ส่องแนวทาง ‘สินเชื่อสีเขียว’ นวัตกรรมสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SME ไทยใส่ใจโลก อีกก้าวที่จำเป็นสู่อนาคตที่ยั่งยืน

ESG
25/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 6440 คน
ส่องแนวทาง ‘สินเชื่อสีเขียว’ นวัตกรรมสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SME ไทยใส่ใจโลก อีกก้าวที่จำเป็นสู่อนาคตที่ยั่งยืน
banner
การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกขณะ ทำให้หลายประเทศตื่นตัวและประกาศนโยบายเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย ‘การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์’ (Net Zero) กลุ่มธนาคารนับว่ามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวผ่านกลไกการเงินเพื่อสร้างแรงจูงใจให้กับภาคอุตสาหกรรมในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และเปลี่ยนผ่านสู่ ‘เศรษฐกิจสีเขียว’ ให้เร็วขึ้น โดยสถาบันการเงินต่างๆ ได้ออกผลิตภัณฑ์การเงินสีเขียวมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเป้าหมายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ



Green Finance ทั่วโลกไปถึงจุดไหนแล้ว?

แนวคิดการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวเกิดขึ้นมา 50 ปีแล้ว แต่ปัจจุบันกระแสรักษ์โลกเริ่มกลับมาได้รับความสนใจมากขึ้นอีกครั้ง โดยปัจจุบันเรื่อง ‘การเงินสีเขียว’ (Green Finance) ถือได้ว่ายุโรปตะวันตกเป็นผู้ริเริ่มนำร่อง ขณะที่จีนและญี่ปุ่นได้พัฒนาขึ้นมาก โดยปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกใช้หลักการพัฒนาเศรษฐกิจที่ดีต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainability) ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ เอื้อต่อการมีส่วนร่วมของสังคม (UNESCAP, 2555) ภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Accord) 

ขณะที่ผู้บริโภคและธุรกิจก็หันมาใช้สินค้าและบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยภาคการเงินมีส่วนสำคัญในการจัดสรรทรัพยากรเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนบริษัทเป็นธุรกิจสีเขียว ที่เน้นการลงทุนแบบยั่งยืน โดยสถาบันการเงินจะปล่อยสินเชื่ออย่างรับผิดชอบ (Responsible Lending)



จากรายงานผลการสำรวจของ Global Green Finance Index (GGFI 7) ปี 2564 ได้จัดอันดับศูนย์กลางการเงินด้านการเงินสีเขียวโลก โดยพิจารณาจากความพร้อมทั้ง 4 ด้าน คือ ด้านความยั่งยืน ด้านธุรกิจ ด้านทรัพยากรมนุษย์ และด้านโครงสร้างพื้นฐาน พบว่า มาตรฐานการเงินสีเขียวทั่วโลกปรับดีขึ้น ซึ่งจากภาพจะเห็นได้ว่า ศูนย์กลางการเงินชั้นนำในยุโรปตะวันตกเป็นผู้นำกลุ่มโดยติดอันดับ TOP 10 ถึง 8 แห่ง จากทั้งหมด 78 ศูนย์การเงินทั่วโลก 

โดยศูนย์กลางการเงินเมืองอัมสเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ติดอันดับ 1 รองลงมาคือ เมืองซูริคสวิสเซอร์แลนด์ และเมืองลอนดอนของอังกฤษ ขณะที่ศูนย์การเงินของอเมริกาติดกลุ่ม Top 10 ถึง 2 แห่ง คือ ศูนย์การเงินใน ซานฟรานซิสโก และลอสแองเจลิส

สำหรับภูมิภาคเอเชียในกลุ่มประเทศ ASEAN+3 : โตเกียว (ญี่ปุ่น) ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ (จีน) และสิงคโปร์ ก้าวขึ้นมาติด Top 20 สะท้อนให้เห็นว่ามีการพัฒนาด้าน ‘การเงินสีเขียว’ ดีขึ้นเป็นลำดับ ขณะที่กรุงเทพฯ ของไทยอยู่ลำดับที่ 49 ปรับดีขึ้นมากจากปีที่แล้ว ขณะที่จีนปรับตัวดีขึ้นมากจากการยกระดับปัญหามลพิษทางอากาศมาเป็นวาระแห่งชาติและลงมือแก้ไขตามแผนอย่างเข้มงวดจนมีความเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด



