‘คาร์บอนเครดิต’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG อย่างยั่งยืน

ESG
13/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 6895 คน
‘คาร์บอนเครดิต’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG อย่างยั่งยืน
banner
ปัจจุบันโลกเรากำลังเผชิญกับวิกฤตภาวะโลกร้อน ที่เป็นผลมาจากก๊าซเรือนกระจก ส่งผลให้ธุรกิจหนีกระแสคาร์บอนต่ำไม่พ้น หนึ่งในวิธีที่ช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนฯ ที่ตัวเองปล่อยได้ คือการ ‘ซื้อขายคาร์บอนเครดิต’ เปลี่ยนปัญหาเป็นโอกาสสร้างธุรกิจสีเขียว แปลงคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดโลก อีกทั้งเป็นแต้มต่อในการดึงดูดลูกค้าและนักลงทุนที่ให้ความสำคัญด้าน  ESG  ตลอดจนเป็นการสร้างแรงจูงใจให้กับผู้พัฒนาโครงการ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการขายคาร์บอนเครดิต ต่อไป

ดังนั้น จึงต้องกลับมาดูหน่วยงานของเรา ว่าจะปรับตัวลดการปล่อยคาร์บอนได้อย่างไร แล้วใช้เป็นจุดขายในการสร้างขีดความสามารถการแข่งขัน รวมทั้งหากทำได้ดีจริงๆ จนมีส่วนเหลือทำเป็นคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำไปซื้อขายเป็นรายได้  ตลอดจนอาจเป็นโอกาสทางธุรกิจใหม่ เช่น การรับจ้างปลูกป่าเพื่อเอาคาร์บอนเครดิต ธุรกิจสีเขียวต่างๆ     

ปัจจุบันมีบริษัททั่วโลกตั้งเป้าหมาย Net Zero จำนวน 1,361 บริษัท โดยมีบริษัทไทยจำนวน 44 บริษัท ที่ดำเนินการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถดำเนินการได้หลากหลายวิธี เช่น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี ใช้พลังงานสะอาด การปลูกป่าหรือพัฒนาเทคโนโลยีดูดซับกักเก็บก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งการซื้อคาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจก



คาร์บอนเครดิตหาได้จากที่ไหนบ้าง? 

หลายคนตั้งคำถามว่า อุตสาหกรรมหรือ ธุรกิจต่าง ๆ เขาไปหาคาร์บอนเครดิตมาจากที่ไหน?  แล้วคาร์บอนเครดิตหาได้จากอะไรบ้าง?  เป็นคำถามสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจเข้ามาในธุรกิจนี้ ซึ่งกิจกรรมที่สามารถนำมาขายเครดิตใน T-VER ได้ เช่น การเพิ่มประสิทธิภาพพลังงาน, การพัฒนาพลังงานทดแทน, การจัดการของเสีย, การจัดการในภาคขนส่ง, การอนุรักษ์และฟื้นฟูป่า เป็นแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตที่สามารถนำมาขายเป็นคาร์บอนได้ทั้งสิ้น

ขอยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น คือ การปลูกต้นไม้เพื่อดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งหากสังเกตดี ๆ หลายอุตสาหกรรมเริ่มมีนโยบาย กิจกรรมอาสาต่าง ๆ ในการปลูกป่าหรือกิจกรรมรักษาสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้คือแหล่งกำเนิดคาร์บอนเครดิตที่จะสร้างรายได้ให้ธุรกิจได้

อีกหนึ่งตัวอย่างแหล่งผลิตคาร์บอนเครดิตที่มีประสิทธิภาพ คือ ป่าชายเลนที่สามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนได้มากกว่าป่าบกถึง 3 เท่า หรือประมาณ 800 ตันต่อไร่ต่อปี ซึ่งกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้ออกระเบียบการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจขึ้น เพื่อให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการขอรับพื้นที่ไปปลูกป่าชายเลนเพื่อดูดซับคาร์บอน และไปใช้เพื่อประโยชน์ทางคาร์บอนเครดิตของภาคธุรกิจ 

