ในปี 2019
จีนมีมูลค่าการนำเข้าสินค้าอาหารเพื่อสุขภาพ 3,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.8% เมื่อเทียบกับปีก่อน
เทรนด์สำคัญที่รองลงมาคือเรื่องนวัตกรรมและความแปลกใหม่ของรสชาติและรูปแบบสินค้า ด้วยผู้บริโภคจีนมีความเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าอาหารและเครื่องดื่มจากประเทศไทย
แต่สินค้าไทยในตลาดจีนยังขาดในเรื่องของนวัตกรรมที่จะสร้างความแตกต่างและจุดเด่นให้สินค้า
จุดนี้จึงเป็นความท้าทายของผู้ประกอบการไทย ที่ต้องใช้นวัตกรรมมาพัฒนาสินค้าไทยให้มีความแปลกใหม่
แตกต่าง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ของผู้บริโภคจีนได้
ทั้งนี้ Foodaily เว็บไซต์ด้านอาหารชื่อดังในจีน ได้ออกรายงาน 6 เทรนด์อาหารและเครื่องดื่มที่กำลังมาแรงในตลาดจีน โดยมีรายการดังนี้
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
1. อาหารและเครื่องดื่มที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ
จำนวนชั่วโมงนอนหลับต่อคืนสำหรับผู้บริโภคชาวจีนในเมืองหลักนั้นเฉลี่ยเพียง
6.5 ชั่วโมงต่อคืน ต่ำกว่าจำนวนชั่วโมงการนอนในปี 2013
ถึง 26% ดังนั้นผู้บริโภคจึงต่างมองหาตัวช่วยมาบำรุงร่างกาย
ทดแทนเวลานอนที่น้อยลงไป ผลิตภัณฑ์ที่กำลังได้รับความนิยมในตลาด คือนมที่ช่วยเรื่องการนอนหลับ
โดยใส่สาร GABA, สารสกัดจากดอกคาโมไมล์, สาร L-Theanine จากใบชา และสารสกัดจากเมล็ดพุทรา
ล่าสุด Coca-Cola บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ
เริ่มเข้ามาเล่นในตลาดนี้แล้ว
แต่ไม่ใช่เพียงแค่เครื่องดื่มที่ช่วยในการนอนหลับเท่านั้น Coca-Cola ยังเน้นไปที่กลุ่มผู้หญิงที่ให้ความสำคัญของการนอนหลับเพื่อผิวและความงาม
โดยได้เปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่มีส่วนผสมจากสมุนไพรจีน, GABA และคอลลาเจน
เพื่อเจาะกลุ่มผู้หญิงที่นอนดึกแต่ยังต้องการตัวช่วยในการบำรุงผิวพรรณ
2. ชาและกาแฟที่มาในนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ
ผู้บริโภคจีนมีความชื่นชอบการดื่มชาเป็นพิเศษ
แต่ในขณะเดียวกันตลาดกาแฟของจีนก็กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว วัฒนธรรมการดื่มกาแฟกำลังเป็นเทรนด์ใหม่ในหมู่ผู้บริโภคหนุ่มสาวจีน
เมื่อชื่นชอบดื่มทั้งชาและกาแฟ จึงทำให้ผู้ผลิตสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ใหม่ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคที่ชื่นชอบทั้งชาและกาแฟ
อาทิ กาแฟสกัดเย็นผสมชาอู่หลงลูกพีชแบรนด์หยงผู่ กาแฟสกัดเย็นผสมชา เขียวมะลิแบรนด์ยิงจี๋
เป็นต้น และอีกหนึ่งเทรนด์ที่มาใหม่คือ ชา DIY โดยแบรนด์ชาชื่อดัง HEYTEA เพิ่งเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เซ็ตชาอู่หลงชีส
DIY สำหรับชงดื่มที่บ้านด้วยตนเอง
โดยในเซ็ตประกอบด้วยถ้วยถุงชา น้ำตาล ผงชีส วุ้นมะพร้าว และอุปกรณ์ชงชา
3. เนื้อสัตว์ทำจากพืช
ในเดือนเมษายน 2020 ที่ผ่านมานี้แบรนด์อาหารและเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่ระดับโลกอย่าง
Starbucks, KFC และ Papa John’s ได้เปิดตัวเมนูเนื้อสัตว์ทำจากพืช
