ศึกษาการเดินหมากทายาทธุรกิจรุ่น 3 ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ ปั้นโคขุน Local Beef ไทยสู่เนื้อคุณภาพเกรดพรีเมียมเทียบเท่าต่างแดน

SME in Focus
16/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 3077 คน
ศึกษาการเดินหมากทายาทธุรกิจรุ่น 3 ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ ปั้นโคขุน Local Beef ไทยสู่เนื้อคุณภาพเกรดพรีเมียมเทียบเท่าต่างแดน
banner
‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ที่ส่งไม้ต่อจากรุ่นปู่สู่รุ่นหลาน ผู้พัฒนาและเลี้ยงโคเนื้อและโคขุนสายพันธุ์คุณภาพระดับพรีเมียม ตอบโจทย์ตลาดลูกค้าผู้ชื่นชอบเนื้อโคขุนคุณภาพสูง ด้วยแนวคิดที่มองอย่างรอบด้านผ่านประสบการณ์ผู้ผลิตและจำหน่ายโคขุนเกรดพรีเมียมครบวงจร ทั้งในเมืองไทยและส่งออกต่างประเทศ จนสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคงและความยั่งยืน (Sustainability) มากว่า 40 ปี



จุดเริ่มต้นสู่ฟาร์มโคขุนระดับพรีเมียม

คุณกชกร วัชราไทย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุงเชาวน์ฟาร์ม จำกัด เผยถึงที่มาของธุรกิจว่า    เดิมทีครอบครัวทำไร่มันสำปะหลัง หลังจากนั้นคุณปู่ซึ่งเป็นคนชอบเรื่องการเกษตร จึงมีความคิดว่าน่าจะเอาวัวไปให้เกษตรกรในพื้นที่เลี้ยง ซึ่งในความคิดตอนนั้นมองว่าเลี้ยงง่าย เพราะวัวกินแต่หญ้า พอวัวโตก็นำกลับมาขุนต่อ นี่คือจุดเริ่มต้นของธุรกิจ ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ ที่เริ่มธุรกิจนี้มากว่า 40 ปีแล้ว ต่อมาจึงมีการทำเป็นรูปแบบฟาร์มอย่างจริงจัง

โดยการนำพ่อโคพันธุ์ดีมาจากสหรัฐอเมริกาเพื่อพัฒนาสายพันธุ์ ต่อมาเริ่มเลี้ยงแบบโคขุนโดยลองผิดลองถูกอยู่ระยะหนึ่ง จึงเริ่มมองเรื่องมาตรฐาน ประกอบกับคุณอาได้ก่อตั้งโรงชำแหละด้วยความที่มีมาตรฐานที่สูง ทำให้เราสามารถเจาะตลาดลูกค้าบริษัทชั้นนำของประเทศอย่าง บริษัทแฮมเบอร์เกอร์ชั้นนำและบริษัทสุกี้ชื่อดังของเมืองไทย มายาวนานถึง 20 ปี 



‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ สู่ช่วงเปลี่ยนผ่าน สานต่อทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3

คุณกชกร เล่าถึงการมาสานต่อธุรกิจครอบครัวว่า เมื่อ 10 ปีที่แล้วตนเรียนจบมาได้มีโอกาสทำงานที่ธนาคารกรุงเทพอยู่ 2 ปี ก่อนจะออกมาสานต่อธุรกิจของครอบครัว จนมาถึงช่วงที่เกษตรกรเริ่มรู้จักการขุนโคกันมากขึ้น โดยเกษตรกรรายย่อยเริ่มเข้ามาขุนโค ทำให้วัวมีราคาสูงขึ้นจนถึงจุดที่เรามองว่า การผลิตปริมาณเยอะๆ ให้กับบริษัทหรือลูกค้าที่ต้องการปริมาณมากๆ เริ่มมีข้อจำกัด จึงเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจ โดยการขายส่งไปยังพ่อค้าคนกลางเพื่อนำวัวไปส่งขายตลาดต่างประเทศ อย่างจีน และเวียดนาม อีกทอดหนึ่ง

“เราก็เริ่มหันมาเลี้ยงโคเกรดพรีเมียม โดยฟาร์มเราจะเน้นที่ความนิ่งและสม่ำเสมอของคุณภาพ โดยเราจะเน้นเรื่องอายุ อาหาร และการจัดการให้นิ่งเป็นไปในลักษณะของอุตสาหกรรม เพราะเรามองว่าทิศทางที่เราจะเดินต่อไปน่าจะเป็นลักษณะของวัวเกรดพรีเมียมมากกว่า”



