ไอเดียธุรกิจยุคดิจิทัล ‘จมูกอิเล็กทรอนิกส์’ นวัตกรรม ‘ช่วยดมกลิ่น’ ให้ SME ผลิตอาหารง่ายขึ้น แถมลดต้นทุน

SME Update
04/03/2023
รับชมแล้วทั้งหมด 2301 คน
ไอเดียธุรกิจยุคดิจิทัล ‘จมูกอิเล็กทรอนิกส์’ นวัตกรรม ‘ช่วยดมกลิ่น’ ให้ SME ผลิตอาหารง่ายขึ้น แถมลดต้นทุน
banner
เทคโนโลยีและนวัตกรรม มีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นสิ่งจำเป็นที่อยู่รอบตัวแทบจะทุกมิติ ซึ่งอย่างที่เราทราบดีว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรม เป็นสิ่งที่เข้ามาอำนวยความสะดวกให้กับมนุษย์ในการใช้ชีวิตประจำวัน และตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ที่ชอบความรวดเร็ว คล่องตัว และช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันง่ายขึ้น ได้เป็นอย่างดี

ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจในหลาย ๆ อุตสาหกรรม มีข้อมูลที่สะท้อนภาพจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมดิจิทัล ในไตรมาส 3 ปี 2565 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ระบุว่า ในกลุ่มอุตสาหกรรม 5 กลุ่ม ซึ่งประกอบด้วย ซอฟต์แวร์, บริการดิจิทัล, ดิจิทัลคอนเทนต์ และโทรคมนาคม ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 48.6 จาก ระดับ 46 ในไตรมาส 2 ปี 2565

รวมถึงอานิสงส์จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายขึ้นตามลำดับ ส่งผลให้กำลังซื้อของภาคเอกชนเพิ่มขึ้น และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนในภาคอุตสาหกรรม ส่งผลดีต่อดัชนีความเชื่อมั่นฯ ไตรมาส 3 แต่ในขณะเดียวกันต้นทุนยังคงอยู่ในระดับที่สูง สาเหตุอันเนื่องมาจากราคาน้ำมัน ภาวะสงครามที่ทำให้เกิดปัญหา Supply Shortage และค่าแรงขั้นต่ำที่ปรับเพิ่มขึ้น 



หุ่นยนต์ (Robot) และปัญญาประดิษฐ์ (AI) นับเป็นเทคโนโลยีที่มีบทบาทสำคัญต่อโลกธุรกิจ ซึ่งประเทศไทย ได้แจ้งเกิดนวัตกร (Innovator) ที่สร้างสรรค์ผลงานการประดิษฐ์หุ่นยนต์และเครื่องมือที่ช่วยสำหรับการใช้งานแทนมนุษย์ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างมากมาย โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การแพทย์ การศึกษา รวมถึงการบริการลูกค้า ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าแนวโน้มนี้จะเติบโตในทุก ๆ อุตสาหกรรมในทุกปี ตัวอย่างเช่น 



‘จมูกอิเล็กทรอนิกส์’ นวัตกรรม ‘ช่วยดมกลิ่น’ ให้ SME

ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าโครงการ กล่าวว่า ทีมนักวิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันก่อตั้ง บริษัท MUI Robotics จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยี ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจำแนกกลิ่น มาไม่ต่ำกว่า 20 ปี 

โดยที่ผ่านมา ได้มีการผลักดันงานวิจัยด้านเซนเซอร์ไอโอที และระบบเอไอไปสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์  โดย ได้รับแรงบันดาลใจมาจากนักวิทยาศาสตร์ 2 ท่านที่ได้รับรางวัลโนเบล สาขาการแพทย์ ในปี 2004 คือ ศ.ริชาร์ด แอ็กเซล (Richard Axel) ศ.ลินดา บัก (Linda B. Buck) ที่ค้นพบกระบวนการ “รับรู้ จำแนก และจดจำกลิ่น” ของมนุษย์ โดยมียีนที่แสดงออกในรูปของโปรตีนหน่วยรับกลิ่น ทำให้เราจดจำกลิ่นได้เป็นจำนวนมาก 



ซึ่งเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ฝีมือคนไทย ใช้หลักการทำงานของเซนเซอร์ตรวจวัดก๊าซหลายชนิดที่ทำงานร่วมกัน โดยทำหน้าที่ตรวจรับกลิ่นเหมือนจมูกมนุษย์ รวบรวมและแปลงสัญญาณไฟฟ้าจากเซนเซอร์ เป็นสัญญาณดิจิทัลไปประมวลผลเพื่อจำแนกรูปแบบกลิ่น โดยมีซอฟต์แวร์ทำหน้าที่แยกแยะและจำแนกกลิ่น ที่สามารถแสดงผลในรูปแบบกราฟสำหรับการวิเคราะห์ได้ 


