อาหารแห่งอนาคต (Future Food) โอกาสที่ SME ไทยต้องรีบคว้าไว้!
กระแสความต้องการของผู้คนบนโลกกำลังเปลี่ยนไป เทรนด์อุตสาหกรรมอาหารก็เช่นกัน จากกระแสรักสุขภาพที่พุ่งแรงหลังโควิด-19 ไปจนถึงความกังวลด้านสิ่งแวดล้อม ทำให้ผู้บริโภคหันมาสนใจ Future Food หรือ “อาหารแห่งอนาคต” มากขึ้น นี่ไม่ใช่แค่เทรนด์ของแบรนด์ใหญ่ระดับโลกอีกต่อไป แต่คือโอกาสใหม่สำคัญของ SME ไทย บทความนี้จะชี้ให้เห็นว่าเทรนด์ Future Food ที่กำลังมาแรงนั้นมีความสำคัญอย่างไร ทำไมธุรกิจไทยถึงควรให้ความสนใจ
Content Summary
Future Food คือ อาหารแห่งอนาคต ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค มีขั้นตอนการผลิตที่มีความปลอดภัย สามารถตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาได้ รวมถึงเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมกันมากขึ้น จึงหันมาเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพ และไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
โจทย์ใหม่ของธุรกิจ SME ไทยในสนาม Future Food คือการศึกษาเทรนด์ของอาหาร Future Food และพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ พร้อมทั้งชูเอกลักษณ์วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อสร้างความแตกต่างให้กับอาหาร รวมทั้งสามารถร่วมวิจัยและพัฒนากับองค์กรรัฐเพื่อพัฒนา Future Food ให้เกิดขึ้นจริงในวงการ SME ไทย
Future Food คืออะไร ทำไมธุรกิจต้องให้ความสนใจตั้งแต่ตอนนี้?
ในรายงาน World Population Prospects 2022 ขององค์การสหประชาชาติ (UN) คาดการณ์ว่าประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9,700 ล้านคนภายในปี 2050 ซึ่งแปลว่าความต้องการอาหารก็จะสูงขึ้นตามไปด้วย แต่ในทางเดียวกันนั้นอุตสาหกรรมการผลิตอาหาร ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติลดลง โดยรายงาน Living Planet ประจำปี 2024 ของ WWF ระบุว่า 40% ของพื้นที่อยู่อาศัยได้บนโลก ถูกใช้ไปเพื่อการผลิตอาหาร และก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหลายด้าน ทั้งการทำลายระบบนิเวศและการใช้ทรัพยากรเกินพอดี
นี่คือสาเหตุที่กระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกต้องหันกลับมาสนใจปัญหาดังกล่าว จนเกิดเป็นเทรนด์ธุรกิจ Future Food หรือ “อาหารแห่งอนาคต” ซึ่งเป็นแนวทางใหม่ของอุตสาหกรรมอาหารที่ปลอดภัยต่อสุขภาพของผู้บริโภค สามารถตรวจสอบกลับไปถึงแหล่งที่มาได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และยังมีส่วนช่วยเรื่องความยั่งยืนของทรัพยากรอีกด้วย
ขณะเดียวกันจุดแข็งของประเทศไทยคือ ทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทั้งยังเป็นผู้ส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรอันดับต้น ๆ ของโลก ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงไม่ควรพลาดโอกาสในธุรกิจ Future Food นี้ เพื่อตอบรับกับแนวโน้มตลาดโลกในอนาคต
เข้าใจเทรนด์ผู้บริโภคยุคใหม่ “กินเพื่อสุขภาพ และ เพื่อโลก”
