5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021

SME in Focus
21/01/2021
รับชมแล้วทั้งหมด 127284 คน
5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021
banner

ปี 2020 เป็นหนึ่งในปีที่เทคโนโลยีดิจิทัลมีอิทธิพลอย่างมากกับทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมทั่วโลก ทั้งกับการดำเนินชีวิตของผู้คนและแนวทางการดำเนินธุรกิจขององค์กร ที่มีการนำเทคโนโลยีไปปรับใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งในปี ค.ศ. 2021 เราก็จะได้เห็นนวัตกรรมใหม่ๆ แห่งอนาคตกันอีก โดยจะมีเทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัลสำคัญ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการดำเนินธุรกิจ ทั้งส่งผลต่อภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมของทั้งประเทศไทยและต่างประเทศ ในที่นี้จึงได้หยิบยก 5 เทคโนโลยีดิจิทัลกระแสแรงที่ผู้ประกอบการยุคใหม่ต้องให้ความสำคัญ มีอะไรบ้างมาดูกันเลย

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 

1. Artificial Intelligence (AI)

เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence หรือระบบสมองจักรกลอัจฉริยะ) เป็นเทคโนโลยีใหม่ที่มี ความสามารถหลากหลายและถูกพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้นทุกปี ทำให้มีการคาดการณ์ว่า AI จะเข้ามามีบทบาทและเปลี่ยนแปลงสังคม และเศรษฐกิจอย่างมากในโลกอนาคต ซึ่งหลายประเทศต้องการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนเอง เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำในเทคโนโลยีดังกล่าว

โดยประเทศใดที่สามารถพัฒนาเทคโนโลยี AI ให้ก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว และสามารถประยุกต์ใช้ในบริบทที่หลากหลาย ย่อมสร้างความได้เปรียบในหลายมิติทั้งด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยสามารถช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมทั้งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ลดต้นทุน ตลอดจนเพิ่มศักยภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ดีข้อกังวลสำคัญของเทคโนโลยี AI ที่ไม่อาจมองข้าม คือผลกระทบต่อตลาดแรงงาน หากธุรกิจและอุตสาหกรรมมีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ทำงานแทนมนุษย์มากขึ้น ก็จะส่งผลให้แรงงานถูกลดบทบาทลง อย่างกรณีผลการสำรวจ Pew Research Center คาดว่าการนำหุ่นยนต์หรือระบบดิจิทัลมาใช้ จะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายเหลือเพียง 1 ใน 3 ของการจ้างพนักงาน โดยเฉพาะอุตสาหกรรม BPO ในอินเดียและฟิลิปปินส์ และเทคโนโลยีจะเข้ามาแทนที่พนักงานจำนวนมากภายใน ปี 2568 ดังนั้นจึงเป็นความท้าทายของรัฐบาลฟิลิปปินส์เช่นกันในการสร้างสมดุลระหว่างการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่ต้องการเป็น Hub ในอาเซียน กับการรักษาระดับการจ้างงานเพื่อไม่ให้กระทบตลาดแรงงานขนาดใหญ่ของประเทศ

สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยี AI เริ่มเข้ามามีบทบาทเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยเฉพาะระบบ Chatbot และ Robot Process Automation (RPA) ที่เป็นระบบงานที่องค์กรต่างๆ ในไทยนิยมนำมาใช้ ประกอบกับวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้ข้อจำกัดในการปฏิสัมพันธ์ของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงล็อกดาวน์ การใช้มาตรการรักษาระยะห่างทางสังคมเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ ทำให้ธุรกิจจำนวนมากต้องปรับตัว นำเทคโนโลยีและระบบอัตโนมัติมาช่วยในการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และคาดว่าเทคโนโลยี AI อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยให้ธุรกิจสามารถกลับมาฟื้นตัวในอนาคต ดังนั้นทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยจำเป็นต้องทำความเข้าใจและวางนโยบายที่เหมาะสม ในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการจัดเตรียมความพร้อมของบุคลากร รวมทั้งการพัฒนาแรงงานให้มีทักษะด้านเทคโนโลยีที่สูงขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในยุคอุตสาหกรรม 4.0 และโลกยุคหลัง COVID-19 ต่อไป



2. การใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับ

ปัจจุบันจีนเป็นประเทศหนึ่งที่มีการนำเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับอย่างแพร่หลายในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา การพัฒนาหุ่นยนต์ได้เข้ามาเติมเต็มความต้องการในอุตสาหกรรมการแพทย์เป็นอย่างมาก เพราะในช่วงการระบาดของไวรัส COVID-19 หุ่นยนต์ของบริษัท Keenon Robotics Co ได้ถูกใช้งานในโรงพยาบาลหลายแห่งในจีน เพื่อใช้ทำหน้าที่จัดส่งอาหาร ยา และสิ่งของไปยังแผนกที่ถูกแยกออกไป ซึ่งได้รับคำสั่งจากผู้ควบคุมเครื่องที่อยู่ห่างไกล เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด ลดโอกาสการติดเชื้อจากการสัมผัส และลดความจำเป็นในการใช้บุคลากร รวมถึงการใช้โดรนบินลาดตระเวนประชาชน และมีการเผยแพร่คลิปขณะลาดตระเวน โดยเตือนให้ประชาชนที่ไม่สวมหน้ากากให้กลับเข้าบ้านและล้างมือ พร้อมเตือนว่าการออกมานอกบ้านต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง พร้อมกันนั้นยังได้ใช้โดรนติดเครื่องกระจายเสียง เพื่อประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนดูแลรักษาตนเองเพื่อไม่ให้ป่วยอีกด้วย

สำหรับประเทศไทยเทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับ ก็นับว่ามีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น รวมทั้งมีการผลักดันภาคอุตสาหกรรมมีการร่วมมือเดินหน้าเรื่องนี้อย่างจริงจัง อาทิเช่น โครงการ 5G x UAV SANDBOX เป็นโครงการขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านอากาศยานไร้คนขับ หรือ โดรน เป็นการเปิดพื้นที่ให้ผู้สนใจทุกภาคส่วนได้ทดสอบนวัตกรรม เพื่อให้เกิดการพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ท่ามกลางความเพียบพร้อมด้านเทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘วังจันทร์วัลเลย์’ ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งของเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation) หรือ EECi โดยเปิดให้ภาคธุรกิจเข้าใช้พื้นที่ทั้งเอกชนไทยและต่างประเทศใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ อุตสาหกรรมแบตเตอรี่และยานยนต์สมัยใหม่, อุตสาหกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ, อุตสาหกรรมการบินและอวกาศ, อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์, อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงและเคมีชีวภาพ, อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ

ขณะเดียวกันนอกจากในระดับอุตสาหกรรม เทคโนโลยีการใช้หุ่นยนต์, โดรน, และยานยนต์ไร้คนขับ ยังเป็นกระแสของธุรกิจสตาร์ทอัพด้วยเช่นกัน อาทิ การพัฒนาโดรนในภาคเกษตร การใช้หุ่นยนต์ในงานด้านบริการ และความร่วมมือกับบริษัทสตาร์ทอัพต่างชาติในการพัฒนายานยนต์ไร้คนขับ เพื่อใช้ในกิจการที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานด้านกองทัพ งานเหมือง ซึ่งเทคโนโลยีในด้านนี้จะยิ่งทวีความสำคัญ และจะถูกนำมาใช้ในด้านธุรกิจมากยิ่งขึ้น จึงนับว่าเป็นอีกหนึ่งเทรนด์เทคโนโลยีกระแสแรงต่อเนื่อง 



3. Cloud Computing

ทุกวันนี้เราคุ้นเคยกับ Cloud ที่ใช้ในการทำงานเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นบริการ I Cloud, Dropbox, Google Drive หรือ Microsoft  One drive ซึ่งเหล่านี้คือบริการ Cloud ซึ่งเราใช้กันอย่างคุ้นเคย แต่อย่าเพิ่มคิดว่านั่นคือ Cloud Computing เนื่องจากมีความแตกต่างกัน เพราะ Cloud Computing เป็นบริการที่ให้เราใช้หรือเช่าใช้ระบบคอมพิวเตอร์หรือทรัพยากรด้านคอมพิวเตอร์ของผู้ให้บริการ โดยครอบคลุมทั้งฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการประมวลผล การจัดเก็บข้อมูล และระบบออนไลน์ต่างๆ ผ่านอินเตอร์เน็ต ซึ่งเราสามารถเลือกกำลังการประมวลผล เลือกจำนวนทรัพยากรได้ตามความต้องการในการใช้งาน และสามารถเข้าถึงข้อมูลบน Cloud จากที่ไหนก็ได้

