พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม

SME in Focus
20/03/2024
รับชมแล้วทั้งหมด 2010 คน
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม
banner

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อธุรกิจ เมื่อหลายประเทศทั่วโลกเริ่มออกกฎหมายและข้อบังคับเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติ อาจถูกปรับหรือร้ายแรงถึงขั้นถูกดำเนินคดี


ผู้ประกอบการธุรกิจ จึงจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเด็นเรื่องความยั่งยืน กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญ โดยเลือกซื้อสินค้าและบริการที่คำนึงถึงความยั่งยืนมากขึ้น นี่คือสิ่งสะท้อนว่า ธุรกิจจำเป็นต้องดำเนินงานอย่างยั่งยืนเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบัน การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ธุรกิจขนาดเล็ก หรือรายย่อยก็สามารถเริ่มต้นได้ โดยไม่ต้องลงทุนมาก เพียงปรับเปลี่ยนกระบวนการบางอย่าง เช่นการรณรงค์ให้ลูกค้าลดการใช้ถุงพลาสติก สนับสนุนการรีไซเคิล


บทความนี้ ขอนำเสนอตัวอย่างของนักธุรกิจ ที่วางกลยุทธ์และแนวทางปฏิบัติเพื่อขับเคลื่อนธุรกิจสู่ความ ส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสีเขียว คำนึงถึงกระบวนการผลิต การขนส่ง และการกำจัด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และได้รับการยอมรับในวงกว้าง ว่าเป็นรูปแบบการดำเนินธุรกิจที่มีศักยภาพและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง


CEO หญิงแกร่งแห่ง ‘ไทยแทฟฟิต้า’ ผู้นำในอุตสาหกรรมสิ่งทอสีเขียว


ปัจจัยความสำเร็จของแนวคิดการบริหารงานของผู้ประกอบการ SME และเจ้าของธุรกิจยุคใหม่หันมาให้ความสนใจอย่างมากในขณะนี้ คือ Business Model ที่มุ่งเน้นเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy ที่เป็นการนำทรัพยากรที่ไปใช้แล้ว กลับมาแปรรูป และนำกลับไปใช้ใหม่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ซึ่งสาวเก่งนักธุรกิจที่ทำให้แนวคิดนี้เห็นภาพชัดขึ้น คือ ผู้นำในอุตสาหกรรมสิ่งทอสีเขียวอย่างไทยแทฟฟิต้า


คุณกฤติกา ชัยวิไล Vice President บริษัทไทยแทฟฟิต้า จำกัด คือแบบอย่างที่เป็นไอคอนด้านการคำนึงสิ่งแวดล้อมในแวดวงแฟชั่นและสิ่งทอ ผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมสิ่งทอแบบครบวงจรมายาวนาน กว่า 34 ปี ไม่เพียงการดำเนินงานที่พัฒนาเรื่องเทคโนโลยี นวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง แต่ยังเป็นผู้ผลิตสิ่งทอระดับโลกที่พัฒนาสินค้าด้วยความใส่ใจสิ่งแวดล้อมทุกกระบวนการในการผลิต ด้วย Roadmap มุ่งสู่เป้าหมายการเป็นโรงงานผู้ผลิตสิ่งทอที่ยั่งยืน



คุณกฤติกา ชัยวิไล Vice President บริษัทไทยแทฟฟิต้า จำกัด


คุณกฤติกา กล่าวว่า การทำธุรกิจ ต้องใส่ใจทั้งเรื่องคุณภาพและมาตรฐาน เราให้ความสำคัญทุกกระบวนการ ตั้งแต่วั ตถุดิบจนถึงการผลิตทั้งหมด ซึ่งสินค้าเราได้การรับรองจาก GTO หรือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) นอกจากนี้ ยังได้รับรองมาตรฐานตามระบบ Bluesign® Certificate จากประเทศสวิสเซอร์แลนด์


