Sleep Economy จีนโตต่อเนื่อง SME ไทยเข้าใจตลาดสร้างโอกาสคว้าใจผู้บริโภค
ปัจจุบันการนอนกลายเป็นปัญหาสำหรับใครหลายคนที่ต้องเผชิญ ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพใกล้ตัวที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยลักษณะอาการของการนอนไม่หลับที่พบบ่อยได้แก่..
1. นอนไม่หลับ หรือหลับลำบาก
2. หลับไม่สนิท
3. ตื่นกลางดึก หรือหลับๆ ตื่นๆ
4. ตื่นเร็วกว่าปกติ
5. ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น
จากผลสำรวจในประเทศจีนปี 2020 พบว่า แม้การระบาดของโควิด 19 จะทำให้คนไม่ได้ออกไปไหนและอยู่บ้านกันมากขึ้น แต่ชาวจีนต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้น 2 - 3 ชั่วโมงกว่าจะหลับ นอกจากนี้ คำว่า ‘ปัญหาการนอนหลับ’ ยังถูกค้นหาบนโลกออนไลน์มากขึ้นถึง 43% และถ้าหากดูสถิติในช่วง 6 ปีของชาวจีนแล้ว ยิ่งน่าตกใจกว่าเดิม เนื่องจากเวลานอนโดยเฉลี่ยของชาวจีนลดลงจาก 8.8 ชั่วโมงในปี 2013 เหลือเพียง 6.9 ชั่วโมงในปี 2019
ส่งผลให้เศรษฐกิจเกี่ยวกับการนอน (Sleep Economy) ของจีนมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว โดยตั้งแต่ปี 2016 - 2020 มูลค่าตลาดภาพรวมของ Sleep Economy ของจีนเติบโตต่อเนื่อง จากมูลค่า 261,630 ล้านหยวน เพิ่มขึ้นเป็น 377,860 ล้านหยวน ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.42 โดยมีการคาดการณ์ว่าตลาดจะมีการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมีมูลค่าสูงถึง 1 ล้านล้านหยวนในปี 2030 ซึ่งส่งผลให้มีประเภทของผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้นตามไปด้วย
iiMedia Research บริษัทที่ปรึกษาด้านการวิจัย ทำได้การสำรวจปัญหาเกี่ยวกับการนอนของผู้บริโภคชาวจีนพบว่า ชาวจีนส่วนใหญ่ร้อยละ 54.62 มีปัญหาในการนอนหลับยาก รองลงมา ได้แก่ ร้อยละ 50.41 นอนไม่หลับ ร้อยละ 43.44 นอนไม่พอ ร้อยละ 42.30 ตื่นง่าย ร้อยละ 38.09 ฝันเยอะ ร้อยละ 31.44 นอนกรน ร้อยละ 7.62 ง่วงซึม และร้อยละ 0.49 ประสบปัญหาเกี่ยวกับการนอนด้านอื่นๆ ตามลำดับ
นอกจากนี้ จากการสำรวจยังพบว่าผู้บริโภคกลุ่มหลักใน Sleep Economy คือคนวัยหนุ่มสาว เนื่องจากพบว่าผู้ที่มีปัญหาการนอนไม่หลับส่วนใหญ่ร้อยละ 74.3 มีอายุระหว่าง 22 - 40 ปี ในขณะเดียวกัน ยังพบว่าคนวัยหนุ่มสาวกำลังให้ความสำคัญกับการจัดการปัญหาและสุขภาพการนอนหลับ โดยพบว่าผู้บริโภค ที่ซื้อผลิตภัณฑ์ช่วยในการนอนหลับกว่าร้อยละ 84.3 มีอายุระหว่าง 22 - 40 ปี และผู้บริโภคร้อยละ 66.3 ที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสำหรับการนอนหลับมีอายุระหว่าง 26 - 40 ปี
ไม่เพียงเท่านั้นเมื่อพิจารณาช่องทางในการซื้อผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับพบว่า ในปี 2021 ผู้บริโภคชาวจีนส่วนใหญ่ร้อยละ 70.02 นิยมซื้อผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับผ่านช่องทางออนไลน์ รองลงมา ได้แก่ ร้อยละ 49.92 ซื้อผ่านช่องทางการจำหน่ายของแบรนด์โดยตรง ร้อยละ 40.03 ซื้อผ่านหน้า ร้านออฟไลน์ และร้อยละ 39.22 ซื้อผ่านทางแพลตฟอร์มคลิปวิดีโอสั้น โดยบริษัท iiMedia Research วิเคราะห์ว่า เนื่องจากผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับที่จำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์มีความหลากหลายของชนิดผลิตภัณฑ์และสามารถเปรียบเทียบราคาได้ง่าย จึงเป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคนิยมเลือกซื้อผลิตภัณฑ์มากที่สุด
ขณะที่ Worker’s Daily Net รายงานว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ ผู้บริโภคจีนไม่เพียงแต่ต้องการสินค้า ส่งเสริมการนอนที่เป็นอุปกรณ์เท่านั้น เช่น เตียงและเครื่องนอน หากยังต้องการสินค้าส่งเสริมการนอนเชิงนวัตกรรมด้วย เช่น หน้ากากไอน้ำอบตา โคมไฟ หมอนยางพารา หูฟังสำหรับการนอน สเปรย์ยาทา น้ำมันระเหย อาหารเสริม ตลอดจนหุ่นยนต์ส่งเสริมการนอน (Sleep Robot)
