ลดค่าไฟ-ใส่ใจโลก ‘มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง’ เปลี่ยนหลังคาโรงงาน เป็นอาคารผลิตไฟฟ้า

SME in Focus
17/10/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1875 คน
ลดค่าไฟ-ใส่ใจโลก ‘มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง’ เปลี่ยนหลังคาโรงงาน เป็นอาคารผลิตไฟฟ้า
banner
การดำเนินธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นประเภทใด ล้วนจำเป็นต้องอาศัยพลังงาน ในการขับเคลื่อนแทบจะทุกขั้นตอนการดำเนินงาน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมที่จำเป็นต้องใช้พลังงานเพื่อผลิตสินค้า เริ่มตั้งแต่กระบวนผลิต, การขนส่งและจัดเก็บวัตถุดิบ ก่อนขนส่งเพื่อจำหน่าย เป็นต้น 



ซึ่งปัจจุบัน ผู้ประกอบการ SME จำนวนมาก หันมาตระหนักและใส่ใจในการประกอบธุรกิจที่นำไปสู่ความยั่งยืน เช่น มีการบริหารจัดการด้านพลังงาน โดยคำนึงถึงเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก รวมถึงการใช้พลังงานทดแทน  อาทิ ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในการผลิตไฟฟ้า หรือ “โซลาร์เซลล์” (Solar Cell)  ที่นอกจากจะช่วยลดต้นทุนด้านค่าไฟฟ้าได้แล้ว ยังเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการทำธุรกิจอีกด้วย

ซึ่งบริษัท มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง จำกัด คืออีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทที่นอกจากจะใช้กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดให้สินค้าและบริการเติบโต ผู้บริหารยังมุ่งเน้นเรื่อง Sustainability ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม



คุณพิทูร สุวรรณชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง จำกัด เผยถึงรูปแบบการทำธุรกิจของมหาชัยซีฟู้ดโฮลดิ้งฯ ว่า เป็นลักษณะของ ธุรกิจคลังสินค้าอาหารแช่แข็ง  โดยรับฝากอาหารแช่แข็ง เช่นปลาทูน่า และสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบ Supply ในอุตสาหกรรมอาหาร กระบวนการรับฝาก มี 2 รูปแบบคือ

ส่วนที่ 1. บริการรับแช่แข็งสินค้าที่มาเป็นอาหารสดโดยนำมาฟรีซ (Freeze) หรือ แช่แข็งให้ที่อุณหภูมิ -40 องศาเซลเซียส ก่อนที่จะนำไปจัดเก็บที่ห้องอุณหภูมิ -20 องศาเซลเซียส

ส่วนที่ 2 คือ ให้บริการตู้คอนเทนเนอร์ คือเป็นสินค้าที่แช่แข็งมาแล้ว และนำเข้าไปยังห้องจัดเก็บก่อนที่จะกระจายออกไปให้ลูกค้า โดยห้องจัดเก็บมีขนาด 4,800 ตารางเมตร แบ่งออกเป็น 5 ห้องย่อย มีขนาดจัดเก็บได้ประมาณ 8,000 ตัน 



Solar Rooftop – เปลี่ยนหลังคาโรงงาน เป็นแหล่งผลิตไฟฟ้า

คุณพิทูร เล่าถึงแรงจูงใจในการตัดสินใจติดตั้ง โซลาร์รูฟทอป ในโรงงาน ว่า เนื่องด้วยในการประกอบธุรกิจห้องเย็น ต้นทุนหลัก ๆ จึงเป็นค่าไฟฟ้า ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 9 แสน – 1 ล้านบาท จึงต้องมีการหาวิธีลดต้นทุนเพื่อช่วยประหยัดการใช้พลังงาน หลังจากลองมาหลายวิธีก็ยังไม่พบคำตอบ จนมาคิดถึงเรื่องพลังงานแสงอาทิตย์ เพราะการใช้พลังงานส่วนใหญ่จะเป็นช่วงกลางวันที่มีแสงอาทิตย์ สามารถใช้ไฟฟ้าได้อย่างเต็มที่ จึงพบว่าการติดตั้ง Solar Rooftop ช่วยตอบโจทย์เรื่องการบริหารต้นทุน เพราะลดการใช้ไฟฟ้าและเป็นการประหยัดค่าไฟฟ้าได้

