‘มาตรฐานสิ่งแวดล้อม’ เครื่องมือลดความเสี่ยง-เพิ่มโอกาสทางการตลาดของผู้ประกอบการ SME ไทย ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อม ด้วยหลัก ESG
การดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นความเจริญด้าน เทคโนโลยี ไลฟ์สไตล์ผู้คนก็เปลี่ยนไป รวมไปถึง การทำธุรกิจ และโลกการค้าขายเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปทำให้ธุรกิจ คนที่จะค้าขายก็ต้องปรับตัวหลายๆ ด้าน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภครุ่นใหม่ หนึ่งในนั้นคือเรื่องมาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ซึ่งจะมาเป็นตัวกำหนดมาตรฐานในการทำธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและภาวะโลกร้อนที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปทั่วโลก รวมถึงผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสินค้าที่ช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อม และสังคมมากขึ้น
จำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการและ SME ต้องให้ความสำคัญในการบริหารจัดการด้าน เทคโนโลยี และมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่กระบวนการผลิตต้นน้ำ จนไปถึงปลายน้ำ ว่าเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรือไม่ เช่น ไม่ก่อให้เกิดขยะ การบริหารจัดการน้ำเสีย การปล่อยมลพิษในอากาศ ผลกระทบด้านเสียงต่อชุมชน หรือไม่ บางครั้งลูกค้ายุคใหม่ถึงขั้นมองไปถึง กระบวนการบริหารจัดการของเสีย แล้วนำกลับมาใช้ใหม่หรือไม่
มีการตัดไม้ทำลายป่าทำลายสิ่งแวดล้อมหรือไม่ การใช้ภาชนะต่าง ๆ แบบรักษ์โลกย่อยสลายง่ายเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้องค์กรดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน สามารถเผชิญกับความท้าทายกฎกติกาการค้าโลกที่ให้ความสำคัญเรื่องการดำเนินธุรกิจโดยใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นในอนาคต
ความตื่นตัว ผู้ประกอบการ SME ไทย กับมาตรฐานในการทำธุรกิจ
ที่ผ่านมาหากมองภาพรวมของมาตรฐานทั่วไปที่ผู้ประกอบการ SME ไทยใช้กัน ส่วนใหญ่จะเน้นเรื่องของคุณภาพมาเป็นอันดับแรก เพราะเป็นพื้นฐานของการสร้างความเชื่อมั่นให้กับสินค้าและบริการ หลังจากนั้นเมื่อผู้ประกอบการเติบโตขึ้นถึงจะขยายไปสู่เรื่องของมาตรฐานสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้น สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องที่ผู้ประกอบธุรกิจ SME ต้องเริ่มตระหนักและให้ความสำคัญกับเรื่องของมาตรฐานต่างๆ เพื่อความได้เปรียบเรื่องของการแข่งขันทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ซึ่งโดยหลักการแล้วมาตรฐานที่ธุรกิจ SME ไทยควรมีเป็นพื้นฐาน คือ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001 เป็นมาตรฐานสากลสำหรับระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อเพิ่มสมรรถนะสิ่งแวดล้อมภายในองค์กร และเพื่อความยั่งยืน (Sustainability) ด้านสิ่งแวดล้อม มาตรฐานสากลฉบับนี้ใช้ได้กับทุกองค์กร ทุกขนาด และทุกประเภท
โดยพิจารณาจากประเด็นปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Aspects) จากกิจกรรม ผลิตภัณฑ์ และบริการ ที่องค์กรพิจารณาแล้วว่าสามารถควบคุม หรือดำเนินการผลักดันอย่างใดอย่างหนึ่งได้ โดยการพิจารณาทั้งวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์และบริการ ( Life Cycle Perspective) ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้กับทุกกิจกรรม หรือบางกิจกรรมขององค์กร เพื่อให้เกิดการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นระบบ
ส่วนมาตรฐานอื่นๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงก็มีความสำคัญไม่ต่างกันขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์และวิสัยทัศน์ของผู้ประกอบการว่าต้องการให้องค์กรเดินไปในทิศทางไหนและประสบความสำเร็จอย่างไร แต่สำหรับมาตรฐานด้านการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ถือเป็นมาตรฐานที่สำคัญที่ผู้ประกอบการและ SME ไทยควรใส่ใจและเร่งดำเนินการ
ISO 14001 มาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม สำคัญต่อ SME อย่างไร?
