ศึกษาสิงคโปร์พัฒนาทักษะ Gig Economy Workers สตาร์ทอัพมองเห็นเป็นโอกาสสร้างแรงงานดิจิทัลสัญชาติไทย

SME Startup
31/10/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1577 คน
ศึกษาสิงคโปร์พัฒนาทักษะ Gig Economy Workers สตาร์ทอัพมองเห็นเป็นโอกาสสร้างแรงงานดิจิทัลสัญชาติไทย
banner
โอกาสสำหรับสตาร์ทอัพไทย! Bangkok Bank SME ชวนศึกษา Forward Singapore Roadmap แผนงานเชิงวิสัยทัศน์ประเทศสิงคโปร์เพื่อพัฒนาผู้ประกอบอาชีพอิสระ (Gig  Workers) เพื่อที่ Start Up บ้านเราซึ่งกำลังพัฒนาเทคโนโลยี อินโนเวชันต่างๆ อาจเบนธุรกิจมาสร้างรายได้โดยการพัฒนาบุคลากรในประเทศ ร่วมมือกับภาครัฐ - เอกชน ในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่แรงงาน Gig Economy Workers ผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ประสบความสำเร็จในการระดับขีดความสามารถและศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก



สิ่งที่ทำให้ Gig Economy กลายมาเป็นเทรนด์ใหม่ ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนในยุคใหม่ได้เป็นอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันคนส่วนใหญ่ต้องการความยืดหยุ่น และความเป็นอิสระจากการทำงานมากขึ้น บางคนต้องการทำงานที่หลากหลาย

เพราะไม่อยากยึดติดกับการทำงานแบบนั่งโต๊ะ จึงทำให้หลายคนหันมาสนใจการทำงานแบบนี้กันมากขึ้น และการทำงานแบบ Gig เป็นเหมือน แนวคิดเศรษฐกิจแบ่งปัน (Sharing Economy) นั่นก็คือ การทำงานที่ใช้การแบ่งปัน และความร่วมมือมาทำให้เกิดประโยชน์ต่อทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็น ผู้สร้างแพลตฟอร์ม ผู้ใช้บริการ ผู้ให้บริการ ก็สามารถได้รับผลประโยชน์แบบ Win-Win ได้หมด

สำหรับการเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบ Gig ภายในประเทศไทยก็กำลังเติบโตไปในเชิงบวกอย่างมากในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการเปิดตัวเว็บไซต์และแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรกับฟรีแลนซ์และพนักงานพาร์ทไทม์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพง่าย ๆ นั่นคือ ไรเดอร์ คนงานก่อสร้าง ลูกจ้างรายวัน กราฟิกฟรีแลนซ์ นักเขียนออนไลน์ เป็นต้น



ส่อง Forward Singapore Roadmap โมเดลพัฒนาทักษะ Gig Economy Workers

จากการประกาศวิสัยทัศน์ Forward Singapore ขับเคลื่อนประเทศสู่อนาคต คณะนักวิจัยจาก Institute of Policy Studies มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ได้ต่อยอดวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยวิจัยเรื่องความจำเป็นของการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่ผู้มีอาชีพอิสระ (Gig Economy Workers or Own-account Workers) โดย Forward Singapore Roadmap คือแผนงานเชิงวิสัยทัศน์ 1 ปี ที่รัฐบาลสิงคโปร์ และภาคส่วนต่าง ๆ จัดทำขึ้นเพื่อร่วมกันขับเคลื่อนประเทศ

โดยมีประเด็นที่สำคัญต่อการส่งเสริมคนชาติสิงคโปร์ที่ประกอบอาชีพอิสระ ได้แก่..