ปัจจุบันธุรกิจครอบครัว (Family Business) เราได้สืบสานจากรุ่นปู่สู่รุ่นพ่อก่อนจะส่งไม้ต่อรุ่นลูก คือ คุณกชกร หนึ่งในทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 ได้เข้ามาดูแลในส่วนของโคขุน จึงมุ่งปรับปรุงพัฒนาการเลี้ยงโคขุนเพื่อยกระดับคุณภาพสู่ผลิตภัณฑ์เกรดพรีเมียมจำหน่ายขึ้นห้างสรรพสินค้าชั้นนำ และร้านอาหารในตลาดระดับสากลได้สำเร็จ

“จากการที่เรามาทำตลาดพรีเมียม ทำให้รู้ว่าเรามีความสุขกับการทำงานคุณภาพ เพราะจริงๆ แล้วคำว่า ‘ตลาดพรีเมียม’ ในประเทศไทย นั้นยังมีอยู่ไม่มากนัก ทำให้การซัพพลายไม่เพียงพอ เราจึงมองเห็นเป็นโอกาสที่จะเติบโตในตลาดนี้”



มุ่งสู่การเลี้ยงโคขุนเกรดพรีเมียมแบบครบวงจร

คุณกชกร บอกถึงการพัฒนาโคเนื้อสู่ระดับพรีเมียมว่า ปัจจุบัน ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ หันมามุ่งเน้นปรับปรุงและพัฒนาโคเนื้อเพื่อให้เป็นสินค้าระดับพรีเมียมในตลาดส่งจำหน่ายทั้งในและส่งออกต่างประเทศโดยมีโคขุนจำนวนกว่า 3,000 ตัว และมีโคแม่พันธุ์อีกประมาณ 500 - 600 ตัว 

สำหรับน้ำหนักโคที่นำมาขุนโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 300 - 400 กิโลกรัมต่อตัว ซึ่งทางฟาร์มจะเลือกเฉพาะโคที่ไม่มีประวัติการใช้สารเร่งเนื้อแดง และต้องใช้ยาปฏิชีวนะในกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น เมื่อผ่านการตรวจสอบคุณภาพของโคจากเกษตรกรเรียบร้อยแล้ว จึงจะนำมาขุนต่ออีกประมาณ 5 เดือน ก็จะได้น้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 500 - 550 กิโลกรัมต่อตัว ซึ่งเป็นน้ำหนักมาตรฐานของโคที่พร้อมจำหน่ายไปยังผู้รับซื้อ



ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายโค

คุณกชกร บอกว่า ปัจจุบันลูกค้าเราเป็นแบบ B2B ก่อนสถานการณ์โควิด 19 ระบาด ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ ส่งออกโคขุนประมาณ 70% ไปยังต่างประเทศ และจำหน่ายภายในประเทศประมาณ 30% แต่พอเกิดการระบาดของเชื้อโควิด 19 หลายประเทศล็อกดาวน์ทำให้เราส่งออกยากขึ้น จึงหันมาทำตลาดในประเทศมากขึ้น โดยกลุ่มตลาดลูกค้าในไทยจะเน้นตลาดพรีเมียม จำหน่ายให้บริษัท คอมพานีบี จำกัด เจ้าของร้านชื่อดัง อย่าง ‘เนื้อแท้ By Company B’ และ ‘The Beef Master’ ที่บริหารโดย คุณวีรชน ศรัทธายิ่ง หรือที่รู้จักกันดี คือ คุณโต อดีตนักร้องนำวงซิลลี่ ฟูลส์ ตลอดจนคู่ค้า อย่าง ‘สำโรงใต้ บีฟ หรือ SRT’ ซึ่งใช้โคอายุน้อย สายพันธุ์ยุโรป เลือดสูง สัญชาติไทย มาขุนด้วยระยะเวลานาน

คุณกชกร บอกถึงความตั้งใจว่า ต้องการที่จะผลิต Local Beef ไทยคุณภาพสูงให้เทียบเท่าเนื้อนำเข้าจากต่างประเทศ แต่เป็นราคาจับต้องได้ ไม่ใช่ราคาตลาดที่ขึ้นๆ ลงๆ เพื่อให้เกิดความเป็นคู่ค้าที่ดีต่อกันในระยะยาวอย่างยั่งยืน