ด้วยเหตุนี้ในช่วงวิกฤต COVID-19 ได้ทำให้เกิดการใช้งาน Cloud Computing มากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการ Work from home โดยในรายงาน Flexera 2020 State of the Cloud Report กว่า 59% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่าการใช้ Cloud ของพวกเขาสูงขึ้นกว่าที่เคยวางแผนเอาไว้ ตั้งแต่ก่อนที่ไวรัสจะแพร่ระบาด และท่ามกลางความไม่แน่นอนนี้ ที่ซึ่งพนักงานต้องทำงานจากที่บ้าน Cloud Computing ได้กลายเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินต่อไปได้เหมือนในอดีตที่ผ่านมา

ถึงแม้ว่าประโยชน์ของ Cloud จะเป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่มขยายได้ง่าย การเข้าถึงได้จากทุกอุปกรณ์ในทุกที่ทุกเวลา และการคิดค่าใช้จ่ายตามการใช้งานจริง แต่ก็ยังมีประเด็นที่ผู้บริหารต้องไม่ลืมและให้ความสำคัญ ได้แก่ การจัดการด้านความมั่นคงปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูล, ความซับซ้อนในการบริหารจัดการ, การต้องถูกผูกติดกับผู้ให้บริการรายใดรายหนึ่ง, ประสิทธิภาพ และความเร็วในการเข้าถึงระบบ

ซึ่งปัจจุบันองค์กรก็จะหันมาใช้โซลูชันการเข้ารหัสและปกป้องข้อมูลที่ล้ำสมัยมากขึ้น เพื่อให้ระบบ Cloud ขององค์กรปลอดภัยอยู่เสมอ แม้จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยภัยคุกคามอย่างในปัจจุบัน นอกจากนี้องค์กร ยังจะเปิดรับเทคโนโลยีเกิดใหม่อย่าง Edge พร้อมกับเริ่มนำเครื่องมืออัตโนมัติต่างๆ มาใช้เพื่อให้สามารถจัดการดูแลอีโคซิสเต็มของระบบ Cloud ที่สลับซับซ้อนให้ทำงานร่วมกันอย่างราบรื่นได้ง่ายยิ่งขึ้น

ด้วยเหตุนี้มีการคาดว่าธุรกิจ Cloud Computing จะมีส่วนแบ่งในซอฟต์แวร์ทั้งโลกอีก 50% และในอีก 10 ปี ส่วนแบ่งอาจไปถึง 90% เพราะคำว่า Cloud ไม่ใช่จำกัดเพียงบริการเก็บข้อมูล แต่เป็นธุรกิจซอฟต์แวร์ที่ใช้ Cloud เป็นฐานในการทำธุรกิจ การมาของ COVID-19 จะเร่งให้ธุรกิจโตขึ้นอย่างรวดเร็ว และจะไปได้ไกล

ที่สำคัญ Cloud Computing ไม่ได้เป็นเทคโนโลยีที่ไกล ทั้งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้กับธุรกิจในทุกระดับอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเพิ่มศักยภาพทั้งในด้านของความรวดเร็ว ความยืดหยุ่น และความปลอดภัย รวมไปถึงยังสามารถช่วยลดต้นทุนและประหยัดค่าใช้จ่ายไปได้มากอีกด้วย

 


4. เทคโนโลยี 5G & Internet of Things

มีการคาดการณ์ว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า จะมีสถานีฐานสำหรับการให้บริการ 5G ถึง 6.5 ล้านสถานีทั่วโลก รองรับการให้บริการผู้ใช้งานได้มากถึง 2,800 ล้านคน ครอบคลุมจำนวนประชากรโลกถึง 58% และเทรนด์สุดท้ายที่น่าจับตามองก็คือ Global Digital Governance เมื่อเครือข่าย 5G แพร่หลายมากขึ้น ผู้คนและองค์กรธุรกิจใช้งานเทคโนโลยีมากขึ้น จะส่งผลให้ปริมาณข้อมูลทั่วโลกที่เกิดขึ้นในแต่ละปีมีจำนวนสูงถึง 180 เซตตะไบต์ (หรือ 180,000 ล้านเทระไบต์)