ผศ.ดร.ธีรเกียรติ์ เกิดเจริญ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ดร.ธีรเกียรติ์ กล่าวต่อว่า เทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์เกิดขึ้น และได้รับการพัฒนามานาน โดยคนทั่วไปเข้าใจว่าคือเซ็นเซอร์ตรวจวัดสาร ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่จุดเด่นของเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์นี้ มีความสามารถในการเปลี่ยนข้อมูลกลิ่นเป็นฐานข้อมูลดิจิทัลที่มีมูลค่าและสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมหาศาล เช่น ฐานข้อมูลดิจิทัลของกลิ่น (Digitalization of smell) ที่ออกแบบเพื่อเป็นตัวชี้วัดสิ่งแวดล้อม การวิเคราะห์กลิ่นสำหรับวินิจฉัยโรคเบาหวาน มะเร็ง การออกแบบกลิ่น รส สำหรับการพัฒนารสชาติอาหารใหม่ หรือ กลิ่นดิจิทัลในโลกเมตาเวิร์ส ที่กำลังได้รับการพัฒนาในปัจจุบัน เป็นต้น 



ลดแรงงานคน-เพิ่มความแม่นยำ ในโรงงานอุตสาหกรรม

คุณวันดี วัฒนกฤษฎิ์ CEO บริษัท MUI Robotics จำกัด กล่าวว่า การดม และวิเคราะห์ จำแนก กลิ่น มีความจำเป็นในอุตสาหกรรมอาหารเป็นอย่างมาก ในสมัยก่อนต้องใช้แรงงานคนไม่ต่ำกว่า 5 คน เพื่อทดสอบกลิ่นและหาค่าเฉลี่ยในการวิเคราะห์กลิ่นในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นต้นทุนในการผลิต และค่าเฉลี่ยที่ได้อาจมีความคลาดเคลื่อน ไม่แม่นยำ



และหลังจากวิกฤตการณ์โควิดที่ผ่านมา อาการสูญเสียการรับกลิ่นรสในผู้ป่วยโควิด เป็นอุปสรรคที่ทำให้ความแม่นยำในการวิเคราะห์โดยคนนั้นลดลง จึงเป็นโอกาสให้กับ บริษัทฯ ในการเข้าตลาดในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จากข้อจำกัดเทคโนโลยีจมูกอิเล็กทรอนิกส์ในต่างประเทศนั้นมีราคาสูง เนื่องจากอุปกรณ์และโปรแกรมควบคุมส่วนใหญ่ผลิตขึ้นจากต่างประเทศ และมีค่าบำรุงรักษาเครื่องที่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญในการปรับการทำงานให้สอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทดสอบ Pain Point ดังกล่าว ทำให้บริษัท SME ในประเทศไม่สามารถเข้าถึงได้ MUI Robotics จึงเข้ามาเป็นเพื่อช่วยผลักดัน SME ไทยในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพที่แข่งขันได้มากขึ้น โดยเฉพาะเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์แบบกระเป๋าหิ้วรุ่นล่าสุด ที่สามารถตรวจวัดวัตถุได้ทั้ง ของแข็ง ของเหลว และก๊าซ ด้วยการเชื่อมระบบไหลเวียนกลิ่นตัวอย่างบนเครื่องตรวจวัด เพื่อให้ได้ผลวิเคราะห์ที่แม่นยำ 



เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ MUI-Nose สามารถให้บริการในอุตสาหกรรมอาหาร และเครื่องดื่มได้อย่างครอบคลุม ได้แก่ การบริการด้านตรวจวัดกลิ่นวัตถุดิบ การควบคุมคุณภาพ และการวิจัยและพัฒนา ในอุตสาหกรรมอาหารทะเลแช่แข็ง เนื้อสัตว์แช่แข็ง ข้าว และผลิตภัณฑ์จากพืช อาหารกระป๋อง น้ำมันพืช น้ำอัดลม เป็นต้น ตัวอย่างการตรวจวัดกลิ่น ในกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรมอาหาร เช่น การตรวจวัดกลิ่นโคลนในปลา การตรวจกลิ่นหาข้าวหอมมะลิแท้ การตรวจสอบการคั่วเมล็ดกาแฟ การตรวจสอบกลิ่นใบชาจากแหล่งผลิตแท้ การตรวจหากลิ่นปลอมปน และ ฟอร์มาลีน เป็นต้น 