“...หลังจากที่ติดตั้ง Solar Rooftop สิ่งที่ได้คือช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงประมาณ 30%   และเรายังได้พลังงานสะอาด เพราะไม่มีการเผาไหม้ จึงไม่มีการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ เช็คผ่านแอปพลิเคชันได้ ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมา มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง มีการเก็บข้อมูลการลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเราลดลง 400 คาร์บอนเครดิต”



คุ้มค่าต่อการลงทุน และ ดีต่อสิ่งแวดล้อม 

คุณพิทูร ให้คำแนะนำสำหรับ  ผู้ประกอบการ SME ที่กำลังตัดสินใจในการติดตั้ง Solar Rooftop เพื่อลดค่าใช้จ่ายว่า สิ่งที่ต้องคำนึงถึง มี 3 เรื่องหลัก ๆ คือ

1.เรื่องความคุ้มทุน 
โดยก่อนการติดตั้ง Solar Rooftop บริษัทฯ เสียค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 10 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการใช้ไฟฟ้าในเวลากลางวัน การใช้ Solar Rooftop จึงช่วยให้ค่าไฟฟ้าลดลง ประกอบกับทางบริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เข้ามาติดตั้ง ได้คำนวณว่าที่โรงงานควรจะติดตั้งไฟที่ขนาด 500 กิโลวัตต์ ในจำนวนพื้นที่ 3,000 ตารางเมตร ซึ่งช่วยลดค่าไฟฟ้า ประมาณเดือนละ 180,000-200,000 บาท เมื่อคำนวณเป็นรายปี พบว่าช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 2.4 ล้านบาท ทำให้คุ้มค่าต่อการลงทุน  

2. เรื่องโครงสร้างอาคาร 
คือต้องคำนึงถึงการรับน้ำหนัก ว่าโครงสร้างอาคารของคุณรับไหวหรือไม่ ในส่วนนี้ ทางบริษัทฯ ผู้ติดตั้งจะส่งทีมวิศวกรมาคำนวณให้ และช่วยเหลือเรื่องการขออนุญาตต่าง ๆ เกี่ยวกับการติดตั้งโซล่าเซลล์ให้ด้วย 

3. ข้อมูลทางเทคนิค 
คือต้องดูเรื่องความเข้มของแสง ว่าเพียงพอไหม บริเวณรอบ ๆ มีอะไรบังหรือไม่ หรือดูว่าหลังคาหันไปทางทิศไหน ซึ่งบริษัทที่รับติดตั้งฯ จะทำการสรุปข้อมูลมาให้เรา นอกจากนี้ คือต้องดูว่า บริษัทที่รับติดตั้งฯ มีการรับประกันอย่างไร เช่นเรื่องจำนวนผลผลิตไฟฟ้าในแต่ละเดือน, แต่ละปี ควรได้เท่าไหร่ เช่นในระยะเวลา 1 ปี จะมีการกำหนดไว้ว่า โรงงานจะทำไฟฟ้าได้กี่เมกะวัตต์, จะประหยัดได้เท่าไหร่  ซึ่งหากได้ไม่ถึงตามที่กำหนดไว้ ทางบริษัทผู้ติดตั้งฯ จะมีการจ่ายส่วนต่างนั้นให้เรา รวมถึงต้องศึกษาเรื่องการบำรุงรักษาว่าจะดูแลให้ในระยะเวลากี่ปี เป็นต้น 

ส่วนของโรงงานมหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง ใช้พื้นที่ในการติดตั้ง  Solar Rooftop ขนาด 500 กิโลวัตต์ ใช้เวลาติดตั้ง ประมาณ 3 เดือน ระยะเวลาการขออนุญาตต่าง ๆ จะใช้เวลานานพอสมควร ซึ่งการเลือกบริษัทที่มีความรู้ความชำนาญ จะช่วยการดำเนินการได้รวดเร็ว และติดตามเรื่องเอกสารตามขั้นตอนการขออนุญาตให้ทั้งหมด 



‘Solar Rooftop’ ควบคุมง่าย แค่จิ้มจอผ่านแอปพลิเคชัน

Solar Rooftop ของ มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง เลือกใช้ระบบ On Grid (On Grid System)  ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้า โดยจ่ายให้กับ Inverter เพื่อนำมาใช้ไฟฟ้าได้โดยตรง การติดตั้งครั้งนี้ คุณพิทูร เลือกรูปแบบให้เป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัทฯ เอง เพราะมองว่าจะช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าได้แบบเต็มเม็ดเต็มหน่วยมากกว่า