ภาพรวมธุรกิจ - การเงินสีเขียวไทย 

จากข้อมูลช่วง 10 ปีที่ผ่านมาของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ชี้ว่า จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ในกลุ่มธุรกิจสีเขียว มีสัดส่วนน้อยเพียง 0.4% ของบริษัทจดทะเบียนนิติบุคคลทั้งหมด ซึ่งไม่นับรวมธุรกิจโรงไฟฟ้า มีจำนวน 12,322 บริษัท ในปี 2560 เพิ่มขึ้นจาก 9,632 บริษัท ในปี 2550 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมประหยัดพลังงาน (Energy Efficiency) เช่น ธุรกิจผลิตมอเตอร์ไฟฟ้า ธุรกิจรับติดตั้งฉนวนกันความร้อน เป็นต้น

ทั้งนี้หากพิจารณาด้านสินเชื่อสีเขียว พบว่า ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ค่อยๆ ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2563 ไต่ระดับมาอยู่ที่ 2.5% ของสินเชื่อทั้งหมด ในส่วนนี้เป็นสินเชื่อกลุ่มโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน พลังน้ำ ลม ชีวภาพ และชีวมวล จำนวน 2.8 แสนล้านบาท (หรือ 2% ณ ไตรมาส 3 ปี 2560) และปี 2564 ไทยมีโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนถึง 844 แห่ง เพิ่มขึ้นกว่าสองเท่าจาก 357 แห่งในปี 2556 (ข้อมูลกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน)

ส่วนสินเชื่อสีเขียวเติบโตขึ้นเป็นลำดับ จาก 62,000 ล้านบาทในปี 2556 เพิ่มเป็น 90,000 ล้านบาทในปี 2563 สะท้อนว่า ผู้ประกอบการของไทยเริ่มปรับตัวตามโมเดลธุรกิจใหม่ที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งภาคการธนาคารของไทยเริ่มตื่นตัวและสนับสนุนธุรกิจที่ใช้พลังงานทางเลือกเป็นพลังงานในการผลิต

อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐาน คำนิยามของกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมไว้ชัดเจน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาทิ พันธบัตรสีเขียว สินเชื่อสีเขียว และการลงทุนสีเขียว จะได้ถูกจัดสรรไปยังกิจกรรมที่ถูกต้อง ตลอดจนยังไม่มีข้อกำหนดในการเปิดเผยข้อมูลการทำธุรกิจสีเขียว

สินเชื่อสีเขียวกับโอกาสและความท้าทายของ SME ไทย

ปัจจุบันตลาดทุนของไทยใช้มาตรฐานหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของ ASEAN Green Bond Standards ซึ่งคล้ายคลึงกับมาตรฐานสากล สถาบันการเงินไทยเริ่มมีนโยบายและออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินต่อเนื่อง ทั้งด้านสินเชื่อสีเขียว อัตราดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อเพื่อธุรกิจพลังงานทดแทน และสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม ด้านหุ้นกู้เพื่อสิ่งแวดล้อมก็เริ่มมีผลิตภัณฑ์บ้างแล้ว แต่การสนับสนุนด้านการเงินทั้งสินเชื่อและหุ้นกู้ยังจำกัดในวงแคบเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่เท่านั้น มีสัดส่วนน้อยจากสินเชื่อทั้งหมด 

วันนี้โลกการค้ายุคใหม่หันมาให้ความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากธุรกิจ SME ที่มีถึง 3 ล้านกว่าราย หรือ 99.5% ของวิสาหกิจทั้งหมด ก่อให้เกิดการจ้างงาน 13 ล้านคน หรือคิดเป็น 72% ของแรงงานในวิสาหกิจทั้งหมด และสร้างมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) 5,212,004 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 36% ของ GDP ประเทศ 

