เตรียมพร้อมธุรกิจในยุคสังคมคาร์บอนต่ำ SME ต้องลงมือทำ ‘Carbon Footprint’ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย ESG

ESG
26/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 6291 คน
เตรียมพร้อมธุรกิจในยุคสังคมคาร์บอนต่ำ SME ต้องลงมือทำ ‘Carbon Footprint’ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย ESG
banner
การที่ธุรกิจจะมุ่งสู่การเป็นองค์กร Zero Carbon หรือองค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ จำเป็นต้องมีการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CarbonFootprint) ขององค์กร เป็นการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อให้ทราบแหล่งปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญขององค์กร ก่อนนำไปบริหารจัดการและวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่อไป เพื่อรับมือกับ Carbon Tax กฎกติกาการค้าเพื่อสิ่งแวดล้อม ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้นี้ 



ปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (Climate Change)

จากผลกระทบของภาวะโลกร้อน ทำให้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกตื่นตัวในการดำเนินงานเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Carbon Footprint for Organization: CFO หรือ Corporate Carbon Footprint: CCF) เป็นวิธีการประเภทหนึ่งในการแสดงข้อมูลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยจากการดำเนินงานขององค์กร อันจะนำไปสู่การกำหนดแนวทางการบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระดับหน่วยงาน บริษัท หรือโรงงานระดับอุตสาหกรรม และระดับประเทศ 

การจัดทำแนวทางการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ทั้งการผลิตและการบริการขององค์กรนั้นจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้กับผู้ประกอบการและธุรกิจของไทยให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และเป็นการเตรียมความพร้อมหากภาครัฐจำเป็นต้องมีรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse GasReporting) ขององค์กรต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย 


คาร์บอนฟุตพริ้นท์ คืออะไร?

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (CarbonFootprint) คือ ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วยตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มต้นตั้งแต่การได้มาของวัตถุดิบ การขนส่ง การประกอบชิ้นส่วน การใช้งาน จนถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยคำนวณออกมาในรูปแบบของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์

คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร คำนวณจากอะไรบ้าง

หมายถึง ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่างๆ ของทั้งองค์กร เช่น การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การใช้ไฟฟ้า การจัดการของเสีย และการขนส่ง วัดออกมาในรูปตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า โดยมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจาก 3 ส่วนหลัก แบ่งเป็น SCOPE ดังนี้..

1. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่างๆ ขององค์กรโดยตรง (Direct Emissions)  เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การใช้สารเคมีในการบำบัดน้ำเสีย การรั่วซึม/รั่วไหล จากกระบวนการหรือกิจกรรม เป็นต้น

2. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการใช้พลังงาน (Energy Indirect Emissions) ได้แก่ การซื้อพลังงานมาใช้ในองค์กร ได้แก่ พลังงานไฟฟ้า พลังงานความร้อน พลังงานไอน้ำ เป็นต้น

3. การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมด้านอื่นๆ เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การเดินทางไปสัมมนานอกสถานที่ การใช้วัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น



การวัดคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะต้องทำการพิจารณาจากกิจกรรม 2 ส่วนหลัก

1. การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางตรง (Primary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกจากการผลิต เช่น การใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลในกระบวนการผลิต และการขนส่งทั้งโดยรถบรรทุก ทางเรือ และทางอากาศ

2. การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อม (Secondary Footprint) เป็นการคำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการใช้ ตลอดจนการจัดการซากสินค้าหลังการใช้งาน



