เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

ESG
20/02/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 3258 คน
เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?
banner
สำหรับหลาย ๆ  SME ที่เริ่มสร้างธุรกิจโดยเฉพาะ ‘สตาร์ทอัพ’ มีเสียงบอกกล่าวแนะนำกันอย่างต่อเนื่องว่า ‘สตาร์ทอัพ’ จะต้องทำ ESG เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้ ในขณะที่ผู้บริโภคก็ให้ความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งการทำธุรกิจจะไม่เน้นเรื่องผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ควบคู่ไปด้วย

เป้าหมายสำคัญ คือ จะทำ ESG อย่างไร? ให้ธุรกิจเดินหน้าสร้างผลกำไร ด้วยกำลังหรือทรัพยากรที่มีอย่างจำกัด บทความนี้ จะมาบอกแนวทางที่สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก และสามารถไปต่อได้อย่างยั่งยืนในยุคที่ ESG เติบโตอย่างก้าวกระโดด Bangkok Bank SME มีข้อมูลดี ๆ มาฝากกันในบทความนี้



แนวโน้มเทรนด์การลงทุน ESG ดีวันดีคืน

วันนี้เทรนด์การลงทุนระดับโลกเดินหน้าสู่แนวทาง ESG มากขึ้น ยกตัวอย่างตลาดหุ้น S&P 500 ของสหรัฐมีบริษัทสัดส่วนกว่า 90% แล้วที่มีการเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืน นอกจากนี้ยังมีการคาดการณ์จาก Global ESG Assets ด้วยว่า ยอดเงินลงทุนในเรื่อง ESG ทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้นถึง 53 ล้านล้านดอลลาร์ภายในปี 2025 นี้ด้วย

ขณะที่ข้อมูลของ Ernest & Young ผู้ตรวจสอบบัญชียักษ์ใหญ่ของโลก ยังเปิดเผยด้วยว่าเมื่อปีที่ผ่านมา มีนักลงทุนถึง 26% เลือกที่จะไม่ลงทุนกับผู้ประกอบการมีนโยบายด้าน ESG ไม่ชัดเจน นอกจากนี้ยังพบด้วยว่ามี Hedge Fund ที่ทำการสำรวจ 56% และ Venture Capital ถึง 20% ให้ความสำคัญกับการนำเกณฑ์ ESG มาประกอบการพิจารณาลงทุน อีกทั้งบริษัทที่มีการเปิดเผยรายงานด้านความยั่งยืนตั้งแต่ปี 2007-2021 เป็นต้นมา มีแนวโน้มให้ผลตอบแทนสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นเป็นสิ่งที่คนทำสตาร์ทอัพ ต้องศึกษา และเรียนรู้



ทำไม ‘สตาร์ทอัพ’ ต้องสนใจเรื่อง ESG?

การสร้างธุรกิจ สตาร์ทอัพ นอกจากโมเดลธุรกิจจะต้องมีแนวโน้มเติบโตได้ดีแล้ว ยังต้องพึ่งพาการดึงดูดนักลงทุน เรื่องการทำ ESG ของสตาร์ทอัพ จึงเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาเรื่อง ESG มีความสำคัญมากขึ้นสำหรับนักลงทุนบางกลุ่ม เพราะนักลงทุนจะเรียกขอข้อมูลอีกชุด ที่เรียกว่า Non-Financial Data หรือ Environmental Data, Social Data และ Governance Data เพื่อใช้พิจารณาว่า สตาร์ทอัพเหล่านั้น มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่าไหร่  และมีการจัดการอย่างไรกับ Supplier ของตน รวมถึงมีการสร้างขยะที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเกินความจำเป็นหรือไม่ เพราะข้อมูลเหล่านี้จะส่งผลกับแนวโน้มการเติบโตในโลกยุคปัจจุบันด้วยเช่นกัน ดังนั้นการพิจารณาการลงทุนจึงขึ้นอยู่กับว่า บริษัทมีข้อมูล ESG เปิดเผยออกมาหรือไม่นั่นเอง 



สถาบันทางการเงิน เดินหน้าสนับสนุนสตาร์ทอัพ ESG

การพัฒนาธุรกิจ SME และสตาร์ทอัพให้เติบโตอย่างยั่งยืนนั้น ยังต้องการการสนับสนุนอีกมาก โดยเฉพาะเรื่องเงินลงทุนจำนวนมากจากนักลงทุนทั่วไป, Venture Capital, ธนาคาร และสถาบันการเงิน ที่ในอนาคตจะเข้ามามีส่วนช่วยเหลือให้ธุรกิจสีเขียวเหล่านี้เติบโตได้เต็มศักยภาพ 

