‘บูรพา พรอสเพอร์’ ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวสำเร็จรูป แบรนด์ ‘หมีคู่ดาว’ ชูกลยุทธ์องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน

SME in Focus
25/07/2022
รับชมแล้วทั้งหมด 2523 คน
‘บูรพา พรอสเพอร์’ ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวสำเร็จรูป แบรนด์ ‘หมีคู่ดาว’ ชูกลยุทธ์องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน
banner
‘บูรพา พรอสเพอร์’ ดำเนินธุรกิจผลิตและจัดจำหน่ายแป้งข้าวโม่น้ำสำเร็จรูป ภายใต้ตราสินค้า ‘หมีคู่ดาว’ สร้างธุรกิจจากแป้งข้าว ส่งต่อจากรุ่นพ่อสู่รุ่นลูก ด้วยวิสัยทัศน์ที่อยากเป็นนักอุตสาหกรรม จนนำมาสู่การก่อตั้งโรงงานเป็นของตัวเอง พร้อมทั้งขยายสินค้าไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศได้

จุดเริ่มต้นสู่ผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวสำเร็จรูป

คุณสถาพร ไพศาลบูรพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูรพา พรอสเพอร์ จำกัด เล่าว่า บริษัทเกิดขึ้นจากธุรกิจครอบครัว (Family Business) เมื่อปี 2521 ซึ่งมีผู้เริ่มก่อตั้งคือ ‘คุณพ่อพรชัย-คุณแม่ขนิษฐา ไพศาลบูรพา’ โดยมีวิสัยทัศน์ในการนำเอาสินค้านวัตกรรมในสมัยนั้นอย่าง ‘แป้งข้าวโม่น้ำสำเร็จรูป’ มาดำเนินการพัฒนาและปรับปรุง พร้อมใส่ถุงบรรจุภัณฑ์ที่สามารถฉีกแล้วใช้งานได้ทันที ทำให้มีความง่ายสำหรับการนำไปทำอาหาร

 

ทั้งนี้ เพราะในยุคนั้นแป้งสำเร็จรูป อย่างแป้งข้าวเจ้าและข้าวเหนียว ยังเป็นผลิตภัณฑ์นวัตกรรม เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่ยังต้องโม่แป้งใช้เอง ซึ่งกว่าจะได้แป้งมาทำขนม หรืออาหารแต่ละครั้ง ต้องนำข้าวมาแช่ แล้วโม่ด้วยโม่หิน ก่อนจะนำถุงแป้งไปวางทับด้วยครกหินที่หนัก เพื่อให้น้ำไหลออก เหลือแต่เพียงเนื้อแป้ง ซึ่งเป็นกระบวนการที่ยุ่งยาก เมื่อมีสินค้าในรูปแบบนี้จึงได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้า

ต่อมาเมื่อสินค้าได้รับการตอบรับที่ดีจากกลุ่มลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับ คุณพ่อพรชัย ที่มีความตั้งใจอยากจะเป็นนักอุตสาหกรรม ทั้งยังมีวิสัยทัศน์ที่มองเห็นโอกาสทางธุรกิจ จึงได้เริ่มขยายกำลังการผลิตและสร้างโรงงานเป็นของตัวเอง รวมถึงมีเป้าหมายในการขยายสินค้าไปยังตลาดทั้งในและต่างประเทศ โดยมีโรงงานที่เป็นฐานการผลิตที่ทันสมัยในโซนภาคตะวันออก จวบจนปัจจุบันธุรกิจเติบโตมาสู่ปีที่ 44 อย่างมั่นคง พร้อมกับมีสินค้าเรือธงอย่างแป้งข้าวสำเร็จรูปคุณภาพสูงที่ได้รับการยอมรับจากลูกค้ามายาวนาน


