ปี 2020 โต 1.4 แสนล้าน US! ‘HealthTech’ เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยยุคดิจิทัล สู่การ Business Transformation ภาคธุรกิจสุขภาพไทย

Mega Trends & Business Transformation
28/06/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 6265 คน
ปี 2020 โต 1.4 แสนล้าน US! ‘HealthTech’ เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยยุคดิจิทัล สู่การ Business Transformation ภาคธุรกิจสุขภาพไทย
banner
จากข้อมูล Silicon Valley Bank พบว่า จำนวน Unicorn ในวงการ HealthTech (อีกหนึ่ง Mega Trend ซึ่งกำลังได้รับความนิยมในปัจจุบัน) ทั่วโลกหลังจบไตรมาส 3 ของปี 2021 มีมากถึง 32 รายด้วยกัน (ปี 2020 มีเพียง 9 ราย) ขณะที่ข้อมูลของ gminsights.com ระบุว่า ตลาด HealthTech ทั่วโลก ปี 2020 มีมูลค่า 1.4 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ และคาดว่าจะเติบโตมากกว่า 17.4% ระหว่างปี 2021 - 2027 ส่วน Statista ระบุว่า ในช่วงปี 2015 - 2017 HealthTech มีมูลค่าการลงทุนต่อเนื่องมากถึง 20% ต่อปี และมีแนวโน้มที่ดีต่อเนื่อง รวมถึงคาดการณ์ว่าปี 2024 อาจมีมูลค่าสูงถึง 5.9 แสนล้านดอลล่าร์สหรัฐ 



เป็นสัญญาณชี้ชัดให้เห็นถึงกระแสลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพที่ยังคงเติบโตแบบฉุดไม่อยู่ สร้างโอกาสให้กับ Startup ผู้ประกอบการ รวมถึง SME ไทย ในการ Business Transformation ปรับเปลี่ยนองค์กรตาม Mega Trend ‘HealthTech’ ตอบโจทย์ความต้องการผู้บริโภค

โดย HealthTech (Health Technology) ก็คือการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นไปเรื่อยๆ แล้วถูกนำมาประยุกต์ใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ไม่เว้นแม้แต่ด้านสุขภาพ ดังนั้น HealthTech จึงหมายถึงการนำเอาเทคโนโลยีมาดูแลรักษาด้านสุขภาพ ตั้งแต่การลงทะเบียนคนไข้ การนัดพบแพทย์ การรักษา การติดตามคนไข้ เป็นต้น 

นอกจาก HealthTech จะถูกนำมาใช้ในการรักษาแล้ว ยังสามารถพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถนำมาป้องกันการเกิดโรคต่างๆ ได้อีกด้วย ในอนาคต HealthTech จะยิ่งมีบทบาทสำคัญมากเพราะทั่วโลกจะเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น บุคลากรทางการแพทย์เริ่มขาดแคลนและค่าใช้จ่ายในการรักษาค่อนข้างสูง

ดังนั้นการนำ HealthTech เข้ามาจะช่วยแก้ปัญหาและสามารถปฏิวัติอุตสาหกรรมทางการแพทย์ได้ สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมการแพทย์เองกำลังมีอนาคตที่สดใส ซึ่งจากการการจัดอันดับให้มีระบบสุขภาพที่ดีที่สุด ‘ไทย’ เป็นอันดับ 6 ของโลก และมีศักยภาพพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการแพทย์ (Medical Hub) โลก



ตลาด HealthTech โลกยิ่งโต ยิ่งช่วยลดภาระให้กับทุกฝ่าย

ด้วยความที่ HealthTech เป็นอีกหนึ่ง Mega Trend โลกที่เติบโตอย่างต่อเนื่องในปัจจุบัน เป็นอุตสาหกรรมที่กว้างและซับซ้อน ‘McKinsey & Company’ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ จึงวิเคราะห์ว่าในปี 2562 ตลาดนี้มีขนาดราว 350,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในระดับโลก แบ่งย่อยบริการออกเป็น 5 หมวดใหญ่ ซึ่งคาดว่าแต่ละหมวดจะเติบโตขึ้นอย่างน้อย 8% ต่อปีจนถึงปี 2567 ดังนี้

