หยิบงานวิจัยใส่นวัตกรรม พลิกโฉมปลาหมึกเป็น ‘แคปหมึก' สแน็คไทย สะกดใจผู้บริโภคสายเฮลตี้

SME in Focus
25/11/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2724 คน
หยิบงานวิจัยใส่นวัตกรรม พลิกโฉมปลาหมึกเป็น ‘แคปหมึก' สแน็คไทย สะกดใจผู้บริโภคสายเฮลตี้
banner
มีผู้ประกอบการไม่น้อยที่เปลี่ยนความชอบเป็น Passion สร้างธุรกิจ เช่นเดียวกับ คุณยุวดี มีทำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แคปหมึก ฟู้ดแอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด เจ้าของผลิตภัณฑ์ ‘แคปหมึก’ ภายใต้แบรนด์ ‘Ocean Boy’ ที่ชื่นชอบการรับประทานปลาหมึกเป็นชีวิตจิตใจ แต่ไม่ได้คิดเพียงว่าทำสินค้าอะไรก็ได้จากปลาหมึก แต่เริ่มจากการค้นหางานวิจัยเพื่อนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่แตกต่าง จนกลายเป็น ‘แคปหมึก’ ขนมไทยใส่นวัตกรรมที่สะกดใจผู้บริโภคทั้งไทยและต่างประเทศ 



เริ่มจากความชอบเปลี่ยนเป็น Passion สร้างธุรกิจไม่เหมือนใคร

คุณยุวดี เล่าถึงที่มาของธุรกิจว่า เกิดจากความชอบรับประทานปลาหมึก จนกลายมาเป็นธุรกิจจากการได้ไปพบงานวิจัยของด็อกเตอร์ท่านหนึ่ง แห่งมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราช เรื่องการทำปลาหมึกแปรรูปให้พองฟู และกรอบเหมือนแคปหมู งานวิจัยนี้ช่วยทำให้ความฝันของเธอ ก้าวสู่ความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจ เพราะมองว่า คนรับประทานหมูอาจมีข้อจำกัดบางเชื้อชาติ แต่สำหรับปลาหมึกใครๆ ก็รับประทานได้ ไม่จำกัดเชื้อชาติ ถ้าทำผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานส่งออกที่ครบถ้วน จะมีโอกาสเติบโตสู่ตลาดส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกได้



ทำไม? ถึงเรียก ‘แคปหมึก’ 

คุณยุวดี อธิบายว่า มุมมองของคนไทยนั้น คำว่า ‘แคป’ แปลว่าพองฟูมีความกรอบ ถ้าเป็นแคบหมูก็คือนำหมูมาทำให้ฟูและกรอบ เราจึงนำคำว่าแคปมาใช้กับผลิตภัณฑ์ของเรา ซึ่งเราต้องการทำให้ปลาหมึกกรอบฟูเหมือนแคบหมู เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าใจได้ง่ายในแง่ของการสื่อสาร และให้เกิดความเข้าใจง่ายขึ้น 





มองเห็นโอกาสอะไร ? ในผลิตภัณฑ์นี้

คุณยุวดี มองว่า ปัจจุบันคนรุ่นใหม่จะเลือกรับประทานอะไรที่ใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยจะดูในเรื่องของส่วนประกอบและวัตถุดิบที่นำมาผลิต ซึ่งแคปหมึก ทำจากปลาหมึก 100 % ที่ไม่ผสมแป้งเลย นอกจากนี้บริษัทฯ ยังนำผลิตภัณฑ์ แคปหมึก ไปวิจัย ก็พบว่ามีโปรตีนสูง แคลอรี่ต่ำเทียบเท่ากับดื่มนมถั่วเหลือง 1 กล่องเท่านั้น ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่รักสุขภาพหรือต้องการควบคุมน้ำหนัก

โดยแคปหมึกของเราจัดอยู่ในกลุ่มสินค้า ‘คีโต’ จึงเหมาะกับคนรุ่นใหม่ที่ห่วงใยสุขภาพ ที่สำคัญคือสินค้ามีความแตกต่างและมีความโดดเด่นในตลาด สิ่งนี้จึงเป็นโอกาสของผลิตภัณฑ์ ‘แคปหมึก’



