‘Health and Wellness’ อีกหนึ่ง Mega Trend โตแรง ผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์อย่างไร? สะกดใจผู้บริโภคถูกจุด

Mega Trends & Business Transformation
12/07/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 18366 คน
‘Health and Wellness’ อีกหนึ่ง Mega Trend โตแรง ผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์อย่างไร? สะกดใจผู้บริโภคถูกจุด
banner
Mega Trend ถือเป็นคำยอดฮิตที่ถูกกล่าวถึงเสมอในการวิเคราะห์สิ่งที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของโลกในมิติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยี ซึ่งส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อมนุษย์ แต่เมื่อสิ่งเหล่านี้อาจก่อให้เกิดผลกระทบในทุกด้านต่อโลก ไม่ว่าจะเป็นความเปลี่ยนแปลงในด้านที่ดีหรือตรงกันข้าม สิ่งนี้เรียกว่า ‘Mega Trend’ เช่น ภาวะโลกร้อนส่งผลให้เกิดเมกะเทรนด์ เรื่องความยั่งยืนในการประกอบธุรกิจที่เป็นมิตรต่อโลก (Sustainability) และวิกฤต Climate Change หรือจำนวนประชากรที่สูงขึ้นอย่างรวดเร็วจนทำให้เกิด Mega Trend ด้านอาหารที่ยั่งยืน (Future Food)

ซึ่ง McKinsey บริษัทที่ปรึกษาเบอร์ 1 ของโลก ได้แสดงทรรศนะไว้ว่า Mega Trend คือแนวทางการเปลี่ยนแปลงที่เปรียบเสมือนเพื่อน การวิเคราะห์ คาดการณ์อนาคตทางธุรกิจและการลงทุนในอนาคต จะแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นสำหรับภาคธุรกิจ ผลจากการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวัน รวมถึงชีวิตการทำงาน



อ่านบทความที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Mega Trend :

ดังนั้น Mega Trend จึงหมายถึง สิ่งใหม่ๆ ที่กำลังจะเกิดขึ้นหรือการเปลี่ยนแปลงใดๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว มันสามารถกำหนดทิศทางหรือชี้นำอนาคตของผู้คนบนโลกมนุษย์ได้ หากผู้ใดไม่ปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดคล้องตามกระแส ก็จะกลายเป็นคนตกยุค ซีรีส์ตอนนี้จึงขอนำ ‘Health and Wellness’ ซึ่งเป็นอีกเมกะเทรนด์เกี่ยวกับสุขภาพมาให้ได้ศึกษาสู่การ Business Transformation ตอบโจทย์ผู้บริโภคของผู้ประกอบการและ SME สู่การประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างยั่นยืน



เข้าใจความหมายของ Health และ Wellness

องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้นิยามว่าสุขภาพ (Health) คือสภาวะความเป็นอยู่ที่ดีทั้งทางกาย จิต และสังคม โดยมิได้จำกัดอยู่เพียงแค่การปราศจากโรคและความพิการ (Health is a state of complete physical, mental and social well-being and not merely the absence of the disease and infirmity) ซึ่งเป็นนิยามที่ครอบคลุมใน 3 มิติสำคัญของชีวิตมนุษย์ แต่ในภายหลังได้เพิ่มเติมมิติอื่นๆ เข้ามา เช่น มิติทางสติปัญญา มิติทางอารมณ์ เป็นต้น

ส่วนความเป็นอยู่ที่ดี (wellness) คือความสมดุลในทุกมิติของบุคคลหนึ่งๆ เรามีความเป็นอยู่ที่ดีได้เมื่อบุคคลดังกล่าวต้องการที่จะมีชีวิตที่สมดุลโดยเลือกทำสิ่งต่างๆ เพื่อให้เกิดสุขภาพที่สมบูรณ์ ความเป็นอยู่ที่ดีส่งผลโดยตรงกับสุขภาพโดยรวม

อะไร? คือความแตกต่างระหว่าง ‘สุขภาพ’ และ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’

