จุดยืนนานาประเทศ กับแนวทางพิชิต Net Zero สู่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสีเขียวด้วยแนวคิด ESG

ESG
22/05/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4544 คน
จุดยืนนานาประเทศ กับแนวทางพิชิต Net Zero สู่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสีเขียวด้วยแนวคิด ESG
banner
หลายประเทศทั่วโลกกำลังหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น มีแผนงานที่ชัดเจนและมีเป้าหมายไปในแนวทางเดียวกัน สิ่งที่ได้ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ การปล่อยคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ ด้วยเหตุนี้ เป้าหมายของการดำเนินงานเพื่อที่จะดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของทั่วโลกครั้งนี้ แต่ละประเทศจะต้องมีแผนงานที่จำกัดการปล่อยคาร์บอน โดยมีเป้าหมายให้ไปถึง 0% (Net Zero Greenhouse Gas Emissions) ในอนาคต จะใกล้หรือไกลก็ตามแล้วแต่ความชัดเจนของประเทศนั้นๆ รวมถึงการหันมาใช้พลังงานสะอาดเพิ่มมากขึ้น เพื่อจัดการกับภาวะโลกร้อน ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมตามกรอบอนุสัญญานี้ด้วย

‘ESG’ จึงกลายเป็นเทรนด์ระดับโลกที่ทุกธุรกิจต้องจับตามอง เนื่องจากหลายปีที่ผ่านมาวิกฤตสิ่งแวดล้อมที่รุนแรงทั่วโลกถึงจุดที่ Climate Change ยกระดับสู่ Climate Crisis สร้างกระแสความกดดันให้ธุรกิจทั่วโลกต้องเปลี่ยนวิธีการดำเนินธุรกิจ และผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบต่อสังคมและใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น 



จุดยืนนานาประเทศ กับแนวทางการพิชิต Net Zero 

ในปีนี้ประเทศต่างๆ ทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกับผลกระทบจากสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจังมากขึ้น อันเนื่องมาจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน

จากข้อมูล Intergovernmental Panel on Climate Change (IPCC) พบสัญญาณที่ชี้ว่า โลกร้อนขึ้นกว่า 1.09 องศาเซลเซียส ความเข้มข้นของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูงสุดในรอบ 2 ล้านปี การเกิดไฟป่าในออสเตรเลีย และระดับน้ำทะเลสูงกว่าในอดีตถึง 3 เท่า โดย IPCC คาดว่าระดับน้ำทะเลอาจสูงขึ้น 2 เมตรในศตวรรษนี้ และอาจสูงถึง 5 เมตรภายในปี 2150 หรือเพิ่มขึ้น 3.7 มิลลิเมตรต่อปี

ที่ผ่านมา ประเทศมหาอำนาจอย่างจีน นับเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก ได้ให้คำมั่นว่าจะร่วมแก้ปัญหาวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อมโลก โดยตั้งเป้าไว้ภายในปี 2060 ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่ผู้นำจีนประกาศชัดร่วมผลักดันเป้าหมายของความตกลงปารีสในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก 
นอกจากนี้ จีนยังให้คำมั่นระงับให้งบประมาณโครงการถ่านหินในต่างประเทศ และเริ่มลดการใช้ถ่านหินของตนในปี 2026

ขณะที่สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศมหาอำนาจอีกหนึ่งประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนใหญ่อันดับ 2 ของโลก แต่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากกว่าประเทศใดๆ นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อสหรัฐฯ ให้คำมั่นว่าจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 50 - 52% จากระดับปี 2005 ภายในปี 2030

ขณะที่ สหราชอาณาจักร ถือเป็นประเทศแรกในกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก (G-7) ที่ตั้งเป้าหมายอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรมในประเด็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อลดโลกร้อน โดยแสดงจุดยืนสำคัญ ด้วยการตั้งเป้าจะยุติการผลิต และจำหน่าย รวมถึงนำเข้ารถยนต์ที่ใช้น้ำมันตั้งแต่ปี 2040 เป็นต้นไป และผลักดันบังคับใช้กฎหมายที่จะทำให้สหราชอาณาจักรเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ได้ภายในปี 2050 ส่งผลให้กระแส Net Zero ได้รับความสนใจมากขึ้น

