‘APEC 2022’ กับความสำคัญของ ESG หนุนไทยสู่เป้าหมาย BCG เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสได้อย่างไร?

ESG
11/12/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 4300 คน
‘APEC 2022’ กับความสำคัญของ ESG หนุนไทยสู่เป้าหมาย BCG เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสได้อย่างไร?
banner
ปิดฉากไปแล้ว สำหรับการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจ APEC 2022 ซึ่งหลังจากนี้เป็นต้นไป จะเป็นช่วงเวลาที่ผลลัพธ์จะปรากฏ โดยเฉพาะผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุน ว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG ที่นำเสนอโดยประเทศไทย

ซึ่งทุกเขตเศรษฐกิจเชื่อมั่นว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG (Bio-เศรษฐกิจชีวภาพ, Circular-เศรษฐกิจหมุนเวียน, Green-เศรษฐกิจสีเขียว) จะสร้างการเติบโตของประเทศ และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลกได้ และอีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญ คือ จะเดินหน้าสานต่อการหารือเรื่องเขตการค้าเสรีเอเชีย-แปซิฟิก (FTAAP) ให้เป็นรูปธรรม ซึ่งไทยจะได้ประโยชน์ไม่น้อยจากความร่วมมือนี้



ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา โดยเน้นเศรษฐกิจที่นำวิทยาศาสตร์ นวัตกรรมและเทคโนโลยี มาต่อยอดจุดแข็งของธุรกิจ หรือเรียกว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG โดยมี 3 องค์ประกอบสำคัญ ได้แก่ Bio - Economy คือ การนำทรัพยากรชีวภาพมา ‘ผลิตให้คุ้มค่าที่สุด’โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย

ขณะที่ Circular Economy เป็นระบบเศรษฐกิจหมุนเวียนที่มีแนวทาง ‘การใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด’ โดยของที่ใช้ในการผลิต ต้องสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วน Green Economy ใช้ระบบเศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งเป็นการสร้างนวัตกรรมรวมถึงการจัดการสภาพสังคมให้ ‘กระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด’

สำหรับการประชุมดังกล่าว ได้ให้ความสำคัญกับแนวคิดเศรษฐกิจ BCG เป็นหลัก โดยได้หารือแนวทางการใช้ BCG เพื่อส่งเสริมความพยายามของเอเปค ในการเปลี่ยนผ่านไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเน้นเป้าหมายหลัก 4 ข้อ ได้แก่

1) การจัดการกับปัญหาสภาพภูมิอากาศ
2) การค้าและการลงทุนที่ยั่งยืน
3) การบริหารจัดการทรัพยากรยั่งยืน
และ 4) การลดและจัดการของเสียอย่างยั่งยืน

ทั้งนี้หากต้องการขับเคลื่อนภารกิจให้ได้ตามเป้าหมาย BCG ต้องอาศัยการทำธุรกิจตามหลักการ ESG ที่ประกอบด้วยปัจจัย 3 ด้านที่สำคัญ คือ การดูแลสิ่งแวดล้อม รับผิดชอบต่อสังคม และการกำกับดูแลกิจการที่ดี เปรียบเหมือนกระจกที่สะท้อนภาพการดำเนินธุรกิจของบริษัทให้มีความโดดเด่นเหนือคู่แข่ง เพราะนั่นแปลว่า ธุรกิจมีรูปแบบการบริหารจัดการความเสี่ยงที่ได้มาตรฐาน ช่วยลดความเสี่ยงในการลงทุน จึงเป็นธุรกิจน่าสนใจในการลงทุน 



จาก ASEAN Summit – G20 – APEC 2022 โลกได้อะไร?

ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน กลายเป็นภูมิภาคสำคัญของการเมืองโลก สังเกตจากการประชุมสำคัญถึง 3 การประชุมถูกจัดขึ้นในภูมิภาคนี้

ตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา วันที่ 10-13 พฤศจิกายน 2565 ต่อด้วยการประชุมกลุ่ม 20 (G20) ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย วันที่ 15-16 พฤศจิกายน

ก่อนมาสิ้นสุดที่การประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (Asia Pacific Economic Cooperation – APEC) ณ กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย เมื่อวันที่ 18-19 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา

ทั้งนี้จากการประชุมสำคัญทั้ง 3 เวทีนี้ ทำให้ผู้นำมหาอำนาจโลกได้มาพบกัน ด้วยการวางตัวของอาเซียนที่ไม่แบ่งข้างและไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ภูมิภาคนี้จึงกลายเป็นพื้นที่กลางและไม่ได้อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งของเวทีภูมิรัฐศาสตร์ ผู้นำพร้อมที่จะเข้ามาเจรจา ปรึกษาหารือกันถึงความสำคัญของอาเซียนในเวทีโลก

จึงเป็นที่คาดหวังว่าการประชุมทั้ง 3 เวทีนี้จะสามารถหาทางออกให้แก่ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นเพื่อลดความตึงเครียดระดับโลกให้ผ่อนคลายลง ทั้งจากสงครามทางการเมือง สงครามทางการค้า และปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เป็นตัวการโลกร้อน จนส่งผลกระทบรุนแรงไปทั่วโลกในขณะนี้



ไทยได้อะไร ? จากการเป็นเจ้าภาพเอเปคในครั้งนี้

คำถามสำคัญที่คนไทยหลายคนมีต่อการเป็นเจ้าภาพของประเทศไทย คือ เราได้อะไร จากการประชุมในครั้งนี้

สำหรับประเทศไทย การประชุมเอเปค ทำให้เราได้โอกาสหลายอย่าง

ประการที่ 1 เอเปคเป็นโอกาสที่ไทยได้แสดงบทบาทนำในเวทีระหว่างประเทศ เป็นโอกาสที่เราจะได้แสดงให้เห็นจุดเด่นของทิศทางการพัฒนาประเทศของไทย รวมทั้งการแสดง Soft Power ในมิติต่าง ๆ

ประการที่ 2 เป็นโอกาสที่เราจะได้ช่วยกำหนดทิศทางใหม่ ๆ ให้กับเอเปค โดยเฉพาะในเรื่องเศรษฐกิจชีวภาพ – เศรษฐกิจหมุนเวียน – เศรษฐกิจสีเขียว (BCG) และเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) นอกเหนือจากการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด-19

และประการที่ 3 เป็นโอกาสที่เราจะได้ตอกย้ำความสำคัญที่สุดของการรักษาสันติภาพความมั่นคงท่ามกลางความขัดแย้ง และการแข่งขันในการเมืองระหว่างประเทศ

เป็นเรื่องดีในแง่ที่ไทย ได้พยายามจับเรื่องการค้าเสรีเข้ากับประเด็นใหญ่ ๆ ที่มีความสำคัญอย่างการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และปรับแนวทางการพัฒนาโดยเน้นความยั่งยืน (Sustainability) มีความครอบคลุม การพัฒนาไปสู่ดิจิทัล ความมั่นคงด้านอาหารและพลังงาน เป็นต้น

ซึ่งประเด็นต่าง ๆ เหล่านี้เป็นเรื่องสำคัญสำหรับโลก โดยกำหนดให้ BCG เชื่อมโยงสู่การดำเนินธุรกิจตามแนวทาง ESG เป็นเป้าหมายใหม่สืบต่อจากเจตนารมณ์ของเอเปคที่มีมาก่อนหน้านี้ ทั้งยังมีการฟื้นการจัดทำเขตการค้าเสรีในเอเชียแปซิฟิก (FTAAP) ด้วยการวางเป้าหมายที่ควรจะเดินต่อไปในอนาคต



APEC 2022 กระตุ้นเศรษฐกิจไทย ได้จริงหรือ?

