ย้อนรอย APEC บทบาทของไทย และประโยชน์ที่ SME จะได้จากการเป็นเจ้าภาพ สู่การยอมรับบนเวทีโลก

SME Startup
15/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2543 คน
ย้อนรอย APEC บทบาทของไทย และประโยชน์ที่ SME จะได้จากการเป็นเจ้าภาพ สู่การยอมรับบนเวทีโลก
banner
นับถอยหลังอีกไม่กี่วัน ก็จะเข้าสู่การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC 2022 ที่ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 15 -19 พ.ย.นี้ ภายใต้แนวคิด “Open Connect Balance” สำหรับไฮไลท์สำคัญของเวทีประชุม ผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC คือ การประกาศเป้าหมายกรุงเทพ หรือ Bangkok Goals on BCG Economy

Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ  APEC (เอเปค) คือ กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2532 เพื่อส่งเสริมการเปิดเสรีด้านการค้า-การลงทุน รวมถึงความร่วมมือในด้านสังคม และการพัฒนาด้านอื่น ๆ 

ซึ่งในปัจจุบัน เอเปค มีสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ โดยไทยเป็นหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง นอกจากนี้ ยังมีประชากรรวมกว่าประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกัน เกินครึ่งหนึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก



APEC คือ ความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

ปี 2022 ที่ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นประธาน และเจ้าภาพการประชุมสุดยอดผู้นำ APEC และการประชุมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดทั้งปี มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของระบบเศรษฐกิจโลก ที่กล่าวเช่นนี้เพราะ APEC 2022 Thailand คือความร่วมมือของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก 

โดยประชากรทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจรวมกัน ครอบคลุมประชากรมากกว่า 3,000 ล้านคน หรือคิดเป็น 38 % ของประชากรของทั้งโลก และนี่คือกลุ่มประชากรที่มีความน่าสนใจมากที่สุด เพราะตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมา กำลังซื้อของประชากรกลุ่มนี้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง พิจารณาได้จากสัดส่วนของประชากรของ 21 เขตเศรษฐกิจที่ดำเนินชีวิตอยู่ใต้เส้นขีดความยากจนที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากที่มีสัดส่วนของคนจนสูงถึง 41.7 % ของประชากรในปี 1990 ปัจจุบันตัวเลขนี้ลดต่ำลง เหลือเพียง 1.8 % ของประชากรเอเปคเท่านั้น ที่ยังอยู่ในสถานะยากจน
     
APEC 2022 Thailand จึงเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีขนาดเศรษฐกิจรวมกันราว 2 ใน 3 ของมูลค่าผลผลิตมวลรวมของทั้งโลก หรือคิดเป็นตัวเงินกว่า 50 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ และมูลค่าการค้าระหว่าง 21 เขตเศรษฐกิจ เทียบเท่ากับครึ่งหนึ่งของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของทั้งโลก



บทบาทของไทยในฐานะเจ้าภาพประชุม APEC

ปีนี้ ประเทศไทยได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC ตลอดปี ทั้งระดับผู้นำ รัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ และภาคเอกชนจาก 21 เขตเศรษฐกิจ ท่ามกลางบรรยากาศการฟื้นตัวจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่มุ่งเน้นการขับเคลื่อนให้เอเปค เปลี่ยนผ่านไปสู่โลกยุคหลังโควิด 19 ที่ครอบคลุม สมดุล และความยั่งยืน (Sustainability) 

โดยมีแนวคิดหลัก คือ เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล (Open. Connect. Balance.) ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างสู่โอกาสด้านการค้า-การลงทุน ให้ทุกภาคส่วนในสังคม พร้อมทั้งส่งเสริมการรวมตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาค, การเชื่อมโยงในทุกมิติ เพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวก ปลอดภัย 



โดย 3 ประเด็นหลัก ที่ไทยในฐานะเจ้าภาพจะมุ่งผลักดัน ได้แก่ 

1) เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ (Open)
เปิดการค้าการลงทุนเสรี และการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิภาค ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของเอเปค ผ่านการขับเคลื่อนการเจรจาเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (Free Trade Area of Asia-Pacific: FTAAP) ที่ต้องสะดวก รวดเร็ว และทุกคนต่างได้รับประโยชน์อย่างครอบคลุม สร้างการลงทุนให้เปิดกว้างขึ้น พร้อมตั้งรับการปรับเปลี่ยนสู่การเจริญเติบโตที่สมดุล ยั่งยืน และครอบคลุม ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกภาคส่วน 



