สถานการณ์ตลาดเครื่องซักผ้าสหรัฐฯ 1.6 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ
นับจากเกิดประเด็นทางการค้าที่สหรัฐฯ ประกาศใช้มาตรการกดดันด้านภาษีกับผู้ผลิตเครื่องซักผ้าของจีน
จนทำให้นักลงทุนจีนย้ายฐานการผลิตมาที่อาเซียนรวมถึงไทย เพื่อใช้เป็นฐานผลิตส่งออกไปสหรัฐฯ
จึงเป็นตลาดส่งออกเครื่องซักผ้าที่สำคัญอันดับหนึ่งของไทย
กระทั่งปรากฏว่าจีนย้ายฐานผลิตมา จนทำให้ตัวเลขการส่งออกเครื่องซักผ้าจากไทยและเวียดนามไปยังสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นจนผิดปกติ ทำให้ผู้ผลิตเครื่องซักผ้าภายในสหรัฐฯ ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศใช้มาตรการปกป้องการนำเข้าสินค้าที่เพิ่มขึ้น (เซฟการ์ด) กับเครื่องซักผ้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ
ไม่พลาดทุกข้อมูล ข่าวสารที่น่าสนใจ อย่าลืมกดไลก์ Facebook bangkokbanksme
ทั้งนี้มาตรการดังกล่าว กำหนดว่าเมื่อไรก็ตามหากมีการส่งออกสินค้าเข้าไปยังสหรัฐฯ
จนมากเกินจากระดับที่มาตรการเซฟการ์ดกำหนด ผู้นำเข้าต้องเสียภาษีตั้งแต่ 16-40%
ตามแต่ละประเภทของสินค้า ตั้งแต่ต้นปี 2561 เป็นต้นมา
หลังจากประกาศใช้มาตรการเซฟการ์ด ก็ส่งผลทำให้การส่งออกเครื่องซักผ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตมากกว่า
10 กิโลกรัม ซึ่งเป็นสินค้าที่ถูกใช้ภาษีเซฟการ์ดที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ หดตัวลงลง
12.67% เมื่อปี 2562 หรือมีมูลค่า 823
ล้านเหรียญสหรัฐ
ต่อมาสินค้าเครื่องซักผ้าจากไทยยังถูกเคราะห์ซ้ำกรรมซัดอีกระลอก
เพราะรัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศระงับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) สินค้ากลุ่มนี้ในอีก
4 รายการ เมื่อเดือนเมษายน 2563 ที่ผ่านมา
ส่งผลให้ไทยต้องกลับไปเสียภาษีในอัตราปกติ นับว่าเป็นที่น่าเสียดายอย่างมากสำหรับตลาดส่งออกนี้
ทางสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ
เมืองไมอามี ประเทศสหรัฐฯ ระบุว่า ตลาดเครื่องซักผ้าในสหรัฐฯ มีมูลค่ามากถึง
16,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2562 หรือคิดเป็นจำนวน 16 ล้านเครื่อง แม้ว่าภาพรวมการใช้จ่ายเพื่อซื้อเครื่องซักผ้าจะหดตัว
3% จากปัจจัยหลัก คือการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าในตลาด ภายหลังจากที่ใช้มาตรการขึ้นภาษีนำเข้า
และผลจากการแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ประชาชนชะลอการจับจ่ายใช้สอย
แต่อย่างไรก็ตาม ล่าสุดยังพอมีสัญญาณบวกว่า ตลาดนี้มีโอกาสที่จะเติบโตต่อเนื่องในอนาคตถึง
17,300 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567 โดยเฉพาะเครื่องซักผ้าขนาดสำหรับครัวเรือน
เพราะประชาชนสหรัฐฯ มีการแยกครอบครัวเดี่ยวมากขึ้นเฉลี่ย 2% ต่อปี
สำหรับเครื่องซักผ้าในตลาดสหรัฐฯ จะแบ่งเป็น 3
กลุ่มหลัก คือ เครื่องซักผ้าอัตโนมัติ มูลค่า 8,790 ล้านเหรียญสหรัฐ
คิดเป็นสัดส่วน 54.93% ขณะที่รองลงมาเป็นสินค้าเครื่องอบแห้งผ้า มูลค่า 7,097
ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็น 44.34% และสินค้าเครื่องซักผ้าที่มีฟังก์ชั่นอบผ้าแห้ง
มูลค่า 115 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็น 0.72%
ทั้งนี้ประเภทเครื่องซักผ้าที่จำหน่ายจะมีทั้งระบบฝาด้านบนที่มีแกนหมุน
หรือระบบจานหมุน เครื่องซักผ้าแบบฝาหน้า
และเครื่องซักผ้าแบบที่สามารถอบผ้าแห้งได้ในตัว ส่วนสนนราคาก็มีตั้งแต่ 200-2,000
เหรียญสหรัฐ แล้วแต่ประเภท
หากจำแนกตามแบรนด์จะพบว่า เครื่องซักผ้าที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันตามส่วนแบ่งตลาด
ยังเป็น Whirlpool
ซึ่งผลิตโดยบริษัท Whirlpool Corp. ผู้ผลิตรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ
ครองส่วนแบ่งตลาด 21.3% รองลงมาแบรนด์ Maytag ส่วนแบ่งตลาด
19.7% แบรนด์ GE ส่วนแบ่งตลาด 15.5% แบรนด์ Samsung ส่วนแบ่งตลาด 11.6% และแบรนด์ Kenmore ส่วนแบ่งตลาด
8.2%
ช่องทางการการทำตลาดก็ยังเป็นการจำหน่ายผ่านร้านค้าปลีกปกติ
นำโดยร้านที่จำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้าง ร้านจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า
และร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต
ขณะที่การจำหน่ายผ่านทางช่องทางออนไลน์เพิ่งจะมีสัดส่วนเพียง 11.5% เท่านั้น
ต้องยอมรับว่าภายหลังจากการออกมาตรการเซฟการ์ด
ทำให้ยอดส่งออกเครื่องซักผ้าของไทยแผ่วลงไปบ้าง
ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบโดยเฉพาะเหล็กและอะลูมิเนียมปรับตัวสูงขึ้น
ขณะที่การแข่งขันราคาทำได้ลำบากเพราะต้องบวกภาษีเซฟการ์ด และต้นทุนค่าแรงงาน
แต่ผู้ส่งออกไทยก็ยังไม่ควรหมดหวังไปทั้งหมด เพราะไทยยังมีจุดแข็งทั้งเชี่ยวชาญในด้านการผลิตมาเป็นเวลานาน จนสามารถผลิตได้มาตรฐานระดับโลก และจุดยุทธศาสตร์ของไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและการขนส่ง หากไทยสามารถปรับตัวผลิตสินค้าได้สอดรับกับความต้องการผู้บริโภคครอบครัวเดี่ยวที่กำลังเพิ่มขึ้น และขยันทำการตลาดอย่างต่อเนื่อง ก็อาจจะสามารถพลิกฟื้นกลับมาได้
สมัครสินเชื่อ >>สินเชื่อธุรกิจบัวหลวง SMEs ดีแน่นอน<<
ประเทศไทยได้อะไรจากข้อตกลง FTA ไทย–อียู
เปิดเหตุผลทำไม ‘เวียดนาม’ เศรษฐกิจโตในยุคโควิด