‘ชมพูภูคา’ เครื่องเงินฝีมือชาวเขามาตรฐานระดับโลก เด่นงานตอกลายขายดีไซน์ร่วมสมัย รุกตลาดออนไลน์สร้างยอดขาย 5 ล้านต่อเดือน
จากโลหะบ้านๆ กลายเป็นสินค้าเรียบหรู ด้วยการสร้างเสน่ห์ให้กับเครื่องเงิน ผ่านการสร้างแบรนด์ ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ ภายใต้การบริหารงานของ คุณปัทมพร วรรณวิภูษิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมพูภูคา จำกัด ที่สร้างสรรค์การออกแบบที่แปลกใหม่ หรูหรา แต่ยังไม่ทิ้งความเรียบง่ายที่สามารถสวมใส่ได้ในทุกโอกาส ซึ่งเป็นศูนย์รวมเครื่องเงินชาวเขาแห่งแรกและใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน พร้อมทั้งสร้างงานสร้างอาชีพและสร้างรายได้แก่คนในชุมชน

จุดเริ่มต้น ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’
จังหวัดน่านขึ้นชื่อในเรื่องของ ‘เครื่องเงิน’ มาอย่างยาวนานจากฝีมือที่มีความประณีตทุกขั้นตอน หนึ่งในนั้นคือ 'บริษัท ชมพูภูคา จำกัด' ที่มีการสานต่อธุรกิจครอบครัว (Family Business) จากรุ่นสู่รุ่น โดยปัจจุบันทายาทธุรกิจคือ คุณปัทมพร วรรณวิภูษิต เข้ามาบริหารงานในตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ เป็นผู้ดูแลและสานต่อธุรกิจนี้แบบเต็มตัว

ปัทมพร วรรณวิภูษิต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมพูภูคา จำกัด
คุณปัทมพร ย้อนความหลังให้ฟังว่า ‘เครื่องเงินชมพูภูคา’ เริ่มต้นจากเมื่อ 26 ปีที่แล้ว โดยเป็นการรวมตัวกันของผู้ประกอบการกับช่างในจังหวัดน่านเพื่อจัดตั้งเป็นศูนย์รับซื้อและจำหน่ายเครื่องเงิน ถือเป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดน่าน
“เดิมทีเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว ชาวบ้านในชุมชนมีอาชีพเป็นเกษตรกรมีปัญหาเรื่องการทำไร่เลื่อนลอย ซึ่งขณะนั้นมีการปลูกฝิ่นเป็นหลักทำให้มีปัญหาเรื่องยาเสพติด พอเราก่อตั้งศูนย์ดังกล่าวขึ้นมา ทำให้ชาวบ้านมีอาชีพมีรายได้ เกษตรกรในชุมชนจึงหันมาทำเครื่องเงิน การทำไร่เลื่อนลอยและปัญหาเรื่องยาเสพติดจึงลดลงไปด้วย”
คุณปัทมพร เผยอีกว่า เครื่องเงินภายใต้แบรนด์ ‘ชมพูภูคา’ ถือเป็นหัตถกรรมที่มีชื่อเสียงของเมืองน่าน เป็นเครื่องเงินทำมือ เครื่องประดับที่มีมาแต่โบราณของชนเผ่าม้งและเมี่ยน ซึ่งเป็นชนเผ่าชาวเขาในพื้นที่สูงของจังหวัดน่าน ที่เชี่ยวชาญงานเครื่องเงินมาแต่ยุคโบราณ โดยลวดลายเครื่องเงินที่สลักลงลายมีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว (Unique) ซึ่งปัจจุบันมีการผลิตและจำหน่าย รวมถึงยังจัดตั้งเป็นศูนย์การเรียนรู้ และฝึกอาชีพให้ชาวบ้านในชุมชนกว่า 300 ครอบครัว มีอาชีพมีรายได้ที่มั่นคง

