‘เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย’ โรงงานผลิตมะพร้าวน้ำหอมสดแถวหน้าเมืองไทย ส่งออกอย่างไร? ให้มัดใจลูกค้าทั่วโลก

SME in Focus
18/07/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 7206 คน
‘เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย’ โรงงานผลิตมะพร้าวน้ำหอมสดแถวหน้าเมืองไทย ส่งออกอย่างไร? ให้มัดใจลูกค้าทั่วโลก
banner
มองเป็นเห็นโอกาส Bangkok Bank SME ขอพาไปเจาะลึกแนวคิดแบบ Exclusive ในการดำเนินธุรกิจของบริษัท เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย จำกัด ที่ได้อัพเกรดจากครอบครัวเกษตรกรชาวสวนสู่กิจการโรงงานผลิตมะพร้าวน้ำหอมสดแถวหน้าเมืองไทย OEM ให้กับต่างประเทศ ประสบความสำเร็จในการบุกตลาดจีน ยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย รวมถึงตะวันออกกลาง ซึ่งจะมีประเด็นใดที่น่าสนใจบ้าง เพื่อนำไปเป็นกรณีศึกษาให้กับผู้ประกอบการและ SME บ้านเรา ได้เรียนรู้นำไปประยุกต์ปรับใช้ในองค์กร เอาตัวรอดในสมรภูมิการค้ายุคดิจิทัลตามมาอ่านบทสัมภาษณ์นี้กันได้เลย



จากชาวสวนต่อยอดธุรกิจสู่การเป็น ผู้ผลิตมะพร้าวน้ำหอมให้กับต่างประเทศ

คุณสุรวุฒิ ปวุติภัทรพงศ์ (เฮียแขก) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย จำกัด เปิดเผยถึงเส้นทางธุรกิจให้ฟังว่า คุณพ่อกับคุณแม่เป็นเกษตรกรทำสวนผลไม้และสวนผัก เลี้ยงดูลูกๆ ทั้ง 5 คน ต่อมาพี่ชายคนโต (เฮียอั้งม้อ) และพี่สาวคนรอง (เจ๊ใจ๋) ได้เข้ามารับช่วงต่อธุรกิจจากคุณพ่อกับคุณแม่ มองเห็นว่านอกจากการจำหน่ายสินค้าให้พ่อค้าคนกลางแล้ว น่าจะนำสินค้าไปจำหน่ายเองดีกว่า ก่อนเริ่มพัฒนาการจากชาวสวนธรรมดาไปขายของที่ปากคลองตลาด ก่อนจะย้ายไปที่ตลาดสี่มุมเมือง และตลาดไท ตามลำดับ 

นอกจากการนำพืชผลทางการเกษตรสวนตัวเองมาจำหน่ายแล้ว ครอบครัวยังได้ซื้อมะม่วง ณ สวนแห่งหนึ่งในอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี มาจำหน่าย เวลาต่อมาได้พบกับสวนมะพร้าวของเกษตรกรท่านหนึ่ง ก่อนที่ทางครอบครัวจะเกิดไอเดียทำธุรกิจจำหน่ายมะพร้าวน้ำหอมในปี 2533

โดยเริ่มต้นได้นำมะพร้าวน้ำหอมผลสด (ลูกเขียว) ไปจำหน่ายให้กับล้งต่างๆ ก่อนเห็นโอกาสการเติบโตในอนาคตจึงเริ่มจริงจังกับธุรกิจนี้ จากนั้นได้มีชาวต่างชาติที่สนใจมะพร้าวน้ำหอม เช่น มาเลเซีย ไต้หวัน มาเจรจาเพื่อเป็นพาร์ทเนอร์ธุรกิจ โดยให้บริษัทเป็น OEM ตัดแต่งมะพร้าวลูกเขียวเป็นทรงต่างๆ เช่น มะพร้าวควั่น (เหมือนกับมะพร้าวไหว้เจ้า), มะพร้าวหัวแหลม (ปอกเปลือกออกทั้งหมดเหลือแต่กะลา) ส่งออกต่างประเทศ เมื่อกิจการเติบโตขึ้น มีคนงาน 200 - 300 คน เกิดความจำเป็นต้องมีการจัดการต่างๆ มากขึ้น

