กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ
กระทรวงพาณิชย์ ได้มอบให้สถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี)
ศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการฟื้นเจรจาความตกลง FTA ไทย-อียู เพื่อเสนอให้ระดับนโยบายพิจารณา ซึ่งผลการศึกษาพบว่ามีทั้งโอกาสและความท้าทายที่ต้องพิจารณา
และหารือผู้เกี่ยวข้องต่อไป
ผลการศึกษาประเมินว่า หากไทยและอียู (27 ประเทศ) ไม่รวมสหราชอาณาจักร ยกเลิกภาษีนำเข้าระหว่างกันหมดแล้ว จะช่วยให้ GDP ของไทยขยายตัวในระยะยาว 1.28% คิดเป็นมูลค่า 2.05 แสนล้านบาทต่อปี การส่งออกของไทยไปอียูเพิ่มขึ้น 2.83% (2.16 แสนล้านบาท) ต่อปี และการนำเข้าจากอียูเพิ่มขึ้น 2.81% (2.09 แสนล้านบาท) ต่อปี โดยสินค้าส่งออกของไทยที่มีโอกาสขยายตัวและเข้าถึงตลาดอียูได้ง่ายขึ้น เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เสื้อผ้าและสิ่งทอ ผลิตภัณฑ์อาหาร เคมีภัณฑ์ ยาง และพลาสติก เป็นต้น
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
นอกจากนี้การเปิดเสรีภาคบริการในสาขาสำคัญ
เช่น สิ่งแวดล้อม การจัดส่งสินค้า การเงินและประกันภัย การขนส่งทางทะเล
จะช่วยลดต้นทุนการผลิตของอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง และทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว 5% (8.01 แสนล้านบาท) ทั้งนี้จากการประเมินผลมิติด้านสังคมในภาพรวม
พบว่า เศรษฐกิจที่ดีขึ้นจะทำให้จำนวนคนจนลดลง 2.7 แสนคน
รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น 1.1% และช่องว่างความยากจนลดลง 0.07%
อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษายังพบประเด็นท้าทายสำคัญของ
FTA ที่อียูทำกับประเทศคู่ค้า เช่น เวียดนาม
และสิงคโปร์ โดยเฉพาะเรื่องการยกระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่เกี่ยวกับการขยายระยะเวลาการคุ้มครองสิทธิบัตรจากความล่าช้าในการขึ้นทะเบียนวางตลาดยา
การผูกขาดข้อมูลเพื่อขออนุมัติวางตลาดยา การให้ความคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ตามแนวทาง
UPOV 1991 และการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามแนวทางของแรงงานโลก (ILO)
ซึ่งจะส่งผลให้ไทยมีค่าใช้จ่ายด้านยารักษาโรค
และเมล็ดพันธุ์พืชสูงขึ้น
แต่ขณะเดียวกัน
ต้องนำค่าใช้จ่ายเหล่านี้ไปประเมินหักลบกับประโยชน์ที่จะเกิดกับรายได้ของเกษตรกร
ปริมาณผลผลิตภาคเกษตร และทางเลือกในการซื้อเมล็ดพันธุ์ที่เพิ่มขึ้น
สำหรับเรื่องการเปิดตลาดจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ
จะทำให้ภาครัฐได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพ และมีตัวเลือกมากขึ้น ราคาถูกลง
ถึงแม้ว่าธุรกิจภายในประเทศอาจต้องเผชิญการแข่งขันมากขึ้น แต่คาดว่าไม่กระทบต่อ SME มากนัก เนื่องจากโครงการที่ SME เข้าร่วมประมูลส่วนใหญ่มีมูลค่าต่ำกว่าเกณฑ์ที่ต้องเปิดให้มีการแข่งขันประมูล
นอกจากนี้ ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
จำนวน 1,036 ตัวอย่าง จากทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
โดยประชาชนส่วนใหญ่เห็นว่า
การนำเข้าสินค้าจากอียูจะทำให้ได้รับสินค้าที่มีคุณภาพสูงขึ้น และมีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
ผลักดันให้ธุรกิจไทยต้องปรับปรุงประสิทธิภาพในการแข่งขันให้ดีขึ้น
ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว
และเห็นว่าหากไม่เปิดเสรีการค้าจะทำให้เศรษฐกิจไทยล้าหลัง
ทั้งนี้ ในปี 2562 อียู (27 ประเทศ
ไม่นับสหราชอาณาจักร) เป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 5 ของไทย
รองจากอาเซียน จีน ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา มีมูลค่าการค้ารวม 38,227.9 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยไทยส่งออกไปอียูมูลค่า 19,735.9 ล้านเหรียญสหรัฐ
และนำเข้าจากอียูมูลค่า 18,492.1 ล้านเหรียญสหรัฐ
สินค้าส่งออกสำคัญของไทย เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ รถยนต์
อุปกรณ์และส่วนประกอบ อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ
ผลิตภัณฑ์ยาง ไก่แปรรูป เป็นต้น และสินค้านำเข้าสำคัญจากอียู เช่น
เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ เวชกรรมและเภสัชกรรม
และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลรายงานการศึกษาประโยชน์และผลกระทบจากการเจรจาความตกลงการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป สามารถดาวน์โหลดได้ที่เว็บไซต์กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ www.dtn.go.th