ด้านการผลิตสินค้า บริษัท ไทยแทฟฟิต้า จำกัด จะทำในรูปแบบ Circular Economy ที่ค่อนข้างครบองค์ประกอบ รวมถึงให้ความสำคัญกับการจัดการของเสียจากการผลิตและบริโภค ด้วยการนำวัตถุดิบที่ผ่านการผลิตและบริโภคแล้วเข้าสู่กระบวนการผลิตใหม่ (Carbon Footprint of Circular Economy Product)


Circular Economy เปลี่ยนสิ่งเหลือใช้เป็นเสื้อผ้าแฟชั่น


นอกจากหมวกในฐานะเจ้าของโรงงานผลิต คุณกฤติกา ยังสวมหมวกอีกใบ คือเป็นผู้ก่อตั้ง Earthology Studio แบรนด์แฟชั่นมีสไตล์ที่เน้นความยั่งยืนตลอดการผลิตตั้งแต่ปลายน้ำถึงปลายน้ำ โดยผลิตเสื้อผ้า กระเป๋า และเครื่องประดับจากวัสดุรีไซเคิล เช่น ขวดพลาสติกและตาข่ายจับปลา เพื่อสร้างแบรนด์แฟชั่นที่ตอบโจทย์เทรนด์คนรุ่นใหม่ และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม



สิ่งที่ทำให้หลายคนรู้จักและชื่นชอบ Earthology Studio คือไอเดียธุรกิจรักษ์โลกที่นำขวดพลาสติก Transformsนำกลับมาเป็นโปรดักส์ใหม่ คุณกฤติกา เผยว่ากว่าจะมาเป็นผ้าผืน ต้องมีกระบวนการในการแยกชิ้นส่วนต่าง ๆ ก่อน เช่น ฉลาก ฝาขวด จากนั้นนำไปบดให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ เข้าสู่กระบวนการ ใช้เทคโนโลยีทำให้เป็นเม็ด แล้วฉีด จนกลายเป็นผ้า



ปัจจุบันเทคโนโลยียิ่งมีการพัฒนามากขึ้น เรื่องของ Performance อาจจะไม่ต่างจากเส้นใยใหม่ แต่ต้นทุนพบว่าสูงขึ้น 10-15% ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีการหาแนวทางเพื่อให้ธุรกิจ SME สามารถอยู่ได้ หากต้องการทำธุรกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน


คุณกฤติกา ทิ้งท้ายด้วยแนวคิดเรื่องธุรกิจบนเส้นทาง Net Zero ได้น่าสนใจว่า ในฐานะ SME อาจจะมองว่าเรื่องการรีไซเคิล หรือสิ่งแวดล้อมเป็นคอร์สมหาศาลที่ต้องลงทุน แต่ให้เรามองว่าธุรกิจต้องเริ่มออกเดิน เพื่อดูว่าเราทำอะไรไปแล้วบ้าง? เพราะถ้าไม่เริ่ม อีกไม่กี่ปีนี้ คุณจะสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในธุรกิจ จะสู้กับคู่แข่งยาก


“โลกอนาคตไม่ได้สู้กันที่เรื่องราคาเพียงอย่างเดียวแล้ว แต่ผู้บริโภคจะดูว่าแบรนด์นั้น ๆ ทำเพื่อโลกมากแค่ไหน”


อ่านบทสัมภาษณ์ บริษัทไทยแทฟฟิต้า จำกัด และ Earthology Studio ได้ที่

https://www.bangkokbanksme.com/en/23-4focus-earthology-studio-raise-the-circular-economy-model


หากนึกถึงกระบวนการผลิตสิ่งทอที่ต้องสร้างความโดดเด่น เป็นสินค้าแฟชั่นที่มีความสวยงาม ‘การย้อมสีผ้า’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้า เพิ่มสีสันและลวดลายหลังจากการผลิตเส้นใย ก่อนที่จะนำไปทอเป็นผืนผ้า