คาร์บอนฟุตพริ้นท์สำคัญอย่างไร 

สืบเนื่องจากพิธีสารเกียวโตที่ประเทศสมาชิกวางเป้าหมายที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกที่เป็นสาเหตุของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกลงให้ได้ร้อยละ 5.2 ภายในปี 2555 ทำให้เกิดการค้าคาร์บอนเครดิตขึ้น ซึ่งประเทศหรือองค์กรที่ไม่สามารถลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกได้ตามเป้าหมาย มีความจำเป็นต้องซื้อคาร์บอนเครดิตจากประเทศที่มีเครดิตเหลือ ผลของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมจึงเริ่มกลายเป็นธุรกิจการซื้อขายคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศ และเชื่อว่าจะมีมูลค่าการซื้อขายที่สูงขึ้นมาก โดยธุรกิจชนิดนี้จะแพร่กระจายเป็นวงกว้างในอนาคตอันใกล้นี้ 

ทำให้หลายประเทศสนใจการสร้างความตระหนักต่อปัญหาการเกิดสภาวะโลกร้อนทั้งในหมู่ผู้ผลิตและผู้บริโภค จนมีหลายประเทศให้ความสนใจในการศึกษาคิด ค้นฉลาก Carbon Footprint ขึ้น เพื่อบอกจำนวนก๊าซเรือนกระจกที่ผลิตภัณฑ์นั้นๆ ผลิตต่อหนึ่งหน่วยสินค้าโดยวิธีการคิด Carbon Footprint จะเริ่มตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบแล้วนำไปแปรรูปผลิต จนถึงการจัดจำหน่ายและย่อยสลาย ทำให้ผู้บริโภคทราบถึงความใส่ใจของผู้ผลิตต่อปัญหาโลกร้อน อีกทั้งยังสามารถสร้างความตื่นตัวในกลุ่มผู้บริโภคให้เลือกซื้อสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในขั้นตอนการผลิตน้อยกว่าสินค้าชนิดเดียวกันแต่ต่างตราสินค้า

โดยเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่จะติดบนสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่างๆ นั้น เป็นการแสดงข้อมูลให้ผู้บริโภคได้ทราบว่า ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์เหล่านั้นมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมาปริมาณเท่าไหร่ ตั้งแต่ขั้นตอนการได้มาซึ่งวัตถุดิบ กระบวนการผลิต การกระจายสินค้า การใช้งาน และการจัดการของเสียหลังหมดอายุการใช้งาน ซึ่งจะช่วยในการตัดสินใจชื้อของผู้บริโภค และกระตุ้นให้ผู้ประกอบการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีในการผลิตให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากยิ่งขึ้น 

นอกจากนี้ การทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกด้วย เนื่องจากขณะนี้ในหลายประเทศเริ่มมีการนำคาร์บอนฟุตพริ้นท์มาใช้กันแล้ว ทั้งในอังกฤษ ฝรั่งเศส สวิตเซอร์แลนด์ แคนาดา ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เป็นต้น และมีการเรียกร้องให้สินค้าที่นำเข้าจากประเทศไทยต้องติดเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ด้วย นอกจากนั้น หากไทยมีการดำเนินโครงการและเก็บข้อมูลการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ชัดเจน จะช่วยให้เรามีอำนาจในการต่อรองมากขึ้นในการประชุมระดับโลกเพื่อกำหนดแนวทางแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน



ทำไม? ผู้ประกอบการและ SME ไทย ต้องทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์
– เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) 
– ต้องการทราบข้อมูลแหล่งปล่อยพลังงาน
– นโยบายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนของบริษัท ทั้งบริษัทแม่ในต่างประเทศและบริษัทตัวเอง
– เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันสำหรับสินค้าส่งออก
– เตรียมความพร้อมของข้อมูลเพื่อรับมือเงื่อนไขการค้าที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอย่างเช่น ภาษีคาร์บอน
– ถูกร้องขอจากคู่ค้าในต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศ EU 
– ถูกร้องขอตามซัพพลายเชน เช่น การใช้กล่องกระดาษแทนกล่องพลาสติก 
– ช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันและความยั่งยืน (Sustainability) ให้กับธุรกิจ



ประโยชน์ของการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์

1. ทำให้องค์กรทราบถึงปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกิจกรรมต่างๆ ขององค์กร ทำให้วางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างตรงจุด และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

2. การวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จะนำไปสู่การลดค่าใช้จ่ายให้องค์กรได้จากการลดการใช้พลังงาน และการใช้ทรัพยากรธรรมชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

3. เป็นการเตรียมความพร้อมในการรับมือกับมาตรการ Non-Tariff Barriers (NTBs) หรือการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น ภาษีคาร์บอนและมาตรการต่อต้านการทำลายสิ่งแวดล้อม การใช้ฉลากอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

4. ความได้เปรียบทางการค้าขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อม ที่เป็นจุดแข็งทั้งในประเทศและนานาชาติ ซึ่งต่างเห็นว่าภาวะโลกร้อนเป็นเรื่องเร่งด่วน และสามารถตรวจวัดเป็นตัวเลขได้

5. ตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้า ที่อยู่ใน Supply Chain ที่ต้องการสินค้าหรือคู่ค้าที่มีความใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อม และภาวะโลกร้อน

6. สามารถนำไปขายเป็นคาร์บอนเครดิต หรือทำการชดเชยคาร์บอนกับองค์กรอื่นๆ ได้

7. สามารถนำข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainability) ของบริษัท เพื่อตอบคำถามนักลงทุนได้

8. สามารถต่อยอดและพัฒนาโครงการไปสู่อนาคต โดยการขยายผลการประเมินก๊าซเรือนกระจกขององค์กร เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ได้การรับรองฉลากลดโลกร้อน, โครงการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ, โครงการสนับสนุนกิจกรรมลดก๊าซเรือนกระจก, โครงการ Care the Bear Change the Climate Change ลดโลกร้อนกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เป็นต้น

9. ทำให้สามารถสื่อสารและเข้าใจในระดับสากลทั่วโลกได้ เช่น การลดปริมาณกระดาษ การลดขยะและคัดแยกขยะ การประหยัดไฟที่องค์กรดำเนินการไปนั้น เท่ากับองค์กรช่วยลดโลกร้อนได้เท่าไหร่

10. เป็นการแสดงความรับผิดชอบขององค์กร ตามหลักการ ESG (Environmental, Social, Governance) ที่โปร่งใส และใส่ใจสิ่งแวดล้อม ซึ่งสามารถนำไปรายงานให้กับลูกค้า และตลาดหลักทรัพย์ด้านความยั่งยืน (Sustainability) ขององค์กรได้

อยากขึ้นทะเบียน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ ต้องทำอย่างไร

มาถึงตรงนี้ ผู้ประกอบการและ SME คงเริ่มเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการจัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรกันบ้างแล้ว ซึ่งหากสนใจอยากขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ก็สามารถทำได้โดยมีขั้นตอนดังนี้


1. บริษัทต้องเลือกผลิตภัณฑ์ที่ต้องการทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์

2. ดาวน์โหลดใบสมัครจากเว็บไซต์ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก หรือ อบก.

3. บริษัทจะคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ด้วยตนเองหรือจ้างที่ปรึกษาก็ได้

4. บริษัทหรือที่ปรึกษารวบรวมและจัดทำข้อมูล
-Verification Sheet
-ข้อกำหนดเฉพาะของผลิตภัณฑ์
-Slide Presentation

5. บริษัทคัดเลือกผู้ทวนสอบที่ขึ้นทะเบียนกับ อบก. 1 ท่าน

6. บริษัทจัดส่งเอกสารที่จัดทำข้อมูลให้ผู้ทวนสอบ

7. ผู้ทวนสอบผลการคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์

8. ถ้าผลสอบผ่าน ผู้ทวนสอบลงนามใบรับรองและจัดส่งเอกสารให้ อบก.

