ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ? ก่อนตัดสินใจ ลงทุนระบบ ‘Automation’

SME Startup
29/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1995 คน
ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ? ก่อนตัดสินใจ ลงทุนระบบ ‘Automation’
banner
ภายใน 5 ปีข้างหน้านี้ 85 % ของอุตสาหกรรมภายในประเทศไทยที่ไม่มีการปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงของยุค 4.0 จะไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้ และ 53 % ของ SME อาจต้องปิดกิจการ ‘ระบบ Automation’ จึงเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนากระบวนการผลิต เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและ SME ต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันหากต้องการให้ธุรกิจอยู่รอดและไปต่อได้อย่างแข็งแกร่ง

ระบบ Automation คืออะไร?

คือ ระบบที่ทำงานผ่านการควบคุมจากคอมพิวเตอร์ หรือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถเริ่มทำงานได้ด้วยตัวเองตามคำสั่งที่มนุษย์เป็นผู้ควบคุมเอาไว้ ปัจจุบันระบบอัตโนมัติเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ทั้งในด้านวิศวกรม อุตสาหกรรม รวมไปถึงการดำรงชีวิตประจำวันของมนุษย์ ระบบอัตโนมัติถูกคิดค้นมาเพื่อให้สามารถลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็น และตอบสนองความต้องการของมนุษย์ให้ได้มากที่สุด



เตรียมตัวอย่างไร ? ก่อนลงทุนใช้ ‘ระบบ ออโตเมชัน’

การลงทุนมีความเสี่ยง ผู้ลงทุนควรต้องพิจารณาและจำให้ขึ้นใจเสมอหากต้องตัดสินใจลงทุนในกิจการ ดังนั้นก่อนตัดสินใจลงทุนควรพิจารณาปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1. การประเมินศักยภาพและเป้าหมายของตัวเองตามความเป็นจริง 

พิจารณาการลงทุนและความสำคัญในการลงทุนแต่ละภาคส่วนอย่างละเอียด เช่น การลงทุนระบบ Automation ในสายการผลิตสามารถเพิ่มผลผลิตได้กี่เปอร์เซ็นต์จากเดิม โดยเฉลี่ยประสิทธิภาพควรเพิ่มขึ้น 30% เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้คุ้มค่าหรือไม่

ความสูญเสีย (Wastes) คือ สิ่งที่สูญเสียไปในกระบวนการผลิตโดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใด ๆ แต่กลับทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง ความสูญเสียสังเกตได้จากสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ด้อยคุณภาพ แต่ต้นทุนการผลิตสูง ใช้เวลาผลิตนาน มีของเสียมาก วัสดุอุปกรณ์สูญหายบ่อย หรือใช้พนักงานมากเกินความจำเป็น

ยกตัวอย่างเช่น  ความสูญเสีย 7 ประการที่ซ่อนอยู่ในกระบวนการผลิต เป็นสิ่งที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อบริษัท ไม่สร้างผลกำไร แต่มีต้นทุนเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา ความสูญเสีย 7 ประการที่ว่า ได้แก่ 

1) ความสูญเสียเนื่องจากการผลิตมากเกินไป (Overproduction)
2) ความสูญเสียเนื่องจากการเก็บวัสดุคงคลัง (Inventory)
3) ความสูญเสียเนื่องจากการขนส่ง (Transporation)
4) ความสูญเสียเนื่องจากการเคลื่อนไหว (Motion)
5) ความสูญเสียเนื่องจากกระบวนการผลิต (Processing)
6) ความสูญเสียเนื่องจากการรอคอย (Delay)
7) ความสูญเสียเนื่องจากการผลิตของเสีย (Defect)

2. แผนการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ

เมื่อตัดสินใจได้แล้วว่าต้องการการลงทุนอะไร สิ่งต่อมาที่ต้องคำนึงถึงคือสถานภาพทางการเงินในปัจจุบัน โดยตั้งเป้าหมายของการลงทุนให้ชัดเจนว่าจะลงทุนในด้านใด เช่น หุ่นยนต์ออโตเมชัน ระบบบำบัดของเสียอัจฉริยะ ระบบเครือข่ายภายในและภายนอกโรงงาน เป็นต้น

โดยผู้ประกอบการต้องใส่รายละเอียดที่ต้องการลงทุนในระบบ Automation ให้ละเอียด และชัดเจน เพื่อป้องกันปัญหาการสั่งซื้อเครื่องจักรที่ผิดพลาดหรือเกินความจำเป็น ไม่ว่าจะเป็น แบรนด์ รุ่น การรับประกัน สายพาน เซนเซอร์ มอเตอร์เซอร์โว ฯลฯ เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการใช้งาน เพื่อให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