ทำให้ฝรั่งเศสเป็นประเทศที่ 2 ในกลุ่ม G-7 ที่ออกมาร่วมแสดงจุดยืนเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายนี้ โดยตั้งเป้าจะเป็นประเทศที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050 เช่นกัน โดยเริ่มจากการลดการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง 30 - 40% ภายในปี 2030 

ส่วนนิวซีแลนด์เป็นอีกหนึ่งในประเทศที่ตั้งเป้าเรื่องนี้เช่นกัน โดยระยะแรกตั้งเป้าจะผลิตกระแสไฟฟ้า 80% ของไฟฟ้าที่ใช้ทั้งประเทศจากพลังงานหมุนเวียน ภายในปี 2035 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 10% จากประมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยในปี 2017 ให้ได้ภายในปี 2030 และจะค่อยๆ ลดลงอย่างต่อเนื่อง จนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ให้ได้ภายในปี 2050

ขณะที่ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นประเทศที่ถือได้ว่าปล่อยก๊าซเรือนกระจกในปริมาณสูงมากอันดับต้นๆ ก็ประกาศจุดยืนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 โดยจะลดการพึ่งพาการใช้พลังงานฟอสซิลและพลังงานจากถ่านหินลง แล้วเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลของ Climate Change Performance Index (CCPI) พบว่าเรื่องการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ยังไม่มีประเทศไหนทำได้ดี ซึ่งทาง UN ได้ออกมาเรียกร้องให้ทบทวนเป้าหมาย เพราะถ้าทุกคนทำตามเป้าที่ตั้งไว้อาจไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งจากการวัดประเมิน 60 ประเทศทั่วโลก ชี้ว่าไม่มีประเทศไหนลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ในอันดับ 1,2 หรือ 3 ในขณะที่ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 31 ต้องปรับตัวและทำอีกมาก โดยสามารถนำนโยบาย หรือแผนของธุรกิจบางประเทศที่ทำได้ดีนำมาปรับใช้



‘ประเทศไทย’ กับเป้าหมายลดโลกร้อนด้วย ESG 

ย้อนกลับมาดูเมืองไทย แม้จะเป็นประเทศขนาดกลางๆ แต่ก็ให้ความสำคัญกับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด อาทิ การสนับสนุนอย่างมากคือ การผลิตไฟฟ้าที่ปัจจุบันส่งเสริมให้มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากขึ้น เนื่องจากเป็นพลังงานที่ไม่สร้างคาร์บอนให้กับธรรมชาติ ซึ่งในช่วง 10 ปีที่ผ่านมากระแสการสร้างสังคมคาร์บอนต่ำทำให้หลายประเทศทั่วโลกได้เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทดแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมากขึ้น นอกจากนี้ที่เห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้นคือ การส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า(EV) ด้วยการลดภาษีเพื่อจูงใจให้ประชาชนหันมาใช้รถที่ลดมลพิษมากขึ้น 

รวมถึงการส่งเสริมให้ภาคธุรกิจหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนในกระบวนการผลิตสินค้าเพื่อลดภาวะโลกร้อนและรองรับกฎกติกาใหม่ในการค้าโลกที่เข้มงวดเรื่องการส่งสินค้าไปขายในตลาดโลกมากขึ้น จากความกังวลเรื่องภาวะโลกร้อน ทำให้เวทีระดับโลกกำหนดทิศทางใหม่หลายเรื่อง เช่น European Green Deal ผลกระทบจากการเก็บภาษีคาร์บอน Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ข้อกำหนดเกี่ยวกับสินค้าที่ยั่งยืน (Sustainability Product Initiative) ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนและความรับผิดชอบในห่วงโซ่อุปทาน

และทุกเรื่องที่กล่าวมานี้ ภาคธุรกิจรวมถึงผู้ประกอบการและ SME ต้องเข้ามามีบทบาทกำหนดยุทธศาสตร์การทำธุรกิจให้เอื้อต่อการช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งถ้าทำได้ย่อมสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนได้เช่นกัน