ยกตัวอย่าง ธนาคารกรุงเทพ ช่วยลูกค้าระดมทุนในฐานะผู้จัดการการจัดจำหน่ายตราสารหนี้สีเขียว หรือตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-linked Bond) ในตลาดทุนไทย  โดยในปี 2566 ตลาดทุุนไทยมีมูลค่าการออกตราสารหนี้้ด้าน ESG รวม 44,866 ล้านบาท ในจำนวนดังกล่าวเป็นมูลค่าธุุรกรรมที่ธนาคารกรุงเทพเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายถึง 28,366 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63 ของมููลค่าตราสารหนี้ด้าน ESG ทั้งหมดในตลาดทุนไทย เพื่อการพัฒนาโซลูชั่นสร้างผลกระทบเชิงบวกในมิติ ESG 

ทั้งนี้ การสนับสนุนการดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล (ESG) เป็นหัวใจสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมความยั่งยืนของธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยธนาคารกรุงเทพได้สนับสนุนในการปรับปรุงระบบการผลิตและกระบวนการทางธุรกิจ เพื่อให้ก้าวทันแนวโน้มด้าน ESG ซึ่งรวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพโดยรวมของกิจการ เพื่อประหยัดพลังงานและลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

โดยหากพิจารณาจากสถานการณ์โลกในปี 2566 ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่ายังมีปัจจัยสำคัญหลายอย่างที่กระทบกับระบบเศรษฐกิจไทย อาทิ การเปลี่ยนผ่านทางเทคโนโลยี การสะดุดของซัพพลายเชน เนื่องจากระดับน้ำในคลองปานามาลดต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ปัจจัยเหล่านี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยยะสำคัญต่อประเทศไทย รวมไปถึงภาคเศรษฐกิจ และภาคธุรกิจการเงินการธนาคาร 

ส่งผลให้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์เริ่มปฏิบัติตามมาตรฐานการดำเนินงานของสถาบันการเงินที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เริ่มจัดเก็บและรายงานข้อมูลสินเชื่อตาม Thailand Green Taxonomy และเริ่มรายงานข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ทั้งที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงานของธนาคารโดยตรงและที่เกิดจากการให้สินเชื่อและการลงทุนของธนาคาร (Financed Emission)

พร้อมทั้งข้อมูลการกำกับดูแลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการความเสี่ยงที่เกี่ยวข้อง และกลยุทธ์ในการส่งเสริมให้ลูกค้าปรับตัวรับความท้าทายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามคำแนะนำขององค์กรมาตรฐานการรายงานทางการเงินที่เกี่ยวกับสภาวะอากาศ (The Task Force on Climate-related Financial Disclosures – TCFD)



ในอนาคตข้างหน้า กฎเกณฑ์และมาตรการต่าง ๆ ด้าน ESG คือ สิ่งแวดล้อม สังคมและธรรมาภิบาล ทั้งภายในประเทศและในต่างประเทศ รวมถึงมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป จะยิ่งทวีความเข้มข้นขึ้น และจะมีส่วนกระตุ้นให้ธนาคารและลูกค้าของธนาคารต้องเร่งปรับตัวให้เร็วยิ่งขึ้น



ธนาคารพร้อมที่จะสนับสนุนลูกค้าที่ต้องการปรับการดำเนินธุรกิจให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ลดการใช้พลังงานฟอสซิลและเพิ่มการลงทุนในพลังงานหมุนเวียน เพื่อเพิ่มศักยภาพในการดำเนินธุรกิจ สามารถปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และมาตรการที่อาจเข้มงวดขึ้นในอนาคต พร้อมกับฉกฉวยโอกาสทางธุรกิจจากมาตรการด้านการค้าและการลงทุนของต่างประเทศที่นับวันจะยิ่งเอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจคาร์บอนต่ำมากขึ้นเรื่อย ๆ

จากมุมมองของภาคการธนาคาร อุตสาหกรรมพลังงานยังมีโอกาสอีกมากสำหรับการลงทุนเพื่อการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด เช่น ยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานหมุนเวียนและระบบเก็บกักพลังงาน อาคารสีเขียว เป็นต้น ในช่วงที่ผ่านมา ธนาคารได้สนับสนุนโครงการเหล่านี้ ทั้งโดยการให้สินเชื่อและการระดมทุนจากตลาดทุน 



สตาร์ทอัพ จะเริ่มต้นปรับตัวสู่ ESG ได้อย่างไร?