สถาพร ไพศาลบูรพา กรรมการผู้จัดการ บริษัท บูรพา พรอสเพอร์ จำกัด

‘ธุรกิจครอบครัว’ กับช่วงเปลี่ยนผ่านและสร้างการเติบโต

เรื่องนี้ คุณสถาพร เล่าว่า ธุรกิจครอบครัว (Family Business) ของ ‘บูรพา พรอสเพอร์’ มีการเปลี่ยนผันผู้บริหารมาแล้วถึง 3 ยุค เพราะภายหลังจากที่คุณพ่อได้ก่อตั้งและพัฒนาธุรกิจจนเติบโตมาอย่างต่อเนื่องจนกระทั่งถึงปีที่ 15 คุณพ่อได้เสียชีวิตลง จากนั้นคุณแม่ก็ได้เข้ามาดูแลกิจการและบริหารอีก 14 ปี และล่าสุดเมื่อปี 2550 ตนซึ่งเป็นทายาทธุรกิจรุ่นที่ 2 จึงได้กลับเข้ามาช่วยบริหารงานและสานต่อธุรกิจครอบครัวอย่างเต็มตัว จนถึงปัจจุบัน

ซึ่งในยุคที่ตนเองเข้ามาบริหารนั้นได้ต่อยอดสินค้าจาก ‘แป้งข้าวสำเร็จรูป’ แบบธรรมดา นำมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์แป้งที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งแป้งข้าวเจ้า แป้งข้าวเหนียว สตาร์ช และแป้งผสม เพื่อเป็นวัตถุดิบชั้นดีในการปรุงขนมและอาหาร ภายใต้ตราสินค้า ‘หมีคู่ดาว’ ที่จำหน่ายในประเทศไทย และในหลายประเทศทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินการขยายฐานการผลิตไปยังต่างประเทศเพื่อรองรับความต้องการของลูกค้า ด้วยการร่วมทุนกิจการโรงงานแป้งข้าวในประเทศกัมพูชาในปี 2561 และที่ประเทศอินโดนีเซียในปี 2563 ซึ่งกลยุทธ์เหล่านี้ช่วยสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับธุรกิจ และส่งเสริมให้บริษัทสามารถแข่งขันในตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ



ข้าวและซัพพลายเออร์เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยผลักดันธุรกิจ

คุณสถาพร เปิดใจในเรื่องนี้ว่า ด้วยแป้งข้าวที่ดีเยี่ยมย่อมต้องมาจากเมล็ดข้าวชั้นดีแต่เริ่มแรก ดังนั้น ‘ข้าว’ จึงเป็นวัตถุดิบที่สำคัญเป็นอันดับหนึ่งของอุตสาหกรรมผลิตแป้ง ซึ่งในอดีตเมื่อครั้งที่คุณพ่อยังดูแลกิจการอยู่ได้มีกิจกรรม ‘ทัวร์โรงสี’ โดยเป็นการเดินทางแบบค่ำที่ไหนนอนที่นั่น ตระเวนไปทั่วภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน เพื่อเฟ้นหาแหล่งปลูกและผลิตข้าวคุณภาพดี พร้อมกันนี้ยังเป็นการทำความรู้จักและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับโรงสีต่างๆ

จวบจนปัจจุบันอยู่ในยุคที่ตนซึ่งเป็นทายาททางธุรกิจ ได้เข้ามาบริหารธุรกิจครอบครัว (Family Business) ก็ได้จัดกิจกรรมในรูปแบบคล้ายกัน โดยพาทีมพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่ลงพื้นที่ไปตรวจเยี่ยมซัพพลายเออร์ที่เป็นโรงสี เพื่อเป็นการรักษาความสัมพันธ์อันดี และทำให้พนักงานรู้จักมิติของข้าวที่มีความหลากหลาย พร้อมทั้งได้เรียนรู้ลักษณะและคุณสมบัติของข้าวจากแหล่งต่างๆ เพราะข้าวจากโรงสีแต่ละแห่ง หรือลักษณะเฉพาะของข้าวแต่ละพื้นที่ จะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ซึ่งจะก่อเกิดเป็นองค์ความรู้นำมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์แป้งข้าวที่มีคุณภาพและมาตรฐาน