จากงาน Thailand Focus 2022 CPF ซึ่งเป็นเวทีแสดงศักยภาพและโอกาสทางธุรกิจ Future Food ของไทย เพื่อหารือเกี่ยวกับเทรนด์เทคโนโลยีอาหาร รวมทั้งโอกาสและความท้าทายของอุตสาหกรรมอาหารไทยในยุคดิจิทัล ได้ชี้ให้เห็นว่า 5 พฤติกรรมผู้บริโภคที่น่าจับตาและสอดคล้องกับเทรนด์ Future Food โลก มีดังนี้
Health & Wellbeing เลือกอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น
ข้อมูลจาก Innova Market Insights ผู้นำด้านการวิจัยตลาดอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกระบุในรายงาน Top Food Trends 2025 ว่า หลังจากโรคระบาดโควิด-19 ผู้บริโภคหันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพลำไส้ ซึ่งสินค้าที่มีวิตามินดี ไฟเบอร์ หรือโพรไบโอติก จะส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้ออาหารในอนาคต ซึ่งธุรกิจ SME Future Food สามารถนำ Insight ดังกล่าวไปต่อยอดได้ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบอาหารเสริมหรือเครื่องดื่ม
Convenience & Freshness ต้องสด สะดวก และรวดเร็ว
ข้อมูลจาก ฐานเศรษฐกิจ ระบุว่า ผู้บริโภคต้องการความสะดวกสบายในการบริโภคอาหาร ทำให้ธุรกิจอาหารเดลิเวอรี่ และอาหารพร้อมปรุงเติบโตอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามผู้บริโภคก็จะยังคำนึงถึงสุขภาพด้วย จากเทรนด์ Future Food นี้ผู้ประกอบการสามารถผสานความสะดวกรวดเร็วเข้ากับความสดใหม่และมีประโยชน์ได้เช่น กาแฟผสมโปรไบโอติกส์ สแน็กบาร์เพื่อสุขภาพ หรือน้ำผลไม้สกัดเย็น เป็นต้น
Innovation & Experience ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์ใหม่และประสบการณ์ที่แตกต่าง
ผู้บริโภคในปัจจุบันไม่ได้มองหารสชาติที่คุ้นเคยอีกต่อไป แต่ยังโหยหาประสบการณ์การกินที่สนุกและตื่นเต้น รวมทั้งนวัตกรรมการสร้างสรรค์ที่ไม่ได้หมายถึงเครื่องจักร หรือเทคโนโลยีสุดล้ำเพียงอย่างเดียว โดยธุรกิจ SME Future Food อาจเริ่มต้นจากการปรับวัตถุดิบที่แปลกใหม่มาสร้างสรรค์อาหารเมนูใหม่ ๆ เพื่อสร้างความตื่นตาตื่นใจให้กับกลุ่มลูกค้า
Premium & Value for Money มองหาความคุ้มค่าและคุณภาพสูง
รายงานจาก Euromonitor International พบว่า แม้ผู้บริโภคในเอเชียจะเผชิญกับแรงกดดันด้านค่าครองชีพ อย่างไรก็ตามรายได้ก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทำให้มีความเต็มใจที่จะใช้จ่ายกับสินค้าที่ให้ทั้งความพึงพอใจและความหรูหรา โดยผู้บริโภคยุคใหม่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์อาหารคุณภาพสูง มีความพรีเมียม และต้องคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป
Sustainability เลือกอาหารที่มีความยั่งยืน ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม
เป้าหมายหลักของ Future Food คงจะหนีไม่พ้นเรื่องความยั่งยืน รายงานจาก Innova Market Insights ระบุว่า ผู้บริโภคทั่วโลกเกือบ 50% ตระหนักถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและเลือกซื้ออาหารที่มีความยั่งยืน ซึ่งแบรนด์ต่าง ๆ สามารถสร้างสมดุลระหว่างความสามารถในการซื้อกับความยั่งยืนได้ เช่น การใช้วัตถุดิบทั้งหมดอย่างคุ้มค่า ไม่เหลือทิ้งเป็น Food Waste
โจทย์ใหม่ของธุรกิจ SME ไทย จะลงสนาม Future Food ได้อย่างไร?