2) สร้างการเชื่อมโยงทุกมิติ (Connect)
ฟื้นฟูการเดินทางที่สะดวกและปลอดภัย ผ่านการจัดตั้งกลไกการประชุมคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่ออำนวยความสะดวกและรื้อฟื้นการเดินทางข้ามพรมแดนในภูมิภาคอย่างปลอดภัยและไร้รอยต่อ (APEC Safe Passage Taskforce) พร้อมหารือแนวทางที่จะช่วยในการส่งเสริม

อาทิ การอำนวยความสะดวกให้แก่อาชีพที่สำคัญ เช่น ลูกเรือ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีระบบรหัสแบบกุญแจสาธารณะ (Public Key Infrastructure : PKI) ในการแชร์ข้อมูลด้านสุขภาพในภูมิภาค และการขยายคุณสมบัติของบัตรเดินทางสำหรับนักธุรกิจเอเปค (APEC Business Travel Card: ABTC) ให้ครอบคลุมผู้เดินทางที่เปิดกว้างขึ้น เช่น ผู้ประการ SME ซึ่งเป็นวาระเร่งด่วนและต้องดำเนินการให้สำเร็จโดยเร็ว



3) สร้างสมดุลรอบด้าน (Balance)
ส่งเสริมการเจริญเติบโต ที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ผ่านการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ตามแนวทาง ESG  การสร้างความมั่นคงทางอาหารและการเกษตรเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน ภายใต้แนวคิด Balance in all aspects ให้ความสำคัญใน 4 ด้าน ได้แก่

- เศรษฐกิจที่เน้นการเติบโตอย่างทั่วถึงและลดความเหลื่อมล้ำ (Inclusive economy)
- พลังงานหมุนเวียน (Renewable energy) 
- ด้านการบริหารจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืน (Sustainability through managing resources) 
- ด้านความมั่นคงทางอาหาร (Food security) 



สิ่งที่ประเทศไทย คนไทยและ SME จะได้รับคืออะไร ?

สำหรับ 21 เขตเศรษฐกิจของเอเปค มีขนาดของเศรษฐกิจรวมกันกว่า 60 % ของมูลค่าจีดีพีของโลก โดยมีมูลค่าจีดีพีรวมกันกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็น 3 อันดับแรก แน่นอนคือสหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น โดยเกาหลีใต้เป็นอันดับที่ 4 แทนที่รัสเซีย

หากพิจารณาจากจำนวนประชากร พบว่ากลุ่มประเทศเขตเศรษฐกิจ APEC มีประชากรรวมกันคิดเป็น 38 % ของประชากรโลก หรือประมาณ 2.9 พันล้านคนในปี 2563 ด้วยขนาดอันใหญ่โตทั้งด้านจีดีพี และจำนวนประชากร ย่อมหมายถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่ และโอกาสที่เปิดกว้างสำหรับ ผู้ประกอบการ และ SME  โดยคาดว่าเขตเศรษฐกิจ APEC จะมีมูลค่าการค้ารวมกันถึง 48 % ของมูลค่าการค้าสินค้าและบริการของโลก ซึ่งมูลค่าการค้าของจีนแซงหน้าสหรัฐมาเป็นอันดับ 1 ที่ 12 % และสหรัฐเป็นอันดับ 2 อยู่ที่ 11 % เมื่อรวมอันดับ 3 คือญี่ปุ่นที่ 4 % แล้ว เพียง 3 ประเทศที่กล่าวมาก็มีมูลค่าการค้าคิดเป็นอัตราส่วนถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการค้าโลก 

ดังนั้น เอเปค จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก ทั้งทางด้านตลาดการค้า และโอกาสทางการลงทุนสำหรับประเทศไทย อีกทั้ง 10 อันดับแรกของตลาดส่งออกของไทย ล้วนเป็นประเทศในเขตเศรษฐกิจ APEC ทั้งสิ้น ดังนั้นความสำคัญอันดับแรกของเอเปค ที่มีต่อประเทศไทย จึงได้แก่ความเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญ และมีอิทธิพลต่อเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก

ขณะที่ ด้านการลงทุน ตัวเลขการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศของเอเปค ก็มีความน่าสนใจมากเช่นกัน ซึ่งในปี 2563 เขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ในเอเปค มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศรวมกันมากถึง 85.8 % ของมูลค่าการลงทุนโดยตรงในต่างประเทศของทั้งโลก โดยมีจีน ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำ ในขณะเดียวกัน เอเปค ก็เป็นพื้นที่รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศถึง 68 % ของมูลค่าทั้งโลก โดยมีสหรัฐ จีน ฮ่องกง และสิงคโปร์ เป็นเขตเศรษฐกิจหลักที่ได้รับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ

สำหรับประเทศไทย เมื่อดูจากสถิติการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ เราจะพบว่าในปี 2563 TOP 10 เป็นนักลงทุนจากเขตเศรษฐกิจ ได้แก่  ญี่ปุ่น จีน สหรัฐ ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และมาเลเซีย ดังนั้น ความสำคัญอย่างที่สอง ของเอเปค คือการเป็นผู้เล่นหลักในภูมิทัศน์การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในโลก รวมถึงของไทยเองด้วย