สร้างจุดเด่นเป็นจุดขาย ให้กับ ‘เครื่องเงินชมพูภูคา’
คุณปัทมพร อธิบายถึงผลิตภัณฑ์ของบริษัทว่า ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่ม 1 คือ ผู้ผลิตเครื่องเงินแบบดั้งเดิมของเมืองน่าน เช่น ขันเงิน เชี่ยนหมาก กลุ่ม 2 คือ ช่างชาวเขา เป็นเครื่องเงินในรูปแบบของชาวเขา และกลุ่ม 3 คือกลุ่มโรงงานมีทั้งชาวต่างชาติและคนไทยเข้ามาตั้งเป็นโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดน่าน
สำหรับจุดเด่นของ ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ คุณปัทมพร บอกว่า เป็นเครื่องเงินชาวเขาทีมีลวดลายธรรมชาติ ที่เป็นงานแฮนด์เมดทั้งหมด เป็นงานตอกลายที่มีความละเอียด โดยมีกระบวนการผลิตที่เหมือนทองคำที่เน้นคุณภาพ และรูปแบบปรับเปลี่ยนได้ตลอดเวลาเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า รวมถึงยังเน้นการผสมผสานระหว่างแบบสมัยใหม่กับแบบชาวเขาเข้าไว้ด้วยกัน ทำให้กลุ่มลูกค้า ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ ค่อนข้างกว้างและสินค้าเป็นที่ต้องการของตลาด

การันตีคุณภาพด้วยมาตรฐานระดับโลก
คุณปัทมพร เผยว่า ความพิเศษของ ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ คือ คุณภาพของเม็ดเงิน และปริมาณเม็ดเงินที่ใส่มากเป็นพิเศษ ทำให้เครื่องประดับมีความอ่อนนุ่ม ไม่แข็งจนเกินไป บวกกับฝีมือช่างที่มีประสบการณ์ยาวนาน เครื่องเงินของชมพูภูคาจึงมีชื่อเสียงมากในเรื่องความละเอียดและประณีต
“เครื่องประดับทุกชิ้นเป็นงานแฮนด์เมด โดยเฉพาะการตอกลาย ลวดลายมีความประณีต เม็ดเงินที่ใช้เป็นเม็ดเงินคุณภาพสูง ที่สำคัญมีธาตุเงินผสมอยู่ 94 - 98% มากกว่าที่มาตรฐานสากลกำหนดไว้ที่ 92.5% ซึ่งได้มาตรฐานระดับโลก”
เครื่องเงินของศูนย์ชมพูภูคา มีราคาขายโดยดูตามน้ำหนัก และความยากง่ายของลวดลาย วิธีเลือกซื้อเครื่องประดับที่เป็นเงินแท้ของจังหวัดน่าน ให้สังเกตว่าเครื่องเงินนั้นจะมีลักษณะไม่มันแวววาว เป็นเนื้อโลหะอ่อนโดยเฉพาะที่ตะขอ อีกทั้งน้ำหนักจะมากกว่าสแตนเลส ส่วนพื้นผิวเครื่องเงินจะมีความเรียบและประณีต เนื่องจากทำด้วยมือทั้งหมด

มูลค่าการขายต่อไม่เป็นข้อจำกัดของ ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’
สิ่งที่แตกต่างอีกที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของ ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ คือสามารถนำมาขายได้เหมือนทองคำโดย ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ สามารถเก็บเพื่อการลงทุนได้เหมือนทองเพราะมีราคากลางที่เป็นมาตรฐานขึ้นลงเหมือนทองคำ ซึ่งเครื่องเงินของ ‘ชมพูภูคา’ สามารถนำไปขายต่อที่อื่นได้ แต่หากนำมาขายคืนที่ ‘ชมพูภูคา’ จะได้ราคาที่สูงกว่าที่อื่น

พัฒนาดีไซน์ให้สอดรับกับยุคสมัย ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่
คุณปัทมพร เล่าว่า ในอดีตชาวเขาจะประดิษฐ์งานเครื่องเงินด้วยการทำมือทั้งหมด แต่ในปัจจุบันเรานำเครื่องมือมาใช้ในการทำงานมากขึ้น รวมถึงจ้างดีไซน์เนอร์มาช่วยในการออกแบบให้เครื่องเงินของ ชมพูภูคา มีความ Uniqe หรือมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากขึ้น รวมถึงความหลากหลายของกลุ่มลูกค้า ที่แบ่งเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ที่ต้องการความภูมิฐานกับคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเรียบง่ายแต่ดูดีสวมใส่ได้ทุกวัน