ตนเองจึงเสนอให้จัดตั้งบริษัท เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย จำกัด ซึ่ง A มาจากชื่อเฮียอั้งม้อ ส่วน J มาจากชื่อเจ๊ใจ๋ ในปี 2549 ก่อนที่ตนเองจะลาออกจากงานประจำมาช่วยบริหารธุรกิจเต็มตัวในปี 2559 



Aromatic Coconut อัตลักษณ์โดดเด่นรสชาติไม่เหมือนใคร คว้าใจคอมะพร้าวต่างชาติ

เอกลักษณ์มะพร้าวของบริษัทที่เป็นจุดขายก็คือ Aromatic Coconut (มะพร้าวน้ำหอมพันธุ์ต้นเตี้ย ผลมีลักษณะกลมรีเหมือนหัวลิง เปลือกสีเขียว เนื้อมะพร้าวเหนียวนุ่ม น้ำมะพร้าวมีรสหวานและกลิ่นหอมคล้ายใบเตย) ซึ่งแต่ก่อนจะรู้จักกันดีในชื่อมะพร้าวสามพราน จังหวัดนครปฐม แต่เนื่องด้วยความต้องการที่เพิ่มมากขึ้น ต่อมาจึงมีการขยับขยายพื้นที่ปลูกไปยังอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร รวมถึงอำเภอดำเนินสะดวก จังหวัดราชบุรี ในปัจจุบัน

สำหรับสายพันธุ์มะพร้าวจะไม่ค่อยมีความแตกต่างกันเท่าใด โดยจากการศึกษาทางวิชาการพบว่า พื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ นครปฐม สมุทรสาคร ราชบุรี สมุทรสงคราม ได้ GI (Geographical Indication) หรือสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ในการปลูกมะพร้าว เมื่อปลูกแล้วได้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี (ซึ่งแต่ละจังหวัดจะได้ GI ที่เฉพาะเจาะจงในแต่ละพื้นที่) มีลักษณะพิเศษทำให้เป็นจุดเด่นของสินค้า

“มะพร้าวน้ำหอมคุณภาพดี ต้องหอมนำและรสหวานตามคนดื่มจะรู้สึกได้ทันที หากดูแลไม่ดีมะพร้าวจะมีรสชาติจืดหรือเปรี้ยว”



บริหารจัดการ ‘วัตถุดิบ’ อย่างไร? ให้ได้คุณภาพ

ในเรื่องนี้ คุณสุรวุฒิ เล่าว่า วัตถุดิบต้นน้ำ (มะพร้าวสด) เป็นส่วนสำคัญของจุดเริ่มต้นธุรกิจ โดยปัจจุบันบริษัทแบ่งเป็น 3 ส่วนในการจัดหาวัตถุดิบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการผลิตสินค้าคือ..

1. ส่วนที่โรงงานปลูกเอง 20%
2. ผ่าน Suppliers (ผู้รวบรวมผลผลิตครบวงจร) 50%
3. จากสวนโดยตรง 30%

ที่สำคัญบริษัทพยายามสร้างเครือข่ายระยะยาวทั้งจากฝั่งลูกค้าและ Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) โดยในส่วนของลูกค้าควรมี Order (สั่งซื้อ) เป็นประจำทุกสัปดาห์ มีความคงเส้นคงวา หากสถานการณ์ต่างๆ ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่างฝ่ายก็จะช่วยเหลือซึ่งกันและกัน จากนั้นแล้วเราก็ถ่ายทอดแนวคิดนี้ให้กับ Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ได้ทราบ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการทำธุรกิจสู่พันธมิตรระยะยาว ว่าข้อดีคือราคารับซื้อจะมีความสม่ำเสมอ ผลิตมะพร้าวได้โดยไม่ต้องห่วงเรื่องตลาด หรือบางสถานการณ์หากเกิดวิกฤตขึ้นก็จะมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

“ตั้งแต่ตนเองเข้ามาบริหารธุรกิจตั้งแต่ปี 2559 ก็พยายามทำเรื่องนี้มาโดยตลอด โดย 2 ปีล่าสุดถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก สามารถบริหารได้ตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ ซึ่งสิ่งที่เรากำลังทำอยู่เป็นสิ่งที่ช่วยให้บริษัทก้าวข้ามอุปสรรคซึ่งเกิดจากโควิด 19 ได้ ที่ยากไม่ใช่เรื่องซื้อมาขายไปแต่ยากตรงการบริหาร Supply Chain (ห่วงโซ่อุปทาน) ให้ Balance (สมดุล) และการทำให้ลูกค้าที่ว่าจ้างเราผลิตแบบ OEM ไว้วางใจ”