มาตรฐาน ISO 14001 Environmental Management System คือระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ได้รับการพัฒนาให้เป็นระบบการจัดการที่จะช่วยให้องค์กรลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อมจัดทำกรอบการทำงานสำหรับองค์กรเพื่อแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นต่อสิ่งแวดล้อมโดย
•ลดผลกระทบที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม
•แสดงหลักฐานการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อม
•ปฏิบัติตามข้อกำหนดทางกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม
มาตรฐานเป็นแบบทั่วไปและไม่ได้ใช้เฉพาะกับอุตสาหกรรมหรือภาคธุรกิจ มีกรอบกลยุทธ์ที่สามารถใช้เพื่อตอบสนองวัตถุประสงค์ภายในและภายนอกสำหรับการจัดการสิ่งแวดล้อม
ประโยชน์ของระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO 14001
การได้รับการรับรองระบบมาตรฐานการจัดการสิ่งแวดล้อม จะสามารถแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นขององค์กรในการลดของเสียและวัสดุรีไซเคิลที่เหมาะสม ประโยชน์ที่องค์กรจะได้รับไม่เพียงแต่เป็นการประหยัดค่าใช้จ่ายเท่านั้น แต่ยังอาจจะเป็นประโยชน์เมื่อต้องเข้าร่วมธุรกิจใหม่ ผลประโยชน์อื่นๆ รวมถึงการปรับปรุงประสิทธิภาพการมีส่วนร่วมของพนักงานและลดความเสี่ยงของค่าปรับและการฟ้องร้องด้านผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมด้วย
องค์กรขนาดใหญ่มุ่งสู่ ‘มาตรฐานสิ่งแวดล้อม’
ยกตัวอย่าง เช่น สตาร์บัคส์ ประเทศไทย ระบุว่า การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทั้งบริษัท พาร์ทเนอร์ และลูกค้าต่างมีจุดมุ่งหมายร่วมกัน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเรื่องสิ่งแวดล้อมตลอดมา ตั้งแต่การรณรงค์การใช้แก้วส่วนตัวอย่างต่อเนื่อง
ด้วยการมอบส่วนลดแก่ลูกค้าที่นำแก้วส่วนตัวมาซื้อเครื่องดื่มที่ร้านตั้งแต่เราเริ่มดำเนินธุรกิจเมื่อ 20 ปีมาแล้ว การใช้ถุงกระดาษ และกระดาษแบบรีไซเคิลตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ การสร้างร้านกาแฟสีเขียว และเมื่อต้นปีที่ผ่าน เราได้เปลี่ยนมาใช้หลอดกระดาษ เพื่อช่วยลดการใช้หลอดพลาสติกกว่า 39 ล้านชิ้นต่อปี
ขณะที่ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ก็ผลักดันให้หน่วยงานต่างๆ ของบริษัทนำระบบมาตรฐานการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม Environmental Management System (ISO14001) มาใช้เพื่อลดมลพิษที่จะกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และชุมชน การใช้ทรัพยากรธรรมชาติให้เกิดประโยชน์สูงสุด อันจะนำไปสู่ความยั่งยืนขององค์กรอย่างแท้จริง โดยปัจจุบัน มีหน่วยงานในเครือที่ได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO14001 แล้ว 70 หน่วยงาน
และอีกหนึ่งตัวอย่าง คือ บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอ็น ผู้บริหารศูนย์การค้ารายใหญ่ของประเทศในเครือ “เซ็นทรัล” นำมาตรฐานต่างๆ มาเป็นกรอบในการวางแผนด้านความยั่งยืน อาทิ มาตรฐานระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม (ISO 14001) มาตรฐานการจัดการก๊าซเรือนกระจก (ISO 14064-1) มาตรฐานระบบการจัดการด้านพลังงาน (ISO 50001) และแนวทางการบริหารจัดการอาคารประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือมาตรฐานอาคารเขียวในระดับนานาชาติ (LEED : Leadership in Energy & Environmental Design)