MUI Robotics ได้รับการ สนับสนุนทุนวิจัยต่อยอดธุรกิจเพื่อสตาร์ทอัพไทย จากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)  ซึ่งได้ผลักดันนวัตกรรม “เครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์” บุกตลาดต่างประเทศ  กำลังจำหน่ายเครื่องจมูกอิเล็กทรอนิกส์ไปยังประเทศในเขตอาเซียน และยุโรป รวมถึงการขอมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมขยายการจำหน่ายไปสู่ตลาดยุโรป และตลาดโลก  

หุ่นยนต์อุตสาหกรรม มีการเติบโตเฉลี่ยปีละ 19% ซึ่งการพัฒนาของเทคโนโลยี ที่เราได้ยกตัวอย่างเหล่านี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นของโลกดิจิทัลทั้งหมด ที่ล้วนขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมอัจฉริยะ ซึ่งสะท้อนว่า SME จำเป็นต้องยอมรับและยกระดับการเข้าสู่ อุตสาหกรรม 4.0 (INDUSTRY4.0 ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติควบคู่ไปกับหุ่นยนต์อัจฉริยะและเชื่อมโยงกับเครือข่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ทําให้ระบบการผลิตยกระดับจาก LEAN ไปสู่ “CYBER-PHYSICAL PRODUCTION”



โดยสำนักเศรษฐกิจอุตสาหกรรม ระบุว่า ผู้ประกอบการ SME ที่มีการนําความก้าวหน้าของอุตสาหกรรม 4.0 มาใช้ในระบบ และปรับตัวได้รวดเร็วจะมีศักยภาพและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันเหนือกว่าผู้ประกอบการรายอื่นในระดับเดียวกันที่ยังไม่ได้ปรับตัว ซึ่งกระบวนการผลิตของอุตสาหกรรม เป็นกลุ่มแรก ๆ ที่นําระบบนี้มาใช้ ทำให้ได้รับประโยชน์มากกว่าคู่แข่งจากการมีศักยภาพที่สูงกว่า โดยคนที่เริ่มก่อนก็จะเป็นผู้นําก่อน

ทั้งนี้ ธุรกิจร้านอาหาร ที่มีความสำคัญต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับคนจำนวนมากทั้งผู้ประกอบการและการจ้างงานตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นประเทศที่มีความครบวงจรในเรื่องของการผลิตอาหารที่มีความพร้อมเป็นครัวของโลก หากมีการส่งเสริมให้เกิดการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ นำ Robotics สร้างเครื่องจักรอัจฉริยะ เพื่อทดแทนแรงงานที่ขาดแคลน และยังสามารถลดต้นทุนการผลิตให้กับผู้ประกอบการ SME ให้ธุรกิจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

https://www.depa.or.th/th/article-view/20221115_01
https://mui-robotics.asia 
https://www.dinsow.com/dinsow-mini-order-taking/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

‘TikTok For All’ Update เทรนด์ใหม่ปี 2024 พร้อมกลยุทธ์เพิ่มโอกาส SME ไทยสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างยั่งยืน

TikTok ตอกย้ำการเป็นแพลตฟอร์มเอนเตอร์เทนเมนต์ที่น่าเชื่อถือสำหรับทุกคน ทั้งครีเอเตอร์ คอมมูนิตี้ผู้ใช้งาน และธุรกิจทุกขนาดในไทย ด้วยการเปิดตัว…
pin
1051 | 14/02/2024
ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ทอดไม่ทิ้ง! เปลี่ยน ‘น้ำมันเหลือทิ้ง’ เป็น ‘น้ำมันเครื่องบิน’ โอกาสใหม่ SME ไทย เติบโตอย่างยั่งยืน

ขณะที่ยานพาหนะต่าง ๆ ทั้ง รถยนต์ มอเตอร์ไซค์ รถไฟ และเรือ ต่างมุ่งสู่การใช้เชื้อเพลิงพลังงานทดแทน ที่เป็นพลังงานสะอาดกันแล้ว แต่สำหรับการเดินทางโดยอากาศยาน…
pin
1393 | 26/01/2024
จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

จับกระแส 'เทรนด์ธุรกิจ' ปี 2024 ใครได้ไปต่อ ใครมาแรง SME ไทยต้องรู้

ปี 2024 นี้ ธุรกิจไหนมาแรง ธุรกิจไหนน่าจับตา เทรนด์ธุรกิจใดกำลังมาแรง Bangkok Bank SME สรุปมาไว้ในบทความนี้ เพื่อเป็นแนวทางแก่ SME และผู้ที่กำลังคิดจะเริ่มต้นทำธุรกิจทุกท่าน…
pin
1674 | 25/01/2024
ไอเดียธุรกิจยุคดิจิทัล ‘จมูกอิเล็กทรอนิกส์’ นวัตกรรม ‘ช่วยดมกลิ่น’ ให้ SME ผลิตอาหารง่ายขึ้น แถมลดต้นทุน