สำหรับการส่งออกไปยังยุโรปหรือสหรัฐฯ จะต้องได้มาตรฐาน GHP (Good Hygiene Practice) และมาตรฐาน HACCP (Hazard Analysis Critical Control Point) การวิเคราะห์อันตรายและจุดควบคุมวิกฤต  และในภาคของสวนเกษตรหรือเกษตรกรนั้นก็จะต้องมีมาตรฐาน Global GAP การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีตามหลักสากล

หากในกรณีที่ลูกค้าปลายทางร้องขอ บริษัทก็จะมีมาตรฐานเกี่ยวกับ Organic หรือเกษตรอินทรีย์ที่เรารู้จัก โดย ณ ปัจจุบันทางเรามีมาตรฐานีรับรองด้าน Organic ได้แก่..

1. USDA Organic
2. Canada Organic Regime
3. EU Organic รับประกันคุณภาพมาตรฐานเพิ่มเติมให้

ขณะที่คุณภาพของมะพร้าวเพื่อการส่งออกไปยังประเทศจีน ต้องประกอบไปด้วย GAP (Good Agricultural Practice) การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี มีสถาบันตรวจรับรอง โดยจะมีการตรวจสอบแปลงปลูก การใช้ปุ๋ย เป็นต้น นอกจากนี้โรงงานผลิตสินค้าจะต้องได้รับ DOA Certificate (ทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช) ซึ่งกรมวิชาการเกษตรเป็นผู้ออกใบรับรองให้


สร้างมูลค่าเพิ่ม ‘มะพร้าว’ อย่างไร? ให้คนรู้จัก Product of Thailand

สมัยก่อนต่างประเทศจะรู้จักมะพร้าวที่ใช้เรียกรวมๆ ในชื่อ Young Coconut หรือมะพร้าวอ่อน ไม่ว่าจะพันธุ์ปลูกแล้วก็นำไปจำหน่ายตามตลาดต่างๆ แต่พอผ่านไปสักพักเราเริ่มรู้ว่า สินค้าที่จำหน่ายมีความโดดเด่นก็คือ เนื้อสด - น้ำมะพร้าวรับประทานแล้วรู้สึกสดชื่น น้ำมีรสหวาน มีกลิ่นหอม

ซึ่งตัวชูโรงเป็นเอกลักษณ์ก็คือ ‘ความหอม’ ของ Aromatic Coconut จากนั้นประมาณ 4 - 5 ปีต่อมา บริษัทก็หันมาชูประเด็นเรื่องความโดดเด่นดังที่กล่าวมา เมื่อนำมะพร้าวของเราไปวางจำหน่ายในต่างประเทศ แล้วชาวต่างชาติได้ลิ้มรสก็มีความรู้สึกว่ารสชาติมีเอกลักษณ์ มีความหอม - หวาน แตกต่างจากมะพร้าวท้องถิ่นของตนเอง

ปัจจุบันบริษัทโฟกัสผลิตภัณฑ์โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทคือ..

1. มะพร้าวสด โดยการนำมะพร้าวลูกเขียวมาทำเป็น
1.1 มะพร้าวควั่น
1.2 มะพร้าวหัวโต
1.3 มะพร้าวเจีย
โดยมะพร้าวควั่นกับเจียเป็นสินค้าหลักที่เราส่งออกต่างประเทศ 

2. มะพร้าวแปรรูป ได้แก่ วุ้นในลูกมะพร้าว วุ้นในถ้วย พุดดิ้งในถ้วย และมะพร้าวแบบ Coco Easy รับประทานง่ายขึ้นแต่ยังคงการเป็นมะพร้าวสด

“ปัจจุบันธุรกิจของบริษัทเน้นไปที่การผลิตแบบ OEM ในส่วนของมะพร้าวสด ให้กับผู้ประกอบการในต่างประเทศ โดยส่งออกประมาณ 75%”

