Tea Specialist! ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ รักษารากฐาน & ครีเอทต่อยอดรสชาติ ตอบโจทย์ความปรารถนานักดื่มชา Gen ใหม่

SME in Focus
23/09/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 1670 คน
Tea Specialist! ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ รักษารากฐาน & ครีเอทต่อยอดรสชาติ ตอบโจทย์ความปรารถนานักดื่มชา Gen ใหม่
banner
จะชงแบบร้อนหรือดื่มแบบเย็น ‘ชา’ ก็คับแน่นไปด้วยประโยชน์และคุณภาพ ได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งจากประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป รวมถึงไทย Bangkok Bank SME ชวนศึกษาแนวทางการบริหาร - แนวคิดการทำธุรกิจของบริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด เจ้าของไร่ชาชื่อดังในจังหวัดเชียงราย ที่มาพร้อมกับคอนเซปต์ Thailand Premium Organic Tea สร้างความแตกต่างอย่างสร้างสรรค์ให้กับโปรดักส์อย่างไร จนประสบความสำเร็จสามารถคว้าใจผู้บริโภค Gen ใหม่ ๆ รวมถึงชาวต่างชาติได้ ก่อเกิดไอเดียสำหรับผู้ประกอบการและ SME ในการนำไปพัฒนาสินค้าตนเอง



นำ Know How ที่บรรพบุรุษให้มา สร้างธุรกิจไร่ชาที่จังหวัดเชียงราย

คุณจารุวรรณ์ ณติณณ์วิรุฬห์ Managing Director บริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด กล่าวว่า บริษัทเป็นธุรกิจครอบครัว (Family Business) โดยคุณพ่อได้นำ Know How จากอากงซึ่งเคยอาศัยอยู่ในเมืองคุนหมิง ที่เป็นแหล่งปลูกชาสำคัญของประเทศจีน มาเริ่มทำธุรกิจปลูกชาที่จังหวัดเชียงราย จากนั้นจึงค่อย ๆ ขยายกิจการ รวมถึงแปลงปลูกชามาจนถึงปัจจุบัน

“แปลงปลูกชาของเราเริ่มจากสเกลเล็ก ๆ แล้วจึงค่อย ๆ ขยายในพื้นที่นั้น ๆ อย่างเช่นสำนักงานใหญ่ที่อำเภอแม่ลาว จังหวัดเชียงราย เริ่มจากปลูกชาบนพื้นที่ 5 ไร่ ก่อนขยายเป็น 270 ไร่ในปัจจุบัน ขณะที่พื้นที่ปลูกชาของบริษัททั้งหมดมี 1,400 ไร่จากทั้งหมด 5 แปลง นอกจากนี้บริษัทยังมีลูกไร่อีกด้วย ซึ่งไร่ชาทั้งหมดของบริษัทมีคอนเซปต์ก็คือ Thailand Premium Organic Tea ได้รับการรับรองเป็นมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ทั้งของไทย สหรัฐอเมริกา และยุโรป โดยเป็นไร่ออร์แกนิก 100% ตั้งแต่ปี 2537 มีกระบวนการผลิตซึ่งใช้วิทยาศาสตร์เข้ามาช่วย มีฝ่าย R&D, QC, QA เข้ามาช่วยดูแลในแต่ละกระบวนการ ตอบโจทย์ด้านความปลอดภัย รสชาติถูกปาก รับประทานอย่างไร้กังวล และสามารถตรวจสอบย้อนกลับ (Traceability) ได้” 


คุณจารุวรรณ์ ณติณณ์วิรุฬห์ Managing Director บริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด

‘ชา’ ไม่ได้ปลูกแค่เฉพาะบนดอย

คุณจารุวรรณ์ อธิบายว่า สำหรับไร่ชาซึ่งสำนักงานใหญ่ที่อำเภอแม่ลาว ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกที่ราบสูงแห่งแรกในจังหวัดเชียงราย อยู่ห่างจากตัวอำเภอเมืองเพียง 25 กิโลเมตร กลายเป็นความแปลกใหม่จุดกำเนิดทำให้ผู้บริโภครู้จักบริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด เพราะผู้คนหากนึกถึงแหล่งปลูกชาก็มักจะนึกถึงการปลูกบนดอย แต่ด้วยความที่คุณพ่อคิดต่าง ประกอบกับได้ความรู้จากลูกค้าไต้หวัน ว่าพื้นที่นี้สูงกว่า 400 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไม่ใช่ที่ราบแต่เป็นที่ราบสูงสามารถปลูกชาได้ ดังนั้นคุณพ่อจึงเปลี่ยนสวนมะม่วง 5 ไร่ของครอบครัวให้กลายเป็นไร่ชา