SME ไทย ต้องเร่งปรับตัวสู่ Net-Zero เช่นกัน

นอกจากองค์กรขนาดใหญ่ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงแล้ว ธุรกิจขนาดย่อมอย่าง SME ก็มีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่น้อย เนื่องจากมีจำนวนกว่า 97% ของระบบเศรษฐกิจที่ปล่อยมลพิษกว่า 25% จากทั้งประเทศ ถึงแม้ว่าจะเป็นเพียง 1 ใน 4 ที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเท่าธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ก็เป็นส่วนสำคัญในการไปสู่เป้าหมาย Net Zero ของไทย ซึ่ง SME ไทยมีจำนวนมากถึง 99% ในระบบเศรษฐกิจ หากไม่ให้ความร่วมมือ ไทยอาจจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมาย Net Zero ตามที่ตั้งเป้าไว้ได้ ผู้ประกอบการ SME จึงควรตระหนักถึงปัญหาสำคัญนี้และมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาไปด้วยกัน

อีกทั้งเรื่องความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป หลังจากเกิดกระแสรณรงค์รักษ์สิ่งแวดล้อมมากมาย ยังช่วยเพิ่มข้อได้เปรียบให้แก่ธุรกิจที่ยึดมั่นในแนวทางปฏิบัติ ผลิตภัณฑ์ และบริการที่ยั่งยืน มากกว่า รวมถึงเพิ่มโอกาสในการส่งออก ซึ่งในอนาคตจะมีข้อกำหนดเกี่ยวกับ Net-zero มาเป็นหนึ่งในเงื่อนไขของบางประเทศหรือทั่วโลกด้วย

 
ซึ่งอุปสรรคที่สำคัญของ SME ในการปรับตัวเพื่อเข้าสู่ Net-zero มีหลากหลายประการ แต่ส่วนใหญ่ที่มักจะพบเจอก็คือ การขาดความตระหนักถึงปัญหาเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและขาดความรู้ ความเข้าใจในการจัดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ถูกวิธีและมีประสิทธิภาพได้อย่างไร พอไม่มีความรู้หรือความชำนาญมากพอ ทำให้การปรับตัวต้องใช้ต้นทุนที่สูงขึ้น 



แนวทางปรับตัวภาคธุรกิจ SME ไทย สู่เศรษฐกิจสีเขียวแนวทางสู่ Sustainability

อย่างไรก็ตามสำหรับ SME ไทย การปรับตัวที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากที่สุด คือการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และการผลิตไฟฟ้าใช้เองจากพลังงานหมุนเวียน เช่น ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงที่ติดตั้งบนหลังคา (โซลาร์รูฟท็อป) เป็นต้น

ขณะเดียวกันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นโอกาสในการลงทุนของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะ SME ไทย หากเปลี่ยนธุรกิจโมเดลให้สอดคล้องกับการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก และเป้าหมายความยั่งยืน เปลี่ยนวิธีการจัดการธุรกิจของตนเอง และมองหาธุรกิจร่วมกับต่างชาติ แต่หากภาคธุรกิจไม่ปรับตัวเอง เชื่อว่าอนาคตราคาต้นทุนในการจัดการ อาจเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า จะทำให้เสียทั้งโอกาสและมีต้นทุนที่สูงขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ยังมีกิจกรรมอีกจำนวนมากที่ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ รวมถึงการปล่อยของเสียสู่ธรรมชาติ สำหรับภาคธุรกิจสามารถเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป และมีส่วนร่วมในการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อขับเคลื่อนไปสู่อนาคต แบ่งเป็น 3 แนวทาง คือ..

1. การสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

เช่น การนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วกลับมาหมุนเวียนใช้ซ้ำ แก้ปัญหาปริมาณขยะพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง เพิ่มสัดส่วนการนำผลิตภัณฑ์ที่ใช้แล้วเข้าสู่ตลอดกระบวนการผลิต อย่างเช่น บริษัท โกลบอล ไบโอพอลิเมอร์ จำกัด ผู้ผลิต Bioplastic พลาสติกทางเลือก ย่อยสลายได้ ด้วยแนวคิดการผลิตพลาสติกชีวภาพจากพืชเช่น แป้ง น้ำตาล น้ำมันพืช  ให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการเทคโนโลยีทางชีวภาพเปลี่ยนคุณสมบัติให้เหมือนพลาสติกซึ่งผลิตจากน้ำมันแต่ย่อยสลายเองได้ ลดการทำลายสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดพลาสติก อีกหนึ่งแนวทางแก้ปัญหาขยะ ตอบโจทย์เทรนด์รักษ์โลก


2. การประยุกต์ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีการเกษตรสมัยใหม่ (AgriTech)

