สร้างประโยชน์จาก Mega Trend! ไทยเดินหน้าสู่ ‘ศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน’ จับกระแสรถ EV มาแรง ก่อเกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ

SME Go Inter
15/07/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2042 คน
สร้างประโยชน์จาก Mega Trend! ไทยเดินหน้าสู่ ‘ศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน’ จับกระแสรถ EV มาแรง ก่อเกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ
banner
อีกหนึ่ง Mega Trend แห่งอนาคตที่กำลังมาแรง ล้อไปกับสถานการณ์ราคาน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงนี้ก็คือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ซึ่งมีกระแสผู้คนหันมาให้ความสนใจมากขึ้น รวมถึงค่ายรถแบรนด์ดังต่างเปิดตัวรถ EV รุ่นใหม่กันอย่างคึกคัก เพื่อเป็นทางเลือกและทางออกในยุคน้ำมันแพงที่จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายได้

สำหรับประเทศไทย ภาครัฐได้มุ่งส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า สร้างไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน จูงใจผู้ประกอบการด้วยมาตรการลดภาษี ส่งเสริมการลงทุนสถานีอัดประจุไฟฟ้า (ปั๊มชาร์จ) เพื่อหนุนการลงทุนรถยนต์ไฟฟ้าในไทยเพิ่มมากขึ้น โดยแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 ได้มุ่งเน้นการเปลี่ยนผ่านที่จะเกิดขึ้นในระยะ 5 ปี

โดยหนึ่งในหมุดหมายคือการผลักดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าให้เป็นอุตสาหกรรมใหม่อย่างเต็มที่ พร้อมกับที่มีการผลิตชิ้นส่วนหลักและปรับเปลี่ยนฐานการผลิตยานยนต์สันดาปภายในให้เป็นรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้าได้ด้วย โดยจะไม่ทิ้งตลาดส่งออกที่มีศักยภาพจากอุตสาหกรรมยานยนต์เดิม เพื่อรักษาสมดุลในการเปลี่ยนผ่าน รวมทั้งยกระดับผู้ประกอบการชื้นส่วนในอุตสาหกรรมเดิมในระดับ (Tier) ต่างๆ ให้สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นผู้ผลิตในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้



ประเทศไทยกับการเป็น ‘ศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน’

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแห่งประเทศไทย (BOI) ได้ประกาศอนุมัติการลงทุนของกิจการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี ของบริษัท ฮอริษอน พลัส จำกัด (Horizon Plus) มูลค่า 36,100 ล้านบาท โดยเป็นการต่อตั้งร่วมกันของบริษัท อรุณ พลัส จำกัด (ARUN PLUS) บริษัทในเครือ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) และบริษัท หลินยิ่ง อินเตอร์เนชั่นแนล อินเวสเมนท์ จำกัด (Lin Yin International Investment) บริษัทในเครือฟ็อกซ์คอนน์ เทคโนโลยี กรุ๊ป (Foxconn Technology Group) ถือเป็นความคืบหน้าในการดำเนินกลยุทธ์การใช้ประเทศไทย เป็นฐานสำคัญในธุรกิจรถยนต์ EV ตามแผนแม่บทในการสร้างเครือข่ายรถยนต์ EV ทั่วโลกของ Foxconn ด้วย

โดย BOI  มองว่าการลงทุนโครงการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรีของ ปตท. และ Foxconn จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการเป็นฐานผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทย ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่ง ปตท. และ Foxconn ได้ร่วมกันก่อตั้ง Horizon Plus ขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา โดยจะก่อตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ของไทย และจะมีการนำเอา Open Platform ของ Foxconn คือ MIH (Mobility In Harmony Open EV Platform) ที่เป็นแพลตฟอร์มสำหรับการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญ โดยมีบริการทั้งในด้าน Hardware และ Software เพื่อส่งเสริมให้ผู้ผลิต รถยนต์สามารถพัฒนาไปสู่การผลิตยานยนต์ไฟฟ้าได้โดยง่าย ทำให้บริษัทมีเป้าหมายที่จะเป็นผู้ผลิตรถยนต์ EV ทั้งในแบบ ODM และ OEM ให้กับผู้ประกอบการหลายๆ แบรนด์ด้วย