แต่อย่างที่ทราบดีว่าผลเสียจากการ ย้อมสีผ้านั้น สร้างความเสียหายให้สิ่งแวดล้อมหลายด้าน เช่น ปัญหาน้ำเสีย จากกระบวนการย้อมสีที่ต้องใช้น้ำปริมาณมาก จากโรงย้อมสี ทั้งยังมีสารเคมี สารอินทรีย์ โลหะหนัก ปนเปื้อน ส่งผลต่อคุณภาพน้ำ และกระบวนการย้อมสี ยังปล่อยก๊าซพิษ ฝุ่นละออง ส่งผลต่อคุณภาพอากาศ อีกทั้งกระบวนการย้อมสี มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผู้ทำธุรกิจดังกล่าวจึงจำเป็นต้องมีการแนวทางแก้ไขเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม


ทายาทธุรกิจเจน 3 ผู้บริหารหญิงเก่งแห่ง บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอที่มีการปรับตัวสู่สถานการณ์โลกและเทรนด์การผลิตที่เปลี่ยนแปลงไป ลบภาพจำของผู้ร้ายด้วยการใช้นวัตกรรมการย้อมผ้าแบบใหม่ ลดการใช้น้ำและสารเคมีในธุรกิจเท็กซ์ไทล์ ปฏิวัติวงการย้อมสีผ้า คืออีกหนึ่งธุรกิจที่เราอยากนำเสนอแนวคิดการดำเนินงานจนชนะใจกลุ่มลูกค้ารักษ์โลกได้เป็นอย่างดี


แนวคิด ‘สิ่งทอ’ รักษ์โลก


คุณพิชญ์สินี เย่ Brand Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด เผยว่า บริษัทฯ แตกไลน์มาจาก บริษัท เย่กรุ๊ป จำกัด (Yeh Group) โดยตนเองเป็นเจเนอเรชันที่ 3 ดำเนินธุรกิจในอุตสาหกรรมสิ่งทอมากว่า 30 ปี รับผลิตเสื้อผ้าให้กับแบรนด์ต่าง ๆ จนเห็นปัญหาว่า กระบวนการย้อมสีผ้านั้น ต้องใช้น้ำจำนวนมากถึงประมาณ 25 ลิตรต่อเสื้อหนึ่งตัว ทำให้มีภาพลักษณ์ในทางลบว่าเป็น ‘Sunset Industry’



คุณพิชญ์สินี เย่ Brand Designer บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด


แต่ด้วยความมุ่งมั่น จะเปลี่ยนอุปสรรคเป็นโอกาส จึงนำคำดูหมิ่นดังกล่าวมาเป็นโจทย์ธุรกิจ เริ่มจากทำความเข้าใจปัญหา ก่อนจะลงทุนเเละพัฒนาด้านเทคโนโลยีในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา เพื่อเปลี่ยนบริษัทให้กลายเป็นธุรกิจแห่งอนาคตที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม


คุณพิชญ์สินี เผยว่า มีโอกาสได้พบกับนวัตกรรมการย้อมแบบไม่ใช้น้ำในงาน ITMA FAIR ที่ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2551 โดยเป็นวิทยานิพนธ์ของศาสตราจารย์ท่านหนึ่ง ซึ่งบริษัทเห็นว่า หากนำมาพัฒนาเป็นการย้อมสีผ้าเชิงพาณิชย์น่าจะตอบโจทย์แนวคิดรักษ์โลกได้ จึงได้มีการร่วมมือกับศาสตราจารย์ และกลุ่มนักธุรกิจจากประเทศเนเธอร์แลนด์ ผลิตเครื่องย้อมสีผ้าเครื่องแรกของโลกซึ่งใช้นวัตกรรมที่มีชื่อว่า ‘DryDye’



Transition to Environmentally Friendly ‘DryDye’


คุณพิชญ์สินี กล่าวว่า กระบวนการทำงานของ DryDye คือการใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เรียกว่า ‘ซูเปอร์คริทิคอลคาร์บอนไดออกไซด์’ (Supercritical Carbon dioxide) เข้าไปแทนที่การใช้น้ำในการนำสีไปจับกับโครงสร้างผ้า


โดยเครื่องย้อมสีผ้า DryDye จะใช้แรงดัน 250 บาร์ เปลี่ยน คาร์บอนไดออกไซด์ เป็น ซูเปอร์คริทิคอลคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้ในการทำความสะอาดผ้า รวมถึงแพร่สีเข้าไปในไฟเบอร์ของเนื้อผ้า โดยการย้อมวิธีนี้เป็นการย้อมแห้ง ซึ่งนวัตกรรม DryDye มีที่มาจากคำว่า ‘ดราย’ ที่แปลว่าแห้ง กับ ‘ดาย’ ที่แปลว่าย้อม


