SME สร้างจุดเด่น เน้นจุดขายแบบไหนดี? ให้มีกำไรในช่วงภาวะเงินเฟ้อ

SME Update
19/10/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1896 คน
SME สร้างจุดเด่น เน้นจุดขายแบบไหนดี? ให้มีกำไรในช่วงภาวะเงินเฟ้อ
banner
ปัจจุบัน นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด19 ทั้งยังมีสงครามระหว่างประเทศมหาอำนาจเกิดขึ้นจนสร้างผลกระทบต่อการค้าของโลก เราอาจได้ยินหลายคนพูดถึงปัญหาจากผลกระทบของภาวะเงินเฟ้ออยู่บ่อยครั้ง โดยคำว่า ‘ภาวะเงินเฟ้อ’ หมายถึง ภาวะที่ราคาสินค้าและบริการโดยทั่วไปเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง

ซึ่งหากเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากย่อมมีผลกระทบต่อฐานะและความเป็นอยู่ของประชาชน ตลอดจนธุรกิจ SME ที่เป็นผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมยุคใหม่ต้องประสบปัญหา ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศต้องชะลอการเติบโตตามไปด้วย



เงินเฟ้อมีผลต่อการตัดสินใจและกำลังซื้อของผู้บริโภค

ด้วยรายจ่ายหรือภาระค่าครองชีพสูงขึ้น นั่นย่อมส่งผลกับการตัดสินใจของผู้บริโภค เพราะกำลังซื้อหรือความสามารถในการจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการน้อยลงตามไปด้วย เนื่องจากรายได้ที่มีหรือเงินที่หามาจากการทำงานอาจไม่เพียงพอกับการยังชีพ จึงต้องชะลอการตัดสินใจซื้อของฟุ่มเฟือย แล้วเลือกซื้อสินค้าที่มีความจำเป็นมากกว่า

ยกตัวอย่างเช่น ก่อนหน้านี้ที่จะเข้าสู่ภาวะเงินเฟ้อ ผู้บริโภคอาจมีพฤติกรรมเลือกซื้อสินค้าชิ้นหรือห่อใหญ่เพื่อความคุ้มค่า แต่ในปัจจุบันผู้บริโภคกลับนิยมหันมาเลือกซื้อสินค้าที่มีขนาดเล็กลง หรือมีราคาถูกกว่า เพราะหากเลือกสินค้าห่อใหญ่ที่มีราคาสูงอาจเกินงบประมาณในการใช้จ่ายหรือรายได้ที่มี เป็นต้น 



เงินเฟ้อสร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการ SME

แน่นอนว่าเมื่อสินค้ามีราคาแพงขึ้น ยอดจำหน่ายสินค้าย่อมจะลดลง ในขณะเดียวกันต้นทุนการผลิตก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการ บางรายอาจตัดสินใจชะลอการลงทุน และปรับลดกำลังการผลิตและลดการจ้างงานซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะว่างงานเป็นปัญหาตามมาอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังทำให้ความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจในประเทศลดลง

เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกจะสูงขึ้นเมื่อเทียบกับราคาสินค้าออกของประเทศอื่น ๆ ลุกลามตามไปเป็นปัญหาการพัฒนาศักยภาพการผลิตของประเทศในระยะยาวที่อาจชะลอลงตามไปด้วย

ทั้งนี้ โดยหลักการทั่วไปแล้ว ราคาสินค้าจะถูกกำหนดโดยต้นทุนการผลิตเป็นส่วนใหญ่ อาทิ ราคาวัตถุดิบ ราคาเชื้อเพลิง ราคาขนส่ง และค่าจ้างแรงงาน ดังนั้น เมื่อต้นทุนการผลิตสูงขึ้นแล้ว อาจส่งผลให้ราคาสินค้าเพิ่มขึ้นในภาพรวม ซึ่งที่ผ่านมามักพบว่าถ้าต้นทุนการผลิตปรับขึ้นชั่วคราว ผู้ประกอบการบางรายที่มีทุนมากพออาจใช้วิธีแบกรับภาระไว้เอง เพราะอยู่ในตลาดแข่งขัน 



แล้ว SME จะรับมืออย่างไรในภาวะเงินเฟ้อ?

