มองทิศทาง ‘อาคารประหยัดพลังงาน’ ช่วยผู้ประกอบการ SME ไทย ลดค่าใช้จ่ายอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจแนวคิด ESG

ESG
17/08/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 8072 คน
มองทิศทาง ‘อาคารประหยัดพลังงาน’ ช่วยผู้ประกอบการ SME ไทย ลดค่าใช้จ่ายอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจแนวคิด ESG
banner
การลงทุนและการประกอบธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา ผู้ประกอบการจะมุ่งเน้นประสิทธิภาพการผลิต และการสร้างผลกำไรให้แก่กิจการเป็นหลัก แต่ในปัจจุบันแนวโน้มการประกอบธุรกิจไม่ได้เน้นเรื่องการลงทุนด้านการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่หันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการบริหารธุรกิจด้วยแนวคิด ESG ที่คำนึงถึงสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น อาทิ การพัฒนา อาคาร โรงงานและคลังสินค้าให้เป็น ‘อาคารประหยัดพลังงาน หรือ อาคารสีเขียว’ ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้ไม่น้อยเลยทีเดียว



อาคารสีเขียว คืออะไร

แนวคิดอาคารสีเขียว คือแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ทรัพยากรของอาคารทั้งด้านพลังงาน น้ำประปา และวัสดุต่างๆ รวมทั้งลดผลกระทบของตัวอาคารต่อสุขภาพผู้ใช้อาคารและสิ่งแวดล้อม ด้วยการออกแบบการก่อสร้าง การดำเนินการ การบำรุงรักษา ตลอดช่วงวงจรอายุตัวอาคาร 

หลายคนมองว่า ‘อาคารสีเขียว’ ก็ต้องสร้างพื้นที่สีเขียวให้มากๆ ในขณะที่บางคนมองว่าต้องเป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน ซึ่งจริงๆ แล้ว ‘อาคารเขียว’ จะต้องเป็นอาคารที่มีความยั่งยืน (Sustainability) ที่ผสมผสานการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมเข้าด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ โดยสรุปลักษณะของอาคารสีเขียวได้คือ

1. ต้องใช้พลังงาน น้ำ ที่ดิน วัสดุก่อสร้างอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
2. ต้องคำนึงถึงสุขภาพของผู้ใช้อาคารและส่งเสริมประสิทธิภาพในการทำงานของพักงาน
และ 3. ลดของเสียและมลภาวะต่างๆ เกิดขึ้นจากตัวอาคาร

อ่านบทความเกี่ยวกับ ESG :



ความตื่นตัวขององค์กรธุรกิจไทย ในการปรับเปลี่ยนมาใช้อาคารประหยัดพลังงาน

การสร้างอาคารประหยัดพลังงานในประเทศไทย จะเน้นมาตรการส่งเสริมเป็นหลัก ยังไม่ถึงขั้นภาคบังคับเหมือนต่างประเทศที่หน่วยงานภาครัฐจะออกข้อกำหนดว่า อาคารที่สร้างต้องผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาคารสีเขียวของภาครัฐเท่านั้น  

ปัจจุบันพบว่าอาคารธุรกิจส่วนใหญ่มีการใช้พลังงานสูงและมีแนวโน้มว่าจะสูงขึ้นอีกในอนาคตทำให้ภาคธุรกิจ หันมาให้ความสนใจในเรื่องการอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพตามนโยบายอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน โดยมีแนวทางในการอนุรักษ์พลังงานที่สำคัญที่ผู้บริหารและคณะทำงานควรศึกษาไว้เพื่อใช้เป็นแนวทางในการอนุรักษ์พลังงานในอนาคต

ข้อแนะนำสำคัญสำหรับผู้ประกอบการ และ SME หากต้องการสร้างอาคารหรือโรงงานสีเขียว ควรวางแผนการพัฒนาอาคารตั้งแต่เริ่มต้น ปลูกฝังและทำความเข้าใจตั้งแต่กระบวนการพัฒนาอาคาร ผลที่จะเกิดขึ้นต่อองค์กร พนักงานและชุมชน ที่สำคัญควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาอาคารเขียวมาให้คำแนะนำ หรือเลือกใช้ผู้พัฒนาอาคารเพื่อการอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการสร้างโรงงานและคลังสินค้าสีเขียว สำหรับประเทศไทยเรามี ‘สถาบันอาคารเขียวไทย’ ซึ่งเป็นองค์กรที่ทำหน้าที่ออกหลักเกณฑ์อาคารสีเขียวไทย พร้อมกับให้การรับรองอาคารที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานอาคารสีเขียวด้วย