1. Empower คือ การเสริมสร้างพลังแก่ชาวสิงคโปร์ในด้านเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ

2. Equip คือ การจัดเตรียมความพร้อมด้านการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิตแก่ชาวสิงคโปร์

จากรายงานสถิติของกระทรวงแรงงานสิงคโปร์ (MOM) พบว่าจำนวนผู้ประกอบอาชีพอิสระในสิงคโปร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2561 จนถึงปัจจุบัน และคิดเป็นประมาณ 1 ใน 10 ของแรงงานในท้องถิ่น ทั้งนี้ สถานการณ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตราคาพลังงานและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ปลอดภัยและความเปราะบางของกลุ่มผู้ประกอบอาชีพอิสระ โดยเฉพาะพนักงานส่งของและพนักงานขับรถโดยสารส่วนบุคคล

อาทิ Grab (คิดเป็น 1 ใน 3 ของผู้ประกอบอาชีพอิสระในสิงคโปร์) ที่ต้องเผชิญกับการขาดความมั่นคงทั้งด้านกายภาพและด้านการเงิน โดยผู้ประกอบอาชีพอิสระแบบ Gig Economy เป็นตัวอย่างของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้คนหรือแรงงานในประเทศหรือเมืองที่มีเศรษฐกิจขั้นสูง สำหรับสิงคโปร์ ได้กำหนดแผน Research, Innovation and Enterprise (RIE 2025) เพื่อเป็นแผนแม่บทในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาขับเคลื่อนประเทศ เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2565

นาง Josephine Teo รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการสื่อสารและสารสนเทศ (MCI) สิงคโปร์ ได้กล่าวในงาน Business China ว่าสิงคโปร์ได้ลงทุนในแผน RIE ไปแล้ว 25,000 ล้านดอลลาร์สิงคโปร์ โดยในช่วงต่อไปจะเน้นด้าน 

1. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล โดยเฉพาะ Web 3.0 

2. การพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลแก่แรงงาน รวมถึงการผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล 

3. การวิจัยและพัฒนาด้านเศรษฐกิจและการเงินดิจิทัล

นอกจากกลุ่มคนทำงานอิสระแล้ว รัฐบาลสิงคโปร์วางแผนที่จะจ้างผู้ทุพพลภาพวัยทำงาน (Working-Age Persons With Disabilities - PWDs) ร้อยละ 40 ภายในปี 2573 (เพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 30 ในปี 2563 – 2564) แผนแม่บท Enabling Master Plan 2030 (EMP 2030) ยังกำหนดข้อริเริ่มสำหรับนายจ้างที่จะช่วยขับเคลื่อนประเทศไปสู่เป้าหมายดังกล่าวในอีก 8 ปีข้างหน้า เช่น ออกแบบรูปแบบการจ้างงานทางเลือกสำหรับผู้ทุพพลภาพ เช่น งานขนาดเล็กหรืองานชั่วคราวที่สามารถช่วยกระจายงานให้ผู้คนในวงกว้างมากขึ้น โดยมีเป้าหมายอัตราการจ้างงานที่ร้อยละ 40 หรือการจ้างงาน PWDs ประมาณ 10,000 ราย



ทักษะที่จำเป็นสำหรับ Gig Economy

Gig Economy เป็นรูปแบบของอุตสาหกรรมเกิดใหม่ที่พบได้ทั่วโลก ซึ่งก่อให้เกิดอุปสงค์ต่อแรงงานในกลุ่มอาชีพอิสระมากขึ้น โดยดัชนี The Online Labour Index ของมหาวิทยาลัย Oxford ชี้ให้เห็นถึงความต้องการ Gig Workers ที่มีทักษะสูงในด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยี การสร้างสรรค์และมัลติมีเดีย การป้อนข้อมูลและธุรการ การเขียนและการแปล การสนับสนุนการขายและการตลาด และบริการระดับมืออาชีพ เช่น บริการทางการเงิน

ปัจจุบัน แม้ว่าภาคการพัฒนาซอฟต์แวร์และเทคโนโลยีจะเป็นกลุ่มที่มีส่วนแบ่งมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 35 อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด19 ความต้องการแรงงานด้านธุรการและการป้อนข้อมูล ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 19 มีจำนวนสูงขึ้น และสูงกว่างานอิสระในด้านอื่นๆ เนื่องจากนายจ้างสามารถว่าจ้างคนงานให้ทำงานจากที่ใดก็ได้ ในอัตราค่าจ้างที่แข่งขันได้ทั่วโลก