นอกจากนี้บริษัทยังมี Policy (นโยบาย) เรื่อง Zero Waste (การทำให้ของเสียเป็นศูนย์) ด้วย เมื่อก่อนเปลือกเป็นขยะแต่ปัจจุบันบริษัทสร้างรายได้จาก Waste โดยเปลือกย่อยๆ และหนวดมะพร้าว จะนำไปเป็นวัตถุดิบของโรงไฟฟ้า ส่วนกากมะพร้าวจะนำไปจำหน่ายให้กับโรงงานปั่นใยมะพร้าว



จากผู้ผลิต OEM สร้างภาพจำให้ผู้คนรู้จักด้วย Factory Brand

แม้ ‘เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย’ จะทำธุรกิจเป็น OEM ผลิตสินค้าให้กับพาร์ทเนอร์เป็นหลัก แต่หลังจากบริษัทได้ไปศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมด้าน Marketing นำมาสู่แนวคิดการสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง ผลิตสินค้าจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด เช่น โลตัส บิ๊กซี ในปัจจุบัน

“บริษัทมีความพยายามสร้างแบรนด์เหมือนกับธุรกิจอื่นๆ แต่เป็นในรูปแบบ Factory Brand โดยเราพยายามย้ำเน้นกับคนงานว่า ตั้งแต่การหาลูกเขียวเข้ามา กระบวนการผลิต - ระบบที่มีต่างๆ ต้องทำอย่างไรเพื่อให้สินค้าได้มาตรฐาน สร้างความมั่นใจ - เชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค (Consumer) ซึ่งกลายเป็นว่าสิ่งที่ทำลงไปนั้น ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ได้มาตรฐานระดับพรีเมียม ผู้บริโภคชื่นชอบในสินค้าของเรา ส่วนลูกค้าก็สนใจว่าจ้างผลิตแบบ OEM ในลักษณะ B2B”

สำหรับวิธีการทำ Marketing หัวใจหลักที่บริษัทเน้นมากก็คือเรื่องคุณภาพ โดยฟังจากลูกค้าที่มีฟีดแบ็กกลับมา จากนั้นจึงเริ่มปรับเปลี่ยน - แก้ไข รวมถึงการโฟกัสไปถึงผู้บริโภค (Consumer) ด้วย ว่าต้องการสินค้าแบบไหนมาตรฐานอย่างไรเราต้องทำให้ได้ นอกจากนี้ยังต้องมีการศึกษาตลาดเพิ่มเติม เช่นที่จีน เพื่อร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ในการตอบโจทย์ผู้บริโภคประเทศนั้นๆ อย่างตรงจุด


คุณสุรวุฒิ ปวุติภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย จำกัด

เส้นทางธุรกิจ ‘เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย’ จะเป็นเช่นไร? ในอนาคต

บริษัทมองว่าตลาดยังเติบโตได้อีกโดยเฉพาะที่จีน และต้องดูว่าประเทศใดที่มีประชากรเยอะ มีความนิยมดื่ม - รับประทานมะพร้าว ก็สามารถนำสินค้ามะพร้าวไปโปรโมทได้ เช่นในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมที่รู้จักเรื่องมะพร้าวอยู่แล้ว กำลังมาแรงในเรื่องของน้ำมะพร้าวแปรรูป ส่วนยุโรปจะจำหน่ายได้เป็นซีซันนิ่ง เนื่องจากฤดูกาลส่งผลต่อการบริโภค ขณะที่ตลาดอื่นๆ อย่างเช่น ออสเตรเลียหรือตะวันออกกลางผลิตภัณฑ์ก็ได้รับความสนใจพอสมควร ที่สำคัญต้องมองไปถึงอนาคตด้วย เช่น อินเดียประชากรเยอะหากวันหนึ่งผู้คนหันมาบริโภคมะพร้าวมากขึ้น ตลาดก็จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดเช่นเดียวกับจีน เป็นต้น

สำหรับทิศทางของบริษัทในอนาคต จะมีการเพิ่มกำลังการผลิต เช่น เดิมโรงงานปัจจุบันผลิตสินค้าได้ 20 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อสัปดาห์ ก็มีการตั้งเป้าต้องทำให้ได้ 30 ตู้คอนเทนเนอร์ต่อสัปดาห์ ปีที่แล้วทำได้ 900 ตู้คอนเทนเนอร์ ปีนี้ตั้งเป้าจะทำให้ได้ 1,200 ตู้คอนเทนเนอร์