เป็นแผน 10 ปี ตั้งแต่ปี 2565 - 2575 โดยมีเป้าหมาย 3 แสนไร่ ในการจัดสรรพื้นที่ให้กับภาคธุรกิจในการเข้ามาร่วมปลูกป่าชายเลน เพื่อคาร์บอนเครดิตในการช่วยกิจกรรมการส่งออก ซึ่งในปีแรกนี้ มีการประกาศพื้นที่เป้าหมายพร้อมจัดสรรให้กับภาคเอกชน 4.4 หมื่นไร่ ปรากฏว่ามีเอกชนมาขอเข้าร่วม 17 บริษัท ซึ่งใน 17 ราย ที่ขอพื้นที่ปลูกป่า มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 5 แสนไร่

สำหรับหลักเกณฑ์การคัดเลือก จะพิจารณาจากความพร้อมของภาคธุรกิจ หากพร้อมดำเนินการทันที จะได้แต้มต่อมาก แต่มีบางบริษัทที่ขอที่ดินเข้ามา หากได้รับการจัดสรรก็จะดำเนินการใน 3 ปี อย่างนี้จะได้คะแนนน้อย หรือกรณีขอเพื่อจะขายคาร์บอนเครดิตจะได้คะแนนอยู่ท้าย ๆ แต่ถ้าเป็นธุรกิจที่ขอเข้ามาเพื่อไว้ปกป้องธุรกิจจากการปล่อยคาร์บอนก็จะได้คะแนนพิเศษ ซึ่งจะประกาศรายชื่อและพื้นที่ที่ได้การจัดสรรเร็วๆ นี้


 
อยากขายคาร์บอนเครดิตต้องทำอย่างไรบ้าง?

สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่สนใจขายคาร์บอนเครดิตต้องเป็นโครงการที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ผลิตพลังงานทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิง แปลงขยะเป็นพลังงานสะอาด พัฒนาประสิทธิภาพการคมนาคม, การจัดการของเสีย, การปลูกป่า อนุรักษ์และฟื้นฟูป่า ลดมลพิษสิ่งแวดล้อม อย่างนี้เป็นต้น 

ปัจจุบัน ผู้ที่ประสงค์จะขายคาร์บอนเครดิตสามารถลงทะเบียนคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ (T-VER Registry) ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.) ได้ ดังนี้

 1. เจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits แจ้งความประสงค์ในการขายคาร์บอนเครดิต จำนวนคาร์บอนเครดิต และคาร์บอนเครดิตจากโครงการใด ไปยังเจ้าหน้าที่ อบก.

2. อบก. พิจารณาความถูกต้อง 

3. อบก. จะดำเนินการโอน (Transfer) หรือหักล้าง (Cancel) คาร์บอนเครดิต ตามที่ได้รับแจ้งแก่ผู้ใช้งาน ภายใน 3วัน ทำการ หลังจากตรวจสอบข้อมูล/เอกสารเรียบร้อยแล้ว

4. อบก. จะส่งเอกสาร Transfer Notification/Cancellation Notification ไปยังอีเมลของเจ้าของบัญชี T-VER Credits หรือผู้ที่ได้รับมอบอำนาจจากเจ้าของบัญชี T-VER Credits ในการทำธุรกรรม





แล้วถ้าอยากซื้อคาร์บอนเครดิตต้องทำอย่างไร?