1. การรักษา (Care Delivery) เช่น การรักษาทางไกล (Telemedicine) และระบบสั่งซื้อยาทางดิจิทัล มีขนาดตลาดใหญ่สุดในทุกหมวดหมู่ ราว 157,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (45% ของตลาด)

2. การวิจัยและพัฒนา (Research and Development) เช่น การใช้ AI และ Machine Learning เพื่อพัฒนายาเฉพาะบุคคล มีขนาดตลาดราว 109,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (31% ของตลาด)

3. การคัดกรองและวินิจฉัย (Screening and Diagnosis) เช่น การใช้ Computer Vision วิเคราะห์โรคจากรูปภาพ

4. การดูแลสุขภาพและป้องกันโรค (Wellness & Disease Prevention) เช่น อุปกรณ์สวมใส่ที่ตรวจวัดกิจกรรมของร่างกาย

5. การเงินและระบบจัดการ (Finance and Operations) มีขนาดตลาดราว 26,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (7% ของตลาด) และมีแนวโน้มอัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีสูงที่สุดในทุกหมวด (15 - 18%)

HealthTech หมวดที่ 5 อาจไม่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาทางการแพทย์โดยตรงเหมือนอีก 4 หมวดหมู่ แต่เป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ เช่น ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล (Hospital Information System หรือ HIS) ที่ประสานข้อมูลจากแผนกต่างๆ ไว้อย่างเป็นระบบ ทำให้ดูแลผู้ป่วยได้รวดเร็ว ถูกต้อง ไม่เสียเวลากับกระบวนการทับซ้อน

โดยในประเทศไทย บริษัท อาร์ไอเอ แลบบอราทอรี่ จำกัด ผู้ให้บริการด้านการตรวจวิเคราะห์ทางการแพทย์ ด้วยเครื่องมือ อุปกรณ์ และเทคโนโลยีการวิเคราะห์ที่ล้ำสมัย ได้ยกระดับการบริการด้วยการสร้างมาตรฐานด้านเทคโนโลยี นำระบบ LABORATORY INFORMATION SYSTEM (LIS) มาใช้ในการเชื่อมต่อข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์จากเครื่องตรวจวิเคราะห์กับระบบการรายงานผล ตั้งแต่ขั้นตอนการลงทะเบียน การรายงานผล และการคิดค่าบริการ

ซึ่งเป็น Software ที่มีเสถียรภาพสูงและสามารถตรวจสอบได้ โดยลิงค์ผลการตรวจ Out Lab เข้าระบบ LIS ของลูกค้าอัตโนมัติ ด้วยระบบ Auto Download  หรือ HIS สามารถตรวจสอบเช็กผลการตรวจได้ตลอดเวลา เนื่องจาก RIA Lab เล็งเห็นว่าเทคโนโลยีได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในด้านการบริการให้กับสุขภาพคนไทยได้ทันท่วงที
 





HealthTech ประเภทไหน ได้รับความนิยมในปัจจุบัน

Telehealth
คือชื่อเรียกของระบบที่นำเทคโนโลยีการสื่อสารรูปแบบต่างๆ มาใช้ในการบริการด้านสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารระหว่างแพทย์ถึงแพทย์ การให้คำปรึกษาระหว่างแพทย์กับคนไข้ การที่พยาบาลในพื้นที่ห่างไกลปรึกษาแพทย์ การให้ความรู้เรื่องยาจากเภสัชกรสู่ประชาชน ซึ่งทั้งหมดนี้เกิดจากระบบ Telehealth ที่ถูกนำไปพัฒนา ต่อยอด และแตกแขนงออกมาเป็นระบบอื่นๆ ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น 