“...ระยะเวลาคืนทุนที่ผู้ติดตั้งคำนวณมาให้คือ 5 ปี ประกอบกับอายุการใช้งานของแผงโซลาร์ อยู่ที่ 20 ปี ฉะนั้น สำหรับเรา มันคุ้มค่ากับการลงทุน รวมถึงในระยะยาวหลังจากหมดอายุสัญญา 5 ปี สามารถเลือกการดูแลจากบริษัทที่รับติดตั้ง Solar Rooftop ต่อสัญญาได้ในทุก ๆ ปี 
การดูแล จะสามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชัน มีการจัดเก็บข้อมูลแบบ Real Time ซึ่งบริษัทบริษัทที่รับติดตั้งฯ จะช่วยสังเกตการณ์ หรือเราจะตรวจสอบเบื้องต้นเองว่าอุปกรณ์ไหนมีปัญหาหรือไม่ ถ้าพบปัญหา ก็สามารถโทรแจ้งให้ช่างมาดูแลได้ รวมถึงการตรวจเช็คกระแสไฟฟ้าที่ผลิตได้ในแต่ละวันอยู่ที่เท่าไหร่ ความเข้มแสงขณะนั้นเท่าไหร่, จำนวนไฟที่ใช้จากการผลิต Solar Rooftop เป็นเท่าไหร่ มีข้อมูลทุกอย่าง ทำความเข้าใจและใช้งานได้ง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก”



Tranformation : การปรับตัว เพื่อ “ธุรกิจที่ยั่งยืน”

ธุรกิจห้องเย็นสำหรับอาหารทะเลแช่แข็ง มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามการทยอยฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก รวมถึงปัจจัยหนุนจากการส่งออกไปยังตลาดจีนและญี่ปุ่นที่เติบโตดี บวกกับการที่ทำเลที่ตั้งโรงงาน มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้งฯ อยู่ในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องวัตถุดิบอาหารทะเลสดใหม่เพราะติดชายทะเล ริมฝั่งแม่น้ำท่าจีนและปากอ่าวไทย

ทำให้การแข่งขันในธุรกิจห้องเย็น (Cold Storage) หรือ ธุรกิจคลังสินค้าเย็น มีการแข่งขันที่สูงมาก คุณพิทูร จึงต้องหากลยุทธ์ในการบริหารต้นทุนหลักอย่างค่าไฟฟ้า เพื่อให้สามารถควบคุมราคาค่าบริการรับฝากไม่ให้แพงขึ้น และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจได้ 

“…เหตุผลที่เราเลือกติดตั้ง Solar Rooftop เนื่องจากปัจจุบันราคาการติดตั้งถูกลงจากเดิม หากย้อนไปเมื่อ 5 ปีที่ผ่านมา Solar Rooftop ขนาด 500 กิโลวัตต์ จะมีค่าติดตั้งอยู่ที่ 24 ล้านบาท แต่วันที่เราเลือกติดตั้ง ราคาลงมาอยู่ที่ 12 ล้านบาท จึงมองว่าสมเหตุสมผลและเมื่อคำนวณค่าใช้จ่าย ถือว่าคุ้มค่า” 


‘บัวหลวงกรีน’ สินเชื่อ เพื่อผู้ประกอบการรักษ์โลก 

คุณพิทูร ยังได้เผยถึงรายละเอียดเรื่องค่าใช้จ่ายในการติดตั้ง Solar Rooftop ซึ่งถือเป็นการลงทุนที่สูง จึงมีการขอคำปรึกษากับสำนักธุรกิจมหาชัย สาขาสมุทรสาครของ ธนาคารกรุงเทพ ซึ่งธนาคารได้แนะนำสินเชื่อบัวหลวงกรีน สำหรับ SME ที่ต้องการลงทุนในธุรกิจที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ หรือมลภาวะต่าง ๆ และเพื่อนำวัสดุของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่ ด้วยการ Reuse, Recycle ซึ่งประกอบด้วย

1. การลงทุนด้านพลังงานทดแทน (Renewable) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนสนับสนุนพลังงานทดแทนหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ การลงทุนที่ลดการใช้พลังงานในธุรกิจ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า เป็นต้น

2. การบริหารจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งการนำมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เช่น การนำเศษพลาสติก กระดาษ โลหะ มาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ การบำบัด/ฟื้นฟู น้ำเสีย ขยะ