ด้วยต้นทุนที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งราคาวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นตามภาวะเงินเฟ้อ ส่งผลให้ความสามารถในการซื้อวัตถุดิบลดลง ยกตัวอย่าง อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 10 จากเดิมวัตถุดิบที่ต้องซื้อเข้ามาในราคา 100 บาท ใน ปัจจุบันต้องใช้เงินซื้อเข้ามาในราคา 110 บาท เป็นต้น จากปัจจัยดังกล่าว หากผู้ประกอบการใช้วิธีปรับขึ้นราคา ภาระก็จะถูกผลักไปสู่ผู้บริโภค แล้วหากในกรณีที่ ราคาสินค้าที่ผู้ประกอบการตั้งไว้นั้นมีราคาสูงกว่าคู่แข่ง อาจเสียโอกาสหรือเสียส่วนแบ่งทางการตลาดในอนาคตได้ เพราะผู้บริโภคอาจเปลี่ยนไปซื้อสินค้าและเลือกใช้บริหารของคู่แข่งรายอื่นขณะเดียวกันถ้ายอมแบกรับภาระอาจต้องตกอยู่ในภาวะขาดทุนหรือผลกำไรที่ควรจะได้หดหายไปในที่สุด

ดังนั้น Bangkok Bank SME จึงได้รวบรวมแนวทางการรับมือกับภาวะเงินเฟ้อมาฝาก หากผู้ประกอบการ SME นำไปประยุกต์ใช้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับธุรกิจได้ ดังนี้

1. สร้าง Brand Loyalty หรือความภักดีต่อแบรนด์
แน่นอนว่าการทำธุรกิจสิ่งสำคัญที่ผู้ประกอบการจะมองข้ามไม่ได้เลย คือ แบรนด์ (Brand) ซึ่งการสร้างแบรนด์เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เป็นข้อได้เปรียบ เนื่องจากความรู้สึกในการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือเลือกใช้บริการ นั้น ส่วนใหญ่มาจากความน่าเชื่อถือและชื่อเสียงของบริษัท ซึ่งการสร้างความภักดีต่อแบรนด์เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้

ดังนั้น การรักษาฐานลูกค้าจึงเป็นหัวใจสำคัญ และการที่ผู้บริโภคซื้อสินค้าเพราะมีความผูกพัน เกิดความเชื่อมั่นกับแบรนด์จนเกิดการเลือกซื้อของจากแบรนด์นั้นอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องรักษามาตรฐานไว้ให้ดี ทั้งนี้ การรักษาฐานลูกค้าอาจมีปัจจัยหลายอย่างร่วมด้วย อาทิ การบริหารความสัมพันธ์ที่ดี หรือการสมนาคุณให้ลูกค้าเพื่อให้เกิดความรู้สึกดีต่อแบรนด์

2. สร้างประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับลูกค้า 
การทำความเข้าใจผู้บริโภค ว่ามีพฤติกรรมการเลือกซื้อสินค้าหรือเลือกใช้บริการอย่างไร วิธีนี้ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อ และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจในการกำหนดกลยุทธ์อื่น ๆ ที่นำไปสู่การสร้างประสบการณ์ที่ดีและการตัดสินใจซื้อของลูกค้า

หรือในทางการตลาดเรียกว่า Customer Touchpoint คือ จุดสัมผัสของลูกค้ากับแบรนด์ ด้วยการสื่อสารผ่านวิธีต่าง ๆ ไปยังกลุ่มลูกค้า ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงจุดสิ้นสุด เช่น ลูกค้าอาจค้นหาธุรกิจของเราผ่านทางอินเทอร์เน็ต และการเห็นสินค้าจากการยิงแอดโฆษณา เป็นต้น โดยต้องมีการเกาะติดเทรนด์หรือพฤติกรรมในการใช้งานของกลุ่มเป้าหมายเพื่อสร้างความประทับใจอย่างต่อเนื่อง