นอกจากนี้ เอเปค ยังมีความสำคัญในเชิงคุณภาพที่น่าสนใจอีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพูดถึงเรื่องการลงทุนนั้น ประเทศไทย กำลังมุ่งสู่การพัฒนาอุตสาหกรรมเป้าหมายที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเป็นสำคัญ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน และเป็นรากฐานไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) อย่างไรก็ดี ธนาคารโลก ได้คาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเอเปคไว้ว่า เศรษฐกิจของทุกเขตเศรษฐกิจ ยังคงขยายตัวในปี 2566 โดยในภาพรวมเอเปค ยังคงเป็นภูมิภาคที่มีพลังขับเคลื่อนไปข้างหน้าอยู่ 



โอกาส ‘สตาร์ทอัพไทย’ ในเวทีโลกก็สดใสไม่แพ้กัน

ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพอยู่เป็นจำนวนมาก ในสาขาธุรกิจหลากหลาย ทั้งแอปพลิเคชันร้านอาหาร แพลตฟอร์มการลงทุนออนไลน์ ธุรกิจขนส่ง ไปจนถึงบริการต่าง ๆ ซึ่งมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต และได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ที่สำคัญไม่แพ้กัน คือการสร้างโอกาสให้สตาร์ทอัพไทยได้ต่อยอดในการพัฒนาธุรกิจ ให้สามารถเติบโตสู่ตลาดโลกได้

ทั้งนี้ ไทยให้ความสำคัญกับการส่งเสริมและสนับสนุนสตาร์ทอัพ ให้เติบโตสู่ตลาดโลกมาโดยตลอด และในปี 2565 ไทยในฐานะเจ้าภาพการประชุมเอเปค จะส่งเสริมการลดกำแพงภาษี รวมถึงการแบ่งปันประสบการณ์และแนวปฏิบัติในการสร้าง Ecosystem เพื่อพัฒนาธุรกิจสตาร์ทอัพจากเขตเศรษฐกิจที่มียูนิคอร์นมากมาย เช่น สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกา

โดยการจัดโครงการมากมายที่ต่อยอดและช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการและสตาร์ทอัพ ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคณะทำงาน SME เพื่อพัฒนา SME ทั้งในด้านความยั่งยืน (Sustainability) และนวัตกรรม รวมถึงโครงการดี ๆ เช่น APEC App Challenge ที่จับมือกับ Google เพื่อส่งเสริมนักพัฒนาและออกแบบซอฟต์แวร์ ในภาคส่วนต่างๆ

การเป็นเจ้าภาพเอเปคของไทยในครั้งนี้ จึงเป็นโอกาสอันดีของผู้ประกอบการขนาดเล็ก ขนาดกลางและสตาร์ทอัพไทย ในการเรียนรู้ของดีจากเขตเศรษฐกิจอื่น และนำเสนอตัวเองสู่สายตาชาวโลก เพื่อให้ สตาร์ทอัพไทยสามารถเติบโต และประสบความสำเร็จในตลาดโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจไทยให้เป็นยูนิคอร์นตัวต่อไปของอาเซียน

ทั้งหมดนี้สะท้อนให้เห็นว่า การประชุมเอเปคที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ นับเป็นโอกาสสำคัญ ที่ไทยจะได้ใช้ประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังวิกฤตของโควิด 19 ให้เกิดแนวทางที่เติบโตอย่างยั่งยืน โดยคาดหวังว่าการประชุมครั้งนี้ จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะภาคการเดินทางและการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง 

จึงต้องติดตามต่อว่าผลลัพธ์จากการที่ไทยเป็นเจ้าภาพ APEC 2022 Thailand ครั้งนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป


ที่มา
https://www.apec2022.go.th/th/apec-opportunity-for-thai-startups-th/
https://www.chula.ac.th/highlight/88490/ 
https://th.tradingview.com/news/bangkokbiznews:7bc01a7c3:0/ 
https://www.salika.co/2022/09/13/apec-thailand-2022/ 
https://tica-thaigov.mfa.go.th/th/content/38078-apec?cate=5d7da8d015e39c3fbc0074a5 
กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ 
https://www.dtn.go.th/th/negotiation/%E0%B8%9A%E0%B8%97%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%97%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B8%84?cate=5cff753c1ac9ee073b7bd1f8

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2276 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4460 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2247 | 22/12/2022
ย้อนรอย APEC บทบาทของไทย และประโยชน์ที่ SME จะได้จากการเป็นเจ้าภาพ สู่การยอมรับบนเวทีโลก