สิ่งแรกที่สตาร์ทอัพต้องทำ คือการศึกษาเรื่อง ESG อย่างจริงจัง โดยเริ่มต้นจากการเรียนรู้ก่อนว่ากิจกรรมของธุรกิจตน ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเท่าไหร่ เพื่อการรายงานผลอย่างเป็นรูปธรรม มีปัจจัยหรือผลกระทบจากมาตรฐานทั้งในและต่างประเทศอย่างไรบ้างจากกิจกรรมเหล่านั้น เพื่อตัดสินใจเลือกแนวทางที่เหมาะสมที่สุดในแต่ละช่วงเวลา และบางครั้งอาจต้องอาศัยความร่วมมือกับพันธมิตรตลอด Supply Chain ซึ่งแน่นอนว่าแต่ละแนวทางสามารถเปลี่ยนแปลงได้เพราะเทคโนโลยีไม่หยุดนิ่ง เช่นเดียวกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา

สำหรับสตาร์ทอัพที่ยังไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นหรือปรับใช้แนวคิด ESG อย่างไร อาจเริ่มจากศึกษาจากคนที่อยู่ใน Ecosystem เดียวกันว่าทำอะไรอยู่บ้าง เพื่อนำมาเป็นแนวทางในการปรับใช้กับธุรกิจของตัวเอง เช่น การดูแลสวัสดิการพนักงาน การเปิดรับทุกเพศสภาพ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม


แล้ว ESG จะเป็นโอกาสของ SME และสตาร์ทอัพ ได้อย่างไร

สำหรับสตาร์ทอัพที่มุ่งมั่นที่เดินตามแนวทาง ESG จะมีโอกาสมากขึ้นอย่างแน่นอน โดย McKinsey & Company บริษัทที่ปรึกษาระดับโลก เปิดเผยผ่านงานวิจัย ว่า การทำ ESG จะช่วยสร้างการเติบโตจากการเปิดตลาดใหม่ ๆ ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะในภูมิภาคยุโรปที่เน้นเรื่อง Sustainability นอกจากนี้ยังสามารถช่วย ลดต้นทุนการผลิต และป้องกันการโดนแบน หรือโดนลงโทษจากกฎหมายตามมาตรฐานของประเทศต่าง ๆ ที่เริ่มทยอยออกมามากขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้นี้

นอกจากนี้ ในแง่ของความยั่งยืนของธุรกิจ การหันมาใส่ใจ ESG อย่างจริงจัง จะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับสตาร์ทอัพ และแน่นอนที่สุดคือจะได้รับการสนับสนุนจากผู้บริโภค ที่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้นเช่นเดียวกับการดึงดูดเงินลงทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐ

ขณะที่โอกาสที่โดดเด่นของธุรกิจสตาร์ทอัพในเรื่อง ESG อีกอย่างหนึ่ง คือ การเข้าไปมีส่วนร่วมกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อช่วยในการดำเนินงานใน Scope 3 หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมที่อยู่เหนือการควบคุม เพราะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในส่วนนี้เป็นผลมาจากกิจกรรมจากสินทรัพย์ที่องค์กรไม่ได้เป็นเจ้าของหรือควบคุม แต่องค์กรมีผลกระทบทางอ้อม จึงเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ทอัพ ในการหันมาสนใจในเรื่องของ ESG โดยเฉพาะการนำเสนอเครื่องมือเพื่อตอบโจทย์เรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในScope 3 ของภาคธุรกิจต่าง ๆ นั่นเอง




ตัวอย่าง สตาร์ทอัพด้าน ESG ที่น่าสนใจในต่างประเทศ

จากข้อมูลกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพสีเขียว ที่รวบรวมโดยสถาบัน Thinktanks Borderstep Institut ปรากฏว่า 4 ใน 10 ของบริษัท Start Ups ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เป็นธุรกิจสีเขียว ซึ่งเป็นธุรกิจด้านพลังงานมากถึง 7 ใน 10 บริษัทเลยทีเดียว ซึ่งกลุ่มธุรกิจสีเขียวนี้มีเป้าหมายจะดำเนินธุรกิจในแบบ Green Economy ซึ่งสินค้าและบริการต่าง ๆ จะเน้นการใช้ทรัพยากรให้น้อยลงและผลิตจากพลังงานทางเลือก เพื่อให้เกิดการบริโภคที่ยั่งยืนมากที่สุด ยกตัวอย่างเช่น