คำว่า ‘สุขภาพ’ และ ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ มักจะเขียนมาพร้อมกันหรือใช้แทนกัน แต่ทั้งสองคำนี้มีความหมายแตกต่างกันพอสมควร โดยสุขภาพคือเป้าหมาย ส่วนความเป็นอยู่ที่ดีคือกระบวนการที่ทำให้ไปถึงเป้าหมาย สุขภาพดีคือสภาพที่ร่างกายปราศจากโรค ในขณะที่ความเป็นอยู่ที่ดีคือความสมดุลในทุกมิติ โดยในระยะแรกองค์การอนามัยโลกกำหนดความเป็นอยู่ที่ดีไว้เพียง 3 มิติ คือ กาย จิต และสังคม ต่อมามีความสนใจศึกษาเพิ่มขึ้นทั่วโลก จึงมีการเสนอมิติอื่นๆ เพิ่มขึ้น ในปัจจุบันมิติของความเป็นอยู่ที่ดีที่นิยมกล่าวถึง มี 8 มิติ คือ กาย (Physical), จิต (Spiritual), สังคม (Social), อารมณ์ (Emotional), สติปัญญา (Intellectual), อาชีพการงาน (Occupational), สภาพการเงิน (Financial) และสภาพแวดล้อม (Environmental)



มูลค่าการตลาดโดยรวมของอุตสาหกรรม Health and Wellness ทั่วโลกเป็นอย่างไร?

โดยธุรกิจสุขภาพ หรือที่นิยมเรียกว่า Wellness Business เป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่เติบโตได้ดีทั่วโลก สวนกระแสเศรษฐกิจซบเซา โดยเฉพาะหลังเกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเสริมสุขภาพจิต ธุรกิจเทคโนโลยี นวัตกรรมดูแลป้องกันรักษาสุขภาพ ธุรกิจการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ธุรกิจการให้บริการ ดูแลสุขภาพที่บ้าน ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ ธุรกิจสปาและความงาม รวมไปถึงยา อาหารและผลิตภัณฑ์สุขภาพต่างๆ



จากข้อมูลของสถาบันโกลบอลเวลเนส (Global Wellness Institute : GWI) ได้มีการทำวิจัยเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) เมื่อปี 2563 พบว่าตลาดมีมูลค่าสูงถึง 4.4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ โดยสาขามูลค่าธุรกิจใหญ่สุดมีดังนี้..

1. การดูแลตัวเอง ความสวยงาม การชะลอวัย (Personal Care & Beauty) ราว 9.55 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

2. การทานอาหารเพื่อสุขภาพ หรือทานอาหารเป็นยา อาหารลดน้ำหนัก (Healthy Eating, Nutrition, Weight Loss)

3. สาขาการออกกำลังกายและกายภาพ (Physical Activity)

4. สาขาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) ซึ่งจะเป็นสาขาที่จะเติบโตเป็น 2 เท่าในปี 2573 คาดว่าจะเป็น 1.59 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ จากปี 2563 ที่มีมูลค่าราว 4.36 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หากผู้ประกอบการไทยสามารถดึงนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เข้ามาได้มาก จะเป็นการช่วยเหลือประเทศในเชิงคุณภาพ เพราะใช้จ่ายต่อหัวสูง

สำหรับประเทศไทย Wellness Tourism ถือเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงและเติบโตต่อเนื่อง โดยข้อมูลในปี 2560 จาก GWI พบว่า มีจำนวนนักท่องเที่ยวในตลาดนี้สูงถึง 12.5 ล้านคนครั้ง สร้างรายได้กว่า 4 แสนล้านบาท และเกิดการจ้างงานสูงถึง 530,000 คน


อ่านบทความเพิ่มเติม HealthTech :