1. ยื่นทะเบียนการขอเปิดบัญชีกับ อบก. ในระบบ T-VER 

2. เลือกซื้อผ่านศูนย์ซื้อขายคาร์บอนเครดิต (Trading Platform) หรือ ซื้อในระบบทวิภาค (Over-the-counter: OTC) ซึ่งเป็นการตกลงกันระหว่างผู้ต้องการซื้อและผู้ขายโดยตรงไม่ผ่านตลาด

3. อบก. ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากบัญชีผู้ขายไปยังบัญชีผู้ซื้อ

4. ผู้ซื้อแจ้งความประสงค์ซื้อคาร์บอนเครดิต

5. อบก. ตรวจสอบ และบันทึกการใช้คาร์บอนเครดิต 

สำหรับผู้ที่ต้องการซื้อคาร์บอนเครดิต สามารถสอบถามไปยังเจ้าของคาร์บอนเครดิตได้โดยตรง ตามช่องทางติดต่อในเอกสารโครงการ



ผู้ประกอบการที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ จะนำคาร์บอนเครดิตไปชดเชยได้อย่างไร

สำหรับผู้ประกอบการที่ต้องการนำคาร์บอนเครดิตจากโครงการ T-VER ไปชดเชยการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ของธุรกิจตัวเอง สามารถเข้าร่วมโครงการ Thailand Carbon Offsetting Program (T-COP) โดย อบก. จะเป็นผู้ให้การรับรองกิจกรรมชดเชยคาร์บอน ทั้งในระดับองค์กร ผลิตภัณฑ์ งาน Event  หลังผ่านขั้นตอนและเงื่อนไขของ อบก. และการทวนสอบจากหน่วยงานทวนสอบอิสระ (Third-party Independent Verification Body: VB) ที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก. ซึ่งการรับรองนี้จะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบ คือ 1. การชดเชยบางส่วน (Carbon Offset) และ 2. การชดเชยทั้งหมด (Carbon Neutral)



คาร์บอนเครดิตจะซื้อขายได้ ต้องผ่านการรับรองจากใคร?

สำหรับคาร์บอนเครดิตในไทยที่จะสามารถซื้อขายได้นั้น ต้องผ่านการรับรองมาตรฐานจาก องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก. (TGO) ซึ่งเป็นผู้ให้การรับรอง และเป็นผู้ทำหน้าที่คุมระบบทะเบียนคาร์บอนเครดิต (Registry System) ภายใต้โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)

โดยผู้ประกอบการและ SME ที่สนใจสามารถยื่นข้อเสนอโครงการลดก๊าซเรือนกระจกเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER ต่อ อบก. และต้องผ่านการตรวจสอบความใช้ได้ และการทวนสอบจากผู้ประเมินภายนอก (Validation and Verification Body: VVB) ก่อนที่ อบก. จะรับรองปริมาณก๊าซเรือนกระจก หรือ คาร์บอนเครดิต ซึ่งจะเรียกว่า ‘เครดิต TVERs’ 

อย่างไรก็ตาม สำหรับเครดิต TVERs นั้น ยังไม่สามารถนำไปขายในระดับต่างประเทศได้ แต่ อบก.กำลังพัฒนาเครดิต TVERs ให้มีมาตรฐานเทียบเท่าระดับสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับในโครงการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกของนานาชาติ อย่างไรก็ดี ยังมีมาตรฐานหรือการรับรองอื่นๆ ในระดับสากล เช่น การรับรองจากโครงการกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Clean Development Mechanism: CDM) ภายใต้พิธีสารเกียวโต 

โดย อบก. ในฐานะหน่วยงานกลางประสานการดำเนินงานตามกลไกการพัฒนาที่สะอาด (Designated National Authority: DNA) ของประเทศไทย ทำหน้าที่ในการพิจารณาให้คำรับรอง ซึ่งโครงการที่ผ่านการรับรองจะได้รับคาร์บอนเครดิตที่เรียกว่า Certified Emission Reduction (CERs) เพื่อนำไปขายให้กับประเทศพันธมิตรได้ นอกจากนี้ยังมีองค์กรในต่างประเทศที่ได้พัฒนามาตรฐานการออกแบบโครงการ การดำเนินโครงการ การตรวจสอบ และทวนสอบข้อมูลสำหรับโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ อาทิ มาตรฐาน Verified Carbon Standard (VCS/VERRA) มาตรฐาน Gold Standard และมาตรฐาน Climate Action Reserve 

ตลาดภาคสมัครใจของไทย (T-VER) และระดับสากล (VERRA) ต่างกันอย่างไร?

