เปิดพิมพ์เขียว! มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19

SME in Focus
15/05/2020
รับชมแล้วทั้งหมด 2272 คน
เปิดพิมพ์เขียว! มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19
banner

จากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่ยังมีความไม่แน่นอนของการสิ้นสุดการระบาด และแนวโน้มการหดตัวของเศรษฐกิจโลกย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเป็นวงกว้าง โดยเฉพาะการจ้างงาน การประกอบอาชีพของประชาชน และการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ด้วยเหตุนี้หลายๆ ธุรกิจต่างเฝ้าจับตาถึงมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจของภาครัฐ ที่จะอัดฉีดงบประมาณกระจายสู่ทุกอณูของภาคธุรกิจ เพื่อสตาร์ทเครื่องยนต์เศรษฐกิจภายในประเทศให้กลับมาขับเคลื่อนอย่างเต็มกำลังอีกครั้ง

ล่าสุดเมื่อมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท ที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ได้มีมติเห็นชอบแล้วในคราวประชุม ครั้งที่ 3/2563 ตามที่คณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอสาระสำคัญของกรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ

ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme 


กำหนด 3 หลักการในการฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศ

1. ฟื้นฟูและสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศเป็นหลัก : โดยให้ความสำคัญต่อสาขาเศรษฐกิจของประเทศที่ยังคงมีความได้เปรียบ และมีโอกาสที่จะสร้างการเติบโตให้กับประเทศในช่วงหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เช่น เกษตรอัจฉริยะ เกษตรมูลค่าสูง เกษตรแปรรูป อุตสาหกรรมอาหาร Bio- Economy การท่องเที่ยวที่เน้นคุณภาพและความยั่งยืน อุตสาหกรรมการให้บริการ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ รวมทั้งให้ความสำคัญต่อกิจกรรมและธุรกิจชุมชนที่มีศักยภาพและโอกาส

2. เกิดการสร้างงานและสร้างอาชีพ : สามารถรองรับแรงงานส่วนเกินที่อพยพกลับท้องถิ่นและชุมชน มุ่งเน้นการบูรณาการระหว่างหน่วยงานทั้งในด้านกำลังคน แผนงานโครงการ และการลงทุน

3. มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในพื้นที่และภาคส่วนอื่นๆ ในสังคม : เช่น ภาคเอกชน มูลนิธิ และภาควิชาการ

 

4 หลักเกณฑ์การใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท

ด้านการใช้จ่ายเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ภายใต้พระราชกำหนดควรต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการแพร่ระบาดในแต่ละช่วงเวลา โดยมีแนวทางการดำเนินการ ดังนี้

1. ขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศบนหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูเศรษฐกิจระหว่างภาครัฐ ภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาชน

2. สร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจและสังคมภายในประเทศ ให้สามารถรองรับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป อาทิ การสร้างความมั่นคงทางอาหาร เวชภัณฑ์ พลังงาน ดิจิทัล ระบบโลจิสติกส์

3. ปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาการส่งออกและนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเชิงปริมาณไปสู่การผลิตสินค้าและบริการที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น และการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพมากขึ้น

4. สร้างระบบการเรียนรู้สำหรับประชาชนในการพัฒนา/ปรับเปลี่ยนทักษะ ให้สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต

 

กำหนด 8 กลุ่มเป้าหมาย โครงการที่เข้าข่ายการฟื้นฟู

กรอบนโยบายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในด้านต่างๆ วงเงิน 400,000 ล้านบาท กลุ่มเป้าหมาย ประกอบด้วย ประชาชน เกษตรกร/สถาบันเกษตรกร ชุมชน/วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการ แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 นิสิตนักศึกษาที่อยู่ระหว่างการเรียนและผู้ที่จบการศึกษาที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน แรงงานในระบบและนอกระบบ และผู้ว่างงาน

ด้านหลักเกณฑ์ของโครงการที่เข้าข่ายการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม

1. โครงการที่มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีฯ

2. การดำเนินโครงการที่ยึดหลักธรรมาภิบาลของการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพ (Effectiveness) ประสิทธิผล (Efficiency) การตอบสนองความต้องการ (Responsiveness) ของประชาชนและชุมชนในพื้นที่ การกระจายทรัพยากรอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมทั้งในระดับพื้นที่และกลุ่มเป้าหมาย(Equity) ความยั่งยืนของการดำเนินการ (Sustainability) ความโปร่งใส (Transparency) การป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นและการตรวจสอบได้ (Accountability) โดยจะต้องมีการรายงานผลการดำเนินงานที่เปิดเผยต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้ข้อ 1 และ 2 จะต้องมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้

3. โครงการที่สามารถสร้างการจ้างงาน สร้างอาชีพในชุมชน การพัฒนาเพิ่มมูลค่าของผลิตภัณฑ์ในชุมชน การเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ของชุมชนกับตลาดภายในประเทศและระหว่างประเทศ

4. โครงการที่เป็นการเพิ่มศักยภาพในสาขาการผลิต การบริการที่ยังคงมีความได้เปรียบและเป็นที่ต้องการของตลาด รวมทั้งมีโอกาสในการเติบโตในช่วงหลังจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยพิจารณานำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (BCG) มาใช้ประโยชน์ในการดำเนินงาน