ทั้งนี้ความเร็วอินเทอร์เน็ตระดับ 5G ได้รับการพัฒนาและใช้งานในหลายประเทศตั้งแต่ปี 2020 แล้ว ซึ่ง 5G คือการเชื่อมต่อแห่งอนาคต ที่อุปกรณ์ทุกชนิดสามารถเชื่อมกันโดยผ่านอินเทอร์เน็ตได้ เป็นส่วนที่มาคู่กันกับ Internet of Things (IoT) นั่นเอง

หลายปีมานี้เราได้ยินเรื่อง Internet of Things (IoT) จนถึงตอนนี้แทบจะเรียกว่าหลายอย่างกำลังจะเป็นจริง ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนได้ด้วยตัวเอง การใช้โดรนบินส่งของถึงบ้าน ทีวีอัจฉริยะ ผู้ช่วยส่วนบุคคลที่ไม่ใช่มนุษย์แต่เป็นปัญญาประดิษฐ์ และตู้เย็นที่สามารถสั่งซื้อนมมาเติมได้เอง

นั่นเพราะวันนี้เครือข่ายไร้สายแบบ 5G เกิดขึ้นจริงบนโลกแล้ว เป็นเพียงแค่เรื่องของเวลาเท่านั้น อนาคตอันใกล้นี้ IoT จะกลายเป็นสิ่งปกติในชีวิตประจำวันของคน เพราะ 5G ต่างจากเครือข่ายไร้สายแบบ 4G ที่ใช้งานอยู่ทุกวันนี้ โดยเครือข่ายไร้สาย 5G คาดว่าจะพร้อมเปิดใช้งานในช่วงปี 2563 มีช่วงแบนด์วิดท์กว้าง ตอบสนองรวดเร็ว แถมสื่อสารลื่นไหลไม่สะดุด ซึ่งจะทำให้เครือข่ายไร้สายนี้สามารถรับมือกับการไหลบ่าของข้อมูลที่มาจากอุปกรณ์บ้านๆ ธรรมดาๆ ที่เชื่อมต่อเข้าสู่ระบบออนไลน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากจะเชื่อมทุกอย่างผ่านอินเทอร์เน็ตได้แล้ว ยังมีความสามารถในการเชื่อมต่อที่รวดเร็วกว่าเดิมอีกด้วย เช่น ถ้าเราโหลดหนังคุณภาพสูงผ่าน 4G ต้องใช้เวลา 6 นาที แต่ 5G จะทำให้เราดาวน์โหลดหนังคุณภาพเดียวกันได้ภายใน 6 วินาทีเท่านั้น ! ซึ่งตอนนี้บริษัทชั้นนำของโลกหลายบริษัทได้ผลิตอุปกรณ์รองรับ 5G ออกมาแล้ว และในปี 2021 เทคโนโลยี 5G และ  IoT จะต้องถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในหลายๆ ประเทศทั่วโลก ทั้งในชีวิตประจำวันและการทำงานอย่างแน่นอน

 


5. Extended Reality (XR) – AR/VR/MR

Extended Realities (XR) หรือการสร้างโลกเสมือนแบบไร้ขีดจำกัด หมายถึงการรวมประสบการณ์ทางเทคโนโลยีโลกเสมือน อย่าง Augmented Reality (AR) ซึ่งหมายถึงการรวมสภาพแวดล้อมจริงกับภาพจำลองเสมือนจริงให้อยู่ในภาพเดียวกัน หรือ Virtual Reality (VR) ซึ่งหมายถึงการจำลองภาพให้อยู่ในโลกเสมือนจริง โดยตัดขาดจากบริบทสภาพแวดล้อมจริง และสุดท้าย Mixed Reality (MR) หรือเรียกว่าความจริงผสม ผสมผสานระหว่าง AR กับ VR เข้าด้วยกัน แสดงออกเป็นการจำลองภาพ 3 มิติคล้ายโฮโลแกรม แต่สามารถโต้ตอบหรือตอบสนองวัตถุเสมือนได้แบบเรียลไทม์ เหล่านี้จึงเป็นที่มาของ Extended Realities (XR) ซึ่งเป็นรวมของเทคโนโลยีโลกเสมือนทั้งหมดนี้มาใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานจริง เป็นตัวช่วยในการสร้างสรรค์ผลงานใหม่