หยิบงานวิจัยใส่นวัตกรรมสร้างความแปลกใหม่ให้ผลิตภัณฑ์ 

คุณยุวดี อธิบายถึงความโดดเด่นของผลิตภัณฑ์ว่า สิ่งที่ทำให้ ‘แคปหมึก’ มีความน่าสนใจคือการทำเป็นสแน็คที่ผลิตจากปลาหมึกแท้ 100 % ใช้เทคโนโลยีช่วยในการสลายความเหนียว จากนั้นนำมาทำให้กรอบและพองฟู มีความอร่อยที่โดดเด่นไม่ซ้ำใคร การเริ่มต้นทำธุรกิจโดยมีนวัตกรรมเป็นอาวุธสำคัญ ทำให้ ‘แคปหมึก’ ภายใต้แบรนด์ ‘Ocean Boy’ เป็น 1 ในแบรนด์ที่ได้รางวัล Creator Awards จากเวที 7 Innovation Awards  อีกด้วย

“ก่อนที่จะคิดทำธุรกิจนี้ เกิดความสงสัยว่าทำไมบ้านเรามีเทคโนโลยีด้านอาหารที่มีศักยภาพ แต่ทำไมไม่มีคนรุ่นใหม่สนใจนำมาพัฒนาต่อยอดในด้านธุรกิจ จึงนำ Pain Point ตรงนี้มาพัฒนาต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์มีความน่าสนใจมากขึ้น โดยมีต้นทุนไม่สูงมากนัก” 



คุณยุวดี ขยายความเรื่องนี้ว่า จุดขายของแคปหมึก คือการทำจากปลาหมึกแท้ที่ไม่ผสมแป้งเลย คำถามที่ตามมาคือ ‘ต้นทุน’ จะสูงมากแค่ไหน คนเพิ่งเคยทำธุรกิจจะบริหารต้นทุนอย่างไร ผลิตออกมาจะขายได้ไหม จะสู้กับคู่แข่งในตลาดได้อย่างไร คำถามเกิดขึ้นมากมาย คุณยุวดี จึงเริ่มมองหาปลาหมึกสายพันธุ์ที่ต้นทุนที่เหมาะสมเพื่อให้แคปหมึกสามารถแข่งขันในตลาดได้ จนพบว่าปลาหมึกกล้วยขนาดเล็ก ที่เรียกกันว่า ‘หมึกกะตอย’ ส่วนใหญ่นำไปตากแห้งขาย ซึ่งไม่ได้เพิ่มมูลค่ามากนัก แถมยังเหนียวอีกด้วย เมื่อนำนวัตกรรมการแปรรูปอาหารมาปรับโฉมให้กลายเป็น แคปหมึก สามารถสร้าง Value และเพิ่มโอกาสในตลาดได้อย่างมาก ที่สำคัญยังช่วยสร้างรายได้เพิ่มให้กับชาวประมงอีกด้วย

สะท้อนให้เห็นว่า การนำงานวิจัยของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย วิทยาเขตนครศรีธรรมราชมาต่อยอดพัฒนาด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพื่อสร้างความแตกต่างให้กับผลิตภัณฑ์ ทำให้สามารถเจาะตลาดในประเทศและสามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ในเวลาอันรวดเร็ว 