มีการคาดการณ์จากสำนักวิจัยหลาย ๆ สำนัก อาทิ งานวิจัยของ McKinsey ที่ระบุว่า ตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตของโลกจะเติบโตสูงถึง 15 เท่าตัวในช่วง 10 ปีข้างหน้าและจะเติบโตถึง 100 เท่าตัวภายในปี 2593 โดยตลาดมี 2 รูปแบบ คือ

1. ภาคบังคับ หรือรู้จักในชื่อ Emission Trading Scheme (ETS)
2. ภาคสมัครใจ  

โดยผู้ประกอบการที่ต้องการลดก๊าซเรือนกระจกจะซื้อคาร์บอนเครดิตทดแทนการลดก๊าซเรือนกระจกด้วยตัวเอง ส่วนผู้ขายจะเป็นองค์กรอื่นที่ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกได้ตามมาตรฐาน เช่น Verified Carbon Standard (VCS/VERRA) และ Gold Standard ซึ่งเป็นมาตรฐานระดับโลก หรือมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER) 
    
ทั้งนี้ ราคาคาร์บอนเครดิตในแต่ละตลาดหรือแต่ละมาตรฐานจะมีความแตกต่างกัน ปัจจุบันราคาคาร์บอนเครดิตโลกอยู่ที่ประมาณ 25 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันคาร์บอนฯ ขณะที่ราคาคาร์บอนเครดิตไทยเฉลี่ยล่าสุดปี 2565 อยู่ที่ 107 บาท หรือประมาณ 3 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ตันคาร์บอนฯ

สำหรับตลาดคาร์บอนส่วนใหญ่มีการพัฒนาหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนมาจากโครงการ CDM แต่ข้อแตกต่างของตลาดภาคสมัครใจระดับสากล เช่น VERRA และตลาดภายในประเทศ เช่น T-VER ที่เป็นประเด็นสำคัญ คือ ความเข้มงวดของหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียน ซึ่ง VERRA scheme จะมีความเข้มงวดของการพิจารณาโครงการที่ขึ้นทะเบียนมากกว่า TVER scheme ปัจจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ราคาตลาดคาร์บอนใน VERRA สูงกว่า T-VER

นอกจากนี้ ความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ ไม่ได้สะท้อนแค่ราคาของคาร์บอนเครดิตที่มีแนวโน้มสูงกว่า แต่สะท้อนถึงคุณภาพของคาร์บอนเครดิตด้วย ว่าคาร์บอนเครดิตที่ได้มีแหล่งที่มาที่พิสูจน์ได้ชัดเจน มีการดำเนินงานที่โปร่งใส คุณภาพของคาร์บอนเครดิตที่ดี ทำให้คาร์บอนเครดิตของ VERRA Scheme ได้รับการยอมรับในระดับสากล และสามารถซื้อขายให้กับกลไกอื่น ๆ ได้ เช่น CORSIA (Carbon Offsetting and Reduction Scheme for International Aviation) หรือ กลไกชดเชยและการลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สำหรับการบินระหว่างประเทศ

หรือกล่าวได้ว่า CORSIA รับซื้อ คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการขึ้นทะเบียนใน VERRA Scheme ในขณะที่คาร์บอนเครดิตที่ขึ้นทะเบียนภายใต้ T-VER Scheme ไม่สามารถซื้อขายกับ CORSIA ได้ เนื่องจากประเด็นด้านคุณภาพ และความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ของ T-VER เอง