ซึ่งข้อดีของพื้นที่ราบสูงก็คือ เนื่องจากชาเป็นพืชสีเขียว ต้องการสังเคราะห์แสง ที่ราบสูงช่วยให้ชาได้รับแสงทั้งวัน หากอยู่บนดอยอาจจะได้รับแสงเป็นบางช่วงเวลา ซึ่งที่ไต้หวันและเวียดนามมีการปลูกชาที่ราบสูง บริษัทจึงทดลองปลูกดูบ้าง ปรากฏว่าปลูกชาพื้นที่ราบสูง 5 ไร่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จึงขยายเป็น 270 ไร่ในปัจจุบัน มีการตั้งโรงงานผลิตชาที่นี่ด้วย เนื่องจากสะดวกในการจัดการต่าง ๆ รวมถึงด้านโลจิสติกส์



ชาประเภทไหน คนไทยนิยม

Managing Director บริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด ให้ความรู้ว่า ชาในเมืองไทยหลัก ๆ จะมีอยู่ 2 สายพันธุ์ก็คือ 1. ชาอัสสัม 2. ชาอู่หลง โดยชาทั้ง 2 ชนิดจะมีสายพันธุ์แยกย่อยไปอีก เช่น อู่หลงเบอร์ 12, อู่หลงเบอร์ 17, อู่หลง 4 ฤดู, อู่หลงทิกวนอิม เป็นต้น ซึ่งที่ไร่จะปลูกชาอู่หลงทั้งหมด 5 - 6 สายพันธุ์ ส่วนชาอัสสัมจะปลูก 2 สายพันธุ์

โดยชาที่ปลูกเกือบ 10 สายพันธุ์ จะมีการนำไปผ่านกระบวนการโดยแบ่งเป็น 3 กระบวนการคือ 

1. กระบวนการไม่หมัก ได้ชามาแล้วนำไปผ่านกระบวนการให้เร็วที่สุด ให้สีออกมาใส เขียวที่สุดไม่หมัก คือชาเขียว 

2. กระบวนการกึ่งหมัก หรือนำมาหมักแค่ครึ่งเดียว แต่กระบวนการหมักเต็มสมบูรณ์คือ 24 ชั่วโมง แต่ถ้ากึ่งหมักจะอยู่ในช่วงไม่เกิน 12 ชั่วโมง หรือเรียกว่ากระบวนการอู่หลง 

3. กระบวนการหมัก 100% ซึ่งก็คือชาดำหรือชาแดงในภาษาจีน 

“เรานำชาอะไรก็ได้มาผ่านกระบวนการ แล้วจะเรียกชื่อชาตามกระบวนการ เช่น ชาเขียวอู่หลง ชาเขียวอัสสัม โดยอดีตชาอู่หลงมักจะไม่ผ่านกระบวนการหมัก 100% ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นชาอัสสัม ก็คือชาดำ ชาต้มใส่นม ชาอินเดีย ชาศรีลังกา ชาอินโดนีเซีย” 



ทำ Marketing อย่างไร? ให้ผู้บริโภครู้จัก ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’

ในอดีตจะเป็นการทำ Marketing โดยการออกบูธเป็นหลัก ทั้งงาน OTOP รวมถึงออกงานที่หน่วยงานภาครัฐจัด เช่น กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งคุณจารุวรรณ์เล่าว่า สมัยก่อนขายดีมาก ตนเองหลังจากจบคลาสเรียนที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ในวันศุกร์ จะเดินทางไปช่วยพ่อแม่ขายของด้วย แต่ด้วยยุคสมัยที่เปลี่ยนไปนักดื่มชารุ่นเก่าก็ค่อย ๆ ลดน้อยลง ดังนั้นหลังจากที่ตนได้เข้ามาช่วยคุณพ่อบริหารธุรกิจเต็มตัว จึงเกิดแนวคิดผลิตสินค้าใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาด เอาใจสาย Tea Lover ซึ่งกลายเป็นผู้คนยุคใหม่ Gen ต่าง ๆ ซึ่งมีพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป



ศึกษาตลาด สู่การครีเอท New Product

จากการศึกษาตลาดชาในเมืองไทย พบว่าชานำเข้าจะมีการปรุงแต่งกลิ่นด้วยรสชาติต่าง ๆ เช่น สตรอว์เบอร์รี กีวี่ แอปเปิล มิกซ์เบอร์รี สร้างไอเดียให้กับ คุณจารุวรรณ์ ในการนำชามาผสมกับสมุนไพรไทย โดยพยายามคง Essential Oil ของสมุนไพรแต่ละชนิดให้ได้มากที่สุด แล้วนำมาผสมกับชาของบริษัท ก่อเกิดเป็น ‘ชาไทย’ ในความหมายของ ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ 

โดยเริ่มต้นจาก ‘ตะไคร้’ เนื่องจากนึกถึงเมนูอาหารที่คนต่างชาติรู้จักประเทศไทยก็คือต้มยำกุ้ง แล้วในส่วนประกอบบริษัทจะดึงอะไรมาใช้ได้ หลังจากนำมาทดลองผลิตโดยเป็นสูตรชาทำเอง ขายในสิ่งที่เราดื่ม ก่อนใช้เวลากว่า 6 เดือน ปรับสูตรการผลิตให้นิ่ง และเนื่องด้วยตะไคร้ที่ซื้อมาแต่ละรอบจะให้รสชาติไม่เหมือนกัน ดังนั้นบริษัทจึงต้องเจาะจงสายพันธุ์ตะไคร้เพื่อให้รสชาติมีความเสถียร

และด้วยความที่กลุ่มเป้าหมายเป็น Gen รุ่นใหม่ อายุน้อยลง จากการจำหน่ายเป็นกิโลกรัมก็มีการครีเอทออกแบบแพ็กเกจจิ้งใหม่ โดยทำเป็นกระป๋องขนาดพอเหมาะ ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีจากทั้งชาวต่างชาติและคนไทย

ดังนั้นบริษัทจึงมีการผลิตสินค้าต่าง ๆ ออกมาหลากหลายเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค นอกเหนือจากตะไคร้ เช่น ขิง กระเจี๊ยบ มินต์ ใบเตย มะตูม มะรุม ใบหม่อน ส่งผลให้ยอดจำหน่ายในปีแรกที่เริ่มผลิตอยู่ที่เกือบ 200,000 กระป๋อง ก่อนกลายเป็นโปรเจ็คต์ที่ประสบความสำเร็จมาจนถึงปัจจุบัน สร้างตัวตน - ภาพลักษณ์ความเป็น ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ ให้ทั้งชาวต่างชาติและคนไทยได้รู้จัก

“เราพยายาม Transformation องค์กรสู่การผลิตสินค้าใหม่ ๆ ด้วยการใช้สมุนไพรเป็นวัตถุดิบ เราได้นำศาสตร์ความรู้ของชามาทำชาผสมสมุนไพร ดังนั้นจึงไม่ใช่แค่การหั่น ๆ แล้วตากแห้ง แต่ต้องมีการนวด การคั่ว การหมักเกิดขึ้นในสมุนไพรด้วย ซึ่งกระบวนการก็แล้วแต่ชนิดของสมุนไพรนั้น ๆ เหมาะกับกระบวนการใด”



เรื่องราวจากธรรมชาติของพืชสู่สตอรี่แบบสุวิรุฬห์ คืออีกหนึ่ง Key Success ปั้นสินค้า ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ ติดตลาด 

Managing Director บริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด เผยว่า สินค้าทุกประเภทของบริษัทจะมีการสร้างสตอรีเป็นซีรีส์ให้กับตัวโปรดักส์นั้น ๆ ซึ่งซีรีส์ดั้งเดิมเราจะเรียกว่า Original Series ที่คุณพ่อกับคุณแม่เคยทำไว้เราก็ยังเก็บคาแรกเตอร์นั้นไว้ แต่พอรุ่นเรามีการนำชามาผสมกับสมุนไพร แล้วครีเอทออกมาให้อยู่ในแพ็กเกจจิ้งกระป๋องอะลูมิเนียม เราจึงตั้งชื่อว่า ‘ทินนี่ซีรีส์’