ส่วนข้อมูลการขายของ Taobao อาหารในกลุ่ม Functional Nutrition Food ขึ้นแท่นอาหารขายดีอันดับ 1 ในเทศกาลช้อปปิ้ง 11.11 ในปี 2020 และในบรรดาแบรนด์อาหารและเครื่องดื่ม 100 อันดับแรกที่ขายดีที่สุด มีจำนวน 20 แบรนด์ที่เป็นแบรนด์อาหารในกลุ่ม Functional Nutrition Food
ไม่เพียงเท่านั้น ใน Jingdong หรือ Jd.com แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสัญชาติจีนอีกรายก็มียอดขายสินค้าด้านสุขภาพและโภชนาการในชั่วโมงแรกของวันที่ 11.11 ปี 2020 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าถึง 500% มีมูลค่าการซื้อขายของทั้งวันเพิ่มขึ้นเกือบ 200% จำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้น 102% และยอดซื้อสินค้าเพื่อสุขภาพหลังเวลาเที่ยงคืนเพิ่มขึ้นเกือบ 10 หยวนต่อคน
ด้วยความที่ยุคปัจจุบันสังคมจีนมีความเร่งรีบ การทำงานมีความกดดัน ประกอบกับสาเหตุของปัญหาการนอนหลับมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากอาจไม่ได้เกิดจากความเครียดและความวิตกกังวลเพียงอย่างเดียว แต่ยังอาจเกิดจากสาเหตุทางกายภาพ เช่น ท่านอน ที่นอน สภาพแวดล้อมในการนอน เป็นต้น ทำให้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับในตลาดจีนปัจจุบันยังไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาการนอนของแต่ละบุคคลได้อย่างครบถ้วน
Sleep Economy จีน SME ไทย มองเป็นเห็นโอกาส
ปัจจุบันมีชาวจีนกว่า 300 ล้านคน กำลังประสบกับปัญหาเรื่องการนอนหลับ โดยเฉพาะกลุ่มคนอายุระหว่าง 22 - 40 ปี มีปัญหาการนอนหลับมากกว่าผู้สูงอายุรุนแรงมากขึ้น แสดงให้เห็นว่าปัญหาการนอนไม่หลับของจีน ถือเป็นโอกาสทางธุรกิจให้แก่ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับ ซึ่งสอดคล้องกับขนาดของตลาด Sleep Economy แดนมังกรที่มีแนวโน้มการพัฒนาและการเติบโตในทิศทางที่ดี
จึงเป็นอีกตลาดที่น่าจับตามองสำหรับผู้ประกอบการและ SME ไทย โดยสามารถพิจารณานำเอาผลิตภัณฑ์ที่ช่วยในการนอนหลับ อาทิ หมอน ยางพารา ที่นอนยางพาราซึ่งสามารถปรับตามสรีระของผู้ใช้ เครื่องดื่มที่ช่วยในการนอนหลับ โดยผสมผสานกับสมุนไพรไทยที่มีสรรพคุณช่วยในการนอนหลับเข้ามาเป็นส่วนผสมให้มีรสชาติและกลิ่นที่แปลกใหม่ เช่น ใบบัวบก ขิง มะนาว มะลิ ฟ้าทะลายโจร และมะเฟือง ซึ่งเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นในตลาดจีน
และด้วยความที่เป้าหมายหลักคือกลุ่มคนวัยหนุ่มสาว ซึ่งนิยมซื้อผลิตภัณฑ์ผ่านช่องทางออนไลน์ ดังนั้นผู้ประกอบการและ SME ไทย จึงการพิจารณาการตลาดออนไลน์เป็นช่องทาง Marketing แรกๆ ในการขยายตลาดส่งออกเข้าสู่จีนให้กว้างมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ยังต้องติดตามกระแสความนิยมของผู้บริโภคชาวจีนที่ชอบท่องโลกโซเชียลมีเดีย อ่านประสบการณ์ของผู้ใช้ผลิตภัณฑ์คนก่อนหน้า (Reviews)
รวมทั้งการบอกแบบปากต่อปากของคนวัยหนุ่มสาวที่เป็นผู้บริโภคหลัก ผ่านการร่วมมือกับ KOL (Key Opinion Leader) หรือผู้ที่มีชื่อเสียงในท้องถิ่นในการประชาสัมพันธ์คุณสมบัติของสินค้าไทย เพื่อให้สินค้าบ้านเราเป็นที่รู้จักได้รวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ต้องมีคุณภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งจะส่งผลทำให้ผู้บริโภคแดนพญามังกรเกิดความภักดีในตราสินค้าและเกิดการซื้อซ้ำ อันจะช่วยสร้างส่วนแบ่งการตลาดในจีนให้เพิ่มขึ้นอย่างยั่งยืนในระยะยาว
แหล่งอ้างอิง : iiMedia Research, สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองชิงต่าว
https://www.ditp.go.th/contents_attach/696932/696932.pdf
https://m.sohu.com/coo/heisha/544348080_120536144
https://www.naturalproductsglobal.com/asia/punk-health-hits-the-right-note-for-chinas-youth/
https://www.campaignasia.com/article/punk-wellness-chinese-healthcare-marketing-targets-anxious-youth/462932
https://www.atlasobscura.com/articles/chinese-medicine-coffee
https://chinafoodpress.com/2021/04/12/functional-food-fire-how-to-catch-the-group-of-punk-health-young-people/
https://www.just-food.com/comment/the-super-trends-driving-food-innovation-in-china/