อยากปรับเปลี่ยนอาคารเก่าให้ประหยัดพลังงานต้องทำอย่างไร

สำหรับอาคารสำนักงานเก่าที่อยากปรับเปลี่ยนเพื่อให้ประหยัดพลังงานได้โดยไม่ต้องรื้อสร้างใหม่ การใช้สิ่งที่มีอยู่แล้วให้ได้ประโยชน์มากที่สุด คือประเด็นสำคัญสำหรับอาคารเก่า โดยเอาบางส่วนที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่มาใช้ในรูปแบบใหม่ เพื่อทำให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

อย่างเช่น เดิมออฟฟิศใช้กระจกสีดำทำให้แสงผ่านเข้ามาได้น้อย ออฟฟิศก็ต้องเปิดไฟตลอดทั้งวัน ก็อาจเปลี่ยนเป็นกระจกที่กันความร้อนแต่แสงผ่านได้ เพื่อรับแสงธรรมชาติมาใช้มากขึ้น ส่วนกระจกสีดำก็เอาไปใช้ประโยชน์อย่างอื่น ในรูปแบบใหม่ๆ โดยใช้วัสดุเดิมเพื่อไม่ให้กลายเป็นขยะที่ไร้ประโยชน์ไป ขณะที่ระบบแสงสว่างกลางคืนก็เปลี่ยนเป็นหลอด LED ที่ประหยัดไฟมากขึ้นมาใช้แทน

หรือการเปลี่ยนแอร์เป็นแบบประหยัดไฟเบอร์ 5 การทำห้องให้เล็กลง เปิดแค่บางส่วนเท่าที่จำเป็นก็จะช่วยประหยัดพลังงานได้ไม่น้อย
อย่างไรก็ตาม คำว่ามีประสิทธิภาพมากที่สุดไม่ใช่แค่การเปลี่ยนแอร์ เปลี่ยนกระจกเท่านั้น แต่ควรจะมองมิติอื่นด้วย เช่น การปลูกต้นไม้ช่วยบังแสงแดดเพื่อช่วยลดความร้อน แอร์ก็จะใช้พลังงานน้อยลง หรือการติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เอง โดยแปลงพลังงานจากแสงแดดมาเป็นไฟฟ้า เพื่อใช้ในเวลาช่วงกลางวันเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าแล้วยังช่วยลดดลกร้อนได้อีกด้วย



การดีไซน์ ‘อาคารประหยัดพลังงาน’

หลักเกณฑ์การออกแบบ อาคารประหยัดพลังงาน เป็นการออกแบบอาคาร สำนักงาน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก ซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานอาคารเขียว (LEED & EEWH) อาทิ ติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคาที่สามารถผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ ,การติดตั้งใช้งานหลอดไฟอัจฉริยะ LED ที่นำเซนเซอร์ตรวจจับความเคลื่อนไหวในการสั่งเปิด - ปิดสวิตช์ไฟฟ้า ในส่วนผนังอาคารจะทาสีที่ปราศจากสารตะกั่วและปรอท และยังมีสารระเหยต่ำที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 

นอกจากนี้ยังใช้เครื่องทำน้ำเย็นชนิด Magnetic Bearing oil-free chiller ไม่ต้องใช้น้ำมันหล่อลื่น สามารถควบคุมคุณภาพอากาศภายในอาคารเป็นระบบเติมอากาศบริสุทธิ์ให้กับพนักงาน รวมถึงการติดตั้งระบบ SCADA (Supervisory Control And Data Acquisition) ที่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการจัดการข้อมูลด้านพลังงาน ช่วยให้สามารถติดตาม จัดเก็บ ประมวลผล และแสดงผลการใช้พลังงานแบบเรียลไทม์ และติดตั้ง Digital Power Meter บันทึกข้อมูลการใช้พลังงาน เพื่อนำมาวิเคราะห์วางแผนบริหารจัดการพลังงาน อย่างนี้เป็นต้น