3. วางแผนให้รัดกุมเพื่อควบคุมต้นทุนที่อาจเพิ่มขึ้น
เรื่องนี้ผู้ประกอบการ SME คงทราบดีว่าการทำธุรกิจให้มีกำไรและสามารถเติบโตได้ ต้องเข้าใจภาพรวมการเกิดต้นทุนในองค์กรด้วย เพราะการเกิดต้นทุนส่วนเกินหรือค่าใช้จ่ายในองค์กรส่วนใหญ่ มีความสัมพันธ์กับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดคุณภาพ เช่น ค่าใช้จ่ายที่เกิดจากของเสีย, เวลาที่เครื่องจักรหยุด, การแก้ไขงานบ่อยครั้ง, การตรวจสอบคุณภาพ, รอบเวลาการผลิตนาน, เวลาสูญเปล่า / เวลารอคอย, การประกันสินค้า และการเสียโอกาสการขาย เป็นต้น

ซึ่งปัญหาบางอย่างอาจมองเห็นได้ชัดเจน หรือปัญหาบางอย่างอาจแอบแฝงอยู่ ดังนั้น หากพบต้นตอของปัญหาต้องรีบแก้ไขเพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4. ดูแลเครื่องจักรการผลิตเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ
ในสถานประกอบการทุกแห่ง เครื่องจักรโดยทั่วไปจะมีรอบระยะเวลาในการบำรุงรักษา จึงต้องสังเกตการทำงานของเครื่องจักรในแต่ละวันว่าเป็นปกติหรือไม่ ถ้าพบว่ามีสิ่งผิดปกติควรหยุดใช้งานและรีบทำการตรวจหาสาเหตุพร้อมหาทางแก้ไขทันที ซึ่งผู้ประกอบการต้องวางแผนการบำรุงรักษาเครื่องจักรให้อยู่ในสภาพพร้อมใช้งานตลอดเวลา

เพราะจะทำให้เสียเวลาและค่าใช้จ่ายโดยไม่จำเป็น ทั้งยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงรักษาเครื่องจักร ส่งผลให้ต้นทุนต่ำลงด้วยเช่นเดียวกัน

5. บริหารต้นทุนวัตถุดิบและไม่แบกสต๊อกนานเกินไป
ผู้ประกอบการต้องมีการวางแผนในการผลิตอย่างรัดกุม เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งออเดอร์วัตถุดิบต้องคำนวณปริมาณให้สอดคล้องกับแผนของโรงงานที่ผลิตป้อนให้ลูกค้าตามดีมานด์หรือคำสั่งซื้อ ซึ่งแนวทางดำเนินการแบบนี้ นอกจากจะทำให้สินค้ามีความสดใหม่ก่อนส่งมอบให้ผู้บริโภคแล้ว ยังช่วยให้เกิดการบริหารต้นทุนที่ดี เพราะไม่มีปัญหาเรื่องการแบกสต๊อกอีกด้วย 

ขณะเดียวกัน ยังต้องให้ความสำคัญกับการลดการสูญเสียของวัตถุดิบที่เสื่อมคุณภาพจากเก็บไว้นานเกินไป ซึ่งสามารถทำได้โดยเปลี่ยนมาทำการผลิตอย่างต่อเนื่องจนกว่าวัตถุดิบจะหมด ซึ่งวิธีนี้ยังสามารถใช้กับธุรกิจที่เกี่ยวกับอาหารที่ต้องใช้วัตถุดิบประเภทของสดได้ด้วย หรือเปลี่ยนรูปแบบการสั่งซื้อวัตถุดิบโดยสั่งให้พอดีกับกำลังผลิตในแต่ละช่วง