5. โครงการที่สามารถกระตุ้นการบริโภค และการผลิตภายในประเทศในช่วงครึ่งหลังของปี 2563

6. โครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถตอบสนองความต้องการของชุมชน และสนับสนุนการเพิ่มศักยภาพของภาคการผลิตและภาคการบริการของประเทศ


พัฒนาเกษตร-อุตสาหกรรม การค้า/ลงทุน-ท่องเที่ยว/บริการ

แผนงานหรือโครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพ และยกระดับการค้า การผลิต และการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ โดยครอบคลุมภาคเกษตรกรรม อุตสาหกรรม การค้าและการลงทุน ท่องเที่ยวและบริการ

ภาคเกษตรกรรม : เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มตลอดห่วงโซ่ โดยประยุกต์ใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการผลิต วางระบบกระบวนการผลิตที่ถูกสุขลักษณะและความปลอดภัย

ปรับระบบการทำการเกษตร โดยส่งเสริมให้เกษตรกรที่มีศักยภาพปรับรูปแบบการทำการเกษตรไปสู่การทำเกษตรอัจฉริยะ และเชื่อมโยงการผลิตภาคการเกษตรให้สามารถเข้าสู่เกษตรอุตสาหกรรม โดยประยุกต์ใช้เครื่องจักรกลเกษตรและเทคโนโลยีเกษตรแม่นยำในกระบวนการผลิต เพื่อปรับระบบการผลิตสู่เกษตรสมัยใหม่ ทั้งนี้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมให้มีการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่สามารถผลิตได้ภายในประเทศเป็นหลัก

สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตร โดยการให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณภาพสินค้า Premium และความหลากหลายผลิตภัณฑ์ รวมทั้งการส่งเสริมให้เกษตรกรสามารถค้าขายออนไลน์ผ่านตลาด e-Commerce ทั้งที่เป็น e-Marketplace หรือ Social Commerce ด้วยต้นทุนการขนส่งและการตลาดที่แข่งขันได้

ภาคอุตสาหกรรม การค้า/การลงทุน : ฟื้นฟูอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัส โดยทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน สนับสนุนการใช้เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัยมาใช้ในกระบวนการผลิต และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่พัฒนาเขตเศรษฐกิจต่างๆ ตามนโยบายของรัฐ สร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาทักษะแรงงาน ให้สามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง ขยายการจัดตั้งศูนย์วิเคราะห์และทดสอบผลิตภัณฑ์ (Testing Center) ในภาคอุตสาหกรรมสำคัญ

ภาคท่องเที่ยวและบริการ : มุ่งเน้นการท่องเที่ยวเชิงคุณภาพ (Responsible Tourism) อุตสาหกรรมการให้บริการ (Hospitality Industry) และเศรษฐกิจสร้างสรรค์โดยปรับปรุงและฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวและสิ่งอำนวยความสะดวกในเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อยกระดับคุณภาพแหล่งท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้องให้ได้มาตรฐานสากล รวมทั้งมาตรฐานด้านสาธารณสุขและด้านความปลอดภัยของนักท่องเที่ยว เพื่อให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยด้านสุขภาพ

พัฒนาระบบการบริหารจัดการที่สอดคล้องกับความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (Carrying Capacity) ของแหล่งท่องเที่ยว สร้างและยกระดับแหล่งท่องเที่ยวใหม่ให้เป็นแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยว รวมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการให้บริการ และฝึกอบรมและพัฒนาผู้ประกอบการ ตลอดจนพัฒนาฝีมือแรงงานในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมการให้บริการให้มีความพร้อมในการให้บริการ

ทั้งนี้เพื่อให้การดำเนินโครงการภายใต้แผนงาน หรือโครงการลงทุนและกิจการการพัฒนาที่สามารถพลิกฟื้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจฯ เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญในการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ อาจกำหนดให้มีรูปแบบการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ และผู้ประกอบการภาคเอกชนที่ประสบความสำเร็จในแต่ละด้าน เพื่อทำหน้าที่พี่เลี้ยงถ่ายทอดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ

 

ยกระดับ OTOP – ท่องเที่ยวชุมชน

ด้านแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน โดยการส่งเสริมให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชน โดยการสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เกิดขึ้นในท้องถิ่นชุมชน ประกอบด้วย

- พัฒนาสินค้าและบริการของชุมชน  ได้แก่ การปรับปรุง ส่งเสริมเกษตรกรรมตามแนวเศรษฐกิจพอเพียง/เกษตรผสมผสาน เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับเกษตรกรรายย่อย และพัฒนาสินค้าชุมชน (OTOP) การท่องเที่ยวชุมชน และบริการที่เกี่ยวเนื่องบนแนวคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ โดยสนับสนุนปัจจัยการผลิต พัฒนากระบวนการผลิต การแปรรูป และการใช้นวัตกรรม ด้วยการสนับสนุนจากหน่วยงานและสถาบันการศึกษา รวมถึงการรวมกลุ่มกันดำเนินกิจกรรมของชุมชน เพื่อนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้อย่างยั่งยืน