รวมไปถึงการใช้เทคโนโลยี Internet of Things หรือ IoT ในการช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการอนุรักษ์พลังงานของอาคาร ผ่านการควบคุมและจัดการระบบการทำงานของอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อกับระบบ IoT ไว้ เช่น การสั่งเปิด - ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า และควบคุมการทำงานเครื่องปรับอากาศ ภายในอาคารผ่านโทรศัพท์มือถือได้ ในกรณีที่เราออกจากอาคารแล้ว แต่ลืมปิดเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งหากองค์กรนำเทคโนโลยี IoT มาใช้ คาดการณ์ว่าจะช่วยลดการใช้พลังงานให้กับประเทศได้ถึง 20% 



การประเมิน อาคารประหยัดพลังงาน

การพัฒนาอาคารประหยัดพลังงาน หรืออาคารสีเขียว จะต้องมีการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) มีการพัฒนาปรับปรุงทุกระบบในอาคารอย่างถูกต้องและเหมาะสม โดยปัจจุบันมาตรฐานรับรองอาคารเขียวที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่

มาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design คือระบบประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างที่พัฒนาโดย U.S. Green Building Council (USGBC) ประเทศสหรัฐอเมริกา

มาตรฐาน TREES หรือ Thai’s rating of energy and environment sustainability ระบบประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งถูกพัฒนาโดยสถาบันอาคารเขียวไทย

มาตรฐาน EDGE หรือ Excellence in Design for Greater Efficiencies มาตรฐานอาคารเขียวและการวัดผลการก่อสร้างอย่างยั่งยืน และนวัตกรรมในการรับรองมาตรฐานความเป็นเลิศในการออกแบบอาคาร สำหรับตลาดเกิดใหม่ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก

การจะเป็นอาคารประหยัดพลังงานได้นั้น ต้องมีคะแนนผ่านตามเกณฑ์ในแต่ละหัวข้อ เช่น การใช้วัสดุ เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม การประหยัดค่าไฟ เป็นต้น ส่วนเกณฑ์ที่นิยมกันทั่วโลกคือ LEED แต่เนื่องจากว่า LEED เป็นเกณฑ์สากล จัดทำที่ประเทศสหรัฐเมริกา การยื่นขอการรับรองแต่ละครั้งใช้ต้นทุนสูงมาก รวมถึงมีประเด็นเรื่องความเข้ากันได้ของบริบทพื้นที่ เช่น พื้นที่จอดรถต้องไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ แต่ในประเทศไทยจำเป็นต้องมีที่จอดรถจำนวนมาก ดังนั้นในหลายๆ ประเทศจึงพัฒนาเกณฑ์ที่ใช้ในประเทศนั้นๆ ขึ้นมาให้เหมาะกับแต่ละประเทศมากขึ้น และลดต้นทุนของการดำเนินงานด้วย



TREES เกณฑ์ประเมิน อาคารประหยัดพลังงาน แบบไทยๆ มาตรฐานระดับสากล

ในประเทศไทยมี เกณฑ์ TREES ระบบประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย พัฒนาโดย สถาบันอาคารเขียวไทย เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่อิงกับระดับมาตรฐานสากล ทั้งสหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสิงคโปร์ ซึ่งแต่ละประเทศจะมีหลักเกณฑ์พื้นฐานในรายละเอียดที่แตกต่างกันไป ในขณะที่หลักคิดจะมีลักษณะเหมือนกัน นั่นคือ ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม พื้นที่สีเขียว ประหยัดน้ำ ลดการใช้พลังงาน และสุขภาพที่ดี

โดยได้มีการปรับให้มีความเหมาะสมกับศักยภาพของประเทศไทย สามารถใช้วัสดุในประเทศไทยมากขึ้น ที่จะเหมาะกับการก่อสร้างในประเทศไทยมากกว่า ทั้งยังเป็นการส่งเสริมผู้ผลิตไทย อย่างเช่น วัสดุที่นำไปใช้ในการก่อสร้างอาคารเขียวต้องเป็นวัสดุที่ได้รับฉลากเขียวประเทศไทย ซึ่งหากให้เกณฑ์มาตรฐาน LEED วัสดุที่ใช้ก็ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศเท่านั้น



ลดใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่าย ได้ขนาดไหน คุ้มค่าต่อการลงทุนหรือไม่

