ปี 2021 นี้ สะท้อนถึงความเปลี่ยนแปลงของโลกการค้าขายอย่างยิ่ง
พฤติกรรมการซื้อของผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปสู่แพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้นหลายเท่าตัว
ดังนั้นแล้วผู้ประกอบการต่างต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลง และพร้อมปรับตัวอย่างสร้างสรรค์
ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าหัวใจสำคัญของธุรกิจให้อยู่รอดยุคนี้ คือการเชื่อมต่อเทคโนโลยีเข้ากับสินค้าและบริการของตน
เพื่อที่เราจะได้สื่อสารและตอบโจทย์ผู้บริโภคยุค New Normal ให้ดีขึ้น
ดังนั้นเมื่อผู้คนหันมาใช้ชีวิตประจำวันบนโลกออนไลน์มากขึ้น ทั้งการช้อปปิ้ง สั่งอาหารส่งถึงบ้าน ทำงานแบบ work from home แล้ว เราต่างได้เห็นผู้ประกอบการสินค้าและบริการหลายแบรนด์ ปรับกลยุทธ์การตลาดการขาย โดยต้องสร้างความแปลกใหม่และใช้งานง่ายบนโลกออนไลน์ เพื่อจะได้ตอบโจทย์กับความต้องการลูกค้าที่เน้นความสะดวกสบาย กับการซื้อสินค้าผ่านทางเว็บไชต์หรือแอปพลิเคชันต่างๆ อย่างแพร่หลาย ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตก็เช่นเดียวกันที่เผชิญกับความท้าทายในช่วง COVID-19
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
รวมทั้งมีการนำเทคโนโลยี Virtual Reality (VR) ที่นำมาเป็นส่วนสำคัญในการทำธุรกิจ
อาทิ เป็นเทรนด์สำหรับการเลือกซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต (ต่างประเทศ) รวมทั้งร้านปลีกสินค้ารายอื่นๆ
อาทิ เฟอร์นิเจอร์ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องสำอาง เป็นต้น
ต่างหันมาลงทุนเทคโนโลยี VR กันมากมาย
เพื่อจัดแสดงผลิตภัณฑ์และบริการ
สำหรับการช้อปปิ้งอย่างทันสมัยและแตกต่างจากคู่แข่งรายอื่นๆ
หวังสร้างความพอใจต่อการจับจ่ายและให้ลูกค้าหันกลับมาใช้บริการอีกครั้ง
แต่ก่อนที่จะไปทำความรู้จักว่า
เทคโนโลยี VR ทำอะไรได้อีกบ้าง เราอยากยกตัวอย่างว่าปัจจุบันมีอุปกรณ์
VR ประเภทใดบ้างและมีการนำไปใช้ประโยชน์อย่างไร โดยแบ่งเป็น
4 ประเภทดังนี้
1. Mobile Base อุปกรณ์แว่น VR ที่ใช้กับสมาร์ทโฟน
ซึ่งเป็นระดับเริ่มต้นของผู้ใช้ VR ซึ่งมีราคาตั้งแต่หลักร้อยไปจนถึงหลักหลายพันบาท
นิยมนำมาใช้เล่นเกมหรือดูภาพยนตร์จากสมาร์ทโฟน
เนื่องจากเป็นอุปกรณ์ที่ผลิตมาเพื่อตอบสนองการใช้ VR ในสมาร์ทโฟนโดยเฉพาะ
2. PC Base อุปกรณ์ VR ที่รองรับการใช้งานกับคอมพิวเตอร์
PC แบบนี้มีความสมจริงมากกว่าแบบ Mobile Base ปัจจุบันมีธุรกิจหลากหลายประเภทใช้อุปกรณ์นี้ เช่น ร้านเกม หรือการทำสื่อเสมือนจริงในวงการต่างๆ
และแน่นอนว่ามีต้นทุนด้านอุปกรณ์ที่สูงกว่าแบบ Mobile Base
3. Stand Alone อุปกรณ์ VR ที่ไม่ต้องพึ่ง PC
หรือ โทรศัพท์เลยจะเป็นแว่น VR ที่เล่นได้ด้วยตัวมันเอง
4. Console Base คือแว่น VR ที่ใช้กับ Play
Station ซึ่งแน่นอนว่าใช้สำหรับเล่นเกมโดยเฉพาะ
VR กับการนำไปใช้ประโยชน์ในด้านธุรกิจ
ความก้าวหน้าของฮาร์ดแวร์และซอฟท์แวร์
เป็นที่ทราบกันดีว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของโลกหลายๆ บริษัท ได้แข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีเสมือนจริงเพื่อโอกาสทางธุรกิจ
จึงผลักดันให้เกิดอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่น Google ได้สร้างผลิตภัณฑ์ VR
จากกระดาษภายใต้ชื่อ Google Cardboard ที่สามารถใช้ร่วมกับ
สมาร์ทโฟนได้ ทำให้คนทั่วไปได้รู้จักและใช้เทคโนโลยี VR ในราคาประหยัด
และยังมีอีกหลายบริษัทที่พัฒนาอุปกรณ์เสริมต่างๆ
นอกจากนั้นยังมีการพัฒนาด้านซอฟท์แวร์อย่างต่อเนื่อง
ทั้งจากบริษัทและนักพัฒนาซอฟท์แวร์ทั่วโลก
ส่งผลให้จำนวนแอปพลิเคชันการใช้งานบนโลกเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี VR ผ่าน App