- Telemedicine เป็นระบบที่แพทย์ผู้ป่วยสามารถตรวจวินิจฉัยและรับคำปรึกษาจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้โดยตรง เกี่ยวกับอาการป่วยเบื้องต้นที่ไม่รุนแรง หรือติดตามผลการรักษาโรคประจำตัว ผ่านการใช้เทคโนโลยีการสื่อสารอย่าง Video Conference นอกจากนี้ยังมีประโยชน์อื่นๆ เช่น 

- การเฝ้าระวัง สุขภาพที่บ้าน โดยการนำอุปกรณ์ตรวจวัดต่างๆ ไปติดตั้งที่บ้าน เพื่อวัดและเก็บข้อมูลสัญญาณชีพ ถ้าสัญญาณชีพที่ส่งมามีความผิดปกติ ผู้เชี่ยวชาญจะแจ้งให้ผู้ป่วยเข้ารับการรักษาทันที

- ให้ข้อมูลสุขภาพหรือให้คำปรึกษาโรค โดยผู้ใช้สามารถสืบค้นข้อมูลโดยผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ หรือปรึกษาออนไลน์กับผู้เชี่ยวชาญได้

- เรียนรู้ทางการแพทย์ โดยระบบจะทำหน้าที่รวบรวมความรู้ ให้ผู้ใช้สืบค้นข้อมูลหรือเผยแพร่ข้อมูลความรู้ได้ ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ความรู้ให้กับแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ

ในบ้านเราก็มีผู้ประกอบการที่นำ Telemedicine มา Business Transformation องค์กร เช่นเดียวกัน อาทิ แอปพลิเคชัน ‘Smile Migraine’ และบริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) โดยแอปฯ ‘สไมล์ไมเกรน’ มีจุดเริ่มต้นจาก ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ซึ่งจบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปวดศีรษะจาก University College London (UCL) ได้ร่วมกับ คุณณิชชนารถ ชุ่มมะโน พัฒนาการสื่อสารผ่านโซเชียลมีเดีย และสร้างแอปพลิเคชันสไมล์ไมเกรนสำหรับคนไข้ไมเกรน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามอาการปวดศีรษะ วัดระดับความรุนแรงของโรคไมเกรนและสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา เพื่อให้ชาวไมเกรน ได้มีนวัตกรรมในการรักษาที่มีประสิทธิภาพ

 


ส่วน บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ ‘EFORL’ ผู้เป็นตัวแทนจำหน่ายและนำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการจากบริษัทผู้ผลิตชั้นนำระดับโลก ได้มีการนำ Telemedicine โดยการผลักดันให้โรงพยาบาลในประเทศใช้ระบบ Telemedicine (เทเลเมดิซีน) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real Time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO Conference ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย เหมือนคนไข้มารับบริการเองที่โรงพยาบาล ช่วยให้ก้าวข้ามข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ




- Teletriage เป็นระบบที่ใช้คัดกรองผู้ป่วยก่อนจะเข้ามารับการรักษาที่โรงพยาบาล ด้วยการตอบแบบสอบถาม ประเมินความเสี่ยงผ่านทาง Video Call หรือรูปแบบอื่นๆ ซึ่งในกรณีที่ไม่มีความเสี่ยง แพทย์ก็จะแนะนำให้ผู้ป่วยไม่ต้องมาที่โรงพยาบาล แต่หากมีความเสี่ยงสูง แพทย์ก็จะเตรียมอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อเตรียมพร้อม ก่อนพบผู้ป่วยได้

ดังนั้น Telemedicine ก็คือส่วนหนึ่งที่แตกแขนงออกมาจากระบบ Telehealth นั่นเอง ซึ่งนอกจาก Telemedicine และ Teletriage ก็ยังมีระบบอื่นๆ ที่แตกแขนงออกไปอีกมากมาย แต่ปัจจุบันในไทยที่นิยมและถูกนำมาใช้งานในปัจจุบันมากที่สุดก็คือ Telemedicine