ปัจจุบัน อบก. เล็งเห็นถึงประเด็นด้านความเข้มงวดของหลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนภายใต้ โครงการ T-VER จึงได้มีการพัฒนาความเข้มงวดของหลักเกณฑ์ให้เทียบเท่าระดับสากล โดยมีการทำ MOU กับ VERRA และพัฒนา Premium T-VER scheme เพื่อให้คาร์บอนเครดิตที่ได้จากการขึ้นทะเบียนสามารถแลกเปลี่ยนในระดับสากลได้ ซึ่งมีการเปิดตัวไปเมื่อ วันที่ 4 ตุลาคมที่ผ่านมา และอยู่ในระหว่างการพัฒนา ด้วยความร่วมมือนี้จะเป็นการยกระดับคุณภาพของคาร์บอนเครดิตของโครงการในประเทศไทย

ทั้งนี้มีระยะเวลาการคิดคาร์บอนเครดิตของโครงการแต่ละประเภทจะต่างกัน โดยโครงการทั่วไปจะคิดเครดิตที่ 7 ปี และโครงการภาคป่าไม้จะมีการคิดคาร์บอนเครดิตที่ 10 ปี และสามารถต่ออายุได้

โดยจากข้อมูลของ World bank ในปี 2021 พบว่ามาตรฐานของ Verified Carbon Standard เป็นมาตรฐานที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจของโลก โดยครองส่วนแบ่งตลาดมากถึง 62 % ของปริมาณคาร์บอนเครดิตทั้งหมด โดยผู้ประกอบการที่สนใจจะพัฒนาโครงการตามมาตรฐานสากลเหล่านี้ สามารถติดต่อองค์กรมาตรฐานต่าง ๆ ได้โดยตรง



มีพื้นที่ปลูกต้นไม้จะขายคาร์บอนเครดิตได้อย่างไร?

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เปิดเผยว่า คาร์บอนเครดิต คือกลไกสำคัญใหม่ ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจสีเขียว ที่กำลังเพิ่มมูลค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนหรือภาคเอกชน เพียงแค่มีที่ดินปลูกต้นไม้ ก็สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้แล้ว โดยนำไม้มาคำนวณคาร์บอนเครดิต เพื่อขายในตลาดการค้าคาร์บอนเครดิต

ยกตัวอย่างเช่น  บริษัทหนึ่งจัดกิจกรรมปลูกต้นไม้ในพื้นที่หลายไร่ ลองคำนวณดูก่อนสัก 1 ไร่ เช่น 1 ไร่นี้มีต้นไม้กี่ต้นที่เป็นไม้ยืนต้น มีความสูงเท่าไหร่ กว้างเท่าไหร่ เส้นรอบวงเท่าไหร่ เป็นต้น แล้วส่งข้อมูลทั้งหมดนี้ให้กับ อบก.) คำนวณคาร์บอนเครดิตให้ รวมไปถึงขอใบรับรองด้วย ว่าเราได้คาร์บอนเครดิตจากไร่นี้เท่าไหร่ และเราจะขายได้เท่าไหร่ โดยมีใบรับรองจาก อบก.ว่าเราสามารถขายได้ เป็นต้น



จากข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. 65 ระบุว่ามีการจดทะเบียนนำต้นไม้มาเป็นหลักประกันทั้งสิ้น 146,282 ต้น เป็นจำนวนเงินค้ำประกัน 137,117,712  บาท โดยปัจจุบันประเทศไทยมีการซื้อขายคาร์บอนเครดิตแล้ว จากข้อมูลอัพเดตปี 2565 ซึ่งราคาคาร์บอนเครดิตได้ขยับตัวขึ้นสูงไปถึง 120 บาท/ตันคาร์บอนไดออกไซด์ และคาดว่าจะขยับตัวสูงขึ้นไปอีกเรื่อย ๆ หากมีพื้นที่ปลูกต้นไม้อยู่แล้ว ถ้าอยากขายคาร์บอนเครดิตก็สามารถขายได้ด้วยการปลูกต้นไม้ ซึ่ง อบก. มีเกณฑ์ไว้สำหรับผู้ขายดังนี้ 