AR และ VR สามารถนำไปดัดแปลงได้อย่างหลากหลาย เพื่อให้เข้ากับความต้องการในการใช้งาน โดยในโรงเรียนอาจจะมีการสร้างสื่อการสอนที่มีการตอบสนองได้ หรือการซื้อของออนไลน์ก็อาจจะมีการสร้างภาพ AR เพื่อเปรียบเทียบสินค้ากับความต้องการของผู้บริโภคได้ดีขึ้น อีกหนึ่งอุตสาหกรรมซึ่งจะได้รับประโยชน์อย่างมหาศาลจากเทคโนโลยีดังกล่าว ได้แก่ อุตสาหกรรมการแพทย์ โดยการใช้ VR จะช่วยให้แพทย์สามารถทำการศัลยกรรมทางไกล หรือวินิจฉัยอาการของผู้ป่วย โดยหลีกเลี่ยงการเข้าใกล้พื้นที่เสี่ยงได้

และที่น่าจับตาเป็นพิเศษสำหรับภาคธุรกิจ คือการมาของ VR มีมาหลายปีแล้ว แต่ก็ยังได้รับการพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง อาจจะเริ่มต้นจากเกมอย่างที่เรารู้กันดี แต่ตอนนี้มีการนำเทคโนโลยี VR มาใช้ในด้านอื่นมากยิ่งขึ้น ทั้งในการสร้างความรู้สึกมีส่วนร่วมกับแบรนด์และในด้านการขาย เช่น ร้านขายเครื่องสำอาง ก็นำเทคโนโลยี VR มาใช้ให้ลูกค้าได้สามารถลองสีลิปสติกได้โดยที่ไม่ต้องทา หรือการลองเสื้อผ้า และการท่องเที่ยวผ่าน VR ซึ่งมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมและได้รับการพัฒนาแบบก้าวกระโดดในยุค COVID-19 นี้อย่างแน่นอน



สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากสูตรคุณแม่ ต่อยอดไลน์สินค้า ‘ปั้น คำ หอม’ แบรนด์ขนมไทย เจาะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่-คนรักสุขภาพ

จากสูตรคุณแม่ ต่อยอดไลน์สินค้า ‘ปั้น คำ หอม’ แบรนด์ขนมไทย เจาะไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่-คนรักสุขภาพ

ขนมไทย เป็นหนึ่งในเอกลักษณ์แห่งภูมิปัญญา ที่สะท้อนถึงความประณีต พิถิพิถัน ผ่านกรรมวิธีตามวิถีไทย จนเกิดรสชาติอันเป็นที่ชื่นชอบทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ…
pin
180 | 15/03/2024
‘บ้านแดง’ โดยเมธาวลัย ศรแดง โปรเจคต์ปั้นทายาท สืบทอดธุรกิจร้านอาหารไทย ในตำนาน!

‘บ้านแดง’ โดยเมธาวลัย ศรแดง โปรเจคต์ปั้นทายาท สืบทอดธุรกิจร้านอาหารไทย ในตำนาน!

บ่มเพาะทายาทธุรกิจร้านอาหาร คุณจิระวุฒิ ทรัพย์คีรี เป็นทายาทรุ่นที่ 2 ของธุรกิจร้านอาหารไทย เมธาวลัย ศรแดง ที่มีประสบการณ์ด้านอาหาร ผ่านการเป็นลูกมือช่วยคุณแม่…
pin
252 | 12/03/2024
‘SMARTTERRA’ ตู้เลี้ยงต้นไม้สุดล้ำ ระบบนิเวศอัจฉริยะตอบโจทย์คนเมืองที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัด

‘SMARTTERRA’ ตู้เลี้ยงต้นไม้สุดล้ำ ระบบนิเวศอัจฉริยะตอบโจทย์คนเมืองที่อยู่อาศัยในพื้นที่จำกัด

โลกยุคใหม่ ที่กำลังก้าวสู่วิถี Urbanization หรือความเป็นเมือง เติบโตอย่างรวดเร็วเพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จนนำมาสู่การขยายตัวของเมือง…
pin
647 | 09/03/2024
5 เทรนด์เทคโนโลยีดิจิทัล กระแสแรงแห่งปี 2021