Raw Material Management ต้อง Blend ให้เหมาะสม

เนื่องจากอุตสาหกรรมผลิตแป้ง เป็นธุรกิจที่ต้องใช้ต้นทุนสูงเพราะต้องมีการสต็อกข้าวเป็นจำนวนมากซึ่งจากที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า ข้าวจากต่างแหล่งพื้นที่ปลูก ข้าวจากโรงสีแต่ละแห่ง จะมีลักษณะเฉพาะตัว และมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน ทั้งยังมีอายุการจัดเก็บที่แตกต่างกัน (หรือที่เรียกว่าเข้าใหม่และข้าวเก่า) ดังนั้น บริษัทจึงต้องมีการวางแผนและการจัดการในเรื่องนี้อย่างรัดกุม ด้วยการใช้เทคนิคการ Blend ข้าวที่แตกต่างกันให้อยู่ในสัดส่วนที่เหมาะสม เพื่อรักษาคุณภาพและรสชาติของแป้งให้ยังคงมีมาตรฐานเดียวกันทั้งปี ซึ่งสิ่งเหล่านี้ล้วนต้องใช้ผู้ประกอบการและนวัตกรรมขั้นสูงจึงจะส่งผลให้กระบวนการผลิตมีประสิทธิภาพ 



ชูกลยุทธ์ให้นวัตกรรมต่อยอดหนุนนำสู่การพัฒนา

คุณสถาพร กล่าวต่อว่า ปัจจุบันบริษัทมีการสร้างทีม R&D ที่มีทั้งผู้เชี่ยวชาญในด้านอุตสาหกรรมอาหารและสาขางานที่เกี่ยวข้องมาช่วยทำงานเป็นทีมใหญ่ เพื่อวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการได้อย่างครอบคลุม พร้อมทั้งสร้างสรรค์กระบวนการผลิตสู่ความทันสมัยให้สามารถขับเคลื่อนธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน

โดยการจัดตั้งทีม R&D ขึ้นมาโดยเฉพาะในรูปแบบนี้แม้จะมีการใช้งบลงทุนจำนวนไม่น้อย แต่มองว่าเป็นความคุ้มค่าในระยะยาว อีกทั้งยังเป็นการสร้างบุคลากรที่มีความตั้งใจอยากพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับแป้งให้เกิดความเชี่ยวชาญ สามารถพัฒนาสินค้าให้มีความหลากหลายออกสู่ตลาดและเติบโตควบคู่ไปพร้อมกันกับบริษัทได้อย่างมั่นคง 

ขณะเดียวกัน ยังมีนโยบายให้พนักงานทีม R&D ออกไปพบปะหรือรับโจทย์จากลูกค้าทั้งในและต่างประเทศ พร้อมกับทีมการตลาด เพื่อให้สามารถพูดคุยและเปลี่ยนแนวคิด และทราบถึง Pain Point ของลูกค้าโดยตรง ซึ่งนโยบายนี้ช่วยนำไปสู่การพัฒนาสินค้าได้ตรงตามความต้องการ และสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เป็นอย่างดี ทั้งยังส่งผลให้บริษัทมีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันเพิ่มขึ้นด้วย



เดินหน้าพัฒนาธุรกิจสู่ทิศทางในอนาคต

เรื่องนี้ คุณสถาพร เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทอยู่ระหว่างการขับเคลื่อนแผนในการพัฒนาธุรกิจซึ่งมี 2 เรื่องหลักๆ โดยเรื่องแรก คือ การทำสินค้าให้สอดคล้องกับเทรนด์การบริโภคอาหารเพื่อสุขภาพ ด้วยการพัฒนาสินค้าให้มีมูลค่าเพิ่มเพื่อเป็นทางเลือก จากการใช้สารสกัดและประโยชน์จากข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่มีอยู่มากมายภายในประเทศไทย ซึ่งไม่มีสารก่อภูมิแพ้ และปลอดการตัดแต่งพันธุกรรม (Non- GMOs) ทั้งยังสามารถตอบโจทย์กับเทรนด์ผู้บริโภคที่ใส่ใจสุขภาพได้เป็นอย่างดี คาดว่าในปีหน้าจะมีการวิจัยและพัฒนาให้เสร็จสมบูรณ์ พร้อมจำหน่ายได้ในตลาด