นอกจากนี้ย้อมผ้าแบบ DryDye จะช่วยประหยัดเวลาในการย้อม เช่น ย้อมผ้าสีดำ แบบเดิมใช้เวลาประมาณ 8 ชั่วโมง นวัตกรรม DryDye จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง และยังช่วยประหยัดน้ำ ไม่ต้องบำบัดน้ำเสีย รวมถึงประหยัดอีกกว่า 50% เพราะไม่ต้องใช้สารเคมีในการช่วยย้อม ที่สำคัญ ‘ซูเปอร์คริทิคอลคาร์บอนไดออกไซด์’ หลังจากย้อมสีผ้าเสร็จสิ้น ผงสีที่เหลือจากการย้อมสามารถนำกลับมาใช้ได้ประมาณ 95%



คุณพิชญ์สินี ทิ้งท้ายว่า Yeh Group ให้ความสำคัญกับผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยบริษัทมองว่า DryDye จะกลายเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต เนื่องจากภัยธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา จะทำให้ผู้คนเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับแนวคิดรักษ์โลกมากขึ้น


“แนวคิดของแบรนด์ DryDye คือการทำให้เทคโนโลยีหรืออินโนเวชัน มาช่วยทำให้ชีวิตสะดวกสบายและดียิ่งขึ้น โดยบริษัทเชื่อว่าสิ่งนี้จะเป็นโซลูชันที่ยั่งยืนที่สุด”


อ่านบทสัมภาษณ์ บริษัท แซดเอส อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ที่

https://www.bangkokbanksme.com/en/dye-fabric-yeh-group-develops-drydye-save-the-world


ไม่ใข่แค่อุตสาหกรรมแฟชั่นและสิ่งทอ ที่ตื่นตัวและหันมาปรับตัวสู่ธุรกิจรักษ์โลก โดยอีกปัญหาที่สร้างมลภาวะให้โลกไม่น้อย คือ ‘พลาสติก’ ที่ย่อยสลายยาก ต้องใช้เวลานานนับร้อย ๆ ปี ก่อให้เกิดปัญหาขยะพลาสติกสะสมในสิ่งแวดล้อม สร้างมลพิษอย่างมหาศาล รวมทั้งพลาสติก ยังเป็นอันตรายต่อสัตว์ กล่าวคือ สัตว์ทะเลที่อาจกินพลาสติกที่มนุษย์ทิ้งไว้เข้าไปจนตาย สัตว์บกอาจติดกับดักพลาสติก หรือแม้แต่การส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำ เนื่องจากขยะพลาสติกในน้ำอาจอุดตันทางน้ำ ทำให้น้ำท่วมขัง ด้วยเหตุนี้ หนึ่งในแนวทางการแก้ปัญหาเรื่องนี้คือการสนับสนุนธุรกิจที่ลดใช้พลาสติก


ข้อมูลจาก สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ประเทศไทยมีขยะพลาสติกประมาณร้อยละ 12 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นทั้งหมด หรือประมาณปีละ 2 ล้านตัน มีการนำกลับไปใช้ประโยชน์ประมาณปีละ 0.5 ล้านตัน (ร้อยละ 25) ส่วนที่เหลือ 1.5 ล้านตัน (ร้อยละ 75) ซึ่งพลาสติกส่วนใหญ่เป็นพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียว (Single-use plastics) อาทิ ถุงร้อน ถุงเย็น ถุงหูหิ้ว แก้วพลาสติก หลอดพลาสติก เนื่องจากในช่วงสถานการณ์โควิด ประชาชนมีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในการใช้บริการสั่งซื้อสินค้าและอาหารผ่านระบบออนไลน์เพิ่มขึ้น