บริษัท Greenlyte เป็นสตาร์ทอัพ ที่ผลิตเครื่องดูด CO2 โดยอาศัยหลักการดึง CO2 ออกจากอากาศ ทำงานในลักษณะคล้าย ๆ กับเครื่องดูดฝุ่น แล้วดึง CO2 จากอากาศผ่านกระบวนการทางเคมีที่ซับซ้อนเพื่อเปลี่ยนให้เป็นไฮโดรเจน ออกซิเจน และคาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์ต่อไป ซึ่งเทคโนโลยีนี้ เรียกว่า ‘Direct Air Capture’ ที่สามารถกรอง CO2 ออกจากอากาศได้ 
ล่าสุด Greenlyte ได้นักลงทุนชื่อดังเข้าลงทุนผ่านกองทุน Green Generation Fund เรียบร้อยแล้ว โดยระบุว่า ถ้าบริษัทสตาร์ทอัพ 1 รายสามารถกำจัด CO2 ในอากาศ ได้ 1 กิกะตัน เราต้องการสตาร์ทอัพ 52 บริษัท เข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาสภาพอากาศ โดยเขาวางแผนสร้างเครื่องจักรนำร่อง ที่กำจัด CO2 จากอากาศได้ถึง 100 ตันต่อปี



บริษัท Biokohle Ladbergen เป็นสตาร์ทอัพผลิตถ่านหินสีเขียว ที่ได้จากของเสีย ขยะจากพืช ไม้ เศษผัก เศษอาหาร และกากตะกอนน้ำเสีย มาทำการอัดใน Autoclave ซึ่งเป็นตู้อบแรงดันสูงพร้อมความร้อนชนิดหนึ่ง จนกลายเป็นถ่านหินที่สามารถนำไปเผาไหม้เหมือนกับถ่านหินปกติ ข้อดีของกระบวนการดังกล่าว คือ แรงดันที่สูงถึง 16 bar และความร้อนกว่า 200 องศาเซลเซียส ทำให้ใช้เวลาเพียง 12 ชั่วโมง ก็สามารถผลิตถ่านหินขึ้นมาได้ ซึ่งในธรรมชาติการผลิตถ่านหินต้องใช้เวลานานถึงหลายล้านปี 



หนึ่งในผู้บริหารของบริษัทฯ ระบุว่า ในการผลิตถ่านชีวภาพจำนวน 700 กิโลกรัม เราต้องใช้มวลชีวภาพประมาณ 1 ตัน โดยในการเผานี้สร้าง CO2 เท่ากับที่พวกพืชได้สะสมตามธรรมชาติเท่านั้น นั้นหมายความว่า หากปล่อยให้พืชผักเหล่านี้ย่อยสลายตามธรรมชาติแทนที่จะนำมาผลิตเป็นถ่านหินชีวภาพดังกล่าว จะสร้าง CO2 เท่ากัน 

ทั้งนี้ Biokohle Ladbergen ได้เศษพืชจากผู้ผลิตสินค้าบริโภค ไม้ที่ใช้เป็นไม้ที่ถูกแมลงทำลายไม่สามารถนำมาใช้งานได้ ปัจจุบันบริษัทฯ มีเครื่องจักรนำร่อง 2 เครื่อง สามารถผลิตถ่านชีวภาพได้มากถึง 50 ตันต่อสัปดาห์  โดยลูกค้ารายใหญ่ในเวลานี้ คือกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก อย่างเช่น ผู้ผลิตเหล็กกล้าที่ต้องการผลิตเหล็กที่มีค่า CO2 แบบเป็นกลาง เป็นต้น



ตัวอย่าง สตาร์ทอัพด้าน ESG ในไทย ที่น่าสนใจ

สำหรับ สตาร์ทอัพในไทย มีบางส่วนเริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้ว โดยกลุ่มที่เป็น ESG Startup เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนมากขึ้น ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 3 บริษัทสตาร์ทอัพไทยที่มีความโดดเด่นที่แตกต่างกัน ได้แก่ Hillkoff ผู้สร้างความยั่งยืนของชุมชน ส่วน Moreloop และ Earthology Studio ที่มุ่งเน้นแก้ปัญหาขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่น