มอง ‘วัตถุดิบคุณภาพสูง’ คือการลดต้นทุนที่ดี

ส่วนเรื่องวัตถุดิบนั้น คุณกชกร กล่าวว่าอาหารที่ใช้เลี้ยงโค ทางฟาร์มใช้การผสมอาหารเอง โดยเน้นคุณภาพของวัตถุดิบเป็นหลัก อย่างอาหารที่ให้พลังงาน อาทิ ปลายข้าว มันสำปะหลัง หรือข้าวโพด ส่วนอาหารโปรตีนและไขมันดี อาทิ ถั่วเหลือง และปาล์มเนื้อใน อย่างนี้เป็นต้น ซึ่งได้เลือกใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงที่คัดสรรจากตัวแทนจำหน่ายวัตถุดิบอาหารสัตว์ชั้นนำของประเทศ เพื่อให้โคเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์มากที่สุด
 
“เราใช้แต่วัตถุดิบคุณภาพสูง ปลอดสารเร่งเนื้อแดง 100% และมีการนำหญ้าแห้งคุณภาพสูง หญ้าสด และฟางข้าว มาบดและคลุกเคล้าตามสัดส่วนที่เหมาะสม โดยเน้นอาหารที่ให้พลังงาน และโปรตีนที่นำมาใช้ได้ง่าย ที่โคสามารถนำไปใช้ได้จริงๆ เท่านั้น จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุด”

ผู้บริหารหนุ่มเผยถึงมุมมองที่แตกต่างว่า การบริหารต้นทุนแท้จริงแล้วไม่จำเป็นว่าเราจะต้องจ่ายให้ต่ำลง แต่การจ่ายแพงขึ้นเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีกว่าก็ถือเป็นการลดต้นทุนอีกรูปแบบหนึ่งที่ได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าได้ อย่างเช่น การใช้วัตถุดิบที่ดี นอกจากวัวจะโตเร็วแล้วยังได้เนื้อที่มีคุณภาพสูงขึ้น รวมไปถึงภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้นด้วย ทำให้อัตราสูญเสียก็ลดลงด้วยเช่นกัน

สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนในเรื่องอาหารที่ดีๆ เราจะได้วัวที่ตัวโตขึ้นในอายุที่เท่ากัน หรือได้เงินมากขึ้นในเวลาที่เท่ากัน และยังขายได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่ซื้อวัวไปจะเห็นว่าเนื้อมีคุณภาพดีจึงนำไปขายต่อได้ง่ายขึ้น นี่คือเคล็ดลับการบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพของ ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ นั่นเอง



เทคนิคการเลือกสายพันธุ์โคให้ได้เนื้อที่มีคุณภาพสูง

สำหรับเทคนิคการเลือกสายพันธุ์โค คุณกชกร อธิบายว่า ในส่วนของโคพันธุ์แท้ (Pure breed) จะเป็นสายพันธุ์บราห์มัน เพราะเป็นโคพันธุ์พื้นฐานที่ดี และเหมาะกับเมืองไทยที่สุด ใช้ปรับปรุงพันธุ์โคลูกผสมพื้นเมือง ที่มีให้ได้รุ่นลูกที่มีโครงสร้าง และมัดกล้ามที่ดี ในแบบฉบับโคพันธุ์บราห์มัน และยังสามารถต่อยอดเพื่อสร้างโคลูกผสมยุโรปชั้นดี (Crossbreed) ในรุ่นหลานถัดไป สำหรับผู้ที่ต้องการยกระดับคุณภาพเนื้อขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

คุณกชกร ขยายความอีกว่า ฟาร์มเรายังคงนำเข้าทั้งพ่อและแม่พันธุ์บราห์มันเลือดร้อยจากต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง รวมถึงใช้โคที่ฟาร์มพัฒนาขึ้นมาเองด้วย ผ่านขั้นตอนการผสมที่ได้มาตรฐาน 