หากผู้ประกอบการ และ SME ไม่ปรับเปลี่ยนตัวเองให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจทำให้ธุรกิจไม่สามารถไปต่อได้ เนื่องจากผู้บริโภค และธุรกิจยุคใหม่ต่างมุ่งไปสู่ผลิตภัณฑ์และบริการที่สร้างผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม และโลกน้อยที่สุด ดังนั้นหากต้องการเปลี่ยนตังเองไปสู่ธุรกิจสีเขียวต้อง ‘Start Go Green Today’

ทั้งนี้จากผลศึกษาของ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD ระบุว่าการพัฒนายกระดับ SME มุ่งสู่ธุรกิจสีเขียวที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมจะทำให้ SME สามารถลดต้นทุนได้อย่างยั่งยืน ช่วยให้ผลประกอบการดีขึ้น และสุดท้ายจะทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม (Inclusive Growth) แบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกัน และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคมให้ดีขึ้น ชี้ว่าจะไปสู่จุดนั้นได้ SME ต้องปรับโครงสร้างทั้งระบบ 6 ด้าน คือ กฎระเบียบ การตลาด โครงสร้างพื้นฐาน แหล่งเงินทุน การพัฒนาทักษะแรงงานและผู้ประกอบการ และด้านความรู้ นวัตกรรม 

อย่างไรก็ตาม ความตั้งใจดังกล่าวจะประสบความสำเร็จได้ต้องลงมือทำ  ซึ่งการปรับเปลี่ยนเข้าสู่ธุรกิจที่ไร้การปล่อยคาร์บอน จำเป็นต้องใช้เงินลงทุนไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเงินสีเขียว (Green Finance) เพื่อที่จะสนับสนุนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG Emissions) และช่วยให้ธุรกิจสามารถปรับตัวเข้ากับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ ซึ่งปัจจุบันเครื่องมือทางการเงินส่วนหนึ่งที่ใช้สำหรับ Green Finance มีดังนี้



ตราสารหนี้สีเขียว (Green Bonds) เป็นตัวเลือกที่ได้รับความนิยมในการระดมทุนสำหรับโครงการที่เป็นประโยชน์กับสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะกับโครงการที่เกี่ยวกับการคมนาคมที่คาร์บอนต่ำ พลังงานสะอาด และอาคารที่มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานดี ต่อจากนี้ Green Bonds น่าจะเป็นทางเลือกหลักสำหรับ Green Finance



กองทุนรวมตราสารทุนสีเขียว (Green Equity Funds) คือกองทุนรวมตราสารทุนที่เน้นลงทุนในโครงการที่มีนโยบายด้านความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเครื่องมือที่ทำให้นักลงทุนสามารถรวมเงินลงทุนกันเพื่อลงทุนตามนโยบายการลงทุนที่ได้ตกลงกันไว้ ใน 15 ปีที่ผ่านมา Green equity funds มีการใช้กันอย่างแพร่หลายเพื่อสนับสนุนการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียน



การกู้ยืมสีเขียว (Green loans) คือการกู้ยืมเงินเพื่อไปใช้สร้างความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกับตราสารหนี้สีเขียว

อย่างเช่น สินเชื่อบัวหลวงกรีน ‘Bualuang Green’ ที่ต้องการสนับสนุนผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการปรับกระบวนการธุรกิจเพื่อการประหยัดพลังงาน ลดต้นทุน และอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจที่ยั่งยืน ลงทุนในการลดหรือแสวงหาการใช้พลังงานทดแทน หรือการบริหารจัดการของเสียเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม ด้วยวงเงินให้กู้ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไปต่อโครงการ อัตราดอกเบี้ยไม่เกิน MLR ต่อปี ตลอดอายุสัญญาเงินกู้ พร้อมสิทธิพิเศษในการยกเว้นค่าธรรมเนียมการจัดการสินเชื่อ โดยธนาคารได้กำหนดขอบเขต รายละเอียด และประเภทสินเชื่อดังกล่าวออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่..