ในอดีตต้นทุนการสร้างอาคารประหยัดพลังงานกับอาคารทั่วไปนั้น ต่างกันมากถึง 30% แต่ปัจจุบันอาคารประหยัดพลังงานมีต้นทุนสูงกว่าอาคารทั่วไปเพียง 5 - 10% เท่านั้น ส่วนศักยภาพของอาคารประหยัดพลังงานในประเทศไทยก็มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ด้วยอาคารเขียวนั้นเป็นเกณฑ์มาตรฐานใหม่ของการก่อสร้างไปแล้ว จึงทำให้อาคารสำนักงานที่ก่อสร้างขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ กว่า 50% เป็นอาคารที่ประหยัดพลังงาน

จากการวิเคราะห์การใช้พลังงานภายในอาคารของ สถาบันอาคารเขียวไทย พบว่า ระบบปรับอากาศมีสัดส่วนการใช้พลังงาน 65% ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง 25% และอื่นๆ 10% ดังนั้นการประหยัดพลังงานในอาคาร ส่วนใหญ่จึงมุ่งเน้นไปที่การลดใช้พลังงานในการดำเนินกิจกรรมในอาคาร ทำให้ขณะนี้ผู้ประกอบการต่างๆ ให้ความสำคัญต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อความรับผิดชอบต่อสังคม หลายบริษัทกำหนดนโยบายแนวทางสนับสนุนการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมอย่างชัดเจนและเป็นรูปธรรม รวมถึงการส่งเสริมให้พนักงานมีส่วนร่วมในกิจกรรมอนุรักษ์พลังงาน ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงาน เพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมให้กับโลก ด้วยแนวคิด ESG           

โดยอาคารประหยัดพลังงานจะใช้พลังงานน้อยกว่าอาคารทั่วไปราว 40 - 50% และใช้น้ำน้อยกว่า 20  - 30% แม้จะส่งผลให้ค่าก่อสร้างเพิ่มขึ้น 5 - 10% แต่สามารถประหยัดค่าใช้จ่ายที่จะคืนทุนภายใน 3 - 5 ปี นอกจากนี้ผลการวิจัยยังพิสูจน์ว่า หากมีโอกาสสัมผัสแสงแดดและทัศนียภาพในสถานที่ทำงาน ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น 12 – 15% ด้านคุณภาพอากาศต้องก่อสร้างให้มีอากาศบริสุทธิ์พัดผ่านต่อเนื่อง เพื่อให้ผ่านมาตรฐานสากลของสมาคมวิศวกรรมระบบปรับอากาศและการทำความเย็นแห่งสหรัฐอเมริกา (ASHRAE) โดยอาคารดังกล่าวจะหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุภายในอาคารที่ก่อให้เกิดสารอันตรายต่อร่างกาย รวมถึงพัฒนาคุณภาพอากาศและน้ำ ลดการเกิดขยะ เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ



อาคารประหยัดพลังงาน 5 ปีคุ้มทุน

จากข้อมูลของบริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด บริษัทผู้ออกแบบและก่อสร้าง อาคารประหยัดพลังงาน เผยว่า แม้งบประมาณในการสร้างอาคารประหยัดพลังงานจะสูงว่าการสร้างอาคารปกติ แต่เพียง 5 ปี ก็คุ้มทุนแล้ว เนื่องจากสามารถประหยัดไฟได้ไม่ต่ำกว่า 70% 

ยกตัวอย่าง อาคารสำนักงาน ปตท. ที่โรงแยกก๊าซ นิคมมาบตาพุด พื้นที่ราว 2,500 ตร.ม. ใช้แอร์เพียง 500,600 BTU จากปกติต้องใช้แอร์ 3,109,600 BTU ประหยัดพลังงานการใช้ไฟลดลง 75% ประหยัดค่าไฟ 4.7 ล้านบาทต่อปี คำนวณเป็นคาร์บอนเครดิตจะได้ 525.6 ตันต่อปี คำนวณราคาซื้อขายที่ตลาดยุโรปอยู่ที่ 1,549,971 บาท/ปี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา พบว่า กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีการขอพื้นที่ก่อสร้างปีละกว่า 20 ล้านตร.ม. คำนวณ 1 ตร.ม. ใช้แอร์ 1,000 BTU ประมาณปีละราว 20,000 ล้าน BTU และหากนำแนวคิดอาคารประหยัดพลังงานไปใช้จะสามารถจะลดการใช้ไฟฟ้าได้กว่า 70 % หรือ ลดใช้แอร์ลงกว่า 14,000 ล้าน BTU ต่อปี