Wireless Health

ด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านอิเล็กทรอนิกส์และการสื่อสาร ทำให้เกิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ในทุกภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการแพทย์ Wireless Health คือเทคโนโลยีสุขภาพไร้สายที่นำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์โดยใช้เซนเซอร์วัดค่าต่างๆ ภายในร่างกายและส่งข้อมูลไปยังแพทย์เพื่อติดตามอาการ ให้คำแนะนำได้อย่างรวดเร็วและป้องกันการสูญเสียได้ เช่น โรคหัวใจวาย โรคหลอดเลือดในสมอง เป็นต้น 

นอกจากนี้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ยังถูกพัฒนาไปใช้ดูแลสุขภาพด้านอื่นๆ อีกด้วย เช่น อุปกรณ์ติดตามการนอน เครื่องวัดน้ำตาลในเลือดเพื่อป้องกันโรคเบาหวาน เครื่องวัดอัตราการเต้นของหัวใจ เครื่องวัดค่าออกซิเจน เครื่องวัดระบบเผาผลาญในร่างกาย สร้อยข้อมือติดตามการเจริญพันธุ์ เป็นต้น ยิ่งในอนาคตชิปอิเล็กทรอนิกส์จะเล็กลงเรื่อยๆ เราอาจเห็นอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายอย่างรวมอยู่ในนาฬิกาข้อมือเลยก็เป็นไปได้



AI in Healthcare

AI มีบทบาทในอุตสาหกรรมด้านการแพทย์อย่างมากเพราะสามารถช่วยหมอวินิจฉัยอาการหรือโรคได้ โดยให้โปรแกรมประมวลผล จากชุดข้อมูลต่างๆ ที่ถูกป้อนเข้าไป โดยใช้องค์ความรู้ด้าน Artificial intelligence (AI), Machine Learning (ML) และ Deep Learning (DL) จะทำให้การวินิจฉัยรวดเร็วและแม่นยำมากขึ้น ในอนาคตการวินิจฉัยโรคบางอย่างอาจจะใช้ AI ในการประมวลผลแทนหมอเลยก็เป็นไปได้
 


Startup ผู้ประกอบการและ SME ธุรกิจเกี่ยวกับ HealthTech ต้องการ Business Transformation เข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) ให้ประสบความสำเร็จ ควรคำนึง 4 ข้อดังต่อไปนี้..

1. สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้พร้อมรับมือต่อการเปลี่ยนแปลง 

ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานเข้าสู่ระบบดิจิทัล (Digitalization) คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยอมรับและพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงที่เข้ามาอยู่เสมอ ซึ่งแต่ละองค์กรต้องมีกลยุทธ์ในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงโดยนำนวัตกรรมมาใช้ เช่น การเลิกระบบการทำงานแบบ Silo (การทำงานที่ฝ่ายงานหรือหน่วยงานในองค์กรเดียวกันไม่ยอมแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน แยกส่วนกันทำงาน) เป็นสิ่งที่องค์กรต้องทำ เพื่อให้พนักงานทำงานร่วมกัน แชร์ข้อมูลซึ่งกันและกัน มีเป้าหมายร่วมกัน เดินไปในทิศทางเดียวกัน ทำงานได้แบบ Cross Functional อาจวัดผลการทำงานแบบ Project Based

ซึ่งจากประสบการณ์ของผู้เชี่ยวชาญบริษัท Roland Berger ได้ให้ความเห็นว่าการทำ Business Transformation ให้สำเร็จและยั่งยืนได้ก็ต่อเมื่อ ผู้บริหารและพนักงานภายในองค์กร สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและรูปแบบการทำงานได้อย่างยืดหยุ่น ไม่ยึดติดกับวิธีการทำงานแบบเดิม สิ่งสำคัญที่จะทำให้เกิดขึ้นได้ผู้นำองค์กรจะต้องกำหนดให้ชัดเจนว่า มีแผนการพัฒนาภาพรวมไปในทิศทางใดในอนาคต มีเป้าหมายที่ชัดเจน ดังนั้น บริษัทในกลุ่มธุรกิจ HealthTech จะต้องมีแผนการพัฒนาที่ชัดเจนว่าจะไปในทิศทางใด ตัวอย่างเช่น จะมุ่งพัฒนาไปในด้านการจัดเก็บข้อมูล (Big Data) ของผู้ป่วยและนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกให้แพทย์สามารถทำการวินิจฉัยโรคและรักษาผู้ป่วยได้ดียิ่งขึ้น