สำหรับการออกแบบลวดลายนั้น ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ จะคงลวดลายความเป็นชาวเขาไว้ให้เป็นเครื่องเงินที่มีความโบราณแต่เปลี่ยนแพตเทิร์นในการใช้งาน มีรูปแบบลวดลายที่ร่วมสมัยมากขึ้น เพื่อให้สวมใส่กับชุดได้หลากหลายโอกาสมากขึ้นให้มีความเท่ห์และทันสมัย แต่ยังคงลวดลายความเป็นชาวเขาซึ่งเป็นจุดแข็งของ ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’


การออกแบบต้องมีความหลากหลายในการใช้งานมากขึ้น เช่น สายคล้องหน้ากากอนามัย ที่เป็นเครื่องเงิน จะมีฟังก์ชันการใช้งานที่หลากหลาย สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับสายคล้องแว่นตาได้ หรือถ้าสถานการณ์โควิด 19 หมดไป ก็สามารถปรับเปลี่ยนเป็นสร้อยคอได้อีก ถือเป็นการสร้างฟังก์ชันการใช้งานเพื่อให้ผู้บริโภคใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุด ซึ่งสามารถใช้ได้ทุกวันเป็นเทรนที่กำลังมาแรง เพราะปัจจุบันลูกค้ามีการไตร่ตรองในการเลือกซื้อสินค้ามากขึ้น ทำให้สินค้าที่ผลิตออกมาต้องคำนึงถึงการใช้งานเป็นสำคัญด้วย

ปรับตัวจากหน้าร้านสู่การตลาดออนไลน์
คุณปัทมพร เปิดมุมมองเรื่องนี้ว่า ช่วงแรกที่ทำตลาดเครื่องเงินเราต้องการรองรับกลุ่มลูกค้านักท่องเที่ยวเท่านั้น แต่ปัจจุบันเราจะอาศัยให้นักท่องเที่ยวมาเที่ยวจังหวัดน่าน อาจเป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักเนื่องจากจังหวัดน่านไม่ใช่เมืองผ่าน ดังนั้นลูกค้าที่มาจังหวัดน่านจะต้องมีความตั้งใจที่จะมาเที่ยวจริงๆ บริษัทจึงปรับแนวคิดใหม่ นำเครื่องเงินมาจำหน่ายบนตลาดออนไลน์ เป็นการทำการตลาดออนไลน์เพื่อให้เข้าถึงผู้บริโภคง่ายขึ้น
กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมพูภูคา จำกัด ขยายความว่า ก่อนหน้านี้บริษัทมีสัดส่วนการขายหน้าร้านอยู่ที่ 70% อีก 20% เป็นการขายออนไลน์ และอีก 10% ส่งออกต่างประเทศ อาทิ อาร์เจนตินา และบราซิล เป็นต้น ขณะที่ปัจจุบัน ชมพูภูคา มีสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ผ่านตลาดออนไลน์ถึง 80% ในขณะที่ขายผ่านออฟไลน์เพียง 20% เท่านั้น
การเปลี่ยนไปสู่การทำตลาดออนไลน์ สิ่งที่เห็นได้ชัด คือยอดขาย จากที่เมื่อก่อนเราต้องรอลูกค้ามาที่ร้าน ถ้าไม่ใช่หน้าท่องเที่ยวก็จะเงียบมากๆ แต่หลังจากที่เรานำเครื่องเงินมาจำหน่ายผ่านช่องทางตลาดออนไลน์ เราสามารถขายสินค้าได้ทุกวันแล้วยอดขายก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากอดีตที่ขายหน้าร้านมียอดขายประมาณ 1.5 ล้านบาทต่อเดือน ปัจจุบันทำยอดขายผ่านตลาดออนไลน์ได้ถึงเดือนละ 4 - 6 ล้านบาทต่อเดือน ถือว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมากจากลูกค้า
สูตรสำเร็จการขาย ‘เครื่องเงิน’ ผ่านตลาดออนไลน์
คุณปัทมพร ให้มุมมองว่า การทำธุรกิจต้องมีการเรียนรู้และมีความตั้งใจและความมุ่งมั่น ที่สำคัญคือการเรียนรู้แล้วพัฒนาสินค้าอย่างต่อเนื่องเป็นหัวใจหลักของการทำธุรกิจ ถ้าเราหยุดนิ่งเมื่อไหร่ นั่นแปลว่าธุรกิจของเราก็หยุดตามไปด้วย ซึ่งการทำตลาดออนไลน์การทำโปรโมชั่นและการสร้างตัวตนให้ลูกค้าเชื่อถือและรู้จักล้วนเป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงการมีบริการหลังการขายที่ดี ส่วนช่องทางเราต้องศึกษาแพลตฟอร์มต่างๆ ให้มีความหลากหลาย
“ทุกวันนี้โลกการค้าเปลี่ยนไปมาก การตลาดออนไลน์สำคัญมาก เราไม่จำเป็นต้องอยู่กับที่ เราสามารถรุกเข้าหาลูกค้าได้ โดยที่ลูกค้าเองก็สามารถซื้อสินค้าของเราได้โดยที่ลูกค้าก็อยู่กับที่สินค้าก็สามารถไปถึงมือลูกค้าได้ถึงที่เหมือนกันโดยใช้สื่อออนไลน์ ทำให้ยอดขายเติบโตได้มากขึ้นจากเดิมสินค้าประเภทนี้จะมุ่งเน้นแต่การออกงานอีเวนต์เป็นหลักเพียงอย่างเดียว”