ปัจจุบันภาคการเกษตรเป็น 1 ใน 4 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดจากกระบวนการผลิตอาหาร เป็นตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศ การลงทุนในเทคโนโลยีเกษตรสมัยใหม่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพิ่มปริมาณและปรับปรุงคุณภาพของผลผลิต และใช้ทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ยกตัวอย่าง บริษัท ศักดิ์สยาม เมกเกอร์โดรน จำกัด เป็นตัวอย่างของการประยุกต์ใช้ AgriTech การใช้ระบบเซนเซอร์เพื่อควบคุมและติดตามการเติบโตของผลผลิตแบบเรียลไทม์ ไปจนถึงการใช้ข้อมูล เช่น การใช้โดรนเพื่อการเกษตร ภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลสภาพภูมิอากาศ การใช้บิ๊กดาต้าและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) มาช่วยในการวิเคราะห์และประมวลผลในขั้นตอนต่างๆ ของการเพาะปลูก

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกสินค้าเกษตรสำคัญของโลก AgriTech จะเข้ามาช่วยพัฒนาคุณภาพวัตถุดิบ เพิ่มคุณภาพในกระบวนการผลิต เพื่อตอบโจทย์ความปลอดภัยของอาหาร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั่วโลกให้ความสำคัญเพิ่มมากขึ้นหลังวิกฤตโควิด 19



3. ภาคธุรกิจกับแนวคิดการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน

ธุรกิจยุคใหม่ต้องวางแผนการจัดการกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุของวิกฤตสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจัง เพื่อช่วยขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เติบโตอย่างยั่งยืน ยกตัวอย่าง บริษัท ไทยเอเซีย ไรซ์ โปรดักส์ จำกัด ผู้ผลิตเส้นก๋วยเตี๋ยวด้วยนวัตกรรม ไร้สารพิษที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยการนำเทคโนโลยีก๊าซชีวภาพและเซลล์โซล่าเซลล์ รวมถึงการปลูกป่า มาช่วยในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม โดยการนำของเสียที่เหลือจากกระบวนการผลิตคือน้ำแป้งวันละ 200,000 ลิตรมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพเพื่อแปรเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในโรงงานได้ถึง 2,100 กิโลวัตต์ต่อวัน ซึ่งทำให้บริษัทมีส่วนช่วยลดการใช้พลังงานฟอสซิลและยังทำให้ประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึงเดือนละกว่า 200,000 บาทเลยทีเดียว ที่สำคัญบริษัทสามารถลดก๊าซเรือนกระจกได้ทั้งหมด 2,668 Ton CO2e ต่อปี เป็นตัวอย่างในลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนได้เป็นอย่างดี



จะเห็นได้ว่า แม้ Net Zero จะเป็นเป้าหมายที่ทุกประเทศต้องการบรรลุ แต่เราต่างรู้ดีว่าแต่ละประเทศล้วนมีเงื่อนไขและขีดความสามารถที่แตกต่างกัน ดังนั้นทิศทางของธุรกิจโลกต่อจากนี้ไป ธุรกิจชั้นนำไปจนถึงผู้ประกอบการและ SME ต่างต้องตื่นตัวและหันมาวางกลยุทธ์บริหารความยั่งยืนตามแนวคิด ESG ซึ่งจะเป็นเมกะเทรนด์ระยะยาว การจับเทรนด์นี้ให้แน่นและปรับตัวนำไปประยุกต์ใช้งานได้ก่อนจะช่วยสร้างข้อได้เปรียบและโอกาสทางธุรกิจของตนเอง และยังเป็นแนวทางที่สำคัญที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายสู่การลดก๊าซเรือนกระจกสุทธิจนเป็นศูนย์ได้ตามที่ไทยได้ให้คำมั่นไว้ต่อประชาคมโลกอีกด้วย


ที่มา :

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2368 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3809 | 30/03/2024
ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

ส่อง 5 นวัตกรรม ESG สุดว้าว! ทั่วโลกเขาเปลี่ยนขยะเป็นผลิตภัณฑ์รักษ์โลก (Green Product) อะไรกันบ้าง

หลายปีที่ผ่านมา โลกได้พัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว มีผลิตภัณฑ์มากมายที่พัฒนาขึ้นมาจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ ที่สร้างความสะดวกสบายให้ผู้บริโภค…
pin
3442 | 18/03/2024
จุดยืนนานาประเทศ กับแนวทางพิชิต Net Zero สู่การเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจสีเขียวด้วยแนวคิด ESG