2. มีมุมมองเปิดกว้างรู้เท่าทันสถานการณ์ต่างๆ

ให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นรอบตัว จากความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบัน บริษัทต้องประเมินผลกระทบกับสิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นกับตลาดและความสามารถในการแข่งขันของบริษัท บริษัทต่างๆ ควรปฏิบัติตามสมมติฐานที่ว่าตลาดการแข่งขันในอุตสาหกรรมของตนจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงได้ตลอดเวลา สังเกตได้จากในปัจจุบันบริษัทด้านเทคโนโลยี เริ่มเข้ามามีบทบาทในธุรกิจด้าน Healthcare มากขึ้น รวมถึงจากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้เทคโนโลยีด้านสุขภาพ (Health Tech) ถูกให้ความสำคัญและนำมาใช้งานอย่างแพร่หลาย 

ซึ่งการนำเทคโนโลยีมาใช้ในด้านสุขภาพ ไม่เพียงจะก่อให้เกิดโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ แต่ยังเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการที่รวดเร็วและแม่นยำยิ่งขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการให้บริการ สามารถลดปัญหาความแออัดและลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงการบริการด้านสาธารณสุขได้อีกด้วย ดังนั้นบริษัทจึงต้องเตรียมพร้อมรับมือและสามารถปรับเปลี่ยน Business Model ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อสร้างโอกาสและตำแหน่งการแข่งขันของธุรกิจในอนาคต

3. สร้างความพึงพอใจให้กับลูกค้าด้วยวิธีการใหม่ๆ

เมื่อต้องเผชิญกับความหลากหลายทางการแข่งขัน ผู้บริหารต้องถามตัวเองว่าแนวคิดหรือโครงการใดที่จะสามารถผลักดันให้เกิดการทำงานแบบ Digitalization ได้จริง ควรจัดลำดับความสำคัญของแต่ละโครงการ สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญคือในด้านการให้บริการลูกค้า ต้องปรับตัวให้ใกล้ชิดกับลูกค้ามากขึ้นกว่าที่เคยทำในอดีตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าและพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป บริษัทต้องมุ่งเน้นการปฏิบัติงานทุกขั้นตอนเพื่อสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า

ในบริบทของธุรกิจ HealthTech จะมีกฎระเบียบที่เข้มงวดรวมถึงการรักษาคุณภาพให้เป็นมาตรฐานตามที่กำหนดไว้ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินธุรกิจ บริษัทจึงต้องให้ความสำคัญเพราะจะมีผลต่อแผนพัฒนาและการดำเนินงาน ตัวอย่างจากประเทศจีน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอุตสาหกรรม Digital Healthcare ของจีนสามารถเติบโตได้สูงถึง 30% ต่อปี เนื่องจากการแก้ไขกฎระเบียบด้านสาธารณสุขของรัฐบาลจีน เช่นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการ Internet Hospital ในปี 2014 ช่วยปลดล็อกข้อจำกัดเดิมของการให้บริการสุขภาพออนไลน์ หรือนโยบาย Healthcare Digitalization ที่กำหนดให้ทุกโรงพยาบาลทั้งภาครัฐและเอกชนต้องเปิดให้บริการช่องทางออนไลน์สำหรับบริการพื้นฐาน เช่น ระบบการจองคิว การรับชำระค่าบริการ เป็นต้น