ส่วนเรื่องต่อมา คือ การดำเนินธุรกิจตามแนวคิด BCG Model โดยบริษัทพบว่าที่ผ่านมาเมื่อมีการนำเมล็ดข้าวมาเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและปรับสภาพ ก่อนเข้าสู่กระบวนการผลิตมักจะทำให้เมล็ดข้าวซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ไม่ผ่านเกณฑ์ต้องถูกคัดไปทำเป็นอาหารสัตว์หรือผลิตภัณฑ์อื่นซึ่งมีมูลค่าน้อย บริษัทจึงได้ทบทวนและเล็งเห็นถึงการเพิ่มมูลค่าให้กับวัตถุดิบเหล่านี้ให้มีความสอดคล้องกับหลักการ Circular Economy ที่คำนึงถึงการนำทรัพยากรต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการดำเนินการวิจัยและพัฒนาให้สามารถนำมาใช้แปรสภาพเป็นผลิตภัณฑ์อย่างอื่นได้ ซึ่งคาดว่าโครงการนี้จะช่วยลดปัญหาความสูญเปล่าและสูญเสียวัตถุดิบในการผลิตได้เป็นอย่างดี

นอกจากนี้ ยังมีการติดตั้ง Solar Roof ซึ่งเป็นระบบเปลี่ยนพลังงานแสงอาทิตย์มาเป็นพลังงานไฟฟ้าบนหลังคา โดยใช้แผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาอาคารโรงงานผลิต แล้วนำพลังงานไฟฟ้าที่ได้ไปใช้ในโรงงาน ซึ่งช่วยให้บริษัทสามารถลดค่าไฟฟ้าได้ถึง 20% รวมถึงการปรับปรุงบรรจุภัณฑ์โดยเปลี่ยนสเปกถุงพลาสติก โดยลดการใช้เม็ดพลาสติกลงถึง 20% แต่ยังคงให้มีความเหนียวและทนทาน ซึ่งช่วยลดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายร้อยตันต่อปี อีกทั้งยังมีแผนที่จะนำน้ำที่ผ่านการบำบัดจากกระบวนการปรับสภาพเมล็ดข้าวมาพัฒนาต่อยอดสู่การทำไบโอแก๊สเพื่อใช้ภายในโรงงานอีกด้วย



SME ยุคใหม่ต้องปรับตัวให้สอดรับกับยุคดิจิทัล

เรื่องนี้ ตนเองให้ความเห็นว่าผู้ประกอบการและ SME ยุคใหม่ต้องรู้จักนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการบริหารงานซึ่งจะช่วยก็ให้เกิดประโยชน์อย่างมหาศาล อย่างบริษัทเองก็มีการนำซอฟต์แวร์ ERP หรือระบบที่ใช้ในการจัดการและการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร มาใช้ตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา เพราะเล็งเห็นว่าการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้จะทำให้การบริหารงานที่คล่องตัวและมีศักยภาพในการแข่งขันเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากนี้ บริษัทยังลงทุนในระบบและโครงสร้างเสริมประสิทธิภาพการทำงาน จากระบบ MS 365 on Cloud เพิ่มความสะดวกและคล่องตัว สามารถซัพพอร์ตการทำงานได้ทุกที่ทุกเวลา เช่น หากในกรณีที่เครื่องจักรในไลน์การผลิตเกิดความขัดข้อง พนักงานที่ควบคุมเครื่องจักรก็สามารถถ่ายภาพหรือรายงานปัญหามายังฝ่ายซ่อมบำรุงผ่านระบบดังกล่าว และนำไปสู่การแก้ไขได้ง่ายดายยิ่งขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ตนยังมองว่าการที่ผู้ประกอบการจะปรับตัวให้สอดรับกับยุคดิจิทัลนั้น สิ่งสำคัญคือผู้นำองค์กรต้องเปิดใจเรียนรู้กับเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น ขณะเดียวกันต้องดึงศักยภาพหรือหาบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีมาช่วยร่วมขับเคลื่อนและผลักดันพันธกิจดังกล่าวให้เกิดอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ พร้อมกันนี้ต้องพิจารณาถึงการเลือกใช้เทคโนโลยีให้เหมาะสมและสอดคล้องกับบริบทขององค์กร ซึ่งปัจจุบันเมีให้เลือกใช้อย่างหลากหลายและยังสามารถลงทุนในงบประมาณที่ไม่สูงมากอีกด้วย