ขณะเดียวกัน จะเห็นว่าหลายประเทศรวมถึงไทย มีนโยบายลดการใช้พลาสติก เช่น ห้ามจำหน่ายหลอดพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง นโยบายเหล่านี้ส่งผลต่อปริมาณขยะหลอดพลาสติก ประกอบกับพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเริ่มตระหนักถึงผลเสียของพลาสติกและหันมาใช้หลอดทางเลือก เช่น หลอดกระดาษ หลอดไม้ไผ่ หลอดสเตนเลส



ผู้บริหารหญิงสุดแกร่ง ใช้แรงบันดาลใจ สู่ธุรกิจหลอดกระดาษรักษ์โลก


คุณนภัสนลิน วีรณรงค์ชยกุล หรือคุณเปิ้ล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด คือแบบอย่างของนักบริหารรุ่นใหม่ ที่หวังจะแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะพลาสติกอย่างจริงจัง โดยเธอเล่าถึงเส้นทางธุรกิจผลิตหลอดกระดาษรักษ์โลกว่า ด้วยพื้นฐานของครอบครัวเริ่มต้นจากธุรกิจผลิตแกนกระดาษ ดำเนินกิจการมายาวนานเกือบ 40 ปี นอกจากการทำธุรกิจครอบครัว (Family Business) แล้ว สิ่งหนึ่งที่ยึดมั่นโดยตลอดคือความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม



คุณนภัสนลิน วีรณรงค์ชยกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด


กิจกรรมที่ครอบครัวทำร่วมกันมาตลอดหลายปี คือการออกทริปจิตอาสาเก็บขยะตามสถานที่ต่าง ๆ และหนึ่งในนั้น คือ การเก็บขยะในท้องทะเล ทำให้เห็นปัญหาของขยะพลาสติกที่ปลิวลงสู่ทะเลจำนวนมาก จึงคิดว่า จะทำอย่างไรเพื่อลดขยะพลาสติกอย่างยั่งยืน จนเกิดไอเดียว่า หากย่อส่วนแกนกระดาษให้เล็กลงเป็นหลอดสำหรับดูดน้ำแทนหลอดพลาสติก น่าจะช่วยแก้ปัญหาขยะพลาสติกได้ดีกว่า กลายเป็นที่มาของการต่อยอดธุรกิจผลิตแกนกระดาษมาสู่ธุรกิจหลอดกระดาษของ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด


‘หลอดกระดาษรักษ์โลก’ ลดโลกร้อน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม


คุณนภัสนลิน เผยว่า โจทย์ คือ จะทำอย่างไรให้สินค้าคุณภาพดี ต้นทุนต่ำ ต้องไม่ทำให้ลูกค้าแบกรับภาระมากขึ้น ถ้าสามารถทำสองสิ่งนี้ ในอนาคตคนจะหันมาใช้หลอดกระดาษเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน และสิ่งที่ตามมาคือทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้นอย่างยั่งยืน


ปัญหาที่พบจากการศึกษาตลาด คือ หลอดกระดาษที่ขายทั่วไปจะไม่แข็งแรง เมื่อนำไปแช่ในเครื่องดื่มไม่นานจะเปื่อยและยุ่ย และมีกลิ่น ทำให้รสชาติเครื่องดื่มเสียไป ส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเพราะมีราคาถูก จึงนำองค์ความรู้และประสบการณ์จากการผลิตแกนกระดาษของบริษัทมาต่อยอด และพัฒนาให้ได้เป็นหลอดกระดาษที่มีคุณภาพแตกต่าง วิจัยผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่องจนได้สินค้าที่มีคุณภาพดีขึ้น เพี่อให้ทุกคนหันมาใช้หลอดกระดาษ ช่วยสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง




กระบวนการผลิตทุกขั้นตอนจะเป็นระบบปิดทั้งหมด เพื่อความสะอาดและปลอดภัยจากสิ่งปนเปื้อน เพื่อสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคในเรื่องคุณภาพ ความสะอาดปลอดภัย และได้มาตรฐาน สำหรับสีสันบนหลอดกระดาษ คุณนภัสนลิน บอกว่า สีทีใช้เป็นสี Food Grade จากน้ำมันถั่วเหลือง ไม่ละลายในเครื่องดื่ม จึงปลอดภัย