ทั้งนี้ การเติบโตของงานอิสระหรืองานชั่วคราวในสิงคโปร์ สอดคล้องกับกระแสการเติบโตของงานอิสระทั่วโลก ซึ่ง NUS วิเคราะห์ว่า ผู้ประกอบอาชีพอิสระในทุกระดับจำเป็นต้องพัฒนาทักษะที่สำคัญ โดยเฉพาะทักษะด้านดิจิทัล เพื่อยกระดับขีดความสามารถ และศักยภาพในการแข่งขันทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับโลก



แนวทางสตาร์ทอัพไทย ในการพัฒนาทักษะทางด้านดิจิทัลสำหรับ Gig Economy

ปัจจุบันกลุ่มคนทำงานอิสระในเมืองไทยจำเป็นต้องมีความเชี่ยวชาญด้านเทคนิค เช่น การออกแบบดิจิทัล ควบคู่ไปกับการปรับปรุงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานอิสระ (Gig Literacies) เช่น 

1. ทักษะในการสร้างบัญชีประวัติบุคคล โดยเน้นด้านอาชีพและประสบการณ์ทำงานออนไลน์บนเว็บไซต์ LinkedIn หรือเครือข่ายโซเชียลมีเดียอื่นๆ 

2. การรักษาสมดุลชีวิตและการทำงาน โดยใช้เครื่องมือเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานดิจิทัล 

3. การจัดการความสัมพันธ์กับนายจ้างและเพื่อนร่วมงาน ทั้งในแบบออนไลน์และออฟไลน์

การเพิ่มขีดความสามารถในการจ้างงานสำหรับกลุ่มคนทำงานอิสระควรเป็นไปใน 3 ระดับ คือ

1. ทักษะขั้นพื้นฐาน ทักษะดิจิทัลขั้นพื้นฐานและทักษะตามบริบทโดยเน้นที่งานง่าย ๆ ที่นำเครื่องมือดิจิทัลมาประยุกต์ใช้ เช่น การใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ดิจิทัลขั้นพื้นฐาน รวมถึงทักษะการสื่อสาร

2. ทักษะระดับกลาง ทักษะการใช้เครื่องมือขั้นสูงเพื่อทำงานที่ซับซ้อนขึ้น เช่น การวาดภาพดิจิทัลและการสร้างเนื้อหาดิจิทัล รวมทั้งทักษะที่เกี่ยวข้องกับการหางานหรือตอบรับงานบนแพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น Grab และ Upwork

3. ทักษะเฉพาะ คือ ทักษะขั้นสูงที่ต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้านใน 6 สาขาสำคัญ ได้แก่

1) ซอฟต์แวร์และการพัฒนา

2) ธุรกิจและการบริหาร

3) บริการระดับมืออาชีพ

4) วิทยาศาสตร์ และวิศวกรรม

5) การสร้างสรรค์และมัลติมีเดีย

และ 6) การขนส่งและจัดส่ง

ซึ่งจากผลการวิจัยของ NUS ในปัจจุบันพบว่า พื้นฐานการเขียนโปรแกรมและทักษะการประมวลผลแบบคลาวด์มีความสำคัญยิ่งขึ้นในเกือบทุกกลุ่มธุรกิจ

ทักษะเฉพาะต้องอาศัยความชำนาญเฉพาะด้าน คือโอกาสของสตาร์ทอัพซึ่งมีเทคโนโลยี หรืออินโนเวชันต่าง ๆ อาจเบนธุรกิจมาสร้างรายได้โดยการพัฒนาบุคลากรในประเทศ สู่การเป็นพาร์ทเนอร์กับภาครัฐหรือเอกชน ในการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลเฉพาะด้านให้กับ Gig  Workers ผลิตบุคลากรที่เชี่ยวชาญด้านดิจิทัล เช่นเป็นเทรนเนอร์สอนทักษะการใช้เครื่องมือทั้งพื้นฐาน - ขั้นสูง ทักษะเฉพาะด้าน ไปจนถึงทักษะสำคัญอื่น ๆ เช่น

1. ด้านการบริหาร/ธุรกิจ/การตลาด
2. ทักษะการพัฒนาตนเอง
3. ภาษา
4. การขายสินค้าออนไลน์
5 คอมพิวเตอร์และโปรแกรม

เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางสร้างรายได้ทำให้องค์กรเป็นที่รู้จัก ได้รับการยอมรับในระดับสากล ประสบความสำเร็จเติบโตอย่างมั่นคงในยุคพฤติกรรมการทำงานของผู้คนที่เปลี่ยนแปลงไป 

สำหรับภาคธุรกิจสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการและ SME ไทย รายใดสนใจเพิ่มความสามารถ หรืออยากร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลิตบุคลากรดิจิทัล สามารถติดต่อประสานงานเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์

อาทิเช่น นโยบาย “ดีพร้อมแคร์ : DIPROM CARE” กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ต้องการเพื่อยกระดับ SME ไทย

สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) ที่พร้อมให้คำปรึกษาด้านการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ด้านการสร้างนวัตกรรมหรือบริการด้านดิจิทัล และด้านการพัฒนาทักษะดิจิทัล

ศูนย์พัฒนาและรับรองทักษะดิจิทัลสากล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศรีราชา เปิดให้คำปรึกษาการพัฒนาทักษะความสามารถด้านดิจิทัลในองค์กร หรือกำลังคนด้านดิจิทัล และจัดอบรมฝึกทักษะด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้เข้ารับการอบรมพร้อมสำหรับการทดสอบสมรรถนะดิจิทัล รวมถึงการจัดสอบ และการออกใบรับรองตามมาตรฐาน ICDL

สถาบันพัฒนาและทดสอบทักษะด้านดิจิทัล องค์กรรับรองทักษะของคนทำงานว่ามีคุณภาพภายใต้การรับรองมาตรฐานเดียวก็คือ ICDL Standard โดย ICDL คือ มาตรฐานทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัลที่ได้รับการรับรองจากทั่วโลก มีการนำไปใช้อย่างกว้างขวางในกว่า 150 ประเทศ แปลเป็นภาษาต่าง ๆ 41 ภาษา

สำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้มีการจัดทำ “กรอบสมรรถนะด้านดิจิทัลสำหรับพลเมืองไทย” เพื่อกำหนดทิศทางการดำเนินงาน กิจกรรม หรือโครงการให้เกิดการบูรณาการเชื่อมโยงข้าม หน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน การจัดเก็บข้อมูลฐาน (Baseline) ด้านการเข้าใจดิจิทัล ของประเทศ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนและกำหนดทิศทางในการพัฒนาความรู้ ทักษะ และคุณลักษณะทางด้านดิจิทัลแก่ประชาชนได้อย่างเหมาะสม การกำหนดมาตรการพัฒนาให้เกิดการเข้าใจดิจิทัลที่เหมาะสม และทั่วถึงสำหรับประชาชนไทยทุกกลุ่ม


แหล่งอ้างอิง : สถานเอกอัครราชทูต ณ สิงคโปร์, ประชาชาติธุรกิจ, สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) 
https://www.straitstimes.com/opinion/different-gigs-different-digital-skills 
https://www.straitstimes.com/singapore/singapore-aims-to-have-40-per-cent-of-working-age-persons-with-disabilities-employed-by-2030 
https://www.straitstimes.com/singapore/lawrence-wong-launches-forward-spore-to-set-out-roadmap-for-a-society-that-benefits-many-not-a-few 
https://www.businesstimes.com.sg/government-economy/forward-singapore-roadmap-to-engage-singaporeans-through-6-pillars-lawrence-wong 
https://globthailand.com/singapore-310822/ 
https://workpointtoday.com/gig-economy-freelance/ 
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_1Mar2022.aspx 
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20220601144751.pdf 
https://www.weforum.org/agenda/2021/05/what-gig-economy-workers/?fbclid=IwAR3ny-JKT00P-Bluv6uvNVzdyFZTRSd4j_tyMYUGdxu5S-NWlhZ-OtuUlzA 
https://api.dtn.go.th/files/v3/5cff75861ac9ee073b7bfb5c/download 
https://icdlthailand.org/icdl-for-asia/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2327 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4527 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2297 | 22/12/2022
ศึกษาสิงคโปร์พัฒนาทักษะ Gig Economy Workers สตาร์ทอัพมองเห็นเป็นโอกาสสร้างแรงงานดิจิทัลสัญชาติไทย