4. ใช้ประโยชน์จากพันธมิตรทางธุรกิจ

จากประสบการณ์ในอดีตแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายครั้ง ตัวอย่างเช่น การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมยานยนต์ได้สร้างสถานการณ์ที่คู่แข่งในอุตสาหกรรมเดียวกันทำงานร่วมกันในหลายๆ ด้าน ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นในธุรกิจ HealthTech และนั่นหมายความว่า ธุรกิจที่อยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมนี้จะต้องวางแผนกลยุทธ์ในการดำเนินการให้สอดคล้องกับเทรนด์ในปัจจุบันร่วมถึงการมองหา Partners ที่จะร่วมมือกันเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถให้กับธุรกิจของกันและกัน

ธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการสร้าง Ecosystems มากขึ้น เนื่องจากจะมีคู่ค้ารายใหม่เข้ามาในอุตสาหกรรม ซึ่งจะต้องเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งทางเทคโนโลยี ข้อมูลข่าวสารใหม่ๆ จะเห็นได้จากบริษัทขนาดใหญ่ ในหลายๆ อุตสาหกรรม เริ่มเข้าไปร่วมมือกับกลุ่มบริษัท Tech Startup เพื่อนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับการดำเนินธุรกิจของตนทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังเกิด Model ในการทำธุรกิจใหม่ๆ อีกด้วย ภาคอุตสาหกรรม HealthTech ด้านการแพทย์อาจนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อสร้าง Platform ในการเก็บข้อมูลของลูกค้า (ผู้ป่วย) ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บจะถูกนำมาวิเคราะห์ผู้ป่วย เพื่อใช้ในการตรวจรักษาวินิจฉัยโรคให้ถูกต้องแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตลอดจนสามารถให้การดูแลรักษาในแบบเฉพาะบุคคล (Personalized treatment) ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ดียิ่งขึ้น

การจะทำให้สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการและ SME ที่ต้องการ Business Transformation นำ HealthTech มาใช้กับองค์กรให้ประสบความสำเร็จ นอกจาก 4 ข้อที่กล่าวมาแล้ว ยังต้องมีการวางแผน วางกรอบนโยบายที่ชัดเจน เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับทั้งผู้บริหารและพนักงานเพื่อให้องค์กรเดินไปในทิศทางเดียวกัน ในระหว่างทางอาจต้องปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ มีการทดลองเรียนรู้ - แก้ไขอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลชัดเจน อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานองค์กรให้ก้าวทันเทคโนโลยียุคดิจิทัลสร้างความเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน (Sustainability) ในระยะยาว


แหล่งอ้างอิง : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
https://www.svb.com/trends-insights/reports/healthtech-trends-report 
https://www.gminsights.com/industry-analysis/digital-health-market 
https://www.bangkokbanksme.com/en/health-tech-revolutionizing-medicine 
https://www.mckinsey.com/industries/healthcare-systems-and-services/our-insights/the-future-of-healthcare-in-asia-digital-health-ecosystems 
https://www.smartsme.co.th/content/245595 
https://workpointtoday.com/newsgen-healthtech-thailand/ 
https://www.businessinsider.com/intelligence/2021-bold-predictions?IR=T?IR=T&itm_source=businessinsider&itm_medium=content_marketing&itm_campaign=leadgen_teaser&itm_content=18-big-tech-predictions-for-the-second-half-of-2020-free-report&itm_term=content_marketing_leadgen_link 
https://www.bangkokbankinnohub.com/th/5-healthcare-technology-in-2022/ 
https://spectrum.ieee.org/wireless-health-care 
https://builtin.com/artificial-intelligence/artificial-intelligence-healthcare 
https://www.nature.com/articles/d41586-018-05267-x 
https://www.freenome.com/multiomics 

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
501 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3109 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
968 | 25/03/2024
ปี 2020 โต 1.4 แสนล้าน US! ‘HealthTech’ เทคโนโลยีเพื่อผู้ป่วยยุคดิจิทัล สู่การ Business Transformation ภาคธุรกิจสุขภาพไทย