนภาษีอื่น ๆ น่าจะเหมาะกว่า

3. ฐานภาษีของตัวเอง: ยิ่งฐานภาษีสูง การลดหย่อนยิ่งจำเป็นและคุ้มค่า แต่ถ้าไม่ได้มีกระแสเงินสดที่เพียงพอขนาดนั้น แนะนำให้ซื้อเพื่อลดฐานภาษีตัวเองลงก็ได้ เช่น ตอนนี้เสียภาษีที่ฐาน 15% เราก็ซื้อ Thai ESG เพื่อให้ฐานภาษีเหลือ 10% เพื่อจะได้จ่ายภาษีเบาลง




ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนอย่างยั่งยืน นอกจากจะช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวแล้ว ยังมีข้อดีคือ หากเราลงทุนในบริษัทที่มีการจัดการเรื่อง ESG ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนได้ นอกจากนี้ การได้ร่วมลงทุนไปกับบริษัทที่อาจจะมีแนวโน้มเติบโตไปกับเทรนด์ในอนาคต เช่น บริษัทที่อยู่ในกลุ่มพลังงานสะอาด กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า ล้วนเป็นกลุ่มที่อยู่ในเทรนด์ ESG ที่กำลังมาแรง และสุดท้ายคือ การมีส่วนร่วมทางอ้อมที่ช่วยให้โลกของเราดีขึ้นอีกด้วย ดังนั้น ปัจจัย ESG จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดี สำหรับนำมาพิจารณาประกอบการตัดสินใจลงทุน

อย่างไรก็ตาม ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาสิทธิประโยชน์ทางภาษีในคู่มือการลงทุนก่อนตัดสินใจลงทุน ซึ่งกองทุน Thai ESG เป็นกองทุนที่ส่งเสริมการออมระยะยาว และสนับสนุนการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย ผู้ถือหน่วยลงทุนจะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี หากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการลงทุน และจะต้องคืนสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เคยได้รับมาภายในกำหนดเวลา มิฉะนั้นจะต้องชำระเงินเพิ่มและ/หรือเบี้ยปรับตามประมวลรัษฎากร



อ้างอิง

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=740012921489471&set=a.620328536791244&type=3&locale=th_TH&paipv=0&eav=AfY_ObD8aAeo_TWKRav31fgD55oCjKyBaTXXeENLCRwNEhFq_vDQl1Uygg_p5_GaoOE&_rdr

https://www.bangkokbank.com/th-TH/Personal/Save-And-Invest/Mutual-Funds/Thai-ESG-Funds/B-TOP-THAIESG

https://www.bangkokbiznews.com/corporate-moves/finance/investment/1100554

https://www.finnomena.com/finnomenafunds/what-is-tesg/

https://www.finnomena.com/finnomenafunds/buy-thaiesg-kept/

https://www.thaipost.net/economy-news/484676/




Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘ทำ Carbon Footprint ในโลกยุคเดือด’ ขั้นตอนสำคัญที่ SME ต้องเร่งเตรียมความพร้อม รับมือพ.ร.บ. ลดโลกร้อน ขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality

‘ทำ Carbon Footprint ในโลกยุคเดือด’ ขั้นตอนสำคัญที่ SME ต้องเร่งเตรียมความพร้อม รับมือพ.ร.บ. ลดโลกร้อน ขับเคลื่อนสู่ Carbon Neutrality

สมาคมนิสิตเก่ามหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับบริษัท วีกรีน เคยู จำกัด จัดอบรมในหัวข้อเรื่อง “มารู้จัก Carbon Footprint…
pin
3 | 09/10/2024
SME ใช้เทคโนโลยี AI ลด ‘ก๊าซเรือนกระจก’ เพิ่มโอกาสสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างไร?

SME ใช้เทคโนโลยี AI ลด ‘ก๊าซเรือนกระจก’ เพิ่มโอกาสสู่เป้าหมาย Net Zero ได้อย่างไร?

การปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่งผลกระทบที่สำคัญต่อสภาพภูมิอากาศ จนเกิดภาวะปัญหาโลกร้อน และ Climate Change ที่กำลังลุกลามไปทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยก็ได้รับผลกระทบนี้อย่างมาก…
pin
2 | 03/10/2024
6 ทักษะสีเขียว ที่ SME ควรเตรียมรองรับการปรับตัวสู่เทรนด์ ESG สร้างธุรกิจยั่งยืน มีอะไรบ้าง

6 ทักษะสีเขียว ที่ SME ควรเตรียมรองรับการปรับตัวสู่เทรนด์ ESG สร้างธุรกิจยั่งยืน มีอะไรบ้าง

ในยุคปัจจุบันที่ความยั่งยืนและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม มีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ‘ทักษะสีเขียว’ จึงถูกนำมาใช้ในธุรกิจหรือองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและการดำเนินธุรกิจที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น…
pin
19 | 16/09/2024
รู้จักกองทุนลดหย่อนภาษีใหม่ 'Thai ESG' ตัวช่วยภาคธุรกิจ ตอบโจทย์เทรนด์และกติกาโลกสายกรีน