ใช้ ‘ไลฟ์สด’ สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้กับลูกค้า
คุณปัทมพร ขยายภาพว่า กลยุทธ์ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของการตลาดออนไลน์ คือ การพาลูกค้าทัวร์โดยใช้การ ‘ไลฟ์สด’ พาไปชมขั้นตอนการผลิต ได้เห็นหน้าร้านทำให้ลูกค้าได้เห็นถึงกระบวนการผลิต ที่มีความประณีต และพิถีพิถันในการสร้างชิ้นงาน ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือ และสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าได้อย่างมาก
“การขายสินค้าออนไลน์ หัวใจสำคัญคือการสร้างความน่าเชื่อถือและบริการหลังการขาย ขณะที่การไลฟ์สดสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดีเพราะเราสามารถนำไปดูสินค้าและกระบวนการผลิตทำให้ลูกค้าเกิดความเชื่อมั่นและไว้วางใจในผลิตภัณฑ์ของ ชมพูภูคา”

การเลือกโลจิสติกส์อย่ามองข้าม ถ้าคิดจะขายสินค้าออนไลน์
คุณปัทมพร การค้าขายออนไลน์ต้องมีการบริหารจัดการเรื่องโลจิสติกส์ให้เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง และมีระบบตรวจสอบการส่งสินค้า ดังนั้นระบบหลังบ้านจึงมีความสำคัญไม่ใช่เป็นเพียงการเปิดร้านค้าขายสินค้าออนไลน์เพียงอย่างเดียว ต้องให้ความสำคัญเรื่องระบบหลังบ้านจนถึงการส่งสินค้าถึงมือมือผู้บริโภค รวมไปถึงการแพ็กเกจจิ้งก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน เพราะเป็นสิ่งที่สามารถสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าตั้งแต่แรกเห็นได้

กรรมการผู้จัดการ บริษัท ชมพูภูคา จำกัด บอกถึง แนวโน้มการตลาดของบริษัทในอนาคตว่า บริษัทจะไม่ทิ้งการขายแบบออฟไลน์ เพราะ ‘เครื่องเงิน ชมพูภูคา’ ถือเป็นของฝาก ของที่ระลึกที่มีคุณค่าและมีชื่อเสียงของจังหวัดน่าน ดังนั้นหน้าร้านยังถือเป็นช่องทางที่สำคัญ
นอกจากนี้เรายังมีพิพิธภัณฑ์ชาวเขาเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาเรียนรู้ถึงที่มาที่ไปของสินค้าเรา ว่าวัตถุดิบได้มาจากไหน กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร พิพิธภัณฑ์จะบอกเรื่องราวเหล่านี้ได้ทั้งหมด แต่เป็นเหมือน Story ของชุมชน เป็นสินค้าที่ทรงคุณค่าของจังหวัดน่าน
สะท้อนให้เห็นว่าการค้าสมัยใหม่ ผู้ประกอบการ และ SME ต้องปรับตัวให้ทันต่อโลกการค้าที่เปลี่ยนแปลงไป หากรู้จักเรียนรู้และปรับตัวให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงก็สามารถพลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสได้ โดยที่ยังคงอัตลักษณ์ของตนเองเอาไว้ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย
รู้จัก ‘บริษัท ชมพูภูคา จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่