ส่งต่อองค์ความรู้สู่ทีมงานนำไปสู่การเติบโตได้

คุณสถาพร กล่าวปิดท้ายว่า ปัจจุบันธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) จะมีผู้บริหารเป็นเจ้าของเพียงไม่กี่คน ซึ่งส่วนใหญ่ผู้บริหารที่เป็นผู้ก่อตั้งธุรกิจจะมีวิสัยทัศน์และมีความคาดหวังให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างงอกงามเพราะเห็นตัวอย่างจากธุรกิจอื่นที่ประสบความสำเร็จมาแล้วจากทั้งในและต่างประเทศ แต่ในขณะเดียวกันทีมงานหรือพนักงานที่อยู่ในบริษัทอาจยังมีศักยภาพปานกลางและไม่ค่อยได้เดินทางไปเจอโลกกว้างเช่นเดียวกับผู้บริหาร ดังนั้น จึงต้องรู้จักถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่พนักงาน พร้อมทั้งต้องสร้างแรงจูงใจให้พนักงานมีความกระตือรือร้นที่จะร่วมพัฒนาองค์กรควบคู่ไปกับผู้บริหารด้วย

เรื่องราวธุรกิจของ ‘บูรพา พรอสเพอร์’ ที่ ‘คุณสถาพร ไพศาลบูรพา’ ได้บอกเล่าผ่าน Bangkok Bank SME ในครั้งนี้ ชี้ให้เห็นถึงการบริหารงานของทายาทธุรกิจที่รับช่วงบริหารกิจการต่อจากรุ่นก่อตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากแต่ต้องรู้จักพัฒนาและปรับตัวให้สอดรับกับยุคสมัย ก็จะประสบความสำเร็จและสามารถอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นได้อย่างมั่นคง


รู้จัก ‘บูรพา พรอสเพอร์’ เพิ่มเติมได้ที่
https://burapaprosper.com/home
https://web.facebook.com/DoubleBearBrand/?ref=page_internal

Bangkok Bank SMEเราเป็นเพื่อนคู่คิด มิตรคู่บ้าน ทุกช่วงการเติบโตของธุรกิจ
สนใจลงทุนธุรกิจสามารถปรึกษาธนาคารกรุงเทพคลิกหรือสายด่วน1333


Related Article

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

จากธุรกิจนำเข้า สู่เจ้าของกรรมสิทธิ์อุปกรณ์ ‘ตู้บริการสื่อสารเอนกประสงค์’ กล่องสมองกลควบคุมระบบรักษาความปลอดภัยครบวงจร

Bangkok Bank SME จะพาไปทำความรู้จักกับธุรกิจในกลุ่มบริษัทโทรคมนาคม (Telco) ที่เชื่อว่าน้อยคนนักที่จะรู้ว่ารูปแบบของการดำเนินงาน มีภาพรวมของรายละเอียดอย่างไร…
pin
150 | 17/04/2024
‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

‘วรุณา’ นำเทคโนโลยี AI ยกระดับภาคการเกษตรไทย พร้อมดันประเทศสู่สังคม Net Zero

ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีความตื่นตัวและหันมาให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อช่วยดูแลและช่วยแก้ปัญหาภาวะโลกร้อนที่ปัจจุบันทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นเรื่อย…
pin
373 | 10/04/2024
‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

‘เอเชี่ยนแอสฟัลท์’ ผู้เชี่ยวชาญด้านยางมะตอย ขยายไลน์สู่ผู้นำนวัตกรรมวัสดุก่อสร้าง เจาะตลาด Home Use ครบวงจรด้วยเทคโนโลยี

ถนนลาดยาง คืออะไร?ยางมะตอย By-Product จากกระบวนการกลั่นน้ำมันดิบ ลักษณะสีดำ ข้น หนืด ด้วยคุณสมบัติที่ทนทานต่อสภาพอากาศ ทนน้ำ ยึดเกาะกับวัสดุหินได้ดี…
pin
1287 | 01/04/2024
‘บูรพา พรอสเพอร์’ ผู้ผลิตและจำหน่ายแป้งข้าวสำเร็จรูป แบรนด์ ‘หมีคู่ดาว’ ชูกลยุทธ์องค์กรแห่งนวัตกรรม เป็นเครื่องมือพัฒนาธุรกิจสู่ความยั่งยืน