9. อบก. ตรวจสอบเอกสาร 

10. ถ้า อบก.พิจารณาอนุมัติก็จะขึ้นทะเบียนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ โดยฉลากมีอายุ 2 ปี มีค่าใช้จ่าย 8,500 บาทต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ 

หลักการประเมินผลคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร 

การแสดงผลปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยและดูดกลับจากกิจกรรมขององค์กร หรือค่าคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร จะต้องมีองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญ 5 ประการ ได้แก่..

1.ความตรงประเด็น (Relevance) มีการเลือกแหล่งปล่อยและแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก รวมถึงแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยข้อมูล และวิธีการวัด คำนวณปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เก็บรวบรวมหรือประเมินได้ ควรสะท้อนถึงปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นทั้งหมดภายในองค์กร

2.ความสมบูรณ์ (Completeness) ปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่ทำการเก็บรวบรวมหรือประเมินได้ ควรเป็นปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกจากทุกกิจกรรมทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในองค์กร

3.ความไม่ขัดแย้งกัน (Consistency) ข้อมูลที่เก็บรวบรวมหรือคำนวณได้เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันแล้ว ต้องไม่ขัดแย้งกัน

4.ความถูกต้อง (Accuracy) ลดความไม่แน่นอนในการรวบรวมหรือคำนวณปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด

5. ความโปร่งใส (Transparency) มีการเปิดเผยข้อมูลที่รวบรวมหรือคำนวณปริมาณการปล่อยและดูดกลับก๊าซเรือนกระจกที่เพียงพอ และเหมาะสมสามารถตรวจสอบได้เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจด้วยความเชื่อมั่น

‘ฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์’ กับโอกาสทางการตลาด

ปัจจุบันผู้บริโภคเริ่มหันมาสนใจซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ดังนั้นข้อมูลฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จึงเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจซื้อและใช้พิจารณาข้อมูลว่าผู้ผลิตรายนั้นๆ ได้ใส่ใจต่อการลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะส่งผลดีต่อภาพลักษณ์ขององค์กร ช่วยสร้างความโดดเด่นให้แก่แบรนด์สินค้าของตนให้เป็นที่ยอมรับอย่างแพร่หลาย อีกทั้งช่วยลดต้นทุนด้านพลังงานของภาคการผลิตด้วย

จากข้อมูลของ Businessconnectionknowledge.blogspot.com อธิบายว่า การแสดงข้อมูลปริมาณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ มีลักษณะคล้ายกับป้ายบอกจำนวนแคลอรีและสารอาหาร ในสหรัฐอเมริกาแบ่งรูปแบบของฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

ฉลาก Low-Carbon Seal เป็นฉลากประเภทที่ไม่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติด ดังนั้นผู้บริโภคจะไม่ทราบปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในภาคการผลิตสินค้า

ฉลาก Carbon Score เป็นฉลากประเภทที่มีจำนวนคาร์บอนฟุตพริ้นท์ติดไว้บนตัวผลิตภัณฑ์ ดังนั้นผู้บริโภคจะสามารถเปรียบเทียบข้อมูลปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกภาคการผลิตสินค้า ระหว่างสินค้าแต่ละชนิด หรือชนิดเดียวกัน เพื่อเปิดให้ผู้บริโภคใช้เป็นข้อมูลเพื่อเลือกซื้อสินค้าที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

ฉลาก Carbon Rating มีลักษณะคล้ายกับฉลากประหยัดพลังงาน (ซึ่งนิยมใช้รูปแบบนี้ในสหภาพยุโรป) โดยฉลากคาร์บอนประเภทนี้จะแบ่งกลุ่ม โดยใช้สัญลักษณ์เป็นรูปดาวจาก 1 ถึง 5 ดาว หากสินค้าใดได้ดาวจำนวนมาก หมายถึง สินค้าชนิดนั้นๆ มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าสินค้าที่ได้ดาวน้อยดวง