หากมองจากที่ผ่านมา เฉพาะการส่งออกระหว่างไทยกับกลุ่ม APEC พบว่ามีมากถึง 72.1% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมด โดยตลาดการส่งออกและนำเข้าสินค้าที่สำคัญ คือ สหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ในด้านการท่องเที่ยว ก่อนวิกฤตโควิด-19 ไทยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจากกลุ่ม APEC สูงถึง 28.1 ล้านคน คิดเป็น 70.4% ของจำนวนนักท่องเที่ยวที่มาไทยทั้งหมด 

ทั้งนี้ การท่องเที่ยวถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมาโดยตลอด ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ คิดเป็น 11.8% ของ GDP ในปี 2562 หรือราว 1.9 ล้านล้านบาท  และนักท่องเที่ยวในกลุ่ม APEC ก็คือกลุ่มใหญ่ คิดเป็น 66.2% ของรายได้ทั้งหมด 

ดังนั้น การประชุมผู้นำ APEC 2022 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ จึงเป็นความหวังที่สำคัญมากในการฟื้นเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 เนื่องจากทั่วโลกได้กลับมาเปิดการเดินทางระหว่างกันอีกครั้ง และการประชุมครั้งนี้ นอกจากการที่ผู้นำเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ มาประชุมแล้ว ยังได้เดินทางไปท่องเที่ยวสัมผัสกับวัฒนธรรมและอาหารของไทยด้วย ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดีโดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ เลย 

อีกประเด็นที่น่าสนใจของไทยที่เป็นผลลัพธ์จากการเข้าร่วม APEC ตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยสามารถส่งออกสินค้าไปยังตลาด APEC สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่ปี 2532 ที่ไทยได้เข้าเป็นสมาชิกผู้ก่อตั้ง APEC กับอีก 11 เขตเศรษฐกิจ สัดส่วนการส่งออกของไทยไปยัง APEC เพิ่มจาก 63.8% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดในปี 2533 เป็น 72.1% ในปี 2564 โดยเป็นมูลค่าการค้าที่เพิ่มขึ้นจาก 14.7 พันล้านดอลลาร์ในปี 2533 เป็น 192.1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2564 หรือมีการเติบโตโดยเฉลี่ย (CAGR) อยู่ที่ประมาณปีละ 9.6%
.
สะท้อนให้เห็นว่า หลังการประชุมครั้งนี้ นอกจากเศรษฐกิจไทยโดยเฉพาะการท่องเที่ยวจะฟื้นกลับมาแล้ว ยังจะนำไปสู่ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในรูปแบบใหม่ ๆ ระหว่างกัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจดิจิทัลที่กำลังเติบโต ภายใต้แนวทางของความสมดุลและความยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งไทยเป็นผู้เสนอ ทำให้เชื่อได้ว่า การเดินทางมาพบปะกันของผู้นำเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่กรุงเทพฯ ในครั้งนี้ จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยที่เพิ่มขึ้นอีกมากในอนาคตอย่างแน่นอน



ตลาดหุ้นยั่งยืนโตขึ้น 72 % มูลค่าตลาดรวม 14 ล้านล้านบาท

การเติบโตของการดำเนินธุรกิจด้วยแนวคิด ESG นอกจากจะเป็นสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสนใจมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะผลการดำเนินงานด้าน ESG มีความเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานทางการเงิน (Financial Performance) ของธุรกิจที่ช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ESG ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยลดความเสี่ยงจากความผันผวนและการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ ผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน ฝุ่นพิษ มลภาวะจากขยะ รวมถึงผลกระทบจากปัญหาสังคม ความเหลื่อมล้ำ ความยากจน และปัญหาสิทธิมนุษยชน

โดยจะเห็นได้จากข้อมูลตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่ระบุว่า ในปี 2565 มีบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment : THSI) 170 บริษัท เพิ่มขึ้นจาก 144  บริษัทในปี 2564  โดยหุ้นยั่งยืนมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาดรวม 14 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็น 72% ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนบริษัทจดทะเบียนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ กลุ่มบริการ 33 บริษัท กลุ่มทรัพยากร 28 บริษัท และกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง 27 บริษัท