สะท้อนให้เห็นว่า การลงทุนในอาคารประหยัดพลังงาน จะช่วยผู้ประกอบการ และ SME ลดการใช้พลังงาน ลดค่าใช้จ่ายลงได้อย่างมากในระยะยาวแลกกับการที่ต้องเพิ่มต้นทุนในการก่อสร้างอีก 5 - 10%  ถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับผลประโยชน์ที่จะได้รับในระยะยาว 



ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เท่าไหร่

เนื่องจากภาคการก่อสร้างอาคารปล่อยก๊าซเรือนกระจก อย่างน้อย 1 ใน 3 ของทั้งหมด โดยอยู่ในกระบวนการก่อสร้าง 30% และอีกกว่า 70% เป็นการใช้อาคารตลอดอายุการใช้งาน ทำให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อาคารประหยัดพลังงาน มีการเติบโตจากแรงผลักดันไม่ว่าจะภาวะโลกร้อน ความตกลงปารีส และล่าสุด การประชุม COP26 และคาดว่าหลังจากนี้ แรงผลักดันในเรื่องของกฎหมาย ภาคสังคม จะส่งผลให้การเติบโตของอาคารประหยัดพลังงานโตเพิ่มขึ้นอีก

จากรายงานของกระทรวงพลังงานพบว่า ตั้งแต่ปี 2556 - 2563 มีจำนวนอาคารที่ได้รับการประเมินเป็นอาคารประหยัดพลังงานตามเกณฑ์ของ BEC จำนวน 850 อาคาร มีการประหยัดพลังงานได้ 630 ล้านหน่วย โดยกระทรวงพลังงานมีเป้าหมายว่าภายใน 20 ปี นับจากปี 2561 ถึงปี 2581 การสร้างอาคารประหยัดพลังงานจะทำให้ประเทศไทยจะช่วยให้ผู้ประกอบการและผู้ใช้อาคารจ่ายค่าไฟลดลงอย่างน้อยร้อยละ 10 และสามารถประหยัดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 13,700 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นเงินกว่า 47,000 ล้านบาท และช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ไม่น้อยกว่า 7,282 ตันต่อปี



ตัวอย่างอาคารประหยัดพลังงานที่ประสบความสำเร็จ

‘Apple’ เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีแนวคิดที่จะใช้พลังงานทั้งหมดเป็นพลังงานสะอาด จากแผง Solar Arrays ขนาดใหญ่ที่ติดตั้งอยู่บนหลังคาของทุกอาคาร และในอาคารจะมีระบบปรับอุณหภูมิอัจฉริยะโดยไม่ต้องใช้ฮีตเตอร์หรือเครื่องปรับอากาศ ทำให้ลดการใช้พลังงานได้อย่างมหาศาล 

อย่างเช่น อาคาร Apple Store Bangkok ที่ได้รับรางวัล 2021 Winner: Building of the Year จาก ArchDaily ซึ่งอาคารนี้ได้รับการออกแบบโดย Fosters & Partners ร่วมกับ A49 ในโครงการนี้ได้มีส่วนร่วมในการเป็นที่ปรึกษาด้านการประหยัดพลังงาน ตามเกณฑ์อาคารเขียว LEED V.4 ซึ่งต้องผ่านมาตรฐานการอนุรักษ์พลังงาน ASHRAE 90.1 2010 ที่กำหนดมาตรฐานของเปลือกอาคาร ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง และระบบปรับอากาศประสิทธิภาพสูง

การเลือกใช้กระจกเปลือกอาคารรุ่นประหยัดพลังงานที่มีค่า U และ SHGC ต่ำ ประกอบกับการออกแบบระบบไฟฟ้าแสงสว่างที่ควบคุมค่า Lighting Power Density และระบบปรับอากาศที่มีค่าประสิทธิภาพสูง ทำให้อาคารนี้สามารถผ่านมาตรฐาน ASHRAE 90.1 ได้ตามเกณฑ์ LEED Version 4