แล้วฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของไทย มีแบบไหนบ้าง

จากข้อมูลขององค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (อบก.) กล่าวถึงการส่งเสริมการใช้คาร์บอนฟุตพริ้นท์ว่าภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมในฐานะผู้ผลิต รวมถึงภาคครัวเรือนในฐานะผู้บริโภคควรร่วมกันผลักดันให้เกิดการผลิตและบริโภคสินค้าและบริการที่ช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้บริโภคมีข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผลิตภัณฑ์ อบก. จึงได้กำหนดมาตรฐานฉลาก หรือเครื่องหมายคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ที่ติดบนผลิตภัณฑ์เพื่อประกอบการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค

สำหรับประเทศไทย องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกและสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยร่วมกันกำหนดมาตรฐานฉลากคาร์บอน โดยกำหนดเป็น 5 สี 5 เบอร์ ได้แก่..

ฉลากคาร์บอน เบอร์ 1 ฉลากสีแดง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 10%

ฉลากคาร์บอน เบอร์ 2 ฉลากสีส้ม แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 20%

ฉลากคาร์บอน เบอร์ 3 ฉลากสีเหลือง แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 30%

ฉลากคาร์บอน เบอร์ 4 ฉลากสีน้ำเงิน แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 40%

ฉลากคาร์บอน เบอร์ 5 ฉลากสีเขียว แสดงว่าสินค้าที่เกิดจากกระบวนการผลิตที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่ากับ 50%



ยกตัวอย่าง แบรนด์ไทยที่จัดทำคาร์บอนฟุตพริ้นท์ อย่าง ผลิตภัณฑ์ของ ‘ดอยตุง’ ที่ได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ 4 ชนิด ได้แก่ กาแฟคั่วบดบรรจุถุงสูตรคลาสสิคโรสต์, แมคคาเดเมียนัทอบบรรจุถุงรสเกลือ, แก้วเซรามิกลายหน้าชาวเขา และกระดาษสาไทยแบบไม่ฟอก
 
โดยองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก ระบุว่า ประเทศไทยถือว่าเป็นที่หนึ่งในอาเซียนที่มีการติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นชาติที่ 3 ในทวีปเอเชียต่อจากญี่ปุ่นและเกาหลีใต้โดยฉลากที่ติดบนผลิตภัณฑ์ดอยตุงใน 4 ชนิดนี้จะมีอายุ 2 ปีต่อ 1 ผลิตภัณฑ์ ซึ่งการได้รับฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์จะเป็นการเพิ่มศักยภาพทางการตลาดให้กับผู้ผลิต ขณะที่ผู้บริโภคที่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่ติดฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์อย่างของดอยตุงก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันลดโลกร้อน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ แสดงให้เห็นถึงประโยชน์จากการประเมินคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการรับรองคาร์บอนฟุตพริ้นท์ เป็นการตอบโจทย์องค์กรตามเป้าหมายด้านความยั่งยืน (Sustainability) ด้วยแนวคิด ESG ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงความรับผิดชอบต่อ สังคม และสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ผ่านตัวเลขที่ตรวจวัดและประเมินออกมาในรูปแบบของคาร์บอนฟุตพริ้นท์ ซึ่งทำให้เราสามารถตรวจวัดติดตามประเมินผล และดำเนินการบริหารจัดการให้ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงได้จริง 

ที่มา :
http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=YjNKbllXNXBlbUYwYVc5dVgybHo
http://thaicarbonlabel.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y0hKdlpIVmpkSE5mYVhNPQ
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) แนวทางการประเมิน คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร https://shorturl.asia/jIYqp
https://www.ditp.go.th/contents_attach/85573/85573.pdf
https://www.ftpi.or.th/2015/5056
https://mgronline.com/qol/detail/9550000024338

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2409 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3812 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3447 | 18/03/2024
เตรียมพร้อมธุรกิจในยุคสังคมคาร์บอนต่ำ SME ต้องลงมือทำ ‘Carbon Footprint’ สู่ธุรกิจที่ยั่งยืนด้วย ESG