Health and Wellness เติบโต สร้างโอกาส 13 กลุ่มธุรกิจ

ห้วงหลายปีที่ผ่านมามีสตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการและ SME มองเห็นโอกาสในการต่อยอดสินค้าจากบริการแบบเดิม ให้สามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ และแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ร่างกายจิตใจของคนในยุคดิจิทัล จึงหันมาพัฒนาธุรกิจด้าน Wellness หรือที่เรียกว่า Wellness Tech กันมากขึ้น ซึ่ง 13 กลุ่มธุรกิจที่จะสามารถเติบโตได้ดีจนประสบความสำเร็จจะมีอะไรบ้างตามมาดูกันเลย

1. กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม (Food & Beverage)
แน่นอนว่าการมีความเป็นอยู่ที่ดีนั้น ต้องเริ่มมาจากการกินและดื่มเพื่อสุขภาพ ภาคธุรกิจกลุ่มนี้จึงทำธุรกิจที่มาจากความต้องการของผู้บริโภคที่คำนึงเรื่องสุขภาพจากการบริโภคเป็นหลัก คนกลุ่มนี้ต้องการกินและดื่มในสิ่งที่ไม่ทำร้ายร่างกาย จึงเป็นกระแสที่ทำให้คนหันมาเลือกวัตถุดิบจำพวกออร์แกนิก หรือ non-GMO กันมากขึ้น รวมถึงเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ อาทิ ดีท็อกซ์ คอมบูชะ เป็นต้น ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้เช่น Daily Harvest ที่ให้บริการทั้งซื้อ และทำอาหารออร์แกนิกพร้อมจัดส่งถึงบ้าน

2. กลุ่มวิตามินและอาหารเสริม (Vitamins & Supplements)
ภาคธุรกิจกลุ่มนี้จะนำเสนอวิตามินและอาหารเสริม เพื่อสุขภาพเฉพาะตัวบุคคล ตัวอย่างเช่น บริษัท care/of ที่ขายวิตามินโดยให้ลูกค้าตอบคำถามเบื้องต้น นำผลมาวิเคราะห์แล้วนำเสนอวิตามินที่เหมาะสมกับแต่ละคน โดยจะจัดส่งถึงบ้านเป็นรายเดือน เป็นต้น

3. กลุ่มโภชนาการอาหารเพื่อการออกกำลังกาย (Active Nutrition)
นอกจากกลุ่มคนทั่วๆ ไปที่หันมารับประทานอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว กลุ่มที่มีศักยภาพและเติบโตมากขึ้นทุกปีคือ กลุ่มผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย ที่ต้องการอาหารเสริมทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกาย ผู้ประกอบการที่เข้ามาทำธุรกิจกับกลุ่มเป้าหมายนี้ เช่น Foodspring ที่พัฒนาอาหารเสริม เครื่องดื่ม ขนมแบบออร์แกนิก เพื่อตอบโจทย์ที่หลากหลายของผู้ออกกำลังกาย เช่นต้องการสร้างกล้ามเนื้อ ควบคุมและลดน้ำหนัก เป็นต้น 

4. กลุ่มเทคโนโลยีทางโภชนาการ (Nutrition Tech)
ภาคธุรกิจในส่วนนี้จะนำเสนอแพลตฟอร์มโภชนาการส่วนบุคคล เช่น บริษัท Viome ที่จะวิเคราะห์โปรไฟล์ทางชีวเคมีของผู้ใช้งาน เพื่อจะได้ให้คำแนะนำเรื่องอาหารการควบคุมอาหาร สำหรับลดน้ำหนัก ตามไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล

5. กลุ่มฟิตเนส (Fitness)
จากการทำธุรกิจฟิตเนสแบบเดิมที่มีสถานที่ตั้งแล้วให้คนมาออกกำลังกาย ในยุคนี้ภาคธุรกิจด้านฟิตเนส เห็นปัญหาว่าคนมักจะไม่ค่อยมีเวลาหรือทำงานกันยุ่งมาก ทำให้คนที่ชอบออกกำลังกายแต่ไม่สามารถไปยิมได้ ก็คิดบริการใหม่สำหรับการนำยิมไปเดลิเวอรีถึงที่ทำงานหรือที่บ้านกันเลยทีเดียว หรือแม้แต่การให้บริการจองคิวออกกำลังกายกับฟิตเนส หรือเทรนเนอร์ชื่อดัง เป็นต้น ผู้ประกอบการที่น่าสนใจที่ทำธุรกิจในกลุ่มนี้ เช่น บริษัท MIRROR ที่ทำธุรกิจตามชื่อ นั่นก็คือผู้ใช้งานสามารถออกกำลังกายหน้ากระจก (อุปกรณ์เฉพาะของ MIRROR) ได้ทุกที่ทุกเวลา