นอกจากนี้ก็มีการขยายการผลิตในเรื่องของวัตถุดิบ โดยใช้แนวคิด Economy of Scale ซึ่งจะช่วยในการบริหารต้นทุนได้ เช่น มะพร้าวปลูกในพื้นที่แปลงใหญ่หรือไม่ หากสร้างโรงงานอยู่ในพื้นที่แปลงใหญ่ก็จะช่วยลดต้นทุนได้ โลจิสติกส์มีความสะดวกมากขึ้น เป็นต้น

“แต่เดิมบริษัทจำหน่ายมะพร้าวเฉพาะที่หน้าโรงงาน จึงเกิดแนวคิดในการสร้างมูลค่าเพิ่มนอกจากการขายมะพร้าว ด้วยการให้บริการด้านโลจิสติกส์ส่งถึงท่าเรือหรือโรงงานของลูกค้า เพิ่มเรื่องเซอร์วิสเข้ามา โดยดำเนินธุรกิจในส่วนนี้มาได้ 3 - 4 ปีแล้ว โดยรวมถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ดี ช่วยให้ลูกค้ามีความสะดวกมากขึ้น ที่สำคัญบริษัทสามารถบริหารจัดการในเรื่องคุณภาพได้ดีขึ้นด้วย”

นอกจากการหาตลาดใหม่ๆ เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางเพิ่มยอดขาย รวมถึงการสร้างรายได้จากขยะแล้ว บริษัท เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย จำกัด ยังใส่ใจในเรื่องพลังงานสะอาด โดยในอนาคตอันใกล้จะมีการติดตั้งแผงโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาโรงงาน ซึ่งได้มีการศึกษามาแล้วว่าเป็นประโยชน์กับองค์กร ช่วยลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว ร่วมตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลกใส่ใจสิ่งแวดล้อมซึ่งกำลังมาแรงในปัจจุบัน


รู้จัก ‘บริษัท เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.aandjthaifruit.com/web/
https://www.facebook.com/aandjthaifruit/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

“บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)”  เปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารด้วยกลยุทธ์ ESG

“บริษัท อาร์ แอนด์ บี ฟู้ด ซัพพลาย จำกัด (มหาชน)” เปลี่ยนอนาคตอุตสาหกรรมอาหารด้วยกลยุทธ์ ESG

ในโลกของอุตสาหกรรมอาหาร การจะสร้างผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ต้องอาศัยวัตถุดิบคุณภาพสูงเป็นหัวใจสำคัญ ซึ่งบริษัทที่สามารถตอบสนองต่อความต้องการของตลาดได้อย่างรวดเร็วและพร้อมที่จะปรับตัวสู่แนวทางที่ยั่งยืน…
pin
3 | 29/04/2025
การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่”  ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

การเดินทางของ “น่านดูโอ คอฟฟี่” ผู้บุกเบิกกาแฟโรบัสต้าจากภาคใต้สู่ภาคเหนือ พร้อมเคล็ดลับการหาช่องว่างในตลาดกาแฟ

ถ้าพูดถึงเครื่องดื่มคู่ใจสำหรับวัยทำงานคงหนีไม่พ้น “กาแฟ” ด้วยกลิ่นหอมละมุน รูปแบบการคั่วเมล็ดหลากหลายตามความชอบ เกิดเป็นรสชาติที่ทำให้หลายคนติดใจ…
pin
9 | 18/04/2025
“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

“โรงหล่อ ก.เจริญ” ผู้นำอุตสาหกรรมเหล็กหล่อไทยกว่า 50 ปี ด้วยนวัตกรรม Lean Manufacturing และ Automation

ในโลกของอุตสาหกรรมการผลิต “วัตถุดิบโลหะ” ถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจและภาคอุตสาหกรรมทุกแขนง ไม่ว่าจะเป็นยานยนต์ โครงสร้างพื้นฐาน เครื่องจักร…
pin
12 | 11/04/2025
‘เอ แอนด์ เจ ผลไม้ไทย’ โรงงานผลิตมะพร้าวน้ำหอมสดแถวหน้าเมืองไทย ส่งออกอย่างไร? ให้มัดใจลูกค้าทั่วโลก