แพคเกจจิ้งต้องโดดเด่น ดีไซน์ต้องสะดุดตา

เมื่อได้ผลิตภัณฑ์ที่ดีแล้ว การพัฒนาแพคเกจจิ้งเป็นเรื่องสำคัญไม่แพ้กัน คุณยุวดี กล่าวว่า ตอนที่เริ่มทำแบรนด์ใหม่ ๆ ตัวเธอเองไม่มีความรู้ในเรื่องของธุรกิจมากนัก แคปหมึกของเธอจะอยู่ในซองสี่เหลี่ยมธรรมดา ๆ กระทั่งวันหนึ่งได้ไปออกบูทมีลูกค้าให้แนวคิดว่า ทำไมไม่ทำผลิตภัณฑ์ให้มีอัตลักษณ์ (Unique) ของตัวเองมากขึ้น จึงนำ Pain Point ตรงนี้มาพัฒนาแพคเกจจิ้งเป็นรูปปลาหมึก ที่มีความโดดเด่นสะดุดตา เพื่อสร้างการจดจำ โดยแพคเกจจิ้งจะสามารถแยกรสชาติให้ผู้บริโภคเห็นได้อย่างชัดเจน เช่น รสปลาหมึกย่างซองสีน้ำตาล รสต้มยำซองสีแดง รสลาบซองสีเหลือง

“ต้องยอมรับว่า ความธรรมดาของแพคเกจจิ้ง ทำให้สินค้าไม่โดดเด่น ลูกค้าที่เดินมาจับต้องสินค้าและอยากซื้อนั้น ส่วนหนึ่งมาจากแพคเกจจิ้งที่น่าสนใจด้วย”


 
นั่นคือที่มาของการปรับกลยุทธ์มาทำบรรจุภัณฑ์เป็นรูปทรงปลาหมึก เพื่อต้องการสื่อกับผู้บริโภคให้รู้ว่านี่คือสแน็ครูปแบบใหม่ที่ทำมาจากปลาหมึก และเพิ่มเติมข้อมูลโภชนา ตลอดจนรายละเอียดสำคัญ อยู่บนซอง เพื่อให้ผู้บริโภคยุคใหม่ที่ให้ความสำคัญกับการเลือกรับประทานอาหารที่ดี ได้รับรู้ว่าแคปหมึกมีคุณค่าทางโภชนาการ มีโปรตีนสูงเมื่อเทียบกับขนมทั่วไปในท้องตลาด และเป็นสินค้าที่รับประทานได้อย่างสบายใจ

จะเห็นได้ว่า คุณยุวดี ศึกษาค้นคว้าข้อมูลมาอย่างดี ว่าผู้บริโภคยุคใหม่หันมาใส่ใจการเลือกรับประทานอาหารมากขึ้น จึงค้นหานวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์เทรนด์สุขภาพ โดยมีข้อมูลโภชนาการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้าให้กับผู้บริโภคมากขึ้นอีกด้วย



ใส่ใจทุกกระบวนการ สร้างมาตรฐานเพื่อเจาะตลาดทั่วโลก

หลังจากเปิดตัวสู่ตลาดได้ไม่นาน ผลิตภัณฑ์แคปหมึกก็ได้เข้าไปวางขายในซูเปอร์มาร์เก็ต และโมเดิร์นเทรดชั้นนำ เช่น 7-11, Lotus, Big C, Tops, The Mall ฯลฯ โดยใช้เวลาเพียงปีกว่าก็สามารถส่งออกไปสหรัฐอเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย เกาหลีใต้ ซาอุดิอาระเบีย และมาเลเซีย ได้ 

คุณยุวดี เผยว่า การที่ผลิตภัณฑ์ของเราสามารถเข้าสู่ตลาดได้และส่งออกได้อย่างรวดเร็ว เพราะเราใส่ใจในรายละเอียดตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเรื่องของ กระบวนการผลิต ต้นทุนวัตถุดิบ แพคเกจจิ้ง ตลอดจนการทำ Marketing เพื่อสื่อสารกับผู้บริโภคอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายนำสินค้าเข้าไปวางขายห้าง โมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าเราได้สะดวกยิ่งขึ้น





ที่สำคัญเราเป็นผู้ผลิตเจ้าเดียวที่ได้รับมาตรฐานต่างๆ ครบถ้วน เราจัดการเรื่องการขอใบรับรองต่างๆ ให้เรียบร้อย เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการส่งออกตั้งแต่แรก โดยวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มทำธุรกิจนี้ ว่าอยากเห็นสินค้าไทยสามารถส่งออกไปยังตลาดทั่วโลกได้ 