6. กลุ่มเครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ต่อเชื่อมกับชุด (Athleisure & Connected Apparel)
จากกระแสการชอบออกกำลังกายที่กลายมาเป็นกิจกรรมสำคัญของผู้คนในยุคนี้ เครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง ยิ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนมองหา ทั้งเพื่อนำมาช่วยให้สามารถติดตามความคืบหน้าของการออกกำลังกายของตัวเองได้ หรือการสวมใส่เพื่อให้เหมาะกับกิจกรรมการออก กำลังกายของตัวเองมากที่สุด แม้กระทั่งแบรนด์ที่เป็นเสื้อผ้า รองเท้าแอคทีฟแวร์ชื่อดัง เช่น Outdoor Voices หรือ Allbirds ก็ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก 

7. กลุ่มด้านการนอนหลับ (Sleep)
ชีวิตที่อยู่ดีมีสุขในองค์รวมนั้น พ่วงไปจนถึงการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ ธุรกิจด้านการนอนหลับในยุคนี้ได้นำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อปลูกฝังนิสัยและพฤติกรรมการนอนที่ดีขึ้นให้กับผู้คน เช่น บริษัท Sleepace ที่ให้บริการโซลูชันการนอนหลับที่ชาญฉลาด 

8. กลุ่มสุขภาพจิต (Mental Wellness)
นับว่าเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตขึ้นมาก เพราะเรื่องจิตใจ นับวันยิ่งมี ความสำคัญต่อการใช้ชีวิต และการมีความสุขของผู้คนในสมัยนี้ผู้ประกอบการบางรายจึงคิดค้นบริการ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ใช้งานมี สุขภาพจิตที่ดีขึ้น ซึ่งแบ่งเป็นการให้บริการทั้งแบบส่วนบุคคล และแบบองค์กร 

- สตาร์ทอัพที่ให้บริการแบบส่วนบุคคล เช่น แอปฯ ฝึกสมาธิของ Head space หรืออุปกรณ์ติดตามอารมณ์ อย่าง Woebot 

- สตาร์ทอัพที่ให้บริการในองค์กร พนักงานคือทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดขององค์กร สตาร์ทอัพย่อมเห็นความต้องการ ที่องค์กรให้ความสำคัญในด้านการพัฒนาสุขภาพจิตใจของพนักงาน (ควบคู่ไปกับการพัฒนาสุขภาพ ร่างกาย) จึงคิดค้นโปรแกรมและบริการต่างๆ ไปนำเสนอให้พนักงานในองค์กรทีเดียว

9. กลุ่มความสวยงามและการดูแลความงาม (Beauty & Personal Care)
ในกลุ่มนี้จะมีสินค้าและบริการที่ใกล้เคียงกับกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ที่เน้นการใช้วัตถุดิบที่มาจากธรรมชาติ หรือออร์แกนิก รวมถึงผลิตภัณฑ์แนวโพรไบโอติก หรือแม้กระทั่งสินค้าเฉพาะด้านที่พัฒนาเพื่อดูแลเฉพาะตัวบุคคล ผู้ประกอบการบางรายอาจซื้อฟาร์มออร์แกนิกสำหรับการพัฒนาสินค้าของตัวเองอาทิแบรนด์ Juice Beauty เป็นต้น