โดยมีเป้าหมายใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการใช้ทรัพยากรทางเลือก เช่น พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ การนำน้ำกลับมาใช้หมุนเวียน การลดปริมาณขยะฝังกลบ และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมวางแนวทางการขับเคลื่อนเพื่อความยั่งยืนของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ไม่มี ระบบ ISO มาตรฐานจัดการสิ่งแวดล้อม ส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร
การที่เราไม่มี ระบบมาตรฐาน ISO จัดการดูแลสิ่งแวดล้อม จะทำให้การติดต่อซื้อขายหรือการติดต่องานในแต่ละเครือข่าย อาจจะส่งกระทบกับธุรกิจโดยตรง อย่างเช่น งานที่เราจะต้องทำงานเชื่อมต่อกับหน่วยงานอื่น ยกตัวอย่าง โรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ แล้วทำการเสนอเข้าไปยังบริษัทใหญ่ ซึ่งผลงานที่เราจะต้องทำนั้นจะต้องมีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม 100%
ถ้าเราไม่มีระบบการจัดการที่ดี ไม่มีการรับรองจาก ระบบมาตรฐานISO ด้านสิ่งแวดล้อม ถึงแม้สินค้าของเรานั้นจะออกมาดีและเป็นที่ต้องการของตลาด แต่เมื่อตรวจสอบไปยังที่มาของกระบวนการแล้วพบว่าการผลิตสินค้านี้ ก่อให้เกิดมลภาวะกับสิ่งแวดล้อม นอกจากสินค้าของเราจะถูกปฏิเสธแล้ว อาจยังต้องโดนการสอบสวนจากหน่วยงานกลางที่เข้ามาดูในเรื่องของ ระบบมาตรฐานISO ด้านสิ่งแวดล้อม และอาจจะส่งผลในระยะยาวในเรื่องของการดำเนินธุรกิจอีกด้วย
ตัวอย่าง SME ที่ทำธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม
‘บริษัท ผลิตภัณฑ์ปลากระป๋องสยาม จำกัด’ ผู้ประกอบการด้านอาหารทะเลแช่เยือกแข็งควบคู่กับการผลิตอาหารบรรจุกระป๋องเพื่อการส่งออกสู่ตลาดโลก ใช้แนวทาง ESG เพื่อสร้างความมั่นใจต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยบริษัทจะยึดมั่น และดำเนินกิจกรรมเพื่อประโยชน์ และเกื้อหนุนสังคมตามหลักการ ESG และเป็นตัวอย่างที่ดีในด้านการจัดการเรื่อง ระบบมาตรฐาน ISO 14000 ด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีระบบการบริหารจัดการของเสียในโรงงาน
ทำให้เป็นโรงงานอาหารที่ไร้กลิ่นของเสีย และไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม เป็นตัวอย่างการประสบความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการดูแลสิ่งแวดล้อม สังคม และแรงงาน ได้อย่างลงตัว
และอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการทำธุรกิจโดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม คือ ‘บริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด’ ผู้ประกอบการ SME ที่ดำเนินธุรกิจอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ได้รับความไว้วางใจจากลูกค้าในระดับสากลซึ่งเป็นค่ายรถยนต์ที่มีชื่อเสียง จึงให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมลดผลกระทบทางด้านสิ่งแวดล้อม โดยตระหนักถึงการทำธุรกิจอย่างมีจิตสำนึกและมีความรับผิดชอบในทุกกระบวนการ เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากกระบวนการผลิตของบริษัท
ทำให้บริษัทได้รับการรับรองมาตรฐาน ISO 14001 ซึ่งเป็นการการันตีว่าองค์กรมีระบบการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมที่มีประสิทธิภาพ สามารถสร้างความเชื่อมั่นใน Supply Chain การผลิตให้กับพาร์ทเนอร์ได้เป็นอย่างดี
ทางรอดธุรกิจใช้หลักคิด ESG ควบคู่มาตรฐานสิ่งแวดล้อม
ประเด็นเรื่องมาตรฐาน ISO ด้านสิ่งแวดล้อมกลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิตสินค้าและบริการ ขณะเดียวกัน การประเมิน ESG ก็กลายเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญของธนาคารแห่งชาติและสถาบันการเงินในการพิจารณาการสินเชื่อกับภาคธุรกิจไปแล้วเช่นกัน จากอดีตสถาบันการเงินจะมุ่งเน้นที่การทำกำไรสูงสุด โดยเฉพาะภาคการผลิตที่จะต้องพิจารณาว่าธุรกิจได้มีการทำลายสิ่งแวดล้อมโดยรอบหรือไม่ ตลอดจนการยกระดับภาคการผลิตให้มีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ลดของเสีย ลดปริมาณการปล่อยมลพิษ
หากผู้ประกอบการสามารถทำได้ก็มีโอกาสจะได้รับพิจารณาสินเชื่อมากขึ้น ในทางกลับกัน ธุรกิจที่ไม่มีหลักคิด ESG กับมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อม จะเสี่ยงถูกประเมินโดยสถาบันการเงินทำให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยากขึ้น ซึ่งหากบริษัทเติบโตเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ก็ต้องถูกประเมินด้วย ESG อยู่ดี
ดังนั้นการนำปัจจัยด้าน ESG มาประกอบการตัดสินใจในการลงทุนมีส่วนช่วยในการสร้างผลตอบแทนที่ดี และลดความเสี่ยงของการลงทุนได้
ยกตัวอย่าง บริษัทที่มีการปล่อยมลภาวะสูง จะประสบปัญหาด้านกฎระเบียบมากกว่า และมีความเสี่ยงที่จะถูกต่อต้านจากชุมชนสูง ดังนั้น โอกาสที่ราคาหุ้นจะผันผวนก็จะสูงตามไปด้วย ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซียและอินโดนีเซียซึ่งถูกยกให้เป็นผู้ผลิตและผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ของโลก โดยเฉพาะในยุโรป ถูกธนาคาร 3 แห่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนทางการเงินหลัก ให้แก่การขยายพื้นที่ปลูกปาล์ม ยุติการสนับสนุนบริษัทปาล์มน้ำมันของอินโดนีเซีย ที่ไม่ใส่ใจผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสังคม ที่เกิดจากสวนปาล์มของตน
ทำให้ถูกระงับตรารับรอง RSPO (Responsible Palm Oil มาตรฐานระดับอุตสาหกรรม) ส่งผลให้บริษัทสูญเสียลูกค้าไปหลายราย และอีกตัวอย่างหนึ่งคือ บริษัทป่าไม้แห่งหนึ่งจากมาเลเซียสูญเสียสัมปทานป่าไม้ เพราะถูกตรวจพบว่าป่าไม้ของบริษัทไม่ผ่านมาตรฐาน FSC (Forestry Stewardship Council) หรือ มาตรฐานป่าไม้ที่ยั่งยืนที่นิยมใช้สูงสุดในโลก นำไปสู่ผลขาดทุนมหาศาล
จากตัวอย่างทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ธุรกิจที่ไม่ยั่งยืนอาจนำไปสู่ผลขาดทุนทางการเงิน หรือกล่าวได้ว่า ความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอาจสะท้อนในเห็นเป็นความเสี่ยงด้านความสามารถในการชำระหนี้ (credit risk) นั่นเอง