ต้องเตรียมตัวอย่างไร ? เมื่ออยากนำสินค้าไปขายในโมเดิร์นเทรด

คุณยุวดี ให้ความรู้ในเรื่องนี้ว่า การจะนำสินค้าเข้าไปวางขายในโมเดิร์นเทรดไม่ใช่เรื่องง่าย ใช่ว่ามีสินค้าดีมีคุณภาพก็สามารถนำไปวางขายแล้วจบเพียงแค่นั้น แต่ยังมีรายละเอียดเงื่อนไขอีกมากมายที่ต้องตรวจสอบอย่างละเอียด เนื่องจากหากสินค้ามีปัญหาจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของห้างเป็นอันดับแรก 

ดังนั้นผู้ประกอบการต้องมีการเตรียมตัวอย่างดีและรอบคอบ โดยเริ่มจากเรื่องมาตรฐานเป็นอันดับแรกต้องมี มาตรฐาน อย. (สํานักงานคณะกรรมการอาหารและยา) และข้อมูลโภชนาการของผลิตภัณฑ์ ในส่วนของเครื่องหมาย ‘ฮาลาล’ ถ้ามีก็จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นในตัวสินค้ามากขึ้น

สิ่งที่ทางห้างฯ พิจารณาต่อมาคือรูปแบบของแพคเกจจิ้ง เป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการไม่ค่อยจะทราบกันเท่าไหร่นัก ว่าสินค้าแต่ละตัวไม่ว่าจะเรื่อง ตราสินค้า ข้อมูลโภชนาการ หรือขนาดของตัวอักษร เครื่องหมาย สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สิ่งเหล่านี้ต้องส่งให้ทางห้างฯ ตรวจสอบในขั้นต้น เนื่องจากมีกฎหมายควบคุม ซึ่งรายละเอียดของแพคเกจจิ้งมีความละเอียดมาก ต้องทำให้ถูกต้องและชัดเจน


 
“ความเข้าใจของผู้ประกอบการทั่วไป คือ การนำสินค้าเข้าไปวางขายบนเชลฟ์ได้ แปลว่าประสบความสำเร็จแล้ว เป็นสิ่งที่เข้าใจผิดกันมาก เพราะทางห้างฯ จะจัดวางสินค้าตามยอดขาย โดยสินค้าที่อยู่ในระดับสายตาจะเป็นสินค้าที่ขายดีที่สุด แต่สำหรับสินค้าที่เพิ่งมาใหม่จะถูกวางไว้ในตำแหน่งไม่ขวาสุดก็ซ้ายสุด หรือไม่ก็อยู่ด้านบนเหนือระดับสายตาผู้บริโภค แต่ไม่ใช่ว่าสินค้าใหม่จะไม่มีโอกาสอยู่ในตำแหน่งที่ดีได้ แต่เราต้องทำโปรโมชั่น และทำการตลาดช่วงเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำเพื่อกระตุ้นยอดขายให้สามารถวางสินค้าในตำแหน่งที่ขายง่ายขึ้น” 

ข้อสุดท้ายคือเรื่องการขนส่ง ด้วยความที่ห้างฯ แต่ละห้างฯ มีสาขาไม่เท่ากัน ดังนั้น คลังสินค้าจะถูกแยกกันออกไป ทางผู้ประกอบการต้องคุยกับจัดซื้อให้ชัดเจนว่า เขาเก็บค่าขนส่งสินค้าเราเท่าไหร่ บางครั้งผู้ประกอบการลืมคิดตรงส่วนนี้ไปว่า ยังมีค่าโปรโมชั่นและค่าขนส่งสินค้าที่เราต้องมาคำนวณต้นทุนด้วย เพราะเป็นโครงสร้างราคาที่ต้องคิดอย่างรอบคอบ



สะท้อนให้เห็นว่า ต้นทุน 4 ด้านที่ผู้ประกอบการต้องรู้ คือ

1.ต้นทุนเรื่องคุณภาพมาตรฐานสินค้า
2.ต้นทุนเรื่องแพคเกจจิ้ง
3. ต้นทุนการทำโปรโมชั่น
4. ต้นทุนค่าขนส่ง