ธุรกิจ SME ไทยสามารถปรับตัวเข้าสู่ตลาดอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ได้โดยเริ่มจากการทำความเข้าใจผู้บริโภคยุคใหม่อย่างลึกซึ้ง ทั้งเพศ วัย อายุ และความชอบเฉพาะบุคคลที่แตกต่างกัน เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ทั้งสุขภาพ ความยั่งยืน และไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค
ประยุกต์ใช้วัตถุดิบท้องถิ่นเพื่อสร้างมูลค่าให้กับอาหาร เช่น การแปรรูปโปรตีนจากพืชท้องถิ่น หรือการใช้สมุนไพรไทยในอาหารสุขภาพ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุน นำเสนอเอกลักษณ์ของท้องถิ่น และตอบโจทย์เทรนด์ Future Food ได้พร้อมกัน
ธุรกิจ SME ไทย ควรจับตานวัตกรรมอาหาร Future Food จากทั่วโลกไม่ว่าจะเป็น Plant-Based Protein หรือโปรตีนจากพืชท้องถิ่น, เนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงในห้องแล็บ (Cultured Meat) และ Food Waste Innovation การนำของเหลือใช้มาสร้างมูลค่าใหม่
วิจัยและพัฒนาอย่างจริงจัง เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง เพราะการจะลงสนาม Future Food ได้นั้น SME ต้องกล้าลงทุนใน R&D (Research and Development) เพื่อคิดค้นสูตรใหม่ กระบวนการผลิตใหม่ หรือรูปแบบบรรจุภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่
นอกจากนี้ ธุรกิจ SME Future Food สามารถร่วมมือกับหน่วยงานต่าง ๆ ที่ให้การสนับสนุนด้านการวิจัยและนวัตกรรม เช่น เมืองนวัตกรรมอาหาร (Food Innopolis) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) หรือศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (MTEC) และสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ที่มีการผลักดันนโยบาย Future Food เช่นกัน
กลยุทธ์สร้างความต่างในตลาด Future Food
ธุรกิจ SME ไทยมีแต้มต่อในด้านความหลากหลายทางวัฒนธรรมอาหาร ซึ่งหากนำมาผสมผสานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ และการคำนึงถึงความยั่งยืน ก็จะสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่มีเอกลักษณ์ แตกต่าง และแข่งขันในตลาด Future Food โลกได้ โดยมีกลยุทธ์สร้างความแตกต่าง ดังนี้
ใช้เทคโนโลยีเข้ามาพัฒนาการผลิต
อาหารสามมิติ (3D Printing Food) คือ เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ โดยการขึ้นรูปทีละชั้น ทำให้สามารถออกแบบผลิตภัณฑ์อาหารที่มีความซับซ้อนหลากหลายรูปทรง พร้อมการควบคุมปริมาณส่วนประกอบต่าง ๆ ได้อย่างแม่นยำ ลดอาหารเหลือทิ้ง เช่น บริษัท Natural Machines ที่ผลิตเครื่องพิมพ์อาหารสามมิติ ให้ลูกค้าสามารถพิมพ์พิซซ่า เบอร์เกอร์ หรือสปาเก็ตตี้ ได้อย่างง่ายดาย
การหมัก (Fermentation) ที่ฟังดูธรรมดา แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถช่วยปฏิรูปอุตสาหกรรมโปรตีน เพื่อผลิตผลิตภัณฑ์ทดแทนจากเนื้อสัตว์ได้ เช่น บริษัท Perfect Day จากสหรัฐฯ ได้ผลิตนมจากการหมักยีสต์ขึ้นมาทดแทนการทำฟาร์มนมวัว
เนื้อจากห้องแล็บ (Cultivated Meat) คือ Future Food ที่ใช้เทคโนโลยีเลี้ยงเซลล์สัตว์ให้กลายเป็นเนื้อจริง ๆ โดยไม่ต้องฆ่าสัตว์ เช่น Meatable บริษัทสตาร์ตอัปเทคโนโลยีด้านอาหารจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ที่สามารถผลิตเนื้อสัตว์ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยไม่เป็นอันตรายต่อคน สัตว์ และสิ่งแวดล้อม
เล่าเรื่องราวของแบรนด์ผ่านต้นกำเนิดวัตถุดิบ
