เสริมแกร่งให้ผู้นำรุ่นใหม่ เพื่อธุรกิจครอบครัวอยู่รอดในสมรภูมิแข่งขันยุคดิจิทัล
‘ดิจิทัล’ เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ควรให้ความสำคัญ ในการนำมาปรับใช้บริหารธุรกิจ เนื่องจากผู้นำรุ่นใหม่มองว่า การเข้ามาของดิจิทัลถือเป็นความท้าทายในการบริหารธุรกิจครอบครัวในยุคนี้ ซึ่งส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างมาก เพื่อความอยู่รอดของธุรกิจและสร้างความได้เปรียบด้านการแข่งขัน อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดดของกระแสดิจิทัล ยังมีผลทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

จากรายงานผลการสำรวจ ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 ของ PwC ประเทศไทย ฉบับที่ 2 ระบุไว้ว่า 45% ผู้นำรุ่นใหม่มีความกระตือรือร้นที่จะพัฒนาความสามารถด้านดิจิทัล รวมถึงปรับปรุงสภาพแวดล้อมและแนวปฏิบัติในการทำงานของพนักงาน เนื่องจากปัจจัยดังกล่าว มีความสำคัญอย่ายิ่งต่อการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน และยังเป็นการเตรียมพนักงานให้พร้อมที่จะแข่งขันภายใต้เศรษฐกิจยุคดิจิทัล
ดังนั้น Bangkok Bank SME จึงขอพาไปเสริมความแข็งแกร่งให้ผู้นำรุ่นใหม่ ด้วย 3 กลยุทธ์สำคัญ เพื่อสืบทอดธุรกิจครอบครัว ให้อยู่รอดในสมรภูมิแข่งขันยุคดิจิทัล

3 กลยุทธ์สำคัญที่ธุรกิจครอบครัวควรมี เพื่ออยู่รอดในยุคดิจิทัล
1. การขับเคลื่อนองค์กรด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย
เพื่อช่วยให้องค์กรและธุรกิจครอบครัวสามารถขับเคลื่อนสู่ Digital Transformation ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล จึงกลายเป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด โดยเทรนด์เหล่านี้จะยังคงอยู่ และไม่หายไปไหน ดังนั้น หน้าที่สำคัญสำหรับผู้นำรุ่นใหม่ คือ การเสาะหาและปรับใช้เทคโนโลยีที่เป็นประโยชน์ต่อตัวธุรกิจ พร้อมทั้งการพัฒนาทักษะของบุคลากรในองค์กร การสร้างและเสริมทักษะที่จำเป็น ความสามารถที่จะเรียนรู้และ อยู่ร่วมกับเทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัวให้ประสบความสำเร็จรองรับยุคดิจิทัล
2. ชูจุดเด่นด้วยการนวัตกรรมที่แตกต่าง
การสร้างนวัตกรรมที่แตกต่างให้กับธุรกิจครอบครัว ถือเป็นอีกหนึ่งความท้าทายสำคัญ เพราะนวัตกรรมเปรียบเสมือนอาวุธสำคัญในการสร้างกลยุทธ์ทางธุรกิจให้มีจุดเด่นและแตกต่าง รวมทั้งยังสามารถสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจได้ในระยะยาว
ท่ามกลางการแข่งขันกันอย่างดุเดือดในยุคดิจิทัล นวัตกรรมจึงเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจครอบครัวอยู่รอดและมีความได้เปรียบเหนือคู่แข่งรายอื่นๆ ซึ่งหากอยากสร้างความแตกต่างด้วยนวัตกรรมต้องกล้าที่จะเสี่ยงในการลงทุนและพัฒนา แต่ทายาทธุรกิจจำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับรุ่นพ่อ-แม่ถึงความสำคัญของเรื่องดังกล่าวด้วย โดยต้องมีความสามารถในการโน้มน้าวและอธิบายถึงจุดแข็งของนวัตกรรมที่จะมาเสริมกับธุรกิจภายใต้ข้อจำกัดต่างๆ ที่มีอยู่ให้ได้ เพื่อนำพาธุรกิจครอบครัว
3. อยากได้ผลลัพธ์ใหม่ ต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง
สำหรับทายาทธุรกิจรุ่นใหม่หลายรายที่ประสบความสำเร็จนั้น พวกเขาเชื่อว่า การทำอะไรเดิมๆ เป็นสิ่งที่น่าเบื่อ ดังนั้น การพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือรูปแบบทางธุรกิจ รวมไปถึงการขยายตลาดใหม่ๆ เพื่อเติบโตและกระจายความเสี่ยง จึงเป็นสิ่งที่ผู้นำรุ่นใหม่ให้ความสำคัญไม่แพ้กับการสร้างผลกำไรให้กับธุรกิจครอบครัว
ซึ่งการกล้าที่จะเปลี่ยน หรือการทำ การทำสิ่งต่างๆ ให้แตกต่างจากรุ่นก่อน โดยวิเคราะห์ว่า ส่วนใดของธุรกิจจำเป็นต้องได้รับการปรับปรุง และก้าวข้ามผ่านกฎเกณฑ์เดิมๆ ที่ล้าสมัย เพื่อให้ธุรกิจครอบครัวสามารถแข่งขันได้ในสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม นอกจากนี้ ความกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง จะต้องมาพร้อมกับการรับฟังความคิดเห็นของผู้นำรุ่นก่อนด้วย