อาทิ ลาซานญ่าเนื้อ พาสต้าเนื้อซอสเพสโต้จาก Starbucks แต่เนื้อสัตว์ทำจากพืชไม่ใช่เทรนด์ใหม่มาแรงแค่เพียงเมนูอาหารจากต่างชาติเท่านั้น อาหารจีนเองก็ได้นำเนื้อสัตว์ทำจากพืชมาเป็นจุดขายใหม่ รวมถึงสินค้าอาหารว่างและขนมขบเคี้ยวเองก็มีสินค้าใหม่ออกมาทดลองตลาด
4. อาหารเช้า
มื้อที่สำคัญที่สุดของวัน
จีนเป็นประเทศที่มีวัฒนธรรมการทานอาหารเช้า
ผู้บริโภคจีนให้ความสำคัญกับอาหารเช้า แต่เนื่องจากวิถีชีวิตที่เร่งรีบ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันทำงานที่การนั่งทานอาหารเช้าก่อนไปทำงานกลายเป็นเรื่องที่สิ้นเปลืองเวลา
แบรนด์ต่างๆ จึงนำเสนอผลิตภัณฑ์อาหารเช้าที่สะดวก รวดเร็ว
แต่ยังคงมีคุณค่าทางโภชนาการและรสชาติอร่อย ข้อมูลจาก Nielsen แสดงให้เห็นว่าในปี 2018 อาหารเช้าประเภทซีเรียลมีส่วนแบ่งทางตลาด
4.1% สูงขึ้น 4 เท่าจากปี2017 ผู้บริโภคจีนให้ความนิยมเลือกทานซีเรียลเป็นอาหารเช้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เพราะความสะดวกสบายในการทาน และคุณประโยชน์ที่ดีต่อสุขภาพของธัญพืช
5. อาหารที่มีกากใย ดีต่อลำไส้ใยและโปรไบโอติก
การทำงานที่มีการแข่งขันกันสูง ทำให้ผู้บริโภคจีนต้องทำงานล่วงเวลา
และมีวิถีชีวิตที่ไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น กินอาหารไม่เป็นเวลา กินอาหารจากร้านสะดวกซื้อ
ส่งผลให้ได้โภชนาการที่ไม่ครบถ้วน เกิดปัญหาระบบทางเดินอาหาร ทำให้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผู้บริโภคจีนมีความนิยมบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีโปรไบโอติก
บำรุงระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะโยเกิร์ตที่ต้องเก็บในอุณหภูมิต่ำ
และเครื่องดื่มกรดแลคติค เป็นสองผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมสูงที่สุดในตลาด
ผู้เล่นในตลาดมีการใช้นวัตกรรมพัฒนาสินค้ารูปแบบใหม่ๆ ออกมาเสมอ และนอกจากโปรไบโอติกแล้ว
ผู้บริโภคจีนยังนิยมบริโภคอาหารและเครื่องดื่มเพื่อเพิ่มกากใย
6.
รสชาติที่แปลกใหม่ของขนมจากทั่วทุกมุมโลก
รสชาติที่แปลกใหม่ยังคงเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับผู้บริโภคในการเลือกซื้อขนมขบเคี้ยว แต่ในขณะเดียวกันเรื่องประโยชน์ต่อสุขภาพและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ๆ ก็มีผลต่อการตัดสินใจซื้อเช่นกัน Foodaily ได้ยกตัวอย่างสินค้ากลุ่มขนมขบเคี้ยวที่ออกมาใหม่ในเดือนเมษายน 2563 ที่น่าสนใจ อาทิ แบรนด์เชี้ยเชี้ย ออกสินค้าใหม่เม็ดมะม่วง หิมพานต์รสชีส และรสทุเรียน เมล็ดทานตะวันรสหม้อไฟ และแบรนด์ร้านชาชื่อดัง HEYTEA เปิดตัวสินค้าใหม่ถั่วอบกรอบรสวาซาบิและรสหม้อไฟหมาล่า
อย่างไรก็ตามปัจจัยสำคัญที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ
คือสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
ผู้บริโภคใช้จ่ายประหยัดขึ้น ดังนั้นในระยะนี้ผู้ประกอบการอาจมีการปรับตัวด้วยการผลิตสินค้าที่มีบรรจุภัณฑ์ขนาดเล็ก
เพื่อให้ราคาไม่สูงมาก เนื่องจากผู้บริโภคยังมีความต้องการทดลองสินค้าใหม่ๆ
แต่อาจจะไม่พร้อมซื้อในจำนวนมากหรือในราคาที่สูง
แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ
ณ เมืองกวางโจว