Store และ Play Store เติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ซึ่งจากข้อมูลในปี 2563 มีสิทธิบัตรด้าน VR ทั่วโลกเพิ่มขึ้นกว่า
1 หมื่นรายการ และจะเห็นได้ว่ามีธุรกิจจำเทคโนโลยีมาใช้กันมากมาย อาทิ
Swarovski นำ VR
มาใช้ในการแสดงภาพเสมือนจริงของไลน์สินค้าตกแต่งบ้าน ซึ่งหากพึงพอใจ
ผู้ใช้ก็สามารถสั่งซื้อสินค้าผ่านระบบจ่ายเงินออนไลน์
โดยผู้ใช้สามารถเริ่มต้นการใช้งานด้วยการเชื่อมต่อ VR headset เข้ากับโทรศัพท์มือถือ
แอปพลิเคชั่นจะขอให้ผู้ใช้ล็อคอินและใส่ข้อมูลบัญชีหลังจากนั้น VR จะนำผู้ใช้ไปสู่บ้านในโลกเสมือนในทันที
Toyota Research Institute (TRI) ใช้ VR มาช่วยเปลี่ยนวิธีการเทรนหุ่นยนต์ได้
โดยระบบการเทรนด้วย VR นั้นจะทำให้ผู้สอนที่เป็นคนนั้นสามารถมองเห็นได้ว่า
หุ่นยนต์มองเห็นอะไรบ้างในมุมมอง 3D จากเซ็นเซอร์ของหุ่นยนต์
โดยผู้สอนจะสามารถแนะนำหุ่นยนต์และอธิบายฉาก 3D ได้
McEwan
ซูเปอร์มาร์เก็ตในแคนาดา ใช้ VR เพื่อให้ลูกค้าสามารถเดินเลือกสินค้าตามชั้นวางผ่านมือถือหรือคอมพิวเตอร์ได้
เหมือนกับบรรยากาศเดินเลือกซื้อในซูเปอร์มาร์เก็ต ความพิเศษของเทคโนโลยีนี้จะให้ลูกค้าเดินเลือกสินค้าไปตามเส้นทางในห้าง
สามารถกดปุ่มแผนกหรือชั้นวางอาหารที่ต้องการ
แล้วระบบจะแสดงรายการสินค้าภายในพื้นที่ขายนั้นๆ ออกมา
พร้อมรายละเอียดราคาและข้อมูลสินค้านั้น เรียกว่าเป็นการช้อปปิ้งออนไลน์แบบ 3
มิติที่เกิดขึ้นจริงบนโลกที่หมุนเร็วนี้
ด้วยเหตุนี้จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี VR ถูกคิดค้นและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
และเข้ามามีบทบาทต่อการพัฒนาและสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงาน
ตลอดจนการศึกษาค้นคว้าทางด้านวิทยาศาสตร์มากมาย
โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านอุตสาหกรรมเกม การท่องเที่ยว การศึกษา ค้าปลีก อสังหาริมทรัพย์
และการแพทย์ ซึ่งมีข้อดีที่น่าสนใจ เช่น
1. สามารถลดความเสี่ยงของการฝึกปฏิบัติหรือการฝึกอบรมที่มีความเสี่ยงสูง
เช่น งานด้านอากาศยาน, การบิน, การแพทย์ การก่อสร้าง การคมนาคม เป็นต้น
2. สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้แก่ผู้เรียน
ทั้งในแง่การฝึกปฏิบัติภายใต้สถานการณ์ที่มีความสมจริง และการเรียนรู้ในลักษณะทฤษฎีเชิงสัมผัสได้
คือการสัมผัสวัตถุหรือสภาพแวดล้อมเสมือนจริงที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาในบทเรียน หรือในวงการอสังหาริมทรัพย์ใช้
VR ในการให้ดูห้องตัวอย่างที่มีความสมจริง
3. ลดระยะเวลาในการเดินทางไปยังสถานที่จริงซึ่งอาจอยู่ห่างไกล
ดังเช่นกรณีร้านค้าปลีกสามารถขายออนไลน์โดยใช้แว่นและแอปพลิเคชัน VR
4. สามารถจำลองวัตถุหรือโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมที่มีความสมจริงและแสดงภาพในมุมมองที่หลากหลาย
ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการออกแบบและกระบวนการต่างๆ
ในขณะที่ข้อเสียของ VR ในแง่ของเทคโนโลยี ยังไม่มีข้อมูลที่บ่งชี้ว่าจะเกิดโทษภัยในด้านใดเป็นพิเศษ
แต่ก็มีการตั้งข้อสังเกตว่า ด้วยการที่เป็นเทคโนโลยี ‘เสมือนจริง’ อาจส่งผลในด้านจิตวิทยาต่อผู้ใช้งาน ในกรณีที่มีการใช้งานเป็นเวลานาน
แต่สำหรับภาคธุรกิจแล้ว VR ที่มีส่วนช่วยให้เกิดความสมจริง
กลับเป็นโอกาสให้กับการนำเสนอความแปลกใหม่ให้กับลูกค้าได้อย่างน่าสนใจไม่น้อย
และที่สำคัญเทคโนโลยีนี้เริ่มมีการนำมาใช้แพร่หลายเพราะต้นทุนที่ต่ำลง
รวมทั้งราคาอุปกรณ์ก็เข้าถึงได้ในราคาแค่หลักร้อย ทำให้เป็นไปได้ว่าในไม่ช้า VR
จะเข้ามาปฏิวัติการค้า การบริการ และภาคอุตสาหกรรมทั่วโลก
แหล่งอ้างอิง :
https://www.canadiangrocer.com/