จากนั้นตนเองเริ่มคิดว่าการทำชาเป็นซีรีส์นั้น มีเรื่องราวให้นำไปถ่ายทอดได้ จึงมีการนำมาทำอีกหลายซีรีส์เช่น อาโอกิ, เดอะ การ์เด้น ซีรีส์ ซึ่งแต่ละซีรีส์จะมีคอนเซปต์ของตัวเอง เช่น ดื่มแล้วช่วยในการนอนหลับ แล้วนำไปจำหน่ายในตลาดที่ต่างกัน ซึ่งการใส่สตอรีเป็นซีรีส์ให้กับตัวสินค้า ช่วยในเรื่องการประชาสัมพันธ์ ทำให้จำหน่ายง่ายขึ้นด้วย

กลุ่มเป้าหมายในปัจจุบันเป็นตลาด ‘ธรรมชาติ’ มากขึ้น ฟังชันนอลมากขึ้น โดยบริษัทพยายามตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้บริโภค ชาไม่ได้มีรสขมเพียงอย่างเดียว สามารถมีรสชาติอื่น ๆ ได้ด้วย ปัจจุบันโปรดักส์ของบริษัทมีทั้ง ชารสเปรี้ยว ชารสหวาน ชารสซ่า สร้างความหลากหลายมากขึ้นให้ผู้คนได้ลิ้มลอง 



การตลาดออนไลน์ ช่องทางคว้าใจผู้บริโภคยุคปัจจุบัน

ในอดีตบริษัทจะเน้นในเรื่องโปรดักชัน และ Marketing เพื่อทำให้เกิดการบอกต่อ แต่สิ่งสำคัญเช่นเดียวกับการบอกต่อคือการซื้อซ้ำ เมื่อสินค้าคุณภาพดีลูกค้าก็จะซื้อซ้ำเรื่อย ๆ แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้ ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ ต้องมีช่องทางจำหน่ายเพิ่มเติม เช่นการสร้างเว็บไซต์เพื่อตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่เคยไปเดินในงานที่บริษัทออกบูธ แล้วอยากได้สินค้าแต่หาซื้อไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการหาทางแก้ปัญหาเนื่องจากหน้าร้าน รวมถึงรีเทลซึ่งเป็นพาร์ทเนอร์ของเราได้รับผลกระทบ ซึ่งส่งผลกระทบกับบริษัทตามไปด้วย

จึงเป็นโจทย์ว่า จะทำอย่างไรให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้า และทำให้คนไทยหันมาดื่มชาเพิ่มมากขึ้น จะพึ่งต่างชาติอย่างเดียวไม่ได้แล้ว บริษัทจึงนำสินค้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น ช้อปปี้ ลาซาด้า รวมทั้งทำแฟนเพจเฟซบุ๊ก เริ่มทำ Marketing ทางด้านนี้มากขึ้น เพื่อการตอบโจทย์พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป



ปัจจุบันยอดจำหน่ายช่องทางออนไลน์จาก 2 - 5% ขยับเป็น 20 - 30% โดยบริษัททำการตลาดออนไลน์ทั้งในและต่างประเทศ จึงทำให้มีแพลตฟอร์มในต่างประเทศด้วย เช่น Amazon ลูกค้ามาเมืองไทยไม่ได้ก็จะสั่งในออนไลน์แทน อย่างในประเทศญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกาก็โตขึ้น เนื่องจากไว้วางใจในคุณภาพใบและยอดชาที่ดีของบริษัท มาจากสมุนไพรที่เป็นสมุนไพรจริง ๆ ดื่มเสร็จนำมาแกะดูลูกค้าก็จะเห็นทุกอย่างที่เป็นเรียลลิตี้ ทำให้รู้ว่าดื่มอะไรเข้าไปในร่างกายได้ประโยชน์อะไรบ้างซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับผู้บริโภคยุคนี้