ด้าน คุณภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ให้มุมมองว่า สิ่งนี้สะท้อนถึงการให้ความสำคัญกับการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนของบริษัทจดทะเบียน ด้านผู้ลงทุนก็ตื่นตัวและลงทุนโดยใช้ข้อมูลด้าน ESG ประกอบการตัดสินใจลงทุน ควบคู่ไปกับข้อมูลผลประกอบการทางการเงิน

ซึ่งสอดรับกับตัวเลขข้างต้นที่สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทจดทะเบียนไทยมุ่งมั่นกับการพัฒนาองค์กรให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อเนื่อง พร้อมรับมือกับปัจจัยการเปลี่ยนแปลงด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม และให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน (Stakeholders) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอด และความสามารถในการเติบโตอย่างยั่งยืน (Sustainability) ของธุรกิจในระยะยาว

 

ESG กรีนดิสรัปชันตัวใหม่ ใครไม่ปรับตัวให้ทัน อาจถูกทิ้ง

เมื่อพูดถึงความยั่งยืน (Sustainability) หลายธุรกิจเกิดการ Green Disruption เนื่องจากปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้ การพัฒนาของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก้าวกระโดด แต่ในทางกลับกัน กลับส่งผลให้ปัญหาสิ่งแวดล้อมรุนแรงขึ้นทุกวัน จึงเกิดเป็นเทรนด์การรณรงค์ใช้พลังงานทางเลือกรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการส่งเสริมให้ปรับใช้แนวคิด ESG อย่างกว้างขวาง 

ยกตัวอย่างบริษัทที่ปรับตัวโดยใช้ โมเดลเศรษฐกิจ BCG ไปสู่แนวทาง ESG เช่น  บริษัท บี เอส กล๊าสรีไซคลิ่ง จำกัด อุตสาหกรรมที่ผลิตสินค้า Reuse และ Recycle ที่เน้นการใช้ทรัพยากรตลอดกระบวนการผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด 

นอกจากนี้บริษัทได้ขยายความร่วมมือไปยังหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ในการสร้างโมเดลคัดแยกขยะ และสร้างการรับรู้ให้กับบุคลากรในองค์กรต่าง ๆ ตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และรู้คุณค่าของขวดแก้วที่สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (Recycle) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม 

รวมทั้งยังมีการร่วมมือกับแพลตฟอร์มเก็บข้อมูล เพื่อการจัดการขยะที่นำสู่การรีไซเคิลได้อย่างมีประสิทธิภาพอย่าง GEPP Sa-Ard (เก็บ สะอาด) ช่วยให้คนสามารถแยกและขายขยะรีไซเคิลอย่างขวดแก้วหรือเศษแก้วได้อย่างง่ายดาย และยังเชื่อมโยงให้บริษัทเข้าถึงคนที่อยากขายขวดแก้วได้สะดวกยิ่งขึ้น เพียงทักไลน์ หรือติดต่อผ่านแอปพลิเคชัน GEPP ก็จะมีรถไปรับซื้อถึงที่เลยทีเดียว



อีกหนึ่งตัวอย่างการปรับธุรกิจสู่แนวคิด ESG เพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจ คือ บริษัท มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง จำกัด ธุรกิจคลังสินค้าอาหารแช่แข็ง  โดยรับฝากอาหารแช่แข็ง  คืออีกหนึ่งตัวอย่างของบริษัทที่นอกจากจะใช้กลยุทธ์ขับเคลื่อนการตลาดให้สินค้าและบริการเติบโต ผู้บริหารยังมุ่งเน้นเรื่อง Sustainability ที่มีเป้าหมายชัดเจนในการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนควบคู่กับการสร้างคุณค่าต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม



เนื่องด้วยในการประกอบธุรกิจห้องเย็น ต้นทุนหลัก ๆ คือค่าไฟฟ้า ซึ่งมีค่าใช้จ่ายต่อเดือนประมาณ 9 แสน – 1 ล้านบาท หลังจากที่ติดตั้ง Solar Rooftop สิ่งที่ได้คือช่วยประหยัดค่าไฟฟ้าลงประมาณ 30%   และยังได้พลังงานสะอาด เพราะไม่มีการเผาไหม้ จึงไม่มีการปล่อยมลพิษสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งรายละเอียดเหล่านี้ เช็คผ่านแอปพลิเคชันได้ ยกตัวอย่างปีที่ผ่านมา มหาชัยซีฟู๊ด โฮลดิ้ง มีการเก็บข้อมูลการลดจำนวนการปล่อยก๊าซคาร์บอนของเราลดลง 400 คาร์บอนเครดิต



โชว์ศักยภาพธุรกิจการเงินไทยสู่ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค

การประชุมผู้นำ APEC 2022 นอกจากเป็นเวทีความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแล้วยังส่งเสริมการเปิดเสรีการค้าการลงทุน รวมถึงความร่วมมือต่าง ๆ อันจะนำไปสู่การสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ครอบคลุมอย่างยั่งยืน  

 โดย ธนาคารกรุงเทพ ในฐานะ ‘ธนาคารชั้นนำระดับภูมิภาค’ ได้นำเสนอภายใต้แนวคิด ‘Creating Value for a Sustainable Future’ หรือ ‘สรรค์สร้างคุณค่าสู่อนาคตที่ยั่งยืน’ ตามเจตนารมณ์ของธนาคารที่ต้องการเป็น ‘เพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน’ ด้วยการเป็นมากกว่าผู้ให้บริการทางการเงิน ที่ต้องการพาลูกค้าเปิดประตูสู่โอกาสการค้าการลงทุน ผ่านเครือข่ายบริการที่ครอบคลุม เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินในระดับภูมิภาค สร้างการเติบโตที่สมดุล คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกคน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน(Sustainability)



ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับหัวข้อหลักของเอเปค 2565 ที่กำหนดไว้ว่า ‘Open. Connect. Balance’ หรือ ‘เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล’ ธนาคารจึงได้นำเสนอเนื้อหาต่าง ๆ ที่สอดรับกับหัวข้อหลักดังกล่าว ซึ่งประกอบด้วย



Open คือ การเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุน

ด้วยเครือข่ายสาขาในต่างประเทศ มากกว่า 300 แห่ง ครอบคลุม 14 เขตเศรษฐกิจสำคัญของโลกโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียน ที่ธนาคารมีสาขาครอบคลุมถึง 9 ประเทศ จากสมาชิกทั้งหมด 10 ประเทศ จึงมีศักยภาพและความพร้อมที่ช่วยอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและธุรกิจต่าง ๆ ที่สนใจไปสู่ตลาดการลงทุนต่างประเทศ รวมถึงเปิดต้อนรับนักลงทุนจากต่างประเทศที่สนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยและอาเซียนด้วยเช่นกัน



Connect คือ เชื่อมโยงในทุกมิติเพื่อฟื้นฟูการเดินทางระหว่างกันที่สะดวกและปลอดภัย

ธนาคารกรุงเทพ สามารถต่อยอดธุรกิจหลักในด้านบริการทางการเงิน มาสู่การเป็นผู้ให้บริการด้านระบบชำระเงินข้ามประเทศในระดับภูมิภาค โดยได้ร่วมพัฒนา Cross-Border QR Payment บริการชำระเงินระหว่างประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนอีก 5 ประเทศ ประกอบด้วย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เวียดนาม สิงคโปร์ และกัมพูชา ให้สามารถชำระค่าสินค้าและบริการแบบข้ามประเทศด้วยสกุลเงินของประเทศตนเองได้อย่างสะดวก ปลอดภัย ลดความยุ่งยากในการพกพาเงินสด และการแปลงสกุลเงิน



Balance หรือ ส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร

ที่ผ่านมา ธนาคารกรุงเทพนับเป็นสถาบันการเงินที่ให้บริการด้านจัดหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนโครงการด้านสิ่งแวดล้อม (Green Finance) ทั้งในระดับประเทศและภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ผ่านการเป็นผู้นำการจัดจำหน่ายตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability)