ในเรื่องการออกแบบสีสันของหลอด ตนเป็นคนออกแบบเองทั้งหมด เพราะส่วนตัวเป็นคนชอบออกแบบอยู่แล้ว จึงออกแบบตามสีสันที่ชอบ ให้ดูสดใส ทันสมัย น่ารัก ๆ สร้างสีสันให้กับเครื่องดื่ม ซึ่งในตลาดเมืองไทย ไม่มีผู้ผลิตหลอดกระดาษรายไหนที่ผลิตสีหลอดกระดาษมากขนาดนี้


นอกจากนี้ หลอดกระดาษที่ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด ผลิตนั้น มาจากการปลูกป่าเพื่อใช้ในการผลิตกระดาษซึ่งจะไม่ใช่การตัดไม้ทำลายป่า โดยเราจะเลือก Supplier ที่มีสัญลักษณ์ FSC (Forest Stewardship Council) ซึ่งหมายถึง เป็นกระดาษที่มาจากไม้ที่ใช้ปลูกเพื่อการทำกระดาษโดยเฉพาะ มีการปลูกทดแทนเพื่อใช้หมุนเวียน


คุณนภัสนลิน ฉายภาพแผนในอนาคตว่า จะขยายตลาดด้วยการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีความหลากหลายเช่นหลอดที่เป็นช้อนตัก หรือหลอดที่ใช้กับเครื่องดื่มที่เป็นกล่องยืดหดได้ ปัจจุบัน ลูกค้าหลอดกระดาษยังอยู่ตลาดบน ร้านกาแฟที่อาจจะมีราคาต่อแก้วสูง ในอนาคตอยากให้ลูกค้าที่เป็นรายย่อย สามารถใช้ได้ จับต้องได้


“เชื่อว่ากระแสรักษ์โลกและใส่ใจสิ่งแวดล้อมจะมีอนาคตที่ยั่งยืน ทั่วโลกให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นโอกาสของผู้ประกอบการและ SME ที่สนใจธุรกิจบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะเป็นเทรนด์ที่มาแรงและอนาคตสดใสแน่นอน”


อ่านบทสัมภาษณ์ บริษัท ที.เอส. เปเปอร์ทิ้ว จำกัด ได้ที่

https://www.bangkokbanksme.com/en/6focus-ts-paper-top-5-paper-core-manufacturer-in-thailand


และทั้งหมดนี้ เป็นเพียงตัวอย่างการขับเคลื่อนธุรกิจที่มากกว่าการสร้างผลกำไร แต่เป็นอีกก้าวที่ยิ่งใหญ่ของการส่งเสริมและสนับสนุนธุรกิจสีเขียว ที่ Bangkok Bank SME ได้ถอดบทเรียนและตัวอย่างแนวคิดจากผู้บริหารหญิงเก่ง เนื่องในเดือนแห่ง ‘สตรีสากล’ ที่ประสบความสำเร็จและสามารถสร้าง Impact ด้านสิ่งแวดล้อมให้การค้ายุคใหม่ ได้ตระหนักถึงความสำคัญ ในการเปลี่ยนผ่านสู่บริบทของโลกธุรกิจปี 2024


โดยเฉพาะเรื่องธรรมาภิบาล หรือการดำเนินการด้วยความโปร่งใส ยุติธรรม และมีความรับผิดชอบต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่าย อาทิ ลูกค้า พนักงาน ผู้ถือหุ้น คู่ค้า และสังคม รวมถึงความรับผิดชอบต่อผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เป็นทั้งโอกาสและความท้าทายของผู้ประกอบธุรกิจ หากใครปรับตัวและพัฒนากลยุทธ์ได้อย่างเหมาะสม จะประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน



Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
212 | 25/04/2024
Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
287 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
924 | 17/04/2024
พลังหญิง เปลี่ยนโลก 3 บทบาทของผู้บริหารหญิงในการขับเคลื่อนธุรกิจสีเขียวที่สร้างแรงบันดาลใจด้านสิ่งแวดล้อม