โดยไม่ซื้อสต็อกเก็บไว้นาน หรืออาจเลือกซัพพลายเออร์ที่อยู่ในทำเลใกล้กับที่ตั้งของกิจการ ซึ่งการจัดการที่มีประสิทธิภาพเหล่านี้จะช่วยลดปริมาณของวัตถุดิบคงคลัง ช่วยลดเวลาและค่าใช้จ่าย ถือเป็นอีกหนึ่งการบริหารต้นทุนเรื่องวัตถุดิบได้เป็นอย่างดี



‘ฉลากเขียว’ กลไกสำคัญนำ SME สู่โอกาสทางธุรกิจ

สิ่งสำคัญอีกอย่างในปัจจุบันจะปฏิเสธไม่ได้เลยว่าสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในเวทีการค้าโลกมากขึ้น โดยหลายประเทศทั่วโลกต่างออกนโยบายและมาตรการที่เป็นเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้องค์กรทางธุรกิจทั้งกลุ่มทุนขนาดใหญ่ รวมไปถึงผู้ประกอบการ SME ต้องปรับตัวเพื่อให้สอดรับกับเทรนด์ของผู้บริโภคในขณะนี้

ดังนั้น ผู้ประกอบการ SME ต้องเตรียมพร้อมรับการเปลี่ยนแปลง ซึ่งในประเทศไทยมีสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย เป็นหน่วยงานอิสระที่มีความเป็นกลางและเชื่อถือได้ คอยสนับสนุนภาคผู้ประกอบการในด้านนี้ โดยให้การรับรองฉลากเขียวกับสินค้าและบริการที่ให้ความสำคัญกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรของผลิตภัณฑ์หรือ ESG มาอย่างต่อเนื่อง

สำหรับประโยชน์ของการรับรองฉลากเขียว ประกอบด้วย

1.การเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสินค้าและบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งถือเป็นตลาดขนาดใหญ่ที่มีความต้องการซื้ออย่างต่อเนื่อง

2. การเพิ่มโอกาสทางการค้า โดยผู้ผลิตสามารถส่งออกสินค้าไปต่างประเทศได้ เพราะฉลากเขียวเป็นฉลากสิ่งแวดล้อมประเภทที่ 1 และเป็นหนึ่งในสมาชิกเครือข่ายฉลากสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

และ 3. การสร้างคุณค่าและภาพลักษณ์ที่ดีให้กับธุรกิจ เพราะผู้บริโภคหันมาใส่ใจเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งสินค้าที่ได้รับฉลากเขียวจะทำให้ผู้บริโภคมั่นใจในการเลือกซื้อยิ่งขึ้น

สิ่งเหล่านี้ที่ Bangkok Bank SME กล่าวมาทั้งหมด ถือเป็นอีกแนวทางในการปรับตัวให้สอดรับกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่อยู่ในภาวะเงินเฟ้อ หากผู้ประกอบการ SME นำไปประยุกต์เป็นกลยุทธ์การทำธุรกิจในช่วงนี้ได้ ยังจะสามารถยกระดับสู่มาตรฐานการดำเนินงานให้สูงขึ้น สอดคล้องกับเป้าหมายของการผลิตให้เกิดประสิทธิภาพ และนำพาธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)

แหล่งอ้างอิง : 
ธนาคารแห่งประเทศไทย
https://www.bot.or.th/App/FinancialLiteracy/ExchangeRate/01_01_contentdownload_inflation.pdf
มูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย
 https://www.tei.or.th/greenlabel/about.html
กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม
https://www.dip.go.th/th/category/2020-05-23-11-52-18/2020-10-08-09-25-02

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1228 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1588 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1874 | 25/01/2024
SME สร้างจุดเด่น เน้นจุดขายแบบไหนดี? ให้มีกำไรในช่วงภาวะเงินเฟ้อ