กลยุทธ์การสร้างความแตกต่างในธุรกิจ Future Food คือการสื่อสารเรื่องที่มาที่ไปของวัตถุดิบ และถ่ายทอดคุณค่าของแบรนด์ (Brand Value) ผ่านเรื่องราว จะช่วยให้แบรนด์ติดตลาดและสร้างเอกลักษณ์ที่ผู้บริโภคอยากสนับสนุนและอยากเป็นส่วนหนึ่งด้วย โดยเฉพาะในประเทศไทยมีวัตถุดิบท้องถิ่นที่สามารถนำมาบอกเล่าได้มากมาย เช่น ผำที่พบได้ในภาคเหนือและภาคอีสาน หรือเห็ดแครงในภาคใต้
ให้ความสำคัญกับ ESG
ธุรกิจ SME Future Food จะต้องให้ความสำคัญ ESG คือแนวคิดการดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นความยั่งยืนที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึง 3 ปัจจัยหลักคือ ด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และธรรมาภิบาล (Governance) ซึ่งไม่ได้เน้นเพียงผลกำไรเท่านั้นแต่รวมถึงผลกระทบต่อโลกและสังคม ทั้งยังสามารถดึงดูดกลุ่ม Gen Z และผู้บริโภคยุคใหม่ได้
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ดีไซน์และบรรจุภัณฑ์รักษ์โลก เพื่อสร้างภาพลักษณ์พรีเมียมให้กับธุรกิจFuture Food ทั้งยังสร้างความแตกต่างให้กับแบรนด์ได้อีกด้วย เช่น น้ำดื่มซีทรู (C2) ที่ดีไซน์บรรจุภัณฑ์น้ำดื่มไร้ฉลากรักษ์โลก จนได้รับรางวัลมากมาย
ตัวอย่างนวัตกรรม Future Food ใหม่ ๆ ในปี 2025
Future Food กำลังเปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ความยั่งยืน แต่ยังรวมถึงนวัตกรรมที่ท้าทายขีดจำกัดเดิม ๆ โดยเราจะยกตัวอย่าง 3 ธุรกิจ Future Food ที่ประสบความสำเร็จเพื่อเป็นไอเดียให้กับผู้ประกอบการไทย
เนื้อปลาแล็บจาก BlueNalu ที่ใช้เซลล์ปลามาเพาะเลี้ยง ไม่ต้องพึ่งการประมง
ธุรกิจ Future Food อย่างบริษัท BlueNalu ก่อตั้งขึ้นในปี 2018 และมีสำนักงานใหญ่ในเมืองซานดิเอโก รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านอาหารทะเลจากการเพาะเลี้ยงเซลล์ และได้รับการสนับสนุนทางการเงินอย่างต่อเนื่อง โดยมีการระดมทุนรวมกว่า 118 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยผลิตภัณฑ์หลักของ BlueNalu คือเนื้อปลาที่ทำการเพาะเลี้ยงมาจากเซลล์ปลาโดยตรง ช่วยให้ผู้บริโภคเพลิดเพลินกับอาหารทะเลที่อร่อยและมีคุณค่าทางโภชนาการ ไม่มีสารปนเปื้อนอย่างปรอทและไมโครพลาสติก ทั้งนี้ เนื้อปลาสามารถนำไปทำซูชิ หรือย่างได้ตามปกติ
Air Protein (USA) ใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และจุลินทรีย์สร้างโปรตีนใหม่
Air Protein สตาร์ตอัปจากสหรัฐอเมริกา ประสบความสำเร็จในการพัฒนา Future Food ที่เป็นเนื้อสัตว์ทดแทน โดยใช้แบคทีเรียซึ่งสามารถเปลี่ยนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ให้เป็นสารอาหารได้ โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 เดือนเท่านั้น และโปรตีนที่ได้ มีไขมันต่ำ และประกอบด้วยกรดอะมิโนครบถ้วนที่ร่างกายต้องการ จึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่าสำหรับการพัฒนาอาหาร
ในปี 2024 นิตยสาร TIME และ Statista ได้จัดอันดับบริษัท Green Tech ชั้นนำของสหรัฐฯ โดย Air Protein อยู่ในอันดับ 9 โดยพิจารณาจากผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม ความแข็งแกร่งทางการเงิน และนวัตกรรมของบริษัท
Perfect Day เป็นหนึ่งในบริษัท Future Food ที่โดดเด่นในกลุ่มผลิตภัณฑ์นมจากการหมักจุลินทรีย์
Perfect Day ใช้กระบวนการที่เรียกว่า Precision Fermentation (การหมักแบบแม่นยำ) ซึ่งใส่ DNA สังเคราะห์ของวัวลงไปในยีสต์ เพื่อผลิตโปรตีนเวย์ (Whey Protein) ออกมา ซึ่งเป็นโปรตีนชนิดเดียวกับที่อยู่ในน้ำนมวัวจริง ๆ ซึ่งรสชาติและเนื้อสัมผัสใกล้เคียงนมวัวจริงมากกว่าพืชทดแทน ไม่มีแลคโตส คนแพ้นมวัวสามารถทานได้ ทั้งยังลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติมหาศาลอีกด้วย