คุณกชกร กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าถ้าทำลูกผสม หรือ Crossbred beef cattle ข้อดีคือเกษตรกรจะได้ทั้งลักษณะที่ดีของวัวเมืองร้อนอย่างเช่น บราห์มัน และเส้นใยเนื้อที่นุ่มละเอียดในแบบฉบับวัวเมืองหนาวหรือยุโรป  กล่าวคือถ้าเกษตรกรจะพัฒนาโคเนื้อคุณภาพสูง ควรเริ่มปรับปรุงพันธุกรรมโดยการใช้พ่อพันธุ์บราห์มันเลือดร้อยแทนพ่อพันธุ์ที่ไม่ใช่เลือดร้อย เพื่อให้ได้รุ่นลูกที่เป็นบราห์มันเลือดสูงก่อน ซึ่งดีพอที่จะขายเป็นโคเนื้อคุณภาพในตลาดระดับกลาง เมื่อพันธุกรรมพร้อมแล้วจะสามารถใส่เลือดยุโรปเมื่อไหร่ก็ได้ จะได้โคเนื้อที่มีคุณภาพดีมากขึ้น

นั่นหมายความว่า เราต้องทำคุณภาพของสายพันธุ์ให้นิ่งก่อน เพราะถ้าผู้เลี้ยงรีบเอาสายพันธุ์ยุโรปไปใส่พื้นเมืองที่ไม่ได้คุณภาพ ลูกออกมาจะไม่มีคุณภาพไปด้วย

คุณกชกร ยังสะท้อนมุมมองเรื่องคุณภาพโคเนื้อของไทยด้วยว่า ส่วนตัวมองว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อของไทยยังไปไม่ถึงคำว่า ‘คุณภาพ’ อย่างแท้จริง เพราะยังมีเกษตรกรอีกมากที่ยังขาดองค์ความรู้ การขยายพันธุ์ การบริหารจัดการ ที่ยังไม่กล้าเสี่ยงในการลงทุนมากนัก ซึ่งหากเปรียบเทียบเกษตรกรในต่างประเทศเขาจะรู้ว่าการยอมลงทุนกับพ่อพันธุ์ดีๆ เพื่อให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่าในระยะยาวนั้นมีความคุ้มค่า เพราะถ้าโคออกมามีคุณภาพที่ดี ก็จะจำหน่ายได้ง่ายกว่า เพราะทุกวันนี้โคเนื้อไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาดอยู่แล้ว แต่ที่เกษตรกรบอกว่าโคขายไม่ออก จริงๆ เป็นเพราะโคที่เลี้ยงยังมีคุณภาพไม่ถึงมาตรฐานที่ตลาดต้องการเท่านั้นเอง



การเลี้ยงโคนอกดีกว่าโคไทยอย่างไร 

คุณกชกร อธิบายให้เห็นภาพว่า โคเมืองร้อนอายุน้อย เนื้อก็จะน้อยกว่าโคเมืองหนาวที่อายุน้อย แต่เนื้อจะเยอะ เพราะตัวใหญ่กว่า คล้ายกับเด็กฝรั่งที่มีอายุเท่ากันกับเด็กบ้านเรา แต่มีขนาดตัวที่ใหญ่กว่า ซึ่งจะเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วกว่าคนเอเชียนั่นเอง ซึ่งข้อดีของวัวเมืองหนาวก็เช่นกัน คือแม้จะอายุน้อยแต่มีขนาดใหญ่กว่า จึงเป็นข้อดีของโคเมืองหนาว แม้จะเป็นลูกผสมก็จะเป็นหนุ่มเป็นสาวเร็วขึ้นกว่าปกติ โคเมืองร้อนสองขวบกว่า แต่โคเมืองหนาว 15 – 18 เดือนก็ตั้งท้องได้แล้ว เกษตรกรจะลดการเสียเวลาไปได้ถึง 12 เดือน และโคเมืองหนาวเมื่อคลอดออกมาแล้วจะโตเร็วกว่าโคเมืองร้อน เช่น ประมาณ 8 เดือน จะได้น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัมถ้าเลี้ยงแบบถูกวิธี 