สิ่งเหล่านี้จะเป็นตัวกำหนดราคาที่เหมาะสมให้กับผลิตภัณฑ์ของเรา เพราะถ้าเราไม่มีความละเอียดรอบคอบในเรื่องการบริหารต้นทุน จะทำให้เราขาดทุนโดยไม่รู้ตัว อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญที่ผู้ประกอบการ SME หรือ สตาร์ทอัพ ควรคำนึงถึง คือเรื่อง ‘เครดิตเทอม’ รายได้ต้องสัมพันธ์กับระยะเวลาที่ต้องจ่ายให้ซับพลายเออร์เราด้วย อันนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญเพราะมีผลต่อเงินทุนหมุนเวียนในกิจการของเรา 



วางแผนต่อยอดธุรกิจในอนาคตอย่างไร?

ผู้บริหารสาว เผยวิสัยทัศน์ว่า นอกจากผลิตภัณฑ์ปลาหมึกแล้ว เรายังมีแผนที่จะนำอาหารทะเลมาแปรรูปให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น หอยลาย นำมาพัฒนาเป็นขนมอบกรอบ นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์แมลงต่าง ๆ ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจในตลาดยุโรป เนื่องจากแมลงเป็นแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง เราจึงคิดค้นพัฒนาแมลงเป็น ‘โปรตีนผง’ ซึ่งเป็นที่นิยมมากในต่างประเทศเพราะชาวต่างชาติไม่นิยมรับประทานในรูปแบบแมลงทอดกรอบ แต่ต้องการโปรตีนจากธรรมชาติที่ไม่ใช่โปรตีนที่เกิดจากการสังเคราะห์ ซึ่งเรามีแผนส่งออกในปีหน้าและจะผลิตในรูปแบบ OEM เป็นลำดับต่อไป 

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะพัฒนา ‘แพคเกจจิ้งที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม’ มากขึ้น เพื่อตอบรับกับกระแสรักษ์โลก ที่ต่อจากนี้ไปจะมีผลกระทบต่อการส่งสินค้าไปขายต่างประเทศมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะในตลาดยุโรปและอเมริกา ที่เข้มงวดเรื่องสินค้าเป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นการทำธุรกิจโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อม จะทำให้เราสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลกได้มากขึ้นนั่นเอง



ฝากแง่คิดดี ๆ ถึงผู้ประกอบการ SME

ก่อนจบการสนทนา ผู้บริหารสาวรุ่นใหม่ ยังได้ฝากแง่คิดดี ๆ ถึงผู้ประกอบการ SME ที่ฝันอยากมีธุรกิจเป็นของตนเองว่า เวลาเราจะพัฒนาสินค้าขึ้นมาอย่างหนึ่ง เรามักจะมองว่าสินค้าตนเองดีที่สุด แต่สิ่งที่ลืมนึกไปคือสินค้าที่เราผลิตขึ้นมานั้น เราไม่ได้ขายสินค้าให้กับตัวเอง แต่เรากำลังขายสินค้าให้กับคนอื่นที่กำลังมองสินค้าเราอยู่ ดังนั้นเราต้องตีโจทย์ให้แตกว่าผู้บริโภคต้องการอะไรจากสินค้าเรา นั่นคือสิ่งที่ผู้ประกอบการรุ่นใหม่ต้องคิดและนำไปวิเคราะห์ เพราะถ้าเราเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายของเราอย่างแท้จริง สิ่งนี้ถือเป็น Key Success ของธุรกิจที่จะทำให้เรามีโอกาสประสบความสำเร็จสูง


รู้จัก ‘บริษัท แคปหมึก ฟู้ดแอนด์ มาร์เก็ตติ้ง จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/capmuek/
https://www.capmuek-oceanboy.com/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
130 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
677 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
543 | 10/04/2024
หยิบงานวิจัยใส่นวัตกรรม พลิกโฉมปลาหมึกเป็น ‘แคปหมึก' สแน็คไทย สะกดใจผู้บริโภคสายเฮลตี้