กรณีศึกษาธุรกิจครอบครัวที่ขับเคลื่อนการเติบโตด้านดิจิทัล จากผู้นำรุ่นใหม่
บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ที่ดำเนินธุรกิจผลิตและประกอบอุปกรณ์เครื่องจักรโรงสีข้าว ที่ทันสมัยที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศไทย จนได้รับความไว้วางใจจากโรงสีและโรงปรับปรุงคุณภาพข้าวชั้นนำทั้งในและต่างประเทศมาอย่างยาวนาน จากการบริหารของผู้นำรุ่นใหม่ คุณกานต์ จิตสุทธิภากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท ยนต์ผลดี จำกัด ทายาทธุรกิจรุ่น 3ที่มีแนวคิด Business Transformation พร้อมยกระดับบริษัทไปสู่องค์กรที่มีความทันสมัยมากขึ้นทั้งในแง่ของการบริหารธุรกิจ การบริหารงานบุคคล รวมทั้งมีการบูรณาการระบบเทคโนโลยีอัตโนมัติ ประยุกต์เข้ากับระบบเครื่องจักรเดิมภายในโรงงาน ให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้เพิ่มมากขึ้น
นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดที่นำพาองค์กรก้าวสู่ยุคใหม่ให้ทันสมัยยิ่งขึ้น จากการเรียนรู้ระบบงานในฝ่ายการตลาดก่อน จนสามารถสร้างยอดขายและรายได้เพิ่มขึ้นจนเป็นที่ยอมรับจากคณะกรรมการบริษัท หลังจากนั้นได้นำเสนอโครงการเพื่อพัฒนาแนวทางการบริหารให้กับบริษัทซึ่งในขณะนั้นยังเป็นรูปแบบธุรกิจครอบครัว (Family Business) แบบดั้งเดิม สู่การปรับโครงสร้างเพื่อบริหารธุรกิจแบบมืออาชีพ โดยกำหนดวิธีการการทำงานที่ชัดเจน และได้รับการรองรับระบบ ISO 9001 : 2015 ซึ่งเป็นมาตรฐานระบบบริหารคุณภาพและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล
อีกทั้ง ยังมีการจัดทำข้อปฏิบัติการใช้แรงงานเกี่ยวกับสภาพการจ้างและสภาพการทำงาน ตามระบบมาตรฐานแรงงานไทย (มรท.8001-2563) เพื่อความปลอดภัย มีมาตรฐาน ลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของพนักงาน เพราะเราให้ความสำคัญต่อคุณภาพชีวิตของพนักงานทุกคน โดยบริษัทต้องการให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขวัญและกำลังใจที่จะสร้างผลผลิตอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมทั้งทำให้มีแนวปฏิบัติในการจัดทำระบบการจัดการให้มีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มผลผลิตที่จะสร้างรายได้ให้บริษัทและลูกจ้างอย่างมั่นคงควบคู่ไปพร้อมกัน
อ่านบทสัมภาษณ์แนวคิดการบริหารธุรกิจครอบครัวจากผู้นำรุ่นใหม่ :
ผู้พัฒนาเครื่องจักรอุตสาหกรรมการผลิตข้าวครบวงจร ‘ยนต์ผลดี’ ชูจุดเด่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยจนครองใจลูกค้า
ผู้พัฒนาเครื่องจักรอุตสาหกรรมการผลิตข้าวครบวงจร ‘ยนต์ผลดี’ ชูจุดเด่นเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยจนครองใจลูกค้า

การเปลี่ยนองค์กรไปสู่ดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลของพนักงาน และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญภายใต้การบริหารของผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญเร่งด่วนที่ผู้นำ Next Gen ไทยควรจะเร่งดำเนินการทันทีเพื่อยกระดับความสามารถขององค์กร และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า เพื่อพลิกโฉมให้ธุรกิจของครอบครัวสามารถก้าวทันกระแสการเปลี่ยนแปลง และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน
แหล่งอ้างอิง : หนังสือวางแผนสืบทอดธุรกิจครอบครัวอย่างยั่งยืน เขียนโดย คุณกิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์, รายงานผลการสำรวจ ผู้นำธุรกิจครอบครัวรุ่นใหม่ ประจำปี 2565 ของ PwC ประเทศไทย ฉบับที่ 2
https://www.pwc.com/th/en/thailand/assets/family-business/2022/next-gen-survey-2022-thailand-report-th.pdf
https://www.pwc.com/th/en/press-room/press-release/2022/press-release-12-05-22-th.html
https://www.pwc.com/th/en/pwc-thailand-blogs/blog-20171227.html