ในขณะที่โคเมืองร้อนอาจจะต้องใช้เวลาถึงปีกว่า เกษตรกรก็จะเสียเวลาไปเกือบปี ต่อให้ขายได้ราคาเท่ากัน แต่การ Turn Over ของผลตอบแทนต่อรอบจะสั้นกว่า นี่คือเหตุผลว่าทำไม โคเมืองหนาวถึงมีข้อดีกว่าโคเมืองร้อนมาก แต่โคเมืองหนาวจะมีปัญหาเรื่องพยาธิเม็ดเลือด ซึ่งเกษตรกรชาวไทยมองว่า โคเมืองหนาวเลี้ยงยากแต่จริงๆ อย่างไรก็ตามบ้านเราไม่ได้เลี้ยงปล่อยเหมือนในต่างประเทศ ซึ่งเกษตรกรเราสามารถดูแลใกล้ชิดกว่า จึงน่าจะสามารถทดแทนจุดอ่อนของโคเลือดเมืองหนาวในจุดนี้ได้



ความพิเศษของโคขุน ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’

คุณกชกร เผยถึงความมุ่งมั่นของตนเองว่า ตนมีตั้งใจที่จะทำให้เนื้อโคมีรสชาติและคุณภาพดีที่สุด จึงมองว่าเรื่องวัตถุดิบเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าใช้ของดียังไงก็อร่อยจึงไม่ได้มีเคล็ดลับอะไร มันอยู่ที่ทัศนคติ  ซึ่งเราอยากทำให้เนื้อโคขุนในประเทศเรามีความทัดเทียมกับเนื้อต่างประเทศแต่ผมเชื่อว่าถ้าเรามีความตั้งใจและมุ่งมั่นเราสามารถทำให้เนื้อวัวของเราในเกรดเดียวกันในราคาที่เท่ากันมีคุณภาพที่ดีกว่าและซื้อได้ในราคาถูกกว่า

จุดเด่นของเนื้อโคลุงเชาวน์ฟาร์ม คือ รสชาติเนื้อที่เข้มข้นมีไขมันที่ไม่อิ่มตัวในสัดส่วนที่มาก ซึ่งปกติแล้วไขมันขอบผู้บริโภคจะตัดทิ้ง ซึ่งถ้าไขมันตรงส่วนนี้เป็นไขมันอิ่มตัวในสัดส่วนที่มากจะทำให้ที่มีความเหนียวเหมือนเคี้ยวหมากฝรั่ง สังเกตง่ายๆ ไขมันไม่ดีเมื่อวางไว้สักพักจะเป็นไข ในขณะไขมันดีจะยังคงเป็นของเหลวที่อุณหภูมิห้อง แต่เนื้อของเราถ้าลองเคี้ยวมันจะมีความมันกระจายในปากที่สัมผัสได้ถึงความหอมของไขมัน และความนุ่มของเนื้อโคขุนได้เป็นอย่างดี

“เราต้องมีจุดยืนของตัวเองเพื่อที่จะสร้างอัตลักษณ์ขึ้นมา อย่าง ฟาร์มลุงเชาว์ ต้องไขมันหอม เนื้อนุ่ม เน้นรสชาติของเนื้อวัวเป็นหลัก เมื่อลูกค้ากินจะจำได้ว่านี่คือ เอกลักษณ์ของเนื้อโคขุนสไตล์ ลุงเชาวน์ฟาร์ม”



แนวโน้มทิศทางธุรกิจฟาร์มโคขุนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

เมื่อถามถึงทิศทางเป้าหมายในอนาคตของ ลุงเชาวน์ฟาร์ม ที่วางไว้ คุณกชกร เผยว่า ฟาร์มเราจะมุ่งเน้นเรื่องการผลิตอาหารที่มีคุณภาพสูง ที่มีความนิ่ง สม่ำเสมอ และตรวจสอบได้เป็นหลัก ส่วนเรื่องการขยายตลาดคงค่อยเป็นค่อยไป โดยจะโฟกัสเรื่องคุณภาพให้ดีที่สุดก่อนที่จะขยายไลน์ธุรกิจต่อไป เพื่อต้องการยกระดับคุณภาพเนื้อสู่ระดับพรีเมียม และมั่นใจว่าลูกค้าจะรับรู้ได้ถึงคุณภาพ รสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ของเนื้อโคขุน ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ อย่างแน่นอน 
คุณกชกร กล่าวถึงตลาดโคไทยในปัจจุบันว่า ปัญหาและอุปสรรคในการเลี้ยงโคส่วนใหญ่ในบ้านเรา คือ เกษตรกรต้องรู้ก่อนว่าต้องการวาง Positioning ตัวเองไว้ตรงจุดไหนของตลาด จะอยู่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ และจะขายสินค้าให้กับตลาดไหน อาทิเช่น ตลาดเขียงต้องการโคไม่ตอน เป็นบราห์มัน ราคาถูก และไม่ใส่สารเร่งเนื้อแดง หรือตลาดส่งออกไปเวียดนาม ต้องการโคตัวใหญ่ๆ น้ำหนักเฉลี่ยอยู่ที่ 500-600 กก. หรือตลาดส่งออกจีนอีกรูปแบบ ต้องการที่น้ำหนัก 400 กก./ตัวขึ้นไป และต้องการนำไปขุนต่อ หรือเน้นทำตลาดพรีเมียมต้องการเนื้อวัวที่มีไขมันแทรก เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค อย่างเป็นต้น