นอกจากนี้ Horizon Plus แสดงความพร้อมที่จะสร้างความร่วมมือกับทุกบริษัทยานยนต์ที่สนใจจะร่วมมือในการพัฒนารถยนต์ EV ไปด้วยกัน โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์นั่งส่วนบุคคลและรถบัส เพื่อร่วมสร้างทางเลือกใหม่แห่งอนาคตในตลาดรถยนต์ EV ต่อไป โดยนอกจากการสร้างโรงงานผลิตรถยนต์ EV ขึ้นในประเทศไทยแล้ว บริษัทยังมีแผนจะจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาขึ้นด้วย เพื่อเสริมสร้างการพัฒนาทางเทคโนโลยีและยกระดับศักยภาพของบุคลากรไปพร้อมกัน อันจะส่งผลให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ของอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ในประเทศไทยต่อไป



เปิดเหตุผล ทำไม? ไทยจึงควรเป็นผู้นำผลิตรถ EV

เหตุผลก็เพราะเนื่องจากปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้ามีการเติบโตแบบก้าวกระโดด แม้ราคารถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) ในปัจจุบันจะยังสูงกว่ารถยนต์ใช้น้ำมัน (เครื่องยนต์สันดาป) แต่แนวโน้มของความนิยมในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาจากหลายปัจจัย ดังนี้

1. การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษ
ไม่ว่าจะเป็นการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 หรือความพยายามในการลดการปล่อยมลภาวะ ซึ่งรถยนต์ไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าและมีการปล่อยมลภาวะน้อยกว่ารถยนต์เครื่องยนต์สันดาป

2. การสร้างอุตสาหกรรมใหม่ (New S-Curve)
โดยโครงสร้างพื้นฐานของรถยนต์ไฟฟ้ายังเหมาะสมกับการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเซนเซอร์ต่างๆ โดยเฉพาะระบบช่วยขับขี่ (Advanced Driver Assistance System : ADAS) ที่ช่วยลดการเกิดอุบัติเหตุ และปูทางไปสู่ยานยนต์ขับขี่อัตโนมัติ (Autonomous Vehicle) ในอนาคต 

3. เหตุผลด้านเศรษฐกิจและที่มาของแหล่งพลังงาน
ปัจจุบันยุโรปสามารถผลิตไฟฟ้าได้จากพลังงานทดแทนมากกว่าไฟฟ้าที่มาจากพลังงานฟอสซิลแล้ว ดังนั้นการสนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้าและลดการใช้รถยนต์สันดาปภายใน เพื่อช่วยลดการใช้น้ำมันซึ่งจำเป็นต้องนำเข้าจากนอกภูมิภาค จึงเป็นทางเลือกเชิงยุทธศาสตร์ที่ดีกว่า

4. เหตุผลทางด้านความคุ้มค่าในการใช้งาน
แม้การลงทุนในรถยนต์ไฟฟ้าจะมีค่าใช้จ่ายเริ่มต้นในราคาสูงกว่า แต่มีค่าใช้จ่ายด้านเชื้อเพลิงและค่าบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า ทำให้การใช้งานในภาคอุตสาหกรรม ไม่ว่าจะเป็นรถประจำทาง รถบัส รถขนส่งสินค้า แท็กซี่ และบริการรถเช่าระยะสั้นที่มีการใช้งานสูง มีแนวโน้มได้ประโยชน์หรือคืนทุนจากการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้เร็วกว่า นอกจากนี้ ในปัจจุบันรถยนต์ไฟฟ้าได้มีหลายโมเดลออกมาให้เลือกซื้อเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนด้านแบตเตอรี่ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง



EV สร้างโอกาสการลงทุนให้กับภาคธุรกิจ

กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยอยู่ในภาวะที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เนื่องจากส่วนใหญ่มีความเกี่ยวพันกับชิ้นส่วนของรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีสันดาปภายใน ซึ่งมีแนวโน้มได้รับผลกระทบจากความนิยมในรถยนต์ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันในกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนที่ไม่มีผลกระทบจากเทคโนโลยีเชื้อเพลิง อาทิ หลอดไฟ โคมไฟ เบาะรถยนต์ และระบบปรับอากาศ เป็นต้น