ทั้งนี้ Perfect Day ไม่ได้ขายผลิตภัณฑ์ตรงให้ผู้บริโภคแต่ให้แบรนด์อื่นใช้โปรตีนของตน เช่น แบรนด์ Brave Robot ใช้โปรตีนไปผลิตไอศกรีม หรือแบรนด์ Modern Kitchen ที่นำโปรตีนไปผลิตครีมชีส
บทสรุปและแนวทางสู่ความสำเร็จ
อุตสาหกรรมอาหารกำลังเปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งผู้บริโภคตระหนักรู้เรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อมมากขึ้นยิ่งทำให้สนามการแข่งขันธุรกิจ Future Food ยิ่งน่าจับตามอง เพราะ Future Food ไม่ใช่เพียงการมุ่งเน้นเพื่อผลกำไรเพียงอย่างเดียวแต่ยังสามารถช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารและระบบนิเวศในภาพรวมให้มีความยั่งยืนมากขึ้น แต่ความท้าทายคือการทำความเข้าใจตลาดและผู้บริโภค รวมทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ ในการผลิตอาหารแห่งอนาคต อย่างไรก็ตาม Future Food ยังเป็นโอกาสสำคัญของธุรกิจ SME ไทยในการหยิบวัตถุดิบในประเทศมาสร้างมูลค่าต่อไปได้
ข้อมูลอ้างอิง
New United Nations Population Estimates and Projections สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://populationconnection.org/article/new-united-nations-population-estimates-and-projections/?utm_source=chatgpt.comFeeding Billions, Failing Nature สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://populationmatters.org/news/2024/10/feeding-billions-failing-nature/ประจำวันที่ 28 ต.ค. 67 : สินค้าเกษตรไทยขึ้นแท่นที่ 1 ในอาเซียนอันดับ 8 ของโลก ยอดส่งออก 8 เดือนพุ่ง 4.3 แสนล้านบาท ดันติด Top5 ของโลกต้นปีหน้า สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://phayao.prd.go.th/th/content/category/detail/id/60/iid/335742Top Food Trends 2025 สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.innovamarketinsights.com/trends/top-food-trends-2025/5 กลุ่มอาหารเพื่อสุขภาพบูม แนะธุรกิจปรับแผนรับเทรนด์ผู้บริโภค สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.thansettakij.com/blogs/health/wellbeing/605552Positioning Premium Food in Asia สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.euromonitor.com/positioning-premium-food-in-asia/report?utm_source=chatgpt.comFeeding Tomorrow: Exploring the Next Frontier in Food สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.technologynetworks.com/applied-sciences/articles/feeding-tomorrow-exploring-the-next-frontier-in-food-380126อนาคตการกินที่เปลี่ยนไป เมื่อผู้บริโภครักตัวเองและใส่ใจโลกมากขึ้น ร้านอาหารจะปรับตัวอย่างไร? สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/marketing_trends/2823160อาหารท้องถิ่นสู่อาหารแห่งอนาคต สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://knowledgeportal.okmd.or.th/article/666971db83ef3เครื่องพิมพ์อาหาร 3 มิติ FOODINI สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://fic.nfi.or.th/technologyandinnovation_detail.php?smid=107Thinking About Fermentation in Fresh Ways สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.customculinary.com/Culinary-Expertise/Food-Trends/2024/The-Fermented-FutureMastering The Art Of Storytelling In Food Branding สืบค้นเมื่อ 1 พฤษภาคม 2568 จาก
https://www.forbes.com/councils/forbesagencycouncil/2024/03/15/mastering-the-art-of-storytelling-in-food-branding/