กชกร วัชราไทย (ซ้าย) กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลุงเชาวน์ฟาร์ม จำกัด

Key Success สู่ความสำเร็จ ของ ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’

คุณกชกร ยังฝากเคล็ดลับถึงผู้ประกอบการและ SME ที่อยากเลี้ยงโคขุนสไตล์ ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ ว่า ต้องยึดหลักสำคัญ 2 ข้อ อย่างแรก คือ ความสม่ำเสมอ ความนิ่งจะทำให้เนื้อได้คุณภาพที่มีมาตรฐานในระยะยาว ส่วนเรื่องที่สอง ต้องยึดมั่นในอุดมการณ์ และความซื่อสัตย์ ความจริงใจต่อลูกค้า เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ ตนเชื่อมั่นในหลักการนี้ ที่พิสูจน์ให้เห็นจากรุ่นคุณปู่สู่คุณพ่อที่สามารถครองใจลูกค้ามายาวนานกว่า 40 ปี


รู้จัก ‘บริษัท ลุงเชาวน์ฟาร์ม จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่ 
เพจโคเนื้อหอม by ลุงเชาวน์ฟาร์ม (โคเนื้อ โคขุน)
https://www.facebook.com/loongchow.feedlot
https://www.youtube.com/channel/UCGmoiID-iUb_c2P5miWvraQ

เพจโคพันธุ์ (บราห์มันเลือดร้อย)
https://www.facebook.com/profile.php?id=100069574330488
https://www.youtube.com/channel/UCxHM87BEn3c0EY9WKRBemyw

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

ชูนวัตกรรม ขับเคลื่อน-ยกระดับ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ไม้สู่ความยั่งยืน ด้วย Automation กลยุทธ์สู่ Smart Factory ระดับรางวัล The Prime Minister's Industry Award 2023 ของ 'ศรีวัฒนา วู้ดดิ้ง อินดัสทรีส์'

การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วจากการรุกคืบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอ และส่งผลให้ผู้บริโภคมีความต้องการที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา นำมาสู่การพัฒนา…
pin
307 | 30/04/2024
Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

Business Model ธุรกิจจำหน่ายอุปกรณ์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และ โซล่าร์เซลล์มุ่งเน้นสร้าง "ธุรกิจยั่งยืน" ทำกำไร พร้อมสนับสนุนชุมชน-สังคม-สิ่งแวดล้อม

ภาพรวมตลาดสินค้า อะไหล่ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อุปกรณ์ไฟฟ้าและโซล่าร์เซลล์มีแนวโน้มเติบโตสูง คาดการณ์ว่าจะเติบโตเฉลี่ย 10% ต่อปี จากปี 2566…
pin
322 | 29/04/2024
‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

‘LED Farm’ โรงงานผลิตพืชด้วยหลอดไฟ ฟาร์มผักพันธุ์ใหม่ เอาใจคนรักสุขภาพยุคดิจิทัล

จากธุรกิจผลิตหลอดไฟ LED ต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการผลิตอาหารและนวัตกรรมการแปรรูปสินค้าเกษตรออร์แกนิก แบรนด์ ‘แอลอีดี ฟาร์ม’ (LED Farm) ที่มุ่งสร้างมาตรฐานสินค้าเกษตรคุณภาพ…
pin
654 | 25/04/2024
ศึกษาการเดินหมากทายาทธุรกิจรุ่น 3 ‘ลุงเชาวน์ฟาร์ม’ ปั้นโคขุน Local Beef ไทยสู่เนื้อคุณภาพเกรดพรีเมียมเทียบเท่าต่างแดน