สำหรับการทำคอนเทนต์ พยายามบอกเล่าถ่ายทอดความเป็นตัวเราให้มากที่สุด นอกจากนี้จะมีแอดมินคอยตอบคำถามต่าง ๆ ที่ต้องตอบเร็วและให้คำตอบที่ถูกต้อง หากไม่ทราบต้องแจ้งลูกค้าว่าเดี๋ยวจะไปหาคำตอบมาให้ เนื่องจากบริษัทไม่ได้ต้องการที่จะจำหน่ายสินค้าเพียงอย่างเดียว แต่อยากจะมอบความรู้ที่ถูกต้องให้กับลูกค้าด้วย ขณะเดียวกันเราก็พร้อมที่จะรับคำแนะนำที่ลูกค้าให้มา เนื่องจากไร่ของบริษัทเป็นแหล่งศึกษาดูงานไม่ได้เป็นแหล่งท่องเที่ยว ดังนั้นจึงมีการให้ความรู้ เช่น เกษตรอินทรีย์ การจัดการพืชไร่ในแปลงปลูกและในโรงงาน สิ่งเหล่านี้ถือเป็นจุดแข็งของบริษัท แล้วเราก็ส่งความรู้ให้พนักงานไปถ่ายทอดต่อ สร้าง Community แหล่งความรู้ในเรื่องชา แลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกัน 



ก้าวต่อไปของ ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’

ท้ายบทสัมภาษณ์ คุณจารุวรรณ์ ได้บอกเล่าถึงทิศทางในอนาคตของบริษัทว่า กำลังจะมีชาอีกหลายซีรีส์ที่จะผลิตออกสู่ตลาดเพิ่มเติม ขยายโปรดักส์ การทำชาเป็นถุง รวมถึงการทำหน้าร้านกลายเป็นคาเฟ่ชาที่ชื่อว่า ‘สุวิรุฬห์ทีเฟ่’ ซึ่งเป็นคาเฟ่ที่มีแต่ชา ภายในร้านจะมีเครื่องดื่มที่เป็นชาคุณภาพมาลงแก้ว ชงสดแก้วต่อแก้ว 

โดยบริษัทจะใช้ความหวานให้น้อยที่สุด พยายามให้ความหวานเกิดขึ้นจากตัวชาและการผสมผสานระหว่างชากับสมุนไพรเอง นอกจากนี้ก็จะมีเบเกอรีภายในร้านด้วย เช่น เค้กไม่ใส่สี ไม่แต่งกลิ่น รวมทั้งนำสมุนไพร เช่น ดอกคาโมมายล์ มาเป็นวัตถุดิบในการผลิต ใช้น้ำผึ้งเป็นส่วนผสม และไข่ที่ใช้ก็เป็นไข่ที่เลี้ยงในฟาร์มเอง นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำธุรกิจขึ้นมาในอนาคต เป็นความแปลกใหม่ที่อยากให้ผู้บริโภคได้ลอง 

นอกจากนี้บริษัทมีร้านอีก 1 แบรนด์ที่ชื่อว่า So Tea โดยจะจำหน่ายสินค้าที่ให้ความหวานมันแบบออริจินัลดั้งเดิมที่เคยทำ เช่น ชานมไข่มุก ซึ่งลูกค้าอาจจะยังแบบเดิมอยู่ ซึ่งทั้ง 2 ร้านอยู่ในจังหวัดเชียงราย และยังมีหน้าร้านที่อยู่สำนักงานใหญ่ของบริษัทอีก 1 ร้าน 

รู้จัก ‘บริษัท สุวิรุฬห์ ชาไทย จำกัด’ เพิ่มเติมได้ที่
https://www.facebook.com/Suwirunteashop/ 
https://suwirunteashop.com/

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

Transition สู่ Operation Excellence ความมุ่งมั่นพัฒนาระบบการทำงาน สู่ความเป็นเลิศในธุรกิจแป้งทำอาหาร ‘แบรนด์ปลาแฟนซีคาร์ฟ’

การทำโลกธุรกิจสำหรับ SME ยุคดิจิทัล ต้องมี ‘นวัตกรรม’ เข้ามาเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจเติบโต และอยู่รอดท่ามกลางการแข่งขัน เพิ่มขีดความสามารถด้านการพัฒนาสินค้า…
pin
84 | 22/04/2024
จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
595 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
532 | 10/04/2024
Tea Specialist! ‘สุวิรุฬห์ ชาไทย’ รักษารากฐาน & ครีเอทต่อยอดรสชาติ ตอบโจทย์ความปรารถนานักดื่มชา Gen ใหม่