10. กลุ่มการท่องเที่ยวและการให้บริการ (Travel & Hospitality)
ในความเป็นจริงกลุ่มท่องเที่ยว หรือ Travel Tech เป็นกลุ่มธุรกิจที่กว้างมาก ในหมวดนี้จึงเน้นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับด้าน Wellness โดยเฉพาะ เช่น สตาร์ทอัพอย่าง Ketanga Fitness Retreats เป็นผู้บุกเบิกประสบการณ์การออกกำลังกายที่ทันสมัย โดยเป็นออร์แกไนเซอร์ที่รับจัดกิจกรรมโปรแกรมดูแลการออกกำลังกายและพักผ่อนสำหรับองค์กรทั่วโลก 

11. กลุ่มบริการดูแลเพื่อผู้หญิงโดยเฉพาะ (Feminine Care)
อาจจะเป็นธุรกิจที่ฟังดูแปลกๆ แต่ไม่น่าเชื่อว่ามีผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจด้านนี้ เพื่อช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ของผู้หญิงโดยเฉพาะ เช่นสตาร์ทอัพ LOLA ที่พัฒนาสินค้าเพื่อสุขภาพทางเพศของผู้หญิง เป็นต้น 

12. กลุ่มฟังก์ชันนัลเฮลท์ (Functional Health)
ผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ จะเสนอบริการในรูปแบบดิจิทัล แพลตฟอร์มด้านสุขภาพที่ผสมผสาน ทั้งเรื่อง Wellness และเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพในหลากหลายรูปแบบไว้ด้วยกัน หรือนำ Health Tech ซึ่งเป็นเทคโนโลยีให้กลายมาเป็นเครื่องมือทำธุรกิจ Health and Wellness อาทิเช่น บริษัท อี ฟอร์ แอล เอม จำกัด (มหาชน) หรือ ‘EFORL’ ที่นำ Telemedicine โดยการผลักดันให้โรงพยาบาลในเมืองไทยใช้ระบบ เทเลเมดิซีน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากรทางการแพทย์สามารถพูดคุยกันได้แบบ Real Time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ VDO Conference




อีก 1 ตัวอย่างก็คือ แอปพลิเคชัน ‘Smile Migraine’ โดยเป็นแอปฯ สำหรับคนไข้ไมเกรน เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการติดตามอาการปวดศีรษะ วัดระดับความรุนแรงของโรคไมเกรนและสามารถปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญได้อย่างสะดวก ทุกที่ ทุกเวลา




ขณะที่ บริษัท อาร์ไอเอ แลบบอราทอรี่ จำกัด ห้องแล็บแถวหน้าของเมืองไทย ได้นำระบบ LABORATORY INFORMATION SYSTEM (LIS) มาใช้ในการเชื่อมต่อข้อมูลแบบครบวงจร ที่สำคัญสามารถตรวจสอบเช็กผลการตรวจได้ตลอดเวลาอีกด้วย




13. กลุ่มอีคอมเมิร์ซ (e-Commerce)
ในกลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มสตาร์ทอัพที่เน้นการขายสินค้าบริการ ด้านการส่งเสริมสุขภาพในองค์รวม (Wellness) เช่น Brandless ที่มีความตั้งใจขายสินค้าที่ดีกว่า แต่สามารถเข้าถึงได้ในราคาไม่แพง



2 กลยุทธ์ นำพาผู้ประกอบการ Health and Wellness เมืองไทย ให้สามารถแข่งขันได้และเติบโตอย่างยืน (Sustainability)

ด้วยความที่ตลาด Health and Wellness เติบโตต่อเนื่อง จึงเกิดคู่แข่งทางธุรกิจค่อนข้างสูงตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคธุรกิจและ SME ไทยในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ให้ได้คุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยเอกลักษณ์ความโดดเด่นจากภูมิปัญญาไทย อัตลักษณ์ของไทย จึงควรมี 2 กลยุทธ์ดังนี้