3. วางแผนรองรับการต่อยอดธุรกิจในอนาคต

การลงทุนระบบ Automation ควรรองรับระบบสำหรับการเติบโตและการลงทุนเพิ่มเติมในอนาคต ดังนั้นการเลือกลงทุนควรแบ่งแผนการเป็นระยะ สำหรับในช่วงแรกควรพิจารณาว่าควรจะเริ่มลงทุนส่วนใดก่อนและพิจารณาในส่วนของการลงทุนเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง ต้องเลือกและวางแผนให้เสร็จก่อนลงมือวางแผนระบบไม่เช่นนั้นแล้วจะเป็นปัญหาที่ยุ่งยากในการแก้ไข 

4. ราคาที่ถูกที่สุดไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดเสมอไป 

การเสนอราคาจากผู้ผลิตควรเลือกรายที่มีความเชี่ยวชาญและใส่ใจในกระบวนการผลิตของเราจริง ๆ ดังนั้นควรมีตัวเลือกอย่างน้อย 3 บริษัทขึ้นไป เพื่อทำการเปรียบเทียบความคุ้มค่าที่จะได้รับและต้องตระหนักเสมอว่า ‘ราคาที่ถูกที่สุดไม่ได้หมายถึงสิ่งที่คุ้มค่าที่สุดเสมอไป’ ประสบการณ์ของผู้ผลิต ตัวอย่างลูกค้าที่เคยใช้บริการ รวมถึงความสามารถและนโยบายหลังการขายเป็นสิ่งที่ช่วยในการตัดสินใจได้เป็นอย่างดี

5. การพัฒนาทักษะเป็นสิ่งจำเป็น

การลงทุนด้านการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากรเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันนอกเหนือจากการพัฒนาแรงงานเดิมให้มีศักยภาพมากขึ้นแล้ว การลงทุนจ้างบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับเทคโนโลยีที่บริษัทลงทุน ยังเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับการทำงานร่วมกับระบบออโตเมชันในการผลิตในอนาคตด้วย

6. การซ่อมบำรุง ส่วนสำคัญในการผลิต

การนำระบบ Automation เข้ามาใช้จำเป็นต้องเข้าใจรูปแบบเฉพาะของออโตเมชันนั้น ๆ เช่น การซ่อมบำรุง หุ่นยนต์แขนกล ซึ่งต้องการความเข้าใจใน PLC เพื่อแก้ไขโค้ดหรือตรวจสอบคำสั่งสำหรับการทำงาน ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องได้รับการฝึกฝนเพื่อการใช้งานให้ปลอดภัยและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด ดังนั้นการซ่อมบำรุงจึงเป็นฟันเฟืองสำคัญที่ขาดไม่ได้สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต

7. อย่างมองข้าม ความปลอดภัยของระบบ

การลงทุนด้านความปลอดภัยที่เกี่ยวข้อง เช่น กำลังไฟ หรือ อุปกรณ์สวมใส่สำหรับการทำงานในพื้นที่ที่มีความเสี่ยง นอกจากการรักษาสวัสดิภาพของผู้ปฏิบัติงานแล้วยังหมายถึงการถนอมเครื่องจักรและสร้างสายการผลิตที่มีความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติงานอีกทางหนึ่ง



ประโยชน์ของ ระบบ Automation ที่ผู้ประกอบการจะได้รับ

1. ลดต้นทุน ช่วยลดเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับแรงงานทำให้ไม่เกิด Downtime 

2. เพิ่มคุณภาพ ระบบมีความแม่นยำสูงกว่ามนุษย์ จึงสามารถผลิตชิ้นงานที่มีความละเอียดสูงและทำงานในรูปแบบพิเศษที่มนุษย์ไม่อาจทำได้

3. เพิ่มความสามารถในการผลิต สามารถทำงานภายใต้เงื่อนไขอันจำกัด เช่น สถานที่ สภาพแวดล้อม ระยะเวลาเช่น การบริหารจัดการคลังสินค้าที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดการส่งชิ้นส่วนที่ล่าช้า ตรวจสอบ Stock ได้ทันที และสามารถทำงานซ้ำๆ อย่างต่อเนื่องได้โดยไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงจากความเมื่อยล้า

4. รักษาสุขภาพและความปลอดภัยที่ดี การใช้งานระบบควบคุมอัตโนมัติสามารถส่งเสริมความปลอดภัยของกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี ด้วยระบบเซนเซอร์ตรวจจับการทำงาน สามารถทดแทนแรงงานมนุษย์ในการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เช่น ระบบหยุดการทำงานของหุ่นยนต์เมื่อมีคนเข้าไปใกล้



ตัวอย่างผู้ประกอบการ SME ที่นำ ระบบ Automation เข้ามาใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

‘บริษัท ออโต้โมชั่นเวิร์ค จำกัด’ หรือ AMW ในเครือ ‘ขอนแก่นแหอวน’ คือตัวอย่างที่ดีในการนำเทคโนโลยีระบบ Automation มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิตได้เป็นอย่างดี โดยในอดีตนั้น มีระบบการนับสต๊อกสินค้าด้วยระบบบาร์โค้ด ที่มีขั้นตอนการทำงานล่าช้าและไม่แม่นยำในการเก็บข้อมูล นำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย

ทั้งยังมีพื้นที่ขนาดใหญ่และสินค้ามากกว่า 1 แสน SKU จึงมี Pain Point ในเรื่องระบบ Picking (ขั้นตอนการหยิบสินค้า) ที่จากเดิมเมื่อมีออเดอร์เข้ามาพนักงานจะเดินไปหยิบสินค้าตามรายการที่อยู่ในใบสั่งซื้อจนครบทุกออเดอร์ ถ้ามีคำสั่งซื้อใหม่ก็ต้องเดินไปหยิบใหม่ และในบางครั้งยังมีการหยิบสินค้าผิดรายการ 

จึงนำเอาเทคโนโลยีระบบ Automation มาต่อยอดพัฒนาระบบคลังสินค้าอัตโนมัติ หรือ Automatic Warehouse ด้วยระบบ ASRS (Automated Storage & Retrieval System) ซึ่งเป็นระบบการจัดเก็บและเบิกจ่ายสินค้าอัตโนมัติ ประกอบด้วยอุปกรณ์หลัก คือ Stacker Crane หรือเครนอัตโนมัติเป็นเครื่องจักรหลักที่สามารถนำสินค้าเข้าเก็บ หรือนำสินค้าออกมาจากชั้นวางสินค้า

โดยสามารถเคลื่อนที่ได้ทั้งแนวราบและแนวดิ่งซึ่งสั่งการและควบคุมการทำงานด้วยคอมพิวเตอร์ พร้อมโปรแกรมบริหารจัดการคลังสินค้าและโปรแกรมสั่งการเครื่องจักรที่มีความแม่นยำสูง ช่วยลดการใช้แรงงานงานคน และลดความซ้ำซ้อนในกระบวนการทำงานได้เป็นอย่างดี




สะท้อนให้เห็นว่าระบบ Automation สามารถสนับสนุนการทำงานของมนุษย์ โดยเฉพาะการปฏิบัติงานที่มีความเสี่ยงต่อความสูญเสีย ไม่ว่าจะเป็นการยกของหนัก การขนย้ายวัสดุในพื้นที่จำกัด หรือการทำงานในพื้นที่ที่มีสภาพแวดล้อมอันตราย หุ่นยนต์จึงตอบโจทย์ที่สุดในการทำงานบางอย่าง ทำให้ระบบควบคุมอัตโนมัตินำมาใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ยกระดับการแข่งขันในตลาดอุตสาหกรรมขึ้นไปอย่างรวดเร็ว แต่ข้อเสียของระบบ Automation ก็มีเหมือนกัน ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการและ SME ควรศึกษาอย่างละเอียดรอบคอบก่อนตัดสินใจลงทุนในระบบ Automation เพื่อทำให้กระบวนการผลิตเกิดประสิทธิภาพและความปลอดภัยสูงสุด


ที่มา
https://bangkokbanksme.com/en/11focus-auto-motion-work-warehouse-automation-specialist
https://www.mreport.co.th/experts/business-and-management/216-Can-Automation-reduce-costs
https://www.mmthailand.com/productivity_10thing_b4invest/
https://shorturl.asia/RW3aw
https://www.wisdommaxcenter.com/detail.php?WP=oGM3ZHjkoH9axUF5nrO4Ljo7o3Qo7o3Q

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

4 สตาร์ทอัพไทย ที่ใช้ Model Innovation เปลี่ยนโลกใบนี้เป็นสีเขียว

อย่างที่ทราบดีว่า ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลก ที่ส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตของคนส่วนใหญ่ และกลายมาเป็นโจทย์สำคัญที่มีความเกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจ…
pin
2304 | 14/02/2023
ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

ไม่ดูตอนนี้ รู้อีกทีปีหน้า! ส่องเทรนด์ธุรกิจมาแรง ที่ SME ห้ามพลาดใน ปี 66

หลังจากไทยเผชิญการระบาดของโรคโควิด 19 ทำให้ผู้คนปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต หลายหน่วยงานที่เกี่ยวกับธุรกิจการค้าต่างออกมาวิเคราะห์เทรนด์ธุรกิจที่มาแรงในปี…
pin
4505 | 19/01/2023
ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

ตอบโจทย์ Aging Society! นักวิจัยไทยคิดค้น ‘MONICA’ เกมกระตุ้นสมองสำหรับผู้สูงอายุ ที่ผู้ประกอบการต่อยอดไอเดียได้

‘ไทย’ ได้ก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์แล้ว คิดเป็นประมาณ 18.3% ของประชากรทั้งหมด และไทยจะกลายเป็นสังคมสูงอายุระดับสุดยอดเช่นเดียวกับญี่ปุ่นที่มีประชากรอายุ…
pin
2277 | 22/12/2022
ผู้ประกอบการ ต้องเตรียมตัวอย่างไร ? ก่อนตัดสินใจ ลงทุนระบบ ‘Automation’