แม้ในทางเทคนิคจะไม่มีความเสี่ยงจากเทคโนโลยี แต่แนวโน้มการแข่งขันของรถยนต์ไฟฟ้านำเข้าทั้งคันจากประเทศจีน ทำให้มีความเสี่ยงเชิงยุทธศาสตร์ระยะกลางจากการเคลื่อนย้ายของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องจากไทยไปยังต่างประเทศได้

สำหรับกลุ่มที่มีแนวโน้มได้รับประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ส่วนใหญ่เป็นผู้เล่นที่อยู่นอกอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เช่น แผ่นวงจรพิมพ์ เซมิคอนดัคเตอร์ ระบบประจุไฟฟ้า มอเตอร์ ระบบควบคุมกำลัง เซนเซอร์เกี่ยวกับระบบขับขี่ อาทิ ระบบกล้อง ระบบประมวลผลช่วยขับขี่ ระบบเบรกอัตโนมัติ เป็นต้น ส่วนอุตสาหกรรมพลังงาน ที่ลงทุนในธุรกิจผลิตแบตเตอรี สถานีประจุไฟฟ้า และอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ เนื่องจากมีต้นทุนที่ลดลงจากการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงธุรกิจอื่นๆ ที่ได้รับอานิสงส์ อาทิ ผู้ให้บริการคลาวด์ นอกจากนี้ อาจส่งผลบวกระยะสั้นต่อผู้ผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ เช่น รถบรรทุก รถบัส รถแท็กซี่ ที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เป็นต้น



โจทย์ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ยุค EV ก็คือต้องประสานความร่วมมือ ‘ภาครัฐ’ และ ‘ภาคเอกชน’ ร่วมกันปลดล็อกข้อจำกัด รวมถึงพัฒนาในด้านต่างๆ เพื่อให้ตลาดรถยนต์ EV พัฒนาไปสู่ Mass Market การตั้งเป้าเป็น ‘ศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน’ ก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม


แหล่งอ้างอิง : สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ กรุงมะนิลา, ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
https://www.bangkokbiznews.com/business/968959 
https://www.pttplc.com/th/Media/News/Content-25631.aspx 
https://www.nissan.co.th/news/Thailand-leads-ASEAN-in-electrified-vehicle-interest.html 
https://asia.nikkei.com/Business/Automobiles/Southeast-Asia-on-cusp-of-EV-revolution-as-local-production-begins 
https://www.nesdc.go.th/download/document/Yearend/2021/plan13.pdf

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

ตลาดอาหารวีแกน เทรนด์โลก โตแรง! โอกาสทองของผู้ส่งออกไทย ที่ต้องรีบคว้า

เทรนด์การรับประทานอาหารแบบเนื้อไร้เนื้อ ยังคงเป็นแนวโน้มการบริโภคที่ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา  จากกระแสการหันมาดูแลสุขภาพ…
pin
6322 | 17/01/2023
ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ไทย หนึ่งในเป้าหมาย! จีนเล็งลงทุนเศรษฐกิจดิจิทัลอาเซียน ผู้ประกอบการ SME ปรับตัวไวได้ประโยชน์มหาศาล

ขณะนี้ โลกของเราได้เข้าสู่ยุคระบบเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy : DE) ซึ่งหลอมรวมเทคโนโลยีดิจิทัลให้เข้ากับวิถีชีวิตของผู้คน ส่งผลให้เศรษฐกิจดิจิทัลได้กลายเป็นอีกหนึ่งพลังสำคัญในการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย…
pin
2032 | 21/12/2022
โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

โอกาสมาแล้ว! ดีมานด์มันสำปะหลังจีนโตแรง เกษตรกรไทยลุยรุกส่งออกแดนมังกร ชิงส่วนแบ่งตลาดก้อนยักษ์

อีกหนึ่งโอกาสเกษตรกรไทย! คาดการณ์ความต้องการมันสำปะหลังช่วง 6 เดือนหลังของปี 2565 ปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดทั้งปีไทยส่งออกกว่า 11 ล้านตัน…
pin
5063 | 23/10/2022
สร้างประโยชน์จาก Mega Trend! ไทยเดินหน้าสู่ ‘ศูนย์กลางรถยนต์ไฟฟ้าอาเซียน’ จับกระแสรถ EV มาแรง ก่อเกิดโอกาสสำหรับผู้ประกอบการ