1. ต้องมีพื้นที่ปลูกต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป 
2. ต้องมีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย 
3. ต้องมีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ 
4. ต้องมีเงินในการจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก 

หลังจากนั้นผู้ประเมินจะเข้าไปวัดขนาดความสูง ความกว้าง เส้นรอบวง ต่าง ๆ ของต้นไม้ และนำข้อมูลทั้งหมดให้ทาง อบก. เป็นผู้คำนวณ และออกใบรับรองปริมาณคาร์บอนเครดิตที่สามารถขายได้ในระบบ T-VER ของ อบก. https://ghgreduction.tgo.or.th/th/ 

นอกจากนี้ ยังมีการผลักดันเพิ่มแหล่งกักเก็บและดูดกลับก๊าซเรือนกระจก ด้วยการส่งเสริมการปลูกป่าธรรมชาติ (ไม้โตช้า) และปลูกป่าเศรษฐกิจ (ไม้โตเร็ว) ในพื้นที่ป่าจำนวน 6 แสนไร่ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดีว่า ขณะนี้มีภาคเอกชนแสดงเจตจำนงเพื่อขอเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมาก ทั้งในส่วนพื้นที่ป่าชายเลนและพื้นที่ป่าเสื่อมโทรม

โดยเงื่อนไขคือ ผู้ปลูกหรือภาคเอกชนจะได้คาร์บอนเครดิต 90 % และรัฐบาลจะได้คาร์บอนเครดิต 10 % ส่วนประชาชนในพื้นที่จะได้ประโยชน์จากการจ้างงานของภาคเอกชน เพื่อดูแลพื้นที่ป่า กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ อยู่ระหว่างผลักดันร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยน แปลงสภาพภูมิอากาศตามแผนการปฏิรูปประเทศเพื่อเพิ่มเติมบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตและกลไกการเงินที่จำเป็น การกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกรายสาขา คาดจะนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี ภายในสิ้นปี 2565 หรือ ต้นปี 2566

สะท้อนให้เห็นว่า กลไกตลาดซื้อขายคาร์บอนเครดิตจะเป็นอีกหนึ่งกลไกที่สำคัญของไทยที่จะช่วยลดก๊าซเรือนกระจกให้บรรลุเป้าหมายเร็วขึ้น จากเป้าหมายในการปล่อยคาร์บอนเป็น 0 ในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดเป็น 0 ในปี 2065  ดังนั้นภาครัฐต้องสนับสนุนและกระตุ้นให้องค์การก๊าซเรือนกระจก (อบก.) เข้มแข็งในการดำเนินการ ส่งเสริมการประเมินคาร์บอน และการซื้อขายคาร์บอนเครดิตให้เข้มแข็งยิ่งขึ้น


อ่านบทความที่เกี่ยวข้องกับ  ‘คาร์บอนเครดิต’ :





ที่มา

กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน

สถาบันการจัดการการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก(องค์การมหาชน)
https://ghgreduction.tgo.or.th/th/about-tver/ask-answer-tver/item/2101-2019-01-03-03-17-38.html
https://ghgreduction.tgo.or.th/th/tver-step/tver-carbon-trading-procedure.html
https://citly.me/4cVhw
https://gfms.gistda.or.th/node/127
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58551
https://www.thansettakij.com/business/trade-agriculture/542507
https://thaipublica.org/2022/09/baac-launching-tree-bank-application/
https://projects.dmcr.go.th/miniprojects/192/home
https://www.facebook.com/tgo.or.th/posts/492744069561570

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
398 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3629 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3353 | 18/03/2024
‘คาร์บอนเครดิต’ สร้างโอกาสเศรษฐกิจไทย โอกาสธุรกิจใหม่เปลี่ยนปัญหาเป็นรายได้ ลดมลพิษด้วยแนวคิด ESG อย่างยั่งยืน