อีกหนึ่งตัวอย่างคือ อาคาร Energy Complex (EnCo) เป็นต้นแบบอาคารที่ให้ความสำคัญกับการประหยัดและอนุรักษ์พลังงานทั้งระบบไฟฟ้าอย่างครบวงจร และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม

แนวคิดของอาคาร คือ ต้องการออกแบบให้เป็นทั้งอาคารยั่งยืน (Sustainable Building) รวมทั้งเป็นอาคารเขียว (Green Building) ตามมาตรฐาน Leadership in Energy and Environmental Design (LEED) ที่ใช้เทคโนโลยีและการออกแบบด้านอาคารเพื่อช่วยประหยัดพลังงานสูงสุด



จุดเด่นที่ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมของอาคาร คือ

- รีไซเคิลระบบประปา มีการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้สามารถนำน้ำมาใช้ซ้ำได้กว่า 90% และประหยัดการใช้น้ำประปาได้ถึง 55.3%

- นำน้ำฝนมาใช้แทนน้ำประปาในชักโครกและรดน้ำต้นไม้ โดยออกแบบท่อน้ำฝนของแต่ละอาคาร และเก็บกักไว้ในบ่อเก็บน้ำฝน ซึ่งสามารถประหยัดน้ำได้มากกว่า 16,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี

- นำน้ำทิ้งจากอ่างล้างหน้าไปบำบัดและใช้ซ้ำในการชำระล้างสุขภัณฑ์ สามารถประหยัดน้ำได้มากกว่า 18,000 ลูกบาศก์เมตร/ปี



จุดเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงาน

- ผนังกระจก ทำให้ใช้ประโยชน์จากแสงธรรมชาติได้ ช่วยลดการใช้พลังงานแสงสว่างลง อีกทั้งยังเป็นกระจก 2 ชั้นที่บรรจุก๊าซเฉื่อยไว้ตรงกลาง สามารถลดความร้อนที่จะเข้าสู่อาคารได้

-ใช้ฉนวนกันความร้อนบนหลังคา

- ระบบควบคุมไฟฟ้าแสงสว่างบริเวณริมอาคาร โดยติดตั้งอุปกรณ์ตรวจความเข้มของแสง (Light Sensor) ทำงานร่วมกับระบบปิดไฟหรือหรี่ไฟอัตโนมัติ (Automatic Dimmer) ให้กับโคมไฟบริเวณพื้นที่ริมกระจก

ด้วยระบบการทำงานข้างต้น ทำให้ค่าดัชนีการใช้พลังงานทั้งอาคาร EnCo เท่ากับ 81.30 กิโลวัตต์ - ชั่วโมง/ตารางเมตร/ปี เท่านั้น ในขณะที่อาคารทั่วไปจะมีค่า 140 - 200 กิโลวัตต์ - ชั่วโมง/ตารางเมตร/ปี ดังนั้น EnCo จึงเป็นอาคารต้นแบบของอาคารอื่นๆ ที่สามารถลดพลังงานและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สะท้อนให้เห็นว่า การออกแบบอาคารประหยัดพลังงานเป็นการดำเนินตามทิศทางของพลังงานในอนาคต โดยเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่อจากนี้ไปจะให้ความสำคัญเรื่อง ‘ความคุ้มค่า’ และ ‘ความยั่งยืน’ มากขึ้น ที่สำคัญคือช่วยประหยัดพลังงาน และดูแลสิ่งแวดล้อมไปพร้อมกันได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)


ที่มา
https://www.macthai.com/2017/02/22/apple-park-opens-in-april/
https://www.archdaily.com/945648/apple-central-world-bangkok-foster-plus-partners?fbclid=IwAR1EgdLRRn878v1di712chQDnXK0pasb3HUkFRw0dFU3NleHGuI5OwRw8gQ
https://blog.pttexpresso.com/sustainable-green-smart-building/
https://www.egat.co.th/egattoday/index.php?option=com_k2&view=item&id=18772:20220420-egatsp
http://berc.dede.go.th/?p=3577
https://www.bangkokbiznews.com/social/social_environment/1018042

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
239 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
2903 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3851 | 30/03/2024
มองทิศทาง ‘อาคารประหยัดพลังงาน’ ช่วยผู้ประกอบการ SME ไทย ลดค่าใช้จ่ายอย่างยั่งยืน ตอบโจทย์เทรนด์ธุรกิจแนวคิด ESG