 ‘Hillkoff’ สตาร์ทอัพกาแฟรักษ์ป่า กับ Sustainable Business Model ที่รับซื้อผลกาแฟสดเพื่อนำกาแฟมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  มานานกว่า  40 ปี   แต่ละปีมีการรับซื้อมากกว่า  400  ตันต่อปี  หรือกว่า 10 ตันต่อวัน ทำให้แต่ละวันมีขยะจากเปลือกผลกาแฟเป็นจำนวนมากจากกระบวนการผลิต จึงเกิดแนวความคิดที่จะกำจัดขยะเหล่านี้ด้วยการนำมาต่อยอดแปรรูปเป็นเครื่องดื่มจากผลกาแฟเชอรี่สกัดเข้มข้น แบรนด์ ‘คอฟโฟจินิคดริ๊งค์’ (Coffogenic Drink) ซึ่งเปลือกเชอร์รี่สด 300 ตัน เมื่อนำมาอบแห้งสามารถนำมาแปรรูปสกัดเป็นคอฟโฟจินิคดริ้ง ขนาด 60 มล. ได้ 12,000 ขวด จำหน่ายในราคาขวดละ 59 บาท สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้ถึงปีละ 700,000 บาทเลยทีเดียว




‘Moreloop’ สตาร์ทอัพไทย ด้านนวัตกรรม (Innovation Technology) ที่ช่วยแก้ปัญหาขยะจากอุตสาหกรรมแฟชั่น ที่มาไวไปไว หรือที่เรียกว่า Fast Fashion ด้วยการนำผ้าค้างสต็อกมาใช้ประโยชน์ เพื่อลดการทิ้งผ้าส่วนเกินที่เหลือจากการผลิต ด้วยการนำไปขายให้แก่นักออกแบบเสื้อผ้าแฟชั่นหรือ SME เพื่อนำพัฒนาเป็นสินค้าต่อไป

โดย ‘Moreloop’ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวน 317,001 กิโลกรัม จากการแปลงสภาพผ้า 60,000 หลา ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ 180,000 ชิ้น นอกจากนี้ร้อยละ 70 ของผู้บริหาร Moreloop เป็นผู้หญิง ซึ่งทำธุรกิจร่วมกับบริษัทคู่ค้าที่ส่วนใหญ่มีผู้หญิงเป็นผู้บริหาร กล่าวได้ว่า Moreloop เป็นธุรกิจที่ส่งเสริมศักยภาพของสตรี และเป็นเทรนด์กระแสแรงอยู่ในปัจจุบันนี้




อีกหนึ่งตัวอย่าง คือ ‘Earthology Studio’ แบรนด์แฟชั่น  สตาร์ทอัพแบรนด์แฟชั่นสัญชาติไทย ที่ตั้งใจผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า และหมวกดีไซน์ แต่ที่เท่ไปกว่านั้นคือวัสดุทั้งหมดที่ถักทอผลิตภัณฑ์แต่ละชิ้นขึ้นมา ล้วนทำจากเส้นใยรีไซเคิล ตั้งแต่ขวดน้ำพลาสติก 100% ไปจนถึงของเหลือทิ้งทางการเกษตร อธิบายให้เห็นภาพคือพวกเขาชุบชีวิตสิ่งที่กำลังจะกลายเป็นขยะมลพิษ ให้กลับมามีชีวิตใหม่ในรูปแบบผลิตภัณฑ์แฟชั่นนั่นเอง


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า นี่คือโอกาสของ SME และสตาร์ทอัพ ในการขยายตลาดและเติบโต และสามารถระดมทุนได้อย่างต่อเนื่อง เพราะนี่คือรูปแบบของสตาร์ทอัพ โมเดลธุรกิจที่จะเติบโตได้อย่างรวดเร็ว และตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างตรงจุด หรือกระทั่งการสร้างสิ่งใหม่ หรือความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นในสังคมอย่างยั่งยืน

อ้างอิง
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ - DITP



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
139 | 18/03/2024
ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล…
pin
4733 | 29/02/2024
เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

สำหรับหลาย ๆ  SME ที่เริ่มสร้างธุรกิจโดยเฉพาะ ‘สตาร์ทอัพ’ มีเสียงบอกกล่าวแนะนำกันอย่างต่อเนื่องว่า ‘สตาร์ทอัพ’ จะต้องทำ ESG เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้…
pin
3259 | 20/02/2024
เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?