3. การลงทุนเพื่อเปลี่ยนมาใช้วัสดุชีวภาพทดแทนสารเคมี เช่น การเลือกใช้วัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายง่ายแทนการใช้พลาสติก การทำเกษตรแบบอินทรีย์ 

โดยธนาคารกรุงเทพ ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ผู้ประกอบการ SME ให้กับผู้ที่ติดตั้งพลังงานสะอาดเช่น พลังงานแสงอาทิตย์  สนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจผลิตและส่งไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวมกว่า 107,653 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่โรงงานไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลักมากกว่า 50% ของสินเชื่อพลังงานทดแทน รองลงมาคือกลุ่มพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล จึงมองว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ใช้เวลาคืนทุนไม่นาน คือ 5 ปีอีกอย่างคือเราทำประกันรองรับไว้ด้วย ทำให้มั่นใจได้ 


สำหรับ สินเชื่อบัวหลวงกรีน เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 โดยธนาคารกรุงเทพ ได้ปรับปรุงเงื่อนไขสินเชื่อให้จูงใจผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีกับทั้งตัวธุรกิจ ลดต้นทุนด้านพลังงาน และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการนี้ไว้ถึง 2,000 ล้านบาท 




คุณพิทูร กล่าวในตอนท้ายว่า “ถ้าเราไม่ติดตั้ง ‘Solar Rooftop’ ตอนนี้ จะทำให้เสียโอกาสในการแข่งขัน เนื่องจากโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าและค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (Ft) เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจของเรามีการใช้ไฟฟ้าเป็นต้นทุนหลัก ถ้าคู่แข่งทำก่อน เขาจะมีโอกาสลดอัตราค่าฝากสินค้าแช่แข็งลง เราทำธุรกิจได้ยากขึ้น

การแข่งขันในมหาชัยค่อนข้างสูง ถ้าต้นทุนหลักอย่างค่าไฟฟ้าแพง เราก็ต้องคิดราคาค่าฝากสินค้าแพงขึ้น การใช้ตัวช่วยที่ทำประหยัดต้นทุนและยังดีต่อสิ่งแวดล้อมจึงเป็นสิ่งที่เราเลือกจะปรับและเปลี่ยนให้ดีขึ้น เพื่อความยั่งยืนและมีการเติบโตของธุรกิจไปพร้อม ๆ กัน”






Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Transformation โรงงานผลิตพืชผลการเกษตรจากเคมีฟาร์ม สู่ข้าวโพดหวานออร์แกนิก ส่งเสริมเกษตรกรไทย เติบโตไปพร้อมกัน

Transformation โรงงานผลิตพืชผลการเกษตรจากเคมีฟาร์ม สู่ข้าวโพดหวานออร์แกนิก ส่งเสริมเกษตรกรไทย เติบโตไปพร้อมกัน

อาชีพเกษตรกรยุคดิจิทัล เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จากการเป็นเพียงผู้ผลิต มีการพัฒนาความรู้ ทักษะ ผสมผสานความรู้ดั้งเดิมเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่…
pin
19 | 17/05/2024
จากกองภูเขาเศษหนังเหลือทิ้ง สู่แบรนด์ ‘THAIS’ เครื่องหนังรักษ์โลกสุดคูล

จากกองภูเขาเศษหนังเหลือทิ้ง สู่แบรนด์ ‘THAIS’ เครื่องหนังรักษ์โลกสุดคูล

‘ESG’ กลายเป็นส่วนหนึ่งของเทรนด์ที่ผู้ประกอบการทั่วโลก ต่างให้ความสำคัญ และเริ่มนำมาปรับใช้อย่างจริงจังมากขึ้น ซึ่งปัจจุบัน มีธุรกิจ SME…
pin
518 | 13/05/2024
‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

‘สยามอีสต์ โซลูชั่น’ SME Scale Up สู่ตลาด MAI สร้างธุรกิจโตยั่งยืน

Growth Mindset “ไม่มีอะไรยากเกินความพยายามของคน” แนวคิดที่เชื่อว่า ทักษะ ความรู้ ศักยภาพของเรา สามารถฝึกฝน พัฒนาได้ด้วยการมุ่งมั่น ทุ่มเทอย่างแน่วแน่…
pin
861 | 06/05/2024
ลดค่าไฟ-ใส่ใจโลก ‘มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง’ เปลี่ยนหลังคาโรงงาน เป็นอาคารผลิตไฟฟ้า