1. การลงทุนด้านพลังงานทดแทน (Renewable) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนสนับสนุนพลังงานทดแทนหรืออุปกรณ์ประหยัดพลังงาน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ การลงทุนที่ลดการใช้พลังงานในธุรกิจ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานไฟฟ้า เป็นต้น

2. การบริหารจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งการนำมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เช่น การนำเศษพลาสติก กระดาษ โลหะ มาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ การบำบัด/ฟื้นฟู น้ำเสีย ขยะ

3. การลงทุนเพื่อเปลี่ยนมาใช้วัสดุชีวภาพทดแทนสารเคมี เช่น การเลือกใช้วัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายง่ายแทนการใช้พลาสติก การทำเกษตรแบบอินทรีย์ 

สำหรับ สินเชื่อบัวหลวงกรีน เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 และทบทวนขอบเขตของสินเชื่อให้ทันสมัย พร้อมกับปรับปรุงเงื่อนไขสินเชื่อให้จูงใจผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเชื่อมั่นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีกับทั้งตัวธุรกิจ ลดต้นทุนด้านพลังงาน และช่วยลดก๊าซเรือนกระจก ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการนี้ไว้ถึง 2,000 ล้านบาท ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
  
โดยปีที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพ ได้สนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจผลิตและส่งไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวมกว่า 107,653 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่โรงงานไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลักมากกว่า 50% ของสินเชื่อพลังงานทดแทน รองลงมาคือกลุ่มพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล
 
ขณะเดียวกันนี้ ธนาคารยังสนับสนุนการระดมทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทเอกชนชั้นนำในไทย ผ่านการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้าน ESG ปี 2564 ภาคเอกชนระดมทุนผ่าน ESG bond รวมถึง 56,700 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเป็นผู้จัดการจำหน่ายถึง 37,200 ล้านบาท หรือ 66% ของมูลค่าตราสารหนี้ด้าน ESG ทั้งหมดในตลาดทุนไทย

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพ ยังเป็นธนาคารที่ออกกรีนบอนด์ (Green Bond) ในตลาดทุนของไทยมากกว่าครึ่งหนึ่งของมูลค่ากรีนบอนด์ที่ออกในปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ธนาคารยังร่วมสร้างสรรค์งานสัมมนา และการประชุมอบรมต่าง ๆ สำหรับลูกค้าธุรกิจและ SME เพื่อช่วยให้พร้อมปรับตัวเข้ากับสภาพเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป รวมถึงแนวทางการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (Sustainability) และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม



นอกจากนี้ธนาคารยังมีสินเชื่อ Bualuang Green Solar Energy ที่ตั้งใจทำออกมาเพื่อผู้ประกอบการ SME ที่ต้องการลดต้นทุนด้านพลังงานไฟฟ้าในธุรกิจประเภท EPC โดยผู้ขอเป็นผู้ลงทุนเอง ด้วยการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (Solar Cell) สำหรับอาคารและสถานประกอบการ 

เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการและ SME ที่มีความโดดเด่นและเติบโตได้ด้วยความแข็งแรงอย่างยั่งยืน ซึ่งจะเป็น SME ต้นแบบหรือตัวอย่างให้แก่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ ได้รับทราบถึงแนวทางหรือวิธีการในการบริหารจัดการธุรกิจ กลยุทธ์ หรือเส้นทางสู่การประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจ 



ขอยกตัวอย่างผู้ประกอบการและ SME ที่ปรับเปลี่ยนนำพลังงานทดแทนมาใช้ในธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นคือ  ‘สุรชัยฟาร์ม’ ฟาร์มไก่เนื้อระบบปิด ซึ่งต้องใช้พลังงานไฟฟ้าตลอด 24 ชม. ทำให้สิ้นเปลืองพลังงาน ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไก่เนื้อสูงขึ้น กำไรจากการเลี้ยงน้อยลง ทางฟาร์มจึงคิดหาวิธีลดต้นทุนการผลิต จึงได้ศึกษาการติดตั้ง โซลาร์รูฟท็อป เพื่อผลิตพลังงานสะอาดนำมาใช้ในธุรกิจตามกระแสเทรนด์รักษ์โลกจนประสบความสำเร็จในการบริหารต้นทุนระยะยาว

โดยหลังจากติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป ผลที่ได้คือไก่ 1 รุ่น ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 75 วัน พบว่า จากต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อไก่ 1 ตัว ประมาณ 3 บาท ลดเหลือ 1.80 บาท เป็น Case Study ที่น่าสนใจสำหรับผู้ประกอบการรวมถึง SME และเกษตรกรไทยในการนำไปเป็นต้นแบบประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์กับธุรกิจของตนเอง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันในตลาดการค้ายุคปัจจุบัน ที่หันมาเน้นธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่รักษ์โลก และไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม



SME Successor Ep.3 | Solar Rooftop ลดค่าไฟ เพิ่มกำไรให้ธุรกิจ


ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของกลุ่มธนาคารในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ความยั่งยืนมาอย่างต่อเนื่อง ผ่านการออกแบบโซลูชั่นทางการเงินที่ยั่งยืน ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและ SME ที่ดำเนินธุรกิจภายใต้กรอบ ESG ได้มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการพัฒนาธุรกิจที่ยั่งยืน 

เพื่อให้ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่กำลังมองหาทางออกทางด้านพลังงานหมุนเวียน เพื่อการลดต้นทุนในการผลิต การขนส่ง หรือแม้แต่การประหยัดพลังงานในกระบวนการต่างๆ ในการดำเนินธุรกิจนั้นได้สามารถปรับธุรกิจให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากจะช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมในระยะยาวแล้วยังสามารถลดต้นทุนธุรกิจได้ถึง 20 - 30% ต่อปีอีกด้วย


ที่มา :
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/articles/Pages/Article_7Jul2021.aspx
https://www.bangkokbank.com/th-TH/Business-Banking/Finance-My-Business/Loans-for-SMEs/Bualuang-Green-Loan
https://www.bangkokbank.com/-/media/files/investor-relations/sustainability-report/2021/sr2021_th.pdf?la=th-th&hash=24E14506D7889BBD239D281F6EBD1FAAE3294FD5
The Global Green Finance Index 7
   https://www.longfinance.net/media/documents/GGFI_7_Report_2021.04.29_v1.1.pdf 
หน่วยงาน สสว.แผนการส่งเสริม SME พ.ศ. 2564-2565
https://www.sme.go.th/upload/mod_download/download-20210820091040.pdf
https://www.thansettakij.com/finance/523321

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
2610 | 18/03/2024
ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ศึกษาโมเดล “ไฮโดรเจนสีเขียว” ใหญ่ที่สุดในโลก นำข้อดีมาปรับใช้ ในอุตสาหกรรมผลิตพลังงานไฮโดรเจนไทย ได้อย่างไร

ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ หนึ่งในสาเหตุสำคัญมาจากการผลิตพลังงานไฟฟ้าและพลังงานความร้อนโดยการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล…
pin
4851 | 29/02/2024
เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

เทรนด์ ESG โตแรง! SME - สตาร์ทอัพรุ่นใหม่ จะสตาร์ทอย่างไร ไม่ให้ตกเทรนด์โลก?

สำหรับหลาย ๆ  SME ที่เริ่มสร้างธุรกิจโดยเฉพาะ ‘สตาร์ทอัพ’ มีเสียงบอกกล่าวแนะนำกันอย่างต่อเนื่องว่า ‘สตาร์ทอัพ’ จะต้องทำ ESG เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมที่รอไม่ได้…
pin
3375 | 20/02/2024
ส่องแนวทาง ‘สินเชื่อสีเขียว’ นวัตกรรมสินเชื่อเพื่อผู้ประกอบการ SME ไทยใส่ใจโลก อีกก้าวที่จำเป็นสู่อนาคตที่ยั่งยืน