- พัฒนาการตลาดและสิ่งอำนวยความสะดวก  โดยส่งเสริมพัฒนาการตลาดตามแนวทางความปกติใหม่ (New Normal) ที่มีการรักษาระยะห่าง การรักษาความสะอาด และการป้องกันโรคติดต่ออย่างเคร่งครัด และส่งเสริมการเปิดตลาดสู่ภายนอกโดยใช้ระบบการตลาดออนไลน์ รวมทั้งการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็น เพื่อส่งเสริมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของชุมชนและเศรษฐกิจแบบแบ่งปัน (Sharing Economy)

- พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและส่งเสริมสาธารณประโยชน์ระดับชุมชน  ได้แก่ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชุมชนเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจและยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมทั้งเป็นแหล่งจ้างแรงงาน

- ส่งเสริมและพัฒนาทักษะฝีมือแรงงาน  โดยให้หน่วยงาน องค์กร และสถาบันการศึกษาสนับสนุนการถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายและชุมชน

- เกิดการฟื้นฟูและพัฒนาท้องถิ่นของตนเอง  โดยดึงดูดคนรุ่นใหม่ ผู้ประกอบการที่มีความรู้และศักยภาพกลับคืนถิ่นเพื่อไปประกอบกิจการในท้องถิ่นของตนเอง

 

อัดแพ็กเกจภาษีกระตุ้นจับจ่าย

ด้านแผนงานหรือโครงการเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือนและเอกชน ได้มีการจัดทำมาตรการด้านภาษีและหรือมิใช่ภาษี เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนซื้อสินค้าและบริการจากผู้ประกอบการรายย่อย การใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศเป็นหลัก และการท่องเที่ยวภายในประเทศในช่วงหลังจากสถานการณ์การระบาดยุติแล้ว

 

ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน

รวมทั้งแผนงานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานผ่านการดำเนินโครงการ หรือกิจกรรมเพื่อสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานและสนับสนุนกระบวนการผลิตเพื่อการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป โดยมุ่งเน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจทางด้านการค้า การลงทุน การผลิตและการบริการในสาขาเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ รวมถึงเศรษฐกิจท้องถิ่นและชุมชน ให้เป็นไปอย่างสะดวก ปลอดภัย มีมาตรฐานบนต้นทุนที่แข่งขันได้ ได้แก่

- การพัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำและระบบชลประทาน  โดยการพัฒนาแหล่งกักเก็บน้ำทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก น้ำบาดาลที่มีความพร้อมในการดำเนินการ ซึ่งนอกจากจะเป็นการช่วยภาคการเกษตรให้มีน้ำใช้เพียงพอต่อการเพาะปลูกแล้ว ยังเป็นการกระจายเม็ดเงินลงทุนไปในพื้นที่ต่างๆ และจะเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณการกักเก็บน้ำของประเทศเพื่อรองรับในกรณีภัยแล้ง และอุทกภัยในอนาคตได้ด้วย

- การพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งและโลจิสติกส์  โดยการพัฒนา/ปรับปรุงโครงข่ายคมนาคมในรูปแบบต่างๆ ให้สามารถเชื่อมโยงการเดินทางและขนส่งสินค้าจากชุมชน/ท้องถิ่น สู่ประตูการค้าหรือจุดต้นทางการเดินทางที่สำคัญของประเทศได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และมีต้นทุนลดลง การพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ ศูนย์รวบรวมและกระจายสินค้า โดยให้ความสำคัญกับโครงการที่ช่วยสนับสนุนให้สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างเป็นรูปธรรม


แพลตฟอร์มดิจิทัลในครัวเรือน-วิสาหกิจชุมชน

โครงการพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาครัฐและภาคเอกชน เกิดการวิจัยและพัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มภายในประเทศในลักษณะบูรณาการ ทั้งในส่วนของการศึกษาและการเรียนรู้ตลอดชีวิต การประกอบอาชีพของประชาชนทั้งในระดับครัวเรือน วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม

รวมถึงรองรับการประกอบธุรกิจในภาคการผลิตและภาคบริการในรูปแบบใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีการสื่อสาร 5G เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตในอนาคต ตอบสนองต่อความต้องการใช้งานของทุกภาคส่วน ครอบคลุมและทั่วถึง โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบการค้าออนไลน์ภายในประเทศ ที่สามารถเชื่อมโยงกับระบบโลจิสติกส์ภายในประเทศ เพื่อให้ประชาชน ผู้ประกอบการ ชุมชนหรือวิสาหกิจชุมชนสามารถใช้ประโยชน์ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยตรงและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลผลิตของชุมชน

 

สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<


ฉายภาพประเทศไทย 4 ระยะหลังเผชิญวิกฤตการณ์โควิด-19

ตราบที่ไม่มีวัคซีนป้องกันโควิค-19 การค้าโลกจะไม่ดีขึ้น


Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
43 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
174 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
776 | 17/04/2024
เปิดพิมพ์เขียว! มาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจจากพิษ COVID-19