การจัดจำหน่ายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน (ESG Debentures) ทั้งการออกหุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม หุ้นกู้เพื่อพัฒนาสังคม และหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืน เป็นมูลค่าประมาณ 37,200 ล้านบาท หรือราว 2 ใน 3 ของมูลค่าการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ดังกล่าวของตลาดทุนไทยรวมที่ 56,700 ล้านบาท 

ตลอดจนการเป็นผู้นำด้านสินเชื่อเพื่อสนับสนุนโครงการพลังงานหมุนเวียนทั้งในประเทศไทย เวียดนาม อินโดนีเซีย ลาว จีน และประเทศอื่น ๆ โดยปัจจุบัน สินเชื่อเพื่อพลังงานหมุนเวียนมีสัดส่วนกำลังการผลิตคิดเป็น 27% ของกำลังการผลิตจากสินเชื่อด้านพลังงานโดยรวม และคาดว่าจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้งหมดนี้สะท้อนเห็นว่า เมื่อเศรษฐกิจโลกเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอย จากผลกระทบที่ยืดเยื้อจากโควิด-19 และความท้าทายใหม่ด้านแรงงาน รวมถึงแรงกดดันให้ธุรกิจเร่งดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (ESG) ปัญหาสภาพภูมิอากาศที่ภาคธุรกิจตระหนักแล้วว่าคือปัจจัยลบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ความท้าทายต่างๆ เหล่านี้หากทำความเข้าใจและปรับมุมมองใหม่ ก็อาจเป็นโอกาสสำหรับภาคธุรกิจที่จะนำพาธุรกิจประสบความสำเร็จได้อย่างยั่งยืน (Sustainability)


ที่มา
https://www.facebook.com/APECThaiPrompt
https://www.bangkokbanksme.com/en/bsglassrecycling-recycled-glass-bottle-business
https://www.bangkokbanksme.com/en/10focus-mahachai-seafood-holding-solar-rooftop
https://www.thaipr.net/finance/3266391
https://www.businesseventsthailand.com/th/press-media/news-press-release/detail/1469-apec-2022-under-the-concept-of-bcg
https://www.set.or.th/th/about/setsource/news-release/article/99-thsi

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

‘โลจิสติกส์สีเขียว’ โอกาสยกระดับ “อุตสาหกรรมขนส่งไทย” สู่ความยั่งยืน

ดูเหมือนสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) จะทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน ทั่วโลกพากันออกมาตรการส่งเสริมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการดำเนินการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภาคการขนส่ง…
pin
1047 | 27/04/2024
Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

Green Hotel (โรงแรมสีเขียว) ปรับตัวอย่างไร? ให้อยู่รอด พร้อมตอบโจทย์การท่องเที่ยวแบบยั่งยืน

ถึงวันหยุดพักผ่อนกันยาว ๆ อีกแล้ว สำหรับช่วงเทศกาลมหาสงกรานต์ หลายคนวางแผนไปท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ ทั้งนี้จากการไปพักโรงแรม หรือรีสอร์ท…
pin
3043 | 14/04/2024
ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ผ่าแนวคิด ‘อุตสาหกรรมยานยนต์-อากาศยานรักษ์โลก’ ปรับตัวสู่เส้นทาง Net Zero ช่วยลดโลกร้อนได้อย่างไร?

ปัจจุบันมีการผลักดัน และพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าในทุกมิติ จึงก้าวหน้าขึ้นทุกวัน ส่งผลให้ยานยนต์ทุกประเภทต่างมุ่งหน้าสู่เส้นทางพลังงานสะอาด รวมไปถึง…
pin
3900 | 30/03/2024
‘APEC 2022’ กับความสำคัญของ ESG หนุนไทยสู่เป้าหมาย BCG เปลี่ยนความท้าทายเป็นโอกาสได้อย่างไร?