1. การพัฒนา ยกระดับธุรกิจบริการด้านสุขภาพภาคธุรกิจไทย

ด้วยเหตุที่ธุรกิจบริการด้านสุขภาพมีแนวโน้มเติบโตจากปัจจัยแวดล้อมต่างๆ เช่น กระแสรักสุขภาพ สังคม ผู้สูงอายุ เป็นต้น จึงจำเป็นต้องสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการและ SME ในธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่มีองค์ความรู้เกี่ยวกับบริการอย่างแท้จริง พร้อมประยุกต์เข้ากับอัตลักษณ์ ภูมิปัญญา หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างมูลค่าและความแตกต่างให้กับบริการ ควบคู่ไปกับความรู้ด้านการบริหารจัดการสมัยใหม่ ตลอดจนพัฒนาแรงงาน เพื่อเสริมสร้างประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ โดยมีแนวทางการส่งเสริมดังนี้

1.1 การพัฒนาคุณภาพมาตรฐาน และสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ภาคธุรกิจไทยในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ 

- พัฒนาศักยภาพและองค์ความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการและ SME ในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ ให้สามารถดำเนิน ธุรกิจแบบมืออาชีพ มีระบบในการบริหารจัดการ นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดประโยชน์หรือยกระดับการให้บริการ เป็นต้น 

- พัฒนารูปแบบการให้บริการด้วยการประยุกต์เรื่องการดูแลสุขภาพเข้ากับอัตลักษณ์ ภูมิปัญญาไทย หรือวิทยาศาสตร์ เพื่อสร้างเอกลักษณ์และความแตกต่างโดดเด่นให้กับบริการ ลดปัญหาการแข่งขันทางราคา โดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ

- พัฒนาธุรกิจบริการด้านสุขภาพให้ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด

- พัฒนาศักยภาพแรงงานในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เพื่อสร้างความมั่นคงในทรัพยากรบุคคล โดยเสริมสร้างจิตใจในการให้บริการ (Service Mind) ทักษะฝีมือด้านการให้บริการ รวมถึงทักษะและองค์ ความรู้ต่างๆ เช่น ความรู้ต่อผลิตภัณฑ์/บริการ ทักษะภาษาต่างประเทศ เป็นต้น รวมถึงพัฒนาแรงงานให้มีคุณภาพมาตรฐานตรงตามตำแหน่งงานหรือความต้องการของตลาดแรงงาน

1.2 การบูรณาการความร่วมมือเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน

- ส่งเสริมให้สถานศึกษามีส่วนร่วมในการผลิตบุคลากร/พนักงานผู้ให้บริการ และการพัฒนายกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของสถานประกอบการ

- ส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้ประกอบการและ SME ไทยในธุรกิจบริการด้านสุขภาพ เช่น ชมรม สมาคม เป็นต้น เพื่อดูแล ส่งเสริม และพัฒนาสมาชิก รวมถึงเป็นตัวแทนในการดำเนินงานส่งเสริมร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ 

- ส่งเสริมความร่วมมือในการเชื่อมโยงธุรกิจบริการด้านสุขภาพกับธุรกิจอื่น หรือสินค้าและบริการอื่น เช่น โรงแรม / Tourist Agency / โรงพยาบาล / ผลิตภัณฑ์สมุนไพร / ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม เป็นต้น

2. การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการและ SME ในธุรกิจบริการด้านสุขภาพคือ ปัจจัยแวดล้อม โดยเฉพาะกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ และหน่วยตรวจรับรอง ดังนั้น แนวทางการส่งเสริมสำหรับธุรกิจบริการด้านสุขภาพในกลยุทธ์ที่ 2 นี้ จึงเห็นว่าควรมุ่งเน้นการทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการพัฒนาหน่วยตรวจรับรอง ตลอดจนการเสริมสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจบริการด้านสุขภาพ โดยมีแนวทางการส่งเสริม ดังนี้

2.1 การพัฒนาปัจจัยแวดล้อมเพื่อสนับสนุนการดำเนินธุรกิจ 

- ทบทวน ปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการและ SME ในธุรกิจบริการด้านสุขภาพให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจ และสอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน

- พัฒนาหน่วยตรวจรับรอง (Certified Body) ในประเทศที่สามารถให้การรับรองคุณภาพมาตรฐานธุรกิจ บริการด้านสุขภาพ เพื่อความสะดวกรวดเร็วของผู้ประกอบการและการแบ่งเบาภาระงานของหน่วยงานภาครัฐ รวมถึงควรมีการตรวจสอบ ควบคุมคุณภาพมาตรฐานของธุรกิจบริการด้านสุขภาพที่ผ่านการรับรองแล้วอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือแก่เกณฑ์คุณภาพมาตรฐาน และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค

- เสริมสร้างภาพลักษณ์ธุรกิจบริการด้านสุขภาพให้เป็นที่ยอมรับ รวมถึงการส่งเสริมตลาดทั้งในและต่างประเทศ

นอกจากนี้สตาร์ทอัพ ผู้ประกอบการ รวมถึง SME บ้านเรา ควรให้ความสำคัญกับ ‘สังคมสูงวัย’ ด้วย เนื่องจากเป็นอีกหนึ่ง Mega Trend ที่เติบโตเป็นอย่างมากในปัจจุบัน ลูกค้ากลุ่มนี้จึงมีการขยายตัวต่อเนื่อง ดังนั้นการผลิตสินค้าหรือบริการนอกจากจะต้องได้คุณภาพมาตรฐานแล้ว ภาคธุรกิจยังควรเข้าใจเทรนด์ผู้สูงอายุเพิ่มเติม โดยต้องมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทั้งด้านร่างกาย จิตใจ และสังคมของผู้สูงวัยอย่างถ่องแท้ เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ให้มีความเหมาะสมกับสภาพ หรือข้อจำกัดของผู้สูงอายุแต่ละบุคคลภายใต้การก้าวทันยุคสมัยที่มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี


แหล่งอ้างอิง : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), MTEC (National Metal and Materials Technology Center), สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)
https://www.nstda.or.th/home/knowledge_post/megatrend-2020-2030/ 
https://www.spu.ac.th/fac/business/th/content.php?cid=19329 
https://www.cbinsights.com/research/wellness-tech-startups-market-map/ 
https://globalwellnessinstitute.org/ 
https://globalwellnessinstitute.org/press-room/statistics-and-facts/ 
https://thestandard.co/hotel-property-wellness-trend/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ธุรกิจยุคดิจิทัล ต้อง Transformation อย่างไร เมื่อพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ในเทศกาลสงกรานต์

ความเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคยุคใหม่ กลายเป็นโจทย์หลักของนักการตลาดในยุคดิจิทัล หากเจาะลึกลงไปจะพบว่าการเปลี่ยนแปลงจนทำให้เกิดการดิสรัปด้านเทคโนโลยีรอบนี้…
pin
3940 | 10/04/2024
5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

5 เทคโนโลยีสุดล้ำ ที่ธุรกิจนำมาปรับใช้เป็นกลยุทธ์ใหม่กระตุ้นยอดขาย ดึงลูกค้า ช่วงมหาสงกรานต์ 2567

ประเพณีสงกรานต์ของไทย ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน สนับสนุนให้ “สงกรานต์” เป็นหนึ่งในซอฟต์พาวเวอร์เทศกาลระดับโลก…
pin
3916 | 10/04/2024
5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

5 นวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ตอบโจทย์เทรนด์รักสุขภาพองค์รวม 'Holistic Health' เมื่อคนยุคใหม่มองหาสุขภาวะที่ดีขั้นสุด

การดูแลสุขภาวะที่ดีกำลังเป็นโจทย์สำคัญด้านสาธารณสุขของประเทศ ในห้วงเวลาที่ประเทศไทยก้าวเข้าสู่การเป็น “สังคมสูงวัย “ (Aged Society) โดยมีข้อมูลพบว่าตั้งแต่ปี…
pin
1022 | 25/03/2024
‘Health and Wellness’ อีกหนึ่ง Mega Trend โตแรง ผู้ประกอบการไทยปรับกลยุทธ์อย่างไร? สะกดใจผู้บริโภคถูกจุด