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ สะท้อนให้เห็นว่า การทำธุรกิจโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะเป็นความเสี่ยงสำคัญของผู้ประกอบการ และ SME ที่ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น ภาคธุรกิจต้องมองไกลและไม่ซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อม ไม่เช่นนั้นจะต้องเผชิญความเสี่ยงอันเกิดจากกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ด้านสิ่งแวดล้อมที่จะออกตามมาอย่างต่อเนื่อง
เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่กำลังสร้างมาตรฐานสีเชียวของตนเอง แต่ถ้ามองในมุมธุรกิจ SME ที่มีการแข่งขันกับตลาดใหญ่ก็ต้อง Supply ให้บริษัทใหญ่อยู่ดี บริษัทใหญ่มี Supply Chain มากมาย ถ้า Supply Chain ไม่มีมาตรฐาน ESG บริษัทใหญ่ก็ไปต่อไม่ได้ เขาก็ต้องไปหา Supply Chain ที่มี ESG เพราะฉะนั้นจึงเป็นการบีบให้คนที่มีมาตรฐาน ESG ที่ดีกว่าเข้ามาแทน ปกติการทำธุรกิจจะพูดกันถึงว่า เราต้องลดต้นทุนให้ต่ำที่สุด แต่โลกวันนี้กำลังพูดถึง ต้องทำธุรกิจให้สีเขียวมากที่สุด
ดังนั้นบริษัทที่มีแนวคิดในการดำเนินธุรกิจในยุค Next Normal คือ ความยั่งยืนเป็นทั้งความท้าทายและโอกาส ธุรกิจต้อง “ปิดความเสี่ยง” และ “เปิดโอกาส” ด้าน ESG ความยั่งยืนกลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ทั้งในระดับธุรกิจและประเทศ ความคาดหวังและกฎเกณฑ์เรื่อง ESG จากลูกค้า นักลงทุน ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ จะเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทิศทางโลกเดินหน้าสู่ Low-Carbon and Circular Economy
อันที่จริงแล้ว ผู้ประกอบการและ SME ควรมองเรื่องนี้เป็นโอกาส อย่างเช่น การผลิตภาชนะใส่อาหารและเครื่องดื่มที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมจะมีตลาดใหญ่มากขึ้นเพื่อทดแทนการใช้พลาสติก หรือการทำเกษตรอินทรีย์ที่ปลอดสารเคมีจะได้สินค้าที่มีมูลค่าสูงขึ้น ดังนั้นหากผู้ประกอบการที่เริ่มปรับตัวทำธุรกิจให้สอดคล้องกับแนวคิดเรื่องความยั่งยืน (Sustainability) ก่อนย่อมได้เปรียบเพราะจะเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเทรนด์ด้านมาตรฐานใหม่ในการทำธุรกิจ กล่าวคือ ธุรกิจที่ปรับตัวเร็วจะได้เปรียบคู่แข่ง ไม่ตกขบวน และได้ประโยชน์จากความเปลี่ยนแปลงนี้
ที่มา
https://www.bot.or.th/Thai/ResearchAndPublications/DocLib_/Article_21Jul2021.pdf
https://www.isotoyou.com/index.php/article/174-iso14001-how.html
https://datacenter.deqp.go.th/media/882167/%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%81%E0%B8%AA%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%9A%E0%B8%A3%E0%B8%A1-iso-14001-28-5-2020.pdf
https://shorturl.asia/T8lv9
https://sdthailand.com/2022/05/cpn-sustainability-performance-and-action-plan/
https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256405ExecutivesTalk.aspx
https://www.tcijthai.com/news/2012/